เส้นเลือดขอด อย่าชะล่าใจ อันตรายกว่าที่คิด



เส้นเลือดขอด (Varicose Veins) คือ การที่เส้นเลือดดำส่วนหนึ่งที่อยู่ใกล้ชั้นผิวหนัง เสียความหยืดหยุ่นตัว หรือขยายตัวจากการมีเลือดมาสะสมมากจนเห็นเป็นสีฟ้าหรือม่วงเข้ม มีลักษณะคดเคี้ยวไปมาเหมือนตัวหนอนหรือไส้เดือนใต้ผิวหนัง และมีอาการนูน บวม โป่งออกมาให้เห็น เส้นเลือดขอดสามารถเกิดขึ้นได้กับหลายส่วนของร่างกาย ที่พบบ่อยและเห็นได้ชัดคือ บริเวณ ขา เท้า และแขน นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ บริเวณหลอดอาหาร มดลูก ช่องคลอด อุ้งเชิงกราน และช่องทวารหนัก แต่ไม่บ่อยนัก

HDmall.co.th ได้รวบรวม ข้อมูล เส้นเลือดขอด และการรักษาเส้นเลือดขอดด้วยวิธีต่างๆ มาฝากกัน


เลือกอ่านข้อมูลเส้นเลือดขอดได้ที่นี่

  • เส้นเลือดขอดเกิดจากอะไร
  • อาการของเส้นเลือดขอด
  • เส้นเลือดขอดมีกี่แบบ
  • รักษาเส้นเลือดขอดมีกี่วิธี
  • ข้อดีรักษาเส้นเลือดขอดแต่ละวิธี
  • ข้อเสียรักษาเส้นเลือดขอดแต่ละวิธี
  • รักษาเส้นเลือดขอดแต่ละวิธีเหมาะกับใคร
  • การดูแลตัวเองหลังรักษาเส้นเลือดขอด
  • การป้องกันเส้นเลือดขอด
  • ไม่รักษาเส้นเลือดขอดได้ไหม

  • เส้นเลือดขอดเกิดจากอะไร

    เส้นเลือดขอด (Varicose Veins) เกิดจากผนังหลอดเลือดยืดขยายตัวจนทำให้ลิ้นที่ควบคุมการไหลของเลือดอ่อนแอ หรือขาดความหยืดหยุ่นลงตามไปด้วย โดยลิ้นเล็กๆ นี้ทำหน้าที่เปิดให้เลือดไหลผ่าน และคอยปิดเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับเข้าสู่ส่วนล่างของร่างกาย แต่เมื่อลิ้นในหลอดเลือดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จึงทำให้เลือดไหลรั่วออกมาและย้อนกลับไปที่ส่วนล่างของร่างกาย เกิดการสะสมของเลือดในหลอดเลือดมากขึ้น จนมีอาการบวมพองตามมา

    สาเหตุที่ทำให้ผนังหลอดเลือดยืดขยายตัวจนลิ้นเปิดปิดหลอดเลือดอ่อนแอลงยังไม่แน่ชัด แต่อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น

    • เพศ : เพศหญิงมีโอกาสเกิดเส้นเลือดขอดได้มากกว่าเพศชาย
    • กรรมพันธุ์ : มักพบในบุคคลที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นเส้นเลือดขอด
    • อายุ : เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น หลอดเลือดก็เริ่มที่จะหลวมและหย่อนตัวลง จึงเป็นเหตุให้ประสิทธิภาพการทำงานของลิ้นหลอดเลือดลดลงตามไปด้วย
    • น้ำหนักตัว : การมีน้ำหนักตัวมาก จะทำให้มีโอกาสเกิดแรงดันในหลอดเลือดสูง และแรงดันที่ลิ้นหลอดเลือดสูงขึ้นตาม ซึ่งมีผลให้ต้องทำงานหนักในการส่งเลือดกลับไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้โอกาสที่ลิ้นประสิทธิภาพการทำงานลดลงด้วย
    • อาชีพ : ส่วนมากอาชีพที่ต้องยืนเป็นเวลานาน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดขอดได้ง่ายกว่า
    • การตั้งครรภ์ : ในระหว่างตั้งครรภ์ ปริมาณของเลือดในร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้น เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูก ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะตึงของหลอดเลือด จนอาจทำให้ผนังกล้ามเนื้อของหลอดเลือดคลายตัว และส่งผลให้ลิ้นเปิดปิดเลือดทำงานบกพร่องได้
    • สาเหตุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด เช่น เคยเกิดลิ่มเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดดำทำงานผิดปกติ

    อาการของเส้นเลือดขอด

    เส้นเลือดขอดพบได้บ่อยบริเวณแขน ขา หรือเท้า ผู้ที่เป็นเส้นเลือดขอดแรกเริ่มอาจสังเกตเห็นเส้นเลือดผ่านผิวหนัง ลักษณะเส้นเลือดคดเคี้ยวและนูนออกมา หรือปรากฎเป็นสีม่วงเข้มหรือแดงก่อน จากนั้นอาการอื่นๆ จึงตามมา ได้แก่

    • เท้าหรือขาจะรู้สึกปวดหรือหนัก เมื่อยืนหรือนั่งในอิริยาบถเดิมเป็นเวลานาน และจะดีขึ้นเมื่อได้เดินหรือพักขาด้วยการยกขาขึ้น
    • เท้าหรือขาจะบวมขึ้น เนื่องจากปริมาณของเลือดไปคั่งบริเวณขาและเท้ามากกว่าปกติ
    • มีการอักเสบเป็นสีแดงเรื่อๆ หรือแตกเป็นแผลที่เส้นเลือดขอดบริเวณผิวหนัง
    • เส้นเลือดโป่ง นูน พอง แข็ง และเปลี่ยนสี อาจเป็นสีเขียวคล้ำ คดไปมาตามจุดต่างๆ เมื่อกดดูจะรู้สึกเจ็บและตึง
    • อาจมีอาการกล้ามเนื้อเกร็งผิดปกติ จนทำให้เป็นตะคริวตอนกลางคืน และรู้สึกคันที่ผิวหนังบริเวณนั้นด้วย มักพบในผู้ที่มีอาการมาก
    • มีอาการอักเสบของผิวหนัง หรือมีแผลพุพองที่ผิวหนังใกล้ข้อเท้า ซึ่งเป็นอาการรุนแรงของเส้นเลือดขอดที่ควรได้รับการรักษา

    อาการของเส้นเลือกขอด มักแย่ลงหากอยู่ในสภาพอากาศร้อน หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดการอักเสบจนเส้นเลือดในบริเวณนั้นแตก เป็นอันตรายได้

    เส้นเลือดขอดมีกี่แบบ

    เส้นเลือดขอดโดยทั่วไป แบ่งได้เป็น 2 แบบคือ

    1. เส้นเลือดขอดแบบเส้นเลือดโป่ง (Varicose Vein) เกิดจากหลอดเลือดดำขนาดใหญ่บริเวณขา เท้า หรือแขน ทำงานผิดปกติ ทำให้เลือดดำไหลย้อนกลับและค้างในหลอดเลือดจนมองเห็นเส้นเลือดป่งพองออกมาเด่นชัด และมีลักษณะคดงอไปมา อาจมีสีเขียวผสมม่วง หรือผิวหนังคล้ำมากกว่าบริเวณอื่น
    2. เส้นเลือดขอดแบบเส้นเลือดฝอย (Spider veins หรือ Telangiectasia) มีลักษณะคล้ายกับเส้นเลือดโป่ง แต่จะมีขนาดเล็กกว่ามาก มีสีแดง สีเขียว หรือสีออกม่วง มักจะเป็นกับเส้นเลือดดำที่อยู่ตื้นใต้ผิวหนัง สามารถเกิดได้ทุกที่ โดยเฉพาะใบหน้า ต้นขา และน่อง

    รักษาเส้นเลือดขอดมีกี่วิธี

    ปัจจุบันการรักษาเส้นเลือดขอดมีหลายวิธี แพทย์จะวิเคราะห์อาการและขนาดของเส้นเลือดขอด แล้วเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละคนมากที่สุด เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก โดยมีวิธีที่มีประสิทธิภาพหรือความเหมาะสมแตกต่างกันไป สำหรับวิธีที่เป็นที่นิยมมีดังนี้

    1. การรักษาเส้นเลือดขอดแบบไม่ต้องผ่าตัด หรือแบบประคับประคอง (Conservative Treatment) เป็นวิธีรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้น เหมาะกับผู้ที่มีอาการในระยะเริ่มต้นที่ยังมีเส้นเลือดขอดขนาดเล็กมาก แพทย์จะให้ผู้ป่วยสวมถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอด (Compression Stocking) ขณะที่ทำงานหรือทำกิจกรรมทั่วไป เพราะถุงน่องชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษ ช่วยในเรื่องของระบบไหลเวียนเลือดดำให้ดีขึ้น ลดการคั่งของเลือดบริเวณขา และป้องกันการเกิดลิ่มเลือดของหลอดเลือดดำชั้นลึกหรือเส้นเลือดขอดได้ แต่การสวมถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอด ไม่สามารถแก้ไขอาการในระยะยาวได้ จึงไม่ใช่การรักษาแบบหายขาด หากผู้ป่วยกลับไปมีกิจกรรมหรือใช้ชีวิตประจำวันแบบเดิม ก็จะสามารถกลับมาเป็นอีก
    2. การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยการฉีดสารเข้าเส้นเลือด (Sclerotherapy) ปัจจุบันสารเคมีที่ใช้รักษาเส้นเลือดขอดมีหลายชนิด แต่ที่ใช้บ่อย คือ Aethoxysklerol ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติทำลายผนังของหลอดเลือดขอด เพื่อให้ผนังมีการแข็งตัวและทำให้เส้นเลือดขอดค่อยๆ ฝ่อและยุบไปในที่สุด โดยแพทย์จะใช้เข็มที่มีขนาดเล็กมากในการฉีด และใช้เวลาเพียง 30-60 นาทีในแต่ละครั้ง จำนวนครั้งที่ฉีดยาขึ้นอยู่ขนาดของเส้นเลือดขอด การตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย และการวินิจฉัยของแพทย์
    3. การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยเลเซอร์ สามารถแบ่งย่อยได้หลายแบบ ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันได้แก่ เครื่องเลเซอร์ (Nd: YAG laser) ที่มีความยาวคลื่น 1,064 นาโนเมตร เป็นการรักษาที่ไม่ทำให้เกิดบาดแผลและไม่มีแผลเป็น สามารถรักษาเส้นเลือดขอดได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว แพทย์จะใช้วิธีนี้รักษาเส้นเลือดขอดที่มีขนาดเล็กกว่า 3 มิลลิเมตร โดยใช้แสงเลเซอร์ยิงผ่านผิวหนังชั้นบนเข้าไปทำลายเส้นเลือดขอดโดยตรง ทำให้เส้นเลือดขอดฝ่อแล้วยุบตัว นอกจากนี้ยังมี เครื่องเลเซอร์ชนิดที่สอดเข้าไปในเส้นเลือด (Endovenous laser ablation: EVLA) ใช้ในการรักษาเส้นเลือดขอดที่มีขนาดใหญ่ และ เครื่องเลเซอร์แบบพิเศษที่มีช่วงคลื่นต่ำ (Low level laser therapy) เป็นการส่งพลังงานเข้าไปที่เส้นเลือดดำที่มีปัญหา ซึ่งพลังงานจะเข้าไปกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด จึงเป็นวิธีที่ช่วยบำบัดอาการเส้นเลือดขอดโดยการลดอาการบวมน้ำจากการคั่งของเส้นเลือดดำ ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
    4. การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยการใช้คลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency Ablation: RFA) นับเป็นวิธีที่ทันสมัยที่สุด ใช้หลักการเดียวกับการเลเซอร์ โดยแพทย์จะเจาะเข็มให้มีรูขนาดเล็กแล้วใส่ขดลวด (สาย Fiber Optic) เข้าไปสลายเส้นเลือดขอดที่มีปัญหา เครื่องจะแปรพลังงานคลื่นวิทยุเป็นความร้อน ซึ่งเป็นความร้อนในระดับที่จะทำให้เส้นใยของคอลลาเจนที่เป็นโครงสร้างสำคัญของผนังเส้นเลือดดำฝ่อตัวลงไปในที่สุด ผลการรักษาด้วย RFA พบว่าเส้นเลือดขอดจะค่อยๆ ยุบลงประมาณ 50% และภายใน 6-8 สัปดาห์ จะยุบลงถึง 90-100% โดยภายใน 2-4 ปี มีผู้ป่วยที่กลับมาเป็นซ้ำเพียง 5-10% และเป็นเพียงเส้นเลือดฝอยเล็กๆ ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการฉีดยา
    ฉีดเส้นเลือดขอดราคาประหยัด

    ข้อดีรักษาเส้นเลือดขอดแต่ละวิธี

    1. ข้อดีของการรักษาเส้นเลือดขอดแบบประคับประคอง

    เป็นการรักษาที่สะดวก ไม่ยุ่งยาก เพราะเพียงสวมถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอด (Compression Stocking) ไว้ในการทำกิจกรรมประจำวันเท่านั้น

    2. ข้อดีของการรักษาเส้นเลือดขอดด้วยการฉีดสารเข้าเส้นเลือด

    • ไม่ต้องผ่าตัด
    • ไม่ต้องพักฟื้น
    • ไม่มีแผล
    • ไม่ต้องกลัวเจ็บ เพราะเข็มที่ใช้ฉีดขนาดเล็กมาก
    • ไม่ต้องใช้ยาระงับความรู้สึก เช่น ยาสลบ ในระหว่างรักษาแต่อย่างใด

    3. ข้อดีของการรักษาเส้นเลือดขอดแบบผ่าตัดด้วยเลเซอร์

    • ไม่ยุ่งยากและเห็นผลเร็ว
    • ไม่ต้องผ่าตัด
    • ไม่ต้องใช้เข็ม หรือฉีดยา
    • ไม่ทำให้เกิดบาดแผล หรือรอยแผลเป็น
    • ไม่ต้องพักฟื้น เพราะรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

    4. ข้อดีของการรักษาเส้นเลือดขอดแบบใช้คลื่นวิทยุหรือ RFA

    • ไม่เจ็บ
    • ใช้เวลาน้อยในการรักษา
    • แผลขนาดเล็ก หรือแทบไม่มีแผลเปิด
    • เลือดออกน้อย
    • ไม่ต้องดมยาสลบ
    • อาจไม่ต้องนอนโรงพยาบาลหลังการรักษา สามารถกลับบ้านได้ทันที
    • ไม่ส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวันแต่อย่างใด

    ข้อเสียรักษาเส้นเลือดขอดแต่ละวิธี

    1. ข้อเสียของการรักษาเส้นเลือดขอดแบบประคับประคอง

    • ไม่ใช่วิธีการรักษาระยะยาวและหายขาดได้ เป็นแค่การป้องกันไม่ให้อาการลุมลาม

    2. ข้อเสียของการรักษาเส้นเลือดขอดด้วยการฉีดสารเข้าเส้นเลือด

    • เป็นการรักษาที่ไม่หายขาด ในระยะยาวอาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
    • เส้นเลือดแต่ละเส้นอาจต้องได้รับการฉีดสารมากกว่า 1 ครั้ง ซึ่งอาจใช้ระยะเวลานานในการรักษา
    • อาจพบผลข้างเคียงบริเวณที่ฉีดโดยอาจมีอาการปวด บวมแดง มีเลือดออก
    • อาจมีรอยจ้ำเขียวจากการมีเลือดออกใต้ผิวหนัง ซึ่งจะหายไปได้เอง
    • อาจเกิดรอยคล้ำตามแนวเส้นเลือดที่ฉีด ซึ่งจะค่อยๆ จางหายไปได้เอง
    • อาจเกิดอาการแพ้ยาที่ฉีด โดยในรายที่เป็นไม่มากอาจมีแค่อาการคันหรือมีผื่น แต่ถ้าเป็นรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการช็อกจนทำให้เสียชีวิตได้
    • ในกรณีฉีดยาไม่เข้าเส้นเลือดอาจเป็นเหตุทำให้ผิวหนังสีเข้มขึ้นหรืออาจเกิดแผลบริเวณผิวหนังได้
    • อาจทำให้เกิดเส้นเลือดอักเสบได้ หากฉีดยาในปริมาณมาก

    3. ข้อเสียของการรักษาเส้นเลือดขอดแบบผ่าตัดด้วยเลเซอร์

    • ปัจจุบันยังมีราคาแพง
    • มีอาการบวมแดงเล็กน้อย ซึ่งมักจะหายไปได้เองภายใน 24 ชั่วโมง หรือไม่เกิน 2-3 วัน
    • อาจเกิดรอยช้ำหรือผิวหนังไหม้พองได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีผิวคล้ำ
    • ไม่สามารถใช้รักษาเส้นเลือดขอดที่มีขนาดใหญ่มากหรือคดเคี้ยวได้
    • ส่วนใหญ่การรักษาด้วยเลเซอร์จำเป็นต้องทำหลายครั้ง เช่น ทุกๆ 6-12 สัปดาห์ จึงอาจต้องใช้เวลาในการรักษานานหลายปี

    4. ข้อเสียของการรักษาเส้นเลือดขอดแบบใช้คลื่นวิทยุหรือ RFA

    • ไม่สามารถทำได้ทันที กรณีผู้ป่วยมีเส้นเลือดอุดตัน มีการติดเชื้อ บวมแดง แพทย์จะให้รักษาให้ด้วยยาปฏิชีวนะให้หายก่อน จึงจะทำการรักษาด้วยวิธีนี้ได้
    • ราคาแพง

    รักษาเส้นเลือดขอดแต่ละวิธีเหมาะกับใคร

    1. การรักษาเส้นเลือดขอดแบบประคับประคอง เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นเป็น และมีเส้นเลือดขอดขนาดเล็กมาก เป็นเพียงวิธีพยุงอาการหรือขนาดเส้นเลือด ไม่ให้ลุกลามมากขึ้นเท่านั้น
    2. การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยการฉีดสารเข้าเส้นเลือด เหมาะสำหรับผู้มีเส้นเลือดขอดขนาดเล็กถึงปานกลาง หรือเส้นเลือดขอดที่มีขนาดเล็กกว่า 3 มิลลิเมตร
    3. การรักษาเส้นเลือดขอดแบบผ่าตัดด้วยเลเซอร์ เหมาะสำหรับผู้มีหลอดเลือดขอดที่ไม่ใหญ่มากหรือไม่คดเคี้ยวมาก หรือกรณีผู้ที่เป็นเส้นเลือดฝอยบริเวณใบหน้า และเส้นเลือดฝอยควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2 มิลลิเมตร เพราะหากใหญ่กว่านั้นก็อาจไม่ได้ผล หรือต้องกลับมารักษาใหม่ในเวลาอันรวดเร็ว
    4. การรักษาเส้นเลือดขอดแบบใช้คลื่นวิทยุ (RFA) เหมาะสำหรับผู้ที่กังวลเรื่องแผลเป็น เพราะ RFA ถือเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยล่าสุด จะมีแค่จุดเล็กๆ จุดเดียวให้เห็นเท่านั้น และเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ แต่ต้องการเห็นผลลัพธ์ที่รวดเร็ว ประสิทธิภาพสูง และมีอัตราการกลับมาเป็นอีกครั้งในระดับต่ำ

    ทั้งนี้แพทย์จะวินิจฉัยเลือกใช้วิธีการรักษาให้กับผู้ป่วยแต่ละรายตามความเหมาะ อาการ และงบประมาณ

    การดูแลตัวเองหลังรักษาเส้นเลือดขอด

    • งดการยกของหนัก หรือยืนนานๆ เป็นเวลา 3-7 วัน
    • ใส่ถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอด หรือเสื้อผ้าที่มีความยืดหยุ่น เพื่อช่วยประคองกล้ามเนื้อและเส้นเลือดในบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอด ระยะเวลาในการใส่ขึ้นอยู่กับขนาดของเส้นเลือด ถ้าเป็นเส้นเลือดฝอยควรใส่ไว้ 1-3 วันเป็นอย่างน้อย ส่วนเส้นเลือดขอดควรใส่อย่างน้อย 7 วันขึ้นไป
    • ออกกำลังกาย เช่น การเดิน เพื่อเป็นการยืดกล้ามเนื้อ หรือเพื่อกระตุ้นยาให้กระจายตัว และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ในกรณีฉีดสาร
    • พบแพทย์ตามนัดภายใน 2-4 สัปดาห์ เพื่อตรวจเช็คผลการรักษา และปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

    การป้องกันเส้นเลือดขอด

    เราสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดขอดได้ โดยการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและลดการตึงของกล้ามเนื้อ ดังนี้

    • หมั่นออกกำลังกาย และยืดกล้ามเนื้อให้เหมาะสม เช่น เดิน ว่ายน้ำ และปั่นจักรยาน เป็นต้น
    • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงและใช้เกลือปรุงอาหารน้อย
    • ควบคุมน้ำหนัก
    • นวดขา พักขาด้วยการยกขาขึ้นสูง เช่น ใช้หมอนหนุนขาเวลานอน
    • หลีกเลี่ยงการใส่ส้นสูงหรือถุงเท้ารัด ๆ
    • ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ไม่อยู่ในท่าเดิมนานเกินไป

    ไม่รักษาเส้นเลือดขอดได้ไหม

    หากเริ่มสังเกตว่ามีอาการเส้นเลือดขอด ควรรีบปรึกษาแพทย์ ไม่ควรละเลยหรือปล่อยทิ้งไว้นาน การรักษาอย่างถูกวิธีตั้งแต่เริ่มพบอาการ จะป้องกันไม่ให้อาการลุกลามและเป็นอันตรายมากขึ้น เพราะอาการของเส้นเลือดขอดที่เกิดขึ้นในทุกระยะ อาจเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ เช่น การเจ็บปวด เมื่อยล้าที่ขา ขาบวม เป็นตะคริว หรือกรณีเกิดแผลเลือดจะออกมาก และหยุดไหลช้า เป็นต้น

    นอกจากนี้ในกรณีที่ปล่อยให้เส้นเลือดขอดมีอาการรุนแรงจนกลายเป็นแผล อาจมีการติดเชื้ออาจส่งผลให้สูญเสียอวัยวะได้

    เส้นเลือดขอด แม้โดยทั่วไปจะไม่มีอันตรายรุนแรง แต่การรักษาเส้นเลือดขอดตั้งแต่แรกเริ่ม จะช่วยป้องกันการลุกลาม เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากและความซับซ้อนในการรักษามากขึ้น

    เช็กราคารักษาเส้นเลือดขอดจากคลินิกและโรงพยาบาลต่างๆ ได้ผ่านเว็บ HDmall.co.th และพบกับส่วนลดมากมาย พร้อมบริการเช็กคิวทำนัดให้ฟรี

    เช็กราคารักษาเส้นเลือดขอด

    ที่มาของข้อมูล

    ขยาย

    ปิด

    • อ.นพ. ระวี พิมลศานติ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, เส้นเลือดขอดที่ขา (https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=15), 21 สิงหาคม 2560
    • รัตนา เพียรเจริญสิน ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง หน่วยตรวจรักษาด้วยเครื่องมือพิเศษและติดตามผล สยามินทร์ชั้น 1 งานการพยาบาลผ่าตัด, คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่ต้องใส่ถุงน่องทางการแพทย์ (http://bit.ly/31thABN), 2554
    • คณะแพทย์แผนโบราณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินท์, เล่าเรื่องเส้นเลือดขอด (https://www.ttmed.psu.ac.th/th/blog/127), 9 สิงหาคม 2556
    • ผศ.นพเติมพงศ์ เรียนแพง อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์หลอดเลือด ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เส้นเลือดขอดป้องกันได้ (https://web.med.cmu.ac.th/index.php/th/allarticle/25-hilight-news/852-2020-08-20-02-55-56), 20 สิงหาคม 2563
    • อ.ดร.ภก.สิกขวัฒน์ นักร้อง วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, Aethoxysklerol (Polidocanol) กับการรักษาเส้นเลือดขอด (http://www.wongkarnpat.com/viewya.php?id=2759)
    @‌hdcoth line chat