เส้นเลือดขอด อย่าชะล่าใจ อันตรายกว่าที่คิด



เส้นเลือดขอด (Varicose Veins) คือ การที่เส้นเลือดดำส่วนหนึ่งที่อยู่ใกล้ชั้นผิวหนัง เสียความหยืดหยุ่นตัว หรือขยายตัวจากการมีเลือดมาสะสมมากจนเห็นเป็นสีฟ้าหรือม่วงเข้ม มีลักษณะคดเคี้ยวไปมาเหมือนตัวหนอนหรือไส้เดือนใต้ผิวหนัง และมีอาการนูน บวม โป่งออกมาให้เห็น เส้นเลือดขอดสามารถเกิดขึ้นได้กับหลายส่วนของร่างกาย ที่พบบ่อยและเห็นได้ชัดคือ บริเวณ ขา เท้า และแขน นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ บริเวณหลอดอาหาร มดลูก ช่องคลอด อุ้งเชิงกราน และช่องทวารหนัก แต่ไม่บ่อยนัก

HDmall.co.th ได้รวบรวม ข้อมูล เส้นเลือดขอด และการรักษาเส้นเลือดขอดด้วยวิธีต่างๆ มาฝากกัน

เส้นเลือดขอดเกิดจากอะไร?

เส้นเลือดขอด (Varicose Veins) เกิดจากผนังหลอดเลือดยืดขยายตัวจนทำให้ลิ้นที่ควบคุมการไหลของเลือดอ่อนแอ หรือขาดความหยืดหยุ่นลงตามไปด้วย โดยลิ้นเล็กๆ นี้ทำหน้าที่เปิดให้เลือดไหลผ่าน และคอยปิดเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับเข้าสู่ส่วนล่างของร่างกาย แต่เมื่อลิ้นในหลอดเลือดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จึงทำให้เลือดไหลรั่วออกมาและย้อนกลับไปที่ส่วนล่างของร่างกาย เกิดการสะสมของเลือดในหลอดเลือดมากขึ้น จนมีอาการบวมพองตามมา

สาเหตุที่ทำให้ผนังหลอดเลือดยืดขยายตัวจนลิ้นเปิดปิดหลอดเลือดอ่อนแอลงยังไม่แน่ชัด แต่อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น

  • เพศ : เพศหญิงมีโอกาสเกิดเส้นเลือดขอดได้มากกว่าเพศชาย
  • กรรมพันธุ์ : มักพบในบุคคลที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นเส้นเลือดขอด
  • อายุ : เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น หลอดเลือดก็เริ่มที่จะหลวมและหย่อนตัวลง จึงเป็นเหตุให้ประสิทธิภาพการทำงานของลิ้นหลอดเลือดลดลงตามไปด้วย
  • น้ำหนักตัว : การมีน้ำหนักตัวมาก จะทำให้มีโอกาสเกิดแรงดันในหลอดเลือดสูง และแรงดันที่ลิ้นหลอดเลือดสูงขึ้นตาม ซึ่งมีผลให้ต้องทำงานหนักในการส่งเลือดกลับไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้โอกาสที่ลิ้นประสิทธิภาพการทำงานลดลงด้วย
  • อาชีพ : ส่วนมากอาชีพที่ต้องยืนเป็นเวลานาน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดขอดได้ง่ายกว่า
  • การตั้งครรภ์ : ในระหว่างตั้งครรภ์ ปริมาณของเลือดในร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้น เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูก ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะตึงของหลอดเลือด จนอาจทำให้ผนังกล้ามเนื้อของหลอดเลือดคลายตัว และส่งผลให้ลิ้นเปิดปิดเลือดทำงานบกพร่องได้
  • สาเหตุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด เช่น เคยเกิดลิ่มเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดดำทำงานผิดปกติ

อาการของเส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอดพบได้บ่อยบริเวณแขน ขา หรือเท้า ผู้ที่เป็นเส้นเลือดขอดแรกเริ่มอาจสังเกตเห็นเส้นเลือดผ่านผิวหนัง ลักษณะเส้นเลือดคดเคี้ยวและนูนออกมา หรือปรากฎเป็นสีม่วงเข้มหรือแดงก่อน จากนั้นอาการอื่นๆ จึงตามมา ได้แก่

  • เท้าหรือขาจะรู้สึกปวดหรือหนัก เมื่อยืนหรือนั่งในอิริยาบถเดิมเป็นเวลานาน และจะดีขึ้นเมื่อได้เดินหรือพักขาด้วยการยกขาขึ้น
  • เท้าหรือขาจะบวมขึ้น เนื่องจากปริมาณของเลือดไปคั่งบริเวณขาและเท้ามากกว่าปกติ
  • มีการอักเสบเป็นสีแดงเรื่อๆ หรือแตกเป็นแผลที่เส้นเลือดขอดบริเวณผิวหนัง
  • เส้นเลือดโป่ง นูน พอง แข็ง และเปลี่ยนสี อาจเป็นสีเขียวคล้ำ คดไปมาตามจุดต่างๆ เมื่อกดดูจะรู้สึกเจ็บและตึง
  • อาจมีอาการกล้ามเนื้อเกร็งผิดปกติ จนทำให้เป็นตะคริวตอนกลางคืน และรู้สึกคันที่ผิวหนังบริเวณนั้นด้วย มักพบในผู้ที่มีอาการมาก
  • มีอาการอักเสบของผิวหนัง หรือมีแผลพุพองที่ผิวหนังใกล้ข้อเท้า ซึ่งเป็นอาการรุนแรงของเส้นเลือดขอดที่ควรได้รับการรักษา

อาการของเส้นเลือกขอด มักแย่ลงหากอยู่ในสภาพอากาศร้อน หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดการอักเสบจนเส้นเลือดในบริเวณนั้นแตก เป็นอันตรายได้

เส้นเลือดขอดมีกี่แบบ?

เส้นเลือดขอดโดยทั่วไป แบ่งได้เป็น 2 แบบคือ

  1. เส้นเลือดขอดแบบเส้นเลือดโป่ง (Varicose Vein) เกิดจากหลอดเลือดดำขนาดใหญ่บริเวณขา เท้า หรือแขน ทำงานผิดปกติ ทำให้เลือดดำไหลย้อนกลับและค้างในหลอดเลือดจนมองเห็นเส้นเลือดป่งพองออกมาเด่นชัด และมีลักษณะคดงอไปมา อาจมีสีเขียวผสมม่วง หรือผิวหนังคล้ำมากกว่าบริเวณอื่น
  2. เส้นเลือดขอดแบบเส้นเลือดฝอย (Spider veins หรือ Telangiectasia) มีลักษณะคล้ายกับเส้นเลือดโป่ง แต่จะมีขนาดเล็กกว่ามาก มีสีแดง สีเขียว หรือสีออกม่วง มักจะเป็นกับเส้นเลือดดำที่อยู่ตื้นใต้ผิวหนัง สามารถเกิดได้ทุกที่ โดยเฉพาะใบหน้า ต้นขา และน่อง

ไม่รักษาเส้นเลือดขอดได้ไหม?

หากเริ่มสังเกตว่ามีอาการเส้นเลือดขอด ควรรีบปรึกษาแพทย์ ไม่ควรละเลยหรือปล่อยทิ้งไว้นาน การรักษาอย่างถูกวิธีตั้งแต่เริ่มพบอาการ จะป้องกันไม่ให้อาการลุกลามและเป็นอันตรายมากขึ้น เพราะอาการของเส้นเลือดขอดที่เกิดขึ้นในทุกระยะ อาจเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ เช่น การเจ็บปวด เมื่อยล้าที่ขา ขาบวม เป็นตะคริว หรือกรณีเกิดแผลเลือดจะออกมาก และหยุดไหลช้า เป็นต้น

นอกจากนี้ในกรณีที่ปล่อยให้เส้นเลือดขอดมีอาการรุนแรงจนกลายเป็นแผล อาจมีการติดเชื้ออาจส่งผลให้สูญเสียอวัยวะได้

การรักษาเส้นเลือดขอดมีกี่วิธี?

ปัจจุบันการรักษาเส้นเลือดขอดมีหลายวิธี แพทย์จะวิเคราะห์อาการและขนาดของเส้นเลือดขอด แล้วเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละคนมากที่สุด เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก โดยมีวิธีที่มีประสิทธิภาพหรือความเหมาะสมแตกต่างกันไป สำหรับวิธีที่เป็นที่นิยมมีดังนี้

  1. การรักษาเส้นเลือดขอดแบบไม่ต้องผ่าตัด หรือแบบประคับประคอง (Conservative Treatment) เป็นวิธีรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้น เหมาะกับผู้ที่มีอาการในระยะเริ่มต้นที่ยังมีเส้นเลือดขอดขนาดเล็กมาก แพทย์จะให้ผู้ป่วยสวมถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอด (Compression Stocking) ขณะที่ทำงานหรือทำกิจกรรมทั่วไป เพราะถุงน่องชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษ ช่วยในเรื่องของระบบไหลเวียนเลือดดำให้ดีขึ้น ลดการคั่งของเลือดบริเวณขา และป้องกันการเกิดลิ่มเลือดของหลอดเลือดดำชั้นลึกหรือเส้นเลือดขอดได้ แต่การสวมถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอด ไม่สามารถแก้ไขอาการในระยะยาวได้ จึงไม่ใช่การรักษาแบบหายขาด หากผู้ป่วยกลับไปมีกิจกรรมหรือใช้ชีวิตประจำวันแบบเดิม ก็จะสามารถกลับมาเป็นอีก
  2. การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยการฉีดสารเข้าเส้นเลือด (Sclerotherapy) ปัจจุบันสารเคมีที่ใช้รักษาเส้นเลือดขอดมีหลายชนิด แต่ที่ใช้บ่อย คือ Aethoxysklerol ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติทำลายผนังของหลอดเลือดขอด เพื่อให้ผนังมีการแข็งตัวและทำให้เส้นเลือดขอดค่อยๆ ฝ่อและยุบไปในที่สุด โดยแพทย์จะใช้เข็มที่มีขนาดเล็กมากในการฉีด และใช้เวลาเพียง 30-60 นาทีในแต่ละครั้ง จำนวนครั้งที่ฉีดยาขึ้นอยู่ขนาดของเส้นเลือดขอด การตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย และการวินิจฉัยของแพทย์
  3. การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยเลเซอร์ สามารถแบ่งย่อยได้หลายแบบ ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันได้แก่ เครื่องเลเซอร์ (Nd: YAG laser) ที่มีความยาวคลื่น 1,064 นาโนเมตร เป็นการรักษาที่ไม่ทำให้เกิดบาดแผลและไม่มีแผลเป็น สามารถรักษาเส้นเลือดขอดได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว แพทย์จะใช้วิธีนี้รักษาเส้นเลือดขอดที่มีขนาดเล็กกว่า 3 มิลลิเมตร โดยใช้แสงเลเซอร์ยิงผ่านผิวหนังชั้นบนเข้าไปทำลายเส้นเลือดขอดโดยตรง ทำให้เส้นเลือดขอดฝ่อแล้วยุบตัว นอกจากนี้ยังมี เครื่องเลเซอร์ชนิดที่สอดเข้าไปในเส้นเลือด (Endovenous laser ablation: EVLA) ใช้ในการรักษาเส้นเลือดขอดที่มีขนาดใหญ่ และ เครื่องเลเซอร์แบบพิเศษที่มีช่วงคลื่นต่ำ (Low level laser therapy) เป็นการส่งพลังงานเข้าไปที่เส้นเลือดดำที่มีปัญหา ซึ่งพลังงานจะเข้าไปกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด จึงเป็นวิธีที่ช่วยบำบัดอาการเส้นเลือดขอดโดยการลดอาการบวมน้ำจากการคั่งของเส้นเลือดดำ ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
  4. การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยการใช้คลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency Ablation: RFA) นับเป็นวิธีที่ทันสมัยที่สุด ใช้หลักการเดียวกับการเลเซอร์ โดยแพทย์จะเจาะเข็มให้มีรูขนาดเล็กแล้วใส่ขดลวด (สาย Fiber Optic) เข้าไปสลายเส้นเลือดขอดที่มีปัญหา เครื่องจะแปรพลังงานคลื่นวิทยุเป็นความร้อน ซึ่งเป็นความร้อนในระดับที่จะทำให้เส้นใยของคอลลาเจนที่เป็นโครงสร้างสำคัญของผนังเส้นเลือดดำฝ่อตัวลงไปในที่สุด ผลการรักษาด้วย RFA พบว่าเส้นเลือดขอดจะค่อยๆ ยุบลงประมาณ 50% และภายใน 6-8 สัปดาห์ จะยุบลงถึง 90-100% โดยภายใน 2-4 ปี มีผู้ป่วยที่กลับมาเป็นซ้ำเพียง 5-10% และเป็นเพียงเส้นเลือดฝอยเล็กๆ ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการฉีดยา

ข้อดีรักษาเส้นเลือดขอดแต่ละวิธี

1. ข้อดีของการรักษาเส้นเลือดขอดแบบประคับประคอง

เป็นการรักษาที่สะดวก ไม่ยุ่งยาก เพราะเพียงสวมถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอด (Compression Stocking) ไว้ในการทำกิจกรรมประจำวันเท่านั้น

2. ข้อดีของการรักษาเส้นเลือดขอดด้วยการฉีดสารเข้าเส้นเลือด

  • ไม่ต้องผ่าตัด

  • ไม่ต้องพักฟื้น

  • ไม่มีแผล
  • ไม่ต้องกลัวเจ็บ เพราะเข็มที่ใช้ฉีดขนาดเล็กมาก
  • ไม่ต้องใช้ยาระงับความรู้สึก เช่น ยาสลบ ในระหว่างรักษาแต่อย่างใด

3. ข้อดีของการรักษาเส้นเลือดขอดแบบผ่าตัดด้วยเลเซอร์

  • ไม่ยุ่งยากและเห็นผลเร็ว
  • ไม่ต้องผ่าตัด
  • ไม่ต้องใช้เข็ม หรือฉีดยา
  • ไม่ทำให้เกิดบาดแผล หรือรอยแผลเป็น
  • ไม่ต้องพักฟื้น เพราะรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

4. ข้อดีของการรักษาเส้นเลือดขอดแบบใช้คลื่นวิทยุหรือ RFA

  • ไม่เจ็บ
  • ใช้เวลาน้อยในการรักษา
  • แผลขนาดเล็ก หรือแทบไม่มีแผลเปิด
  • เลือดออกน้อย
  • ไม่ต้องดมยาสลบ
  • อาจไม่ต้องนอนโรงพยาบาลหลังการรักษา สามารถกลับบ้านได้ทันที
  • ไม่ส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวันแต่อย่างใด

ข้อเสียรักษาเส้นเลือดขอดแต่ละวิธี

1. ข้อเสียของการรักษาเส้นเลือดขอดแบบประคับประคอง

  • ไม่ใช่วิธีการรักษาระยะยาวและหายขาดได้ เป็นแค่การป้องกันไม่ให้อาการลุมลาม

2. ข้อเสียของการรักษาเส้นเลือดขอดด้วยการฉีดสารเข้าเส้นเลือด

  • เป็นการรักษาที่ไม่หายขาด ในระยะยาวอาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
  • เส้นเลือดแต่ละเส้นอาจต้องได้รับการฉีดสารมากกว่า 1 ครั้ง ซึ่งอาจใช้ระยะเวลานานในการรักษา
  • อาจพบผลข้างเคียงบริเวณที่ฉีดโดยอาจมีอาการปวด บวมแดง มีเลือดออก
  • อาจมีรอยจ้ำเขียวจากการมีเลือดออกใต้ผิวหนัง ซึ่งจะหายไปได้เอง
  • อาจเกิดรอยคล้ำตามแนวเส้นเลือดที่ฉีด ซึ่งจะค่อยๆ จางหายไปได้เอง
  • อาจเกิดอาการแพ้ยาที่ฉีด โดยในรายที่เป็นไม่มากอาจมีแค่อาการคันหรือมีผื่น แต่ถ้าเป็นรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการช็อกจนทำให้เสียชีวิตได้
  • ในกรณีฉีดยาไม่เข้าเส้นเลือดอาจเป็นเหตุทำให้ผิวหนังสีเข้มขึ้นหรืออาจเกิดแผลบริเวณผิวหนังได้
  • อาจทำให้เกิดเส้นเลือดอักเสบได้ หากฉีดยาในปริมาณมาก

3. ข้อเสียของการรักษาเส้นเลือดขอดแบบผ่าตัดด้วยเลเซอร์

  • ปัจจุบันยังมีราคาแพง
  • มีอาการบวมแดงเล็กน้อย ซึ่งมักจะหายไปได้เองภายใน 24 ชั่วโมง หรือไม่เกิน 2-3 วัน
  • อาจเกิดรอยช้ำหรือผิวหนังไหม้พองได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีผิวคล้ำ
  • ไม่สามารถใช้รักษาเส้นเลือดขอดที่มีขนาดใหญ่มากหรือคดเคี้ยวได้
  • ส่วนใหญ่การรักษาด้วยเลเซอร์จำเป็นต้องทำหลายครั้ง เช่น ทุกๆ 6-12 สัปดาห์ จึงอาจต้องใช้เวลาในการรักษานานหลายปี

4. ข้อเสียของการรักษาเส้นเลือดขอดแบบใช้คลื่นวิทยุหรือ RFA

  • ไม่สามารถทำได้ทันที กรณีผู้ป่วยมีเส้นเลือดอุดตัน มีการติดเชื้อ บวมแดง แพทย์จะให้รักษาให้ด้วยยาปฏิชีวนะให้หายก่อน จึงจะทำการรักษาด้วยวิธีนี้ได้
  • ราคาแพง

การรักษาเส้นเลือดขอดแต่ละวิธีเหมาะกับใคร?

  1. การรักษาเส้นเลือดขอดแบบประคับประคอง เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นเป็น และมีเส้นเลือดขอดขนาดเล็กมาก เป็นเพียงวิธีพยุงอาการหรือขนาดเส้นเลือด ไม่ให้ลุกลามมากขึ้นเท่านั้น
  2. การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยการฉีดสารเข้าเส้นเลือด เหมาะสำหรับผู้มีเส้นเลือดขอดขนาดเล็กถึงปานกลาง หรือเส้นเลือดขอดที่มีขนาดเล็กกว่า 3 มิลลิเมตร
  3. การรักษาเส้นเลือดขอดแบบผ่าตัดด้วยเลเซอร์ เหมาะสำหรับผู้มีหลอดเลือดขอดที่ไม่ใหญ่มากหรือไม่คดเคี้ยวมาก หรือกรณีผู้ที่เป็นเส้นเลือดฝอยบริเวณใบหน้า และเส้นเลือดฝอยควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2 มิลลิเมตร เพราะหากใหญ่กว่านั้นก็อาจไม่ได้ผล หรือต้องกลับมารักษาใหม่ในเวลาอันรวดเร็ว
  4. การรักษาเส้นเลือดขอดแบบใช้คลื่นวิทยุ (RFA) เหมาะสำหรับผู้ที่กังวลเรื่องแผลเป็น เพราะ RFA ถือเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยล่าสุด จะมีแค่จุดเล็กๆ จุดเดียวให้เห็นเท่านั้น และเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ แต่ต้องการเห็นผลลัพธ์ที่รวดเร็ว ประสิทธิภาพสูง และมีอัตราการกลับมาเป็นอีกครั้งในระดับต่ำ

ทั้งนี้แพทย์จะวินิจฉัยเลือกใช้วิธีการรักษาให้กับผู้ป่วยแต่ละรายตามความเหมาะ อาการ และงบประมาณ

การดูแลตัวเองหลังรักษาเส้นเลือดขอด

  • งดการยกของหนัก หรือยืนนานๆ เป็นเวลา 3-7 วัน
  • ใส่ถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอด หรือเสื้อผ้าที่มีความยืดหยุ่น เพื่อช่วยประคองกล้ามเนื้อและเส้นเลือดในบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอด ระยะเวลาในการใส่ขึ้นอยู่กับขนาดของเส้นเลือด ถ้าเป็นเส้นเลือดฝอยควรใส่ไว้ 1-3 วันเป็นอย่างน้อย ส่วนเส้นเลือดขอดควรใส่อย่างน้อย 7 วันขึ้นไป
  • ออกกำลังกาย เช่น การเดิน เพื่อเป็นการยืดกล้ามเนื้อ หรือเพื่อกระตุ้นยาให้กระจายตัว และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ในกรณีฉีดสาร
  • พบแพทย์ตามนัดภายใน 2-4 สัปดาห์ เพื่อตรวจเช็คผลการรักษา และปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

การป้องกันเส้นเลือดขอด

เราสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดขอดได้ โดยการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและลดการตึงของกล้ามเนื้อ ดังนี้

  • หมั่นออกกำลังกาย และยืดกล้ามเนื้อให้เหมาะสม เช่น เดิน ว่ายน้ำ และปั่นจักรยาน เป็นต้น
  • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงและใช้เกลือปรุงอาหารน้อย
  • ควบคุมน้ำหนัก
  • นวดขา พักขาด้วยการยกขาขึ้นสูง เช่น ใช้หมอนหนุนขาเวลานอน
  • หลีกเลี่ยงการใส่ส้นสูงหรือถุงเท้ารัด ๆ
  • ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ไม่อยู่ในท่าเดิมนานเกินไป

เส้นเลือดขอด แม้โดยทั่วไปจะไม่มีอันตรายรุนแรง แต่การรักษาเส้นเลือดขอดตั้งแต่แรกเริ่ม จะช่วยป้องกันการลุกลาม เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากและความซับซ้อนในการรักษามากขึ้น

เช็กราคาการรักษาเส้นเลือดขอดจากคลินิกและโรงพยาบาลต่างๆ ได้ผ่านเว็บ HDmall.co.th และพบกับส่วนลดมากมาย พร้อมบริการเช็กคิวทำนัดให้ฟรี

ข้อมูลอ้างอิง

อ.นพ. ระวี พิมลศานติ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, เส้นเลือดขอดที่ขา (https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=15), 21 สิงหาคม 2560

รัตนา เพียรเจริญสิน ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง หน่วยตรวจรักษาด้วยเครื่องมือพิเศษและติดตามผล สยามินทร์ชั้น 1 งานการพยาบาลผ่าตัด, คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่ต้องใส่ถุงน่องทางการแพทย์ (http://bit.ly/31thABN), 2554

คณะแพทย์แผนโบราณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินท์, เล่าเรื่องเส้นเลือดขอด (https://www.ttmed.psu.ac.th/th/blog/127), 9 สิงหาคม 2556

ผศ.นพเติมพงศ์ เรียนแพง อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์หลอดเลือด ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เส้นเลือดขอดป้องกันได้ (https://web.med.cmu.ac.th/index.php/th/allarticle/25-hilight-news/852-2020-08-20-02-55-56), 20 สิงหาคม 2563

อ.ดร.ภก.สิกขวัฒน์ นักร้อง วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, Aethoxysklerol (Polidocanol) กับการรักษาเส้นเลือดขอด (http://www.wongkarnpat.com/viewya.php?id=2759)

@‌hdcoth line chat