วัคซีนอีสุกอีใส ป้องกันโรค ลดความรุนแรง


วัคซีนอีสุกอีใส ใครไม่ควรฉีด

"โรคอีสุกอีใส" โดยทั่วไปจะทำให้เกิดอาการผื่นคัน มีตุ่มนูนขนาดเล็กหรือตุ่มน้ำใสๆ ทั่วร่างกาย แต่ก็อาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น ภาวะปอดติดเชื้อและสมองอักเสบในทารกอายุต่ำกว่า 12 เดือน สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนอีสุกอีใสที่สามารถป้องกันและลดอาการรุนแรงของโรคได้แล้ว


เลือกอ่านข้อมูลวัคซีนอีสุกอีใสได้ที่นี่

  • วัคซีนอีสุกอีใสคืออะไร?
  • วัคซีนอีสุกอีใสมีกี่ชนิด?
  • วัคซีนอีสุกอีใสฉีดตอนไหนและฉีดกี่เข็ม?
  • วัคซีนอีสุกอีใสควรฉีดกี่ครั้ง?
  • ใครควรฉีดวัคซีนอีสุกอีใส?
  • ใครควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนอีสุกอีใส?
  • ใครไม่ควรฉีดวัคซีนอีสุกอีใส?
  • การเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนอีสุกอีใส
  • ขั้นตอนการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส
  • การดูแลหลังฉีดวัคซีนอีสุกอีใส
  • ข้อควรหลีกเลี่ยงหลังฉีดวัคซีน
  • ผลข้างเคียงของวัคซีนอีสุกอีใส
  • วัคซีนอีสุกอีใสอยู่ได้กี่ปี?

  • วัคซีนอีสุกอีใสคืออะไร?

    วัคซีนอีสุกอีใสเป็นวัคซีนเชื้อเป็น ที่ผลิตจากเชื้อไวรัสมีชีวิตชื่อ วาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus: VZV) ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส โดยนำมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลง วัคซีนจะเข้าไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้เกิดการป้องกันโรคอีสุกอีใส โดยในประเทศไทยมีวัคซีนอีสุกอีใส ทั้งรูปแบบวัคซีนเดี่ยว (VZV) ซึ่งเป็นวัคซีนที่ป้องกันเฉพาะโรคอีสุกอีใส และวัคซีนรวม (MMRV) เป็นวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด โรคคางทูม โรคหัดเยอรมัน และโรคอีสุกอีใสไว้ในเข็มเดียว

    วัคซีนอีสุกอีใสมีกี่ชนิด?

    วัคซีนอีสุกอีใสที่ใช้ในประเทศไทยที่เป็นวัคซีนเดี่ยว มีอยู่ 3 ชนิด คือ

    1. Varilrix เป็นวัคซีนอีสุกอีใสสายพันธุ์ OKA ในวัคซีน 1 เข็ม มีปริมาณไวรัสไม่ต่ำกว่า 2,000 PFU (Plaque Forming Unit) จะมียาปฎิชีวนะนีโอมัยซิน (Neomycin) ผสมเป็นส่วนประกอบอยู่ในวัคซีน
    2. Varivax เป็นวัคซีนอีสุกอีใสสายพันธุ์ OKA ในวัคซีน 1 เข็ม มีปริมาณไวรัสไม่ต่ำกว่า 1,350 PFU จะมียาปฎิชีวนะนีโอมัยซิน ผสมเป็นส่วนประกอบอยู่ในวัคซีน
    3. Varicella Vaccine-GCC เป็นวัคซีนอีสุกอีใสสายพันธุ์ MAV/06 ในวัคซีน 1 เข็ม มีปริมาณไวรัสไม่ต่ำกว่า 1,400 PFU จะไม่มีส่วนผสมของยาปฎิชีวนะ

    วัคซีนอีสุกอีใส ป้องกันการเกิดโรคและลดความรุนแรง

    • เด็กสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1ปี ชึ้นไป
    • เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี เข็มแรก อายุ 12-18 เดือน เข็มที่ 2 อายุ 4-6 ปี ถ้าฉีดก่่อน 4 ปีต้องห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน
    • เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ ให้ฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน
    • ควรฉีด 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิในการป้องกันโรคอีสุกอีใสได้ถึง 99%
    ฉีดวัคซีนอุสุกอีใส ราคา

    วัคซีนอีสุกอีใสฉีดตอนไหนและฉีดกี่เข็ม?

    วัคซีนอีสุกอีใสสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และควรฉีด 2 เข็ม โดยมีรายละเอียดดังนี้

    • เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ควรฉีดเข็มแรกเมื่ออายุ 12-18 เดือน และฉีดเข็มที่ 2 เมื่ออายุ 4-6 ปี แต่ในกรณีที่มีการระบาดของโรค อาจฉีดเข็มที่ 2 ก่อนอายุ 4 ปีได้ โดยต้องห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน และถ้าต้องการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส และวัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูมในเวลาเดียวกันอาจใช้วัคซีนรวม (MMRV) ฉีดในเด็กอายุตั้งแต่ 1-13 ปี จำนวน 2 เข็ม เหมือนวัคซีนอีสุกอีใสชนิดเดี่ยวได้
    • เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ ควรได้รับการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็มเช่นเดียวกัน โดยจะฉีดวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่ 2 ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน เพราะอาจเกิดการรบกวนการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย

    วัคซีนอีสุกอีใสควรฉีดกี่ครั้ง?

    โดยหลังจากรับวัคซีน 1 ครั้ง จะมีภูมิคุ้มกันป้องกันโรคประมาณร้อยละ 85 แต่หากรับวัคซีน 2 ครั้ง ภูมิคุ้มกันอาจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 99 ทำให้ผู้ที่รับวัคซีนครบทั้ง 2 ครั้งมีโอกาสเกิดโรคน้อยกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนเพียง 1 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีแม้รับวัคซีนครบแล้วก็ยังอาจเกิดโรคขึ้นได้เช่นกัน แต่อาการจะรุนแรงน้อยลง เช่น มีผื่นน้อย ไม่ค่อยมีไข้ ไม่ค่อยเกิดแผลเป็น และหายป่วยได้เร็วขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนอุสุกอีใส

    ใครควรฉีดวัคซีนอีสุกอีใส?

    เนื่องจากอีสุกอีใสเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย สำหรับผู้ที่ควรฉีดวัคซีคซีนอีสุกอีใส โดยทั่วไปมีดังนี้

    • เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1-13 ปี
    • เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ทุกคน ที่ยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส
    • ผู้ที่ต้องใกล้ชิดหรือดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคอีสุกอีใส
    • ผู้ที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพราะถ้าผู้ป่วยได้รับเชื้อโรคอีสุกอีใสจะมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
    • บุคลากรทางการแพทย์
    • ผู้ที่ทำงานในโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก เช่น ครูหรือพี่เลี้ยงเด็ก

    ใครควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนอีสุกอีใส?

    • คุณแม่ที่ให้นมบุตร
    • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ที่มีค่า CD4 ต่ำ และผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
    • ผู้ที่รับประทานยาที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น สเตียรอยด์
    • ผู้ที่เพิ่งได้รับการถ่ายเลือด ได้รับอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) หรือส่วนประกอบอื่นของเลือด
    • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็ง อยู่ในช่วงรับประทานยาที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน หรือเคยเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งด้วยการฉายแสงหรือรับประทานยาเคมีบำบัด
    • ผู้ที่เป็นวัณโรค
    • ผู้ที่มีบิดามารดา พี่น้องที่ร่างกายเคยมีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
    • ผู้ที่รับประทานยากลุ่มซาลิไซเลตเป็นประจำ เช่น ยาแอสไพริน
    • ผู้ที่ได้รับวัคซีนอื่นๆ ที่เป็นเชื้อเป็นในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งอาจใกล้กันเกินไป อาจทำให้วัคซีนไม่ได้ผล
    ฉีดวัคซีนอุสุกอีใส ราคา

    ใครไม่ควรฉีดวัคซีนอีสุกอีใส?

    • คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์
    • ผู้ที่มีอาการแพ้สารเจลาติน (Gelatin) ยานีโอมัยซิน หรือยาปฏิชีวนะอื่นๆ ที่บรรจุในวัคซีน
    • ผู้ที่เคยมีอาการแพ้อย่างรุนแรงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสครั้งแรก

    การเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนอีสุกอีใส

    ผู้ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส ควรเตรียมตัวดังนี้

    • แจ้งข้อมูลสำคัญที่แพทย์ควรทราบก่อนฉีดวัคซีน เช่น โรคประจำตัว ภาวะผิดปกติของร่างกาย ประวัติการแพ้ยาหรือวัคซีน การตั้งครรภ์หรือวางแผนการตั้งครรภ์
    • ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หากมีไข้ หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน ควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน รอให้หายป่วยก่อนจึงค่อยมารับวัคซีน

    ขั้นตอนการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส

    1. ผู้ให้บริการจะเช็ดผิวหนังบริเวณที่จะฉีดด้วยแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ
    2. แพทย์ฉีดวัคซีน ขนาด 0.5 มล. เข้าใต้ผิวหนังหรือเข้ากล้ามเนื้อ สำหรับเด็กเล็ก บริเวณที่นิยมฉีด คือ บริเวณหน้าขา และถ้าเป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่จะฉีดที่บริเวณต้นแขน
    3. เมื่อฉีดเสร็จ แพทย์จะใช้สำลีแห้งกดเบาๆ บริเวณที่ฉีดสักครู่ หรือปิดพลาสเตอร์โดยกดเล็กน้อย

    การดูแลหลังฉีดวัคซีนอีสุกอีใส

    • หากรู้สึกเวียนหัว หรือการมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อรับการช่วยเหลือ
    • นั่งหรือเอนหลังเป็นเวลาประมาณ 15 นาที จะช่วยป้องกันการเป็นลม หรือการบาดเจ็บที่อาจเกิดจากการหกล้มขณะวิงเวียนได้
    • หากมีไข้ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ดบริเวณซอกคอ ข้อพับต่างๆ เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย ถ้าไข้ยังไม่ลดสามารถให้ยาลดไข้ตามที่แพทย์แนะนำได้
    • หากเกิดอาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีด ให้ประคบด้วยน้ำแข็งเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด สำหรับอาการปวด บวม สามารถหายไปได้เองภายใน 5-7 วัน
    • หลังรับวัคซีน อาจมีผื่นคล้ายอีสุกอีใสขึ้นรอบๆ บริเวณที่ฉีด ผื่นเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปเองโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา

    ข้อควรหลีกเลี่ยงหลังฉีดวัคซีน

    • ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับทารกแรกเกิด หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์ โดยเฉพาะผู้ที่มีผื่นขึ้นหลังรับวัคซีน เพราะอาจกระตุ้นให้บุคคลดังกล่าวติดเชื้อได้ง่าย
    • สำหรับผู้หญิงที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 เดือนหลังฉีดวัคซีน
    • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มซาลิไซเลต เช่น ยาแอสไพริน เป็นเวลา 6 สัปดาห์หลังได้รับวัคซีน

    ผลข้างเคียงของวัคซีนอีสุกอีใส

    วัคซีนอีสุกอีใสจัดเป็นวัคซีนที่ปลอดภัย แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นเดียวกับยารักษาโรคทั่วไป โดยเกิดขึ้นได้หลายระดับ ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงตามแต่ละบุคคล ซึ่งผลข้างเคียงที่อาจพบได้ มีดังนี้

    • ผลข้างเคียงแบบทั่วไปหรือเล็กน้อย หลังจากการฉีดวัคซีนจะมีอาการปวดแขน บวมแดง คัน หรือช้ำบริเวณที่ฉีดวัคซีน มีไข้ต่ำ เกิดผื่นขึ้นเล็กน้อย บางรายอาจมีผื่นขึ้นในช่วง 1 เดือนหลังจากการฉีดวัคซีน จะเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้ใกล้ชิด ซึ่งพบได้ค่อนข้างน้อย และมีโอกาสเกิดน้อยลงเมื่อได้รับวัคซีนครั้งที่สอง
    • ผลข้างเคียงแบบรุนแรง บางรายอาจเกิดอาการแพ้รุนแรง ชักจากไข้ เกร็ดเลือดต่ำ สมองอักเสบ ตาแข็ง กล้ามเนื้อเกร็งและกระตุก หรือในรายที่มีอาการแพ้ยาหรือแพ้วัคซีน เช่น มีผื่นคันขึ้นตามลำตัว มีอาการบวมที่ริมฝีปาก เปลือกตา หนังตา ใบหน้า รู้สึกแน่นบริเวณหน้าอก มีปัญหาในการหายใจ มีอาการหายใจไม่สะดวก หายใจลำบาก อ่อนเพลียมาก เกิดรอยช้ำ เลือดออกง่าย หากมีอาการต่างๆ ดังที่กล่าวมาควรรีบพบแพทย์ทันที
    ฉีดวัคซีนอุสุกอีใส ราคา

    วัคซีนอีสุกอีใสอยู่ได้กี่ปี?

    จากการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นพบว่าการฉีดวัคซีนอีสุกอีใสสามารถป้องกันโรคอีสุกอีใสได้นานถึง 20 ปี โดยวัคซีนสามารถป้องกันโรคอีสุกอีใสได้ร้อยละ 70-85 และป้องกันโรคอีสุกอีใสรุนแรงได้มากกว่าร้อยละ 95 จากการติดตามเด็กอายุ 1-12 ปี หลังรับวัคซีนไปแล้ว 10 ปี พบว่าเด็กที่ได้รับวัคซีน 1 ครั้ง และ 2 ครั้ง จะมีอัตราการเกิดโรคอีสุกอีใสร้อยละ 7.3 และ 2.2 ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่การกลับมาเป็นซ้ำจะเกิดขึ้นในช่วง 2-5 ปีแรก โดยพบว่าเด็กที่ได้รับวัคซีน 1 ครั้ง และ 2 ครั้ง จะมีอัตราการกลับเป็นซ้ำร้อยละ 8.5 และ 3.1 ตามลำดับ แสดงว่าเด็กที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 ครั้ง จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคอีสุกอีใส และมีอัตราการกลับเป็นซ้ำน้อยกว่า

    การฉีดวัคซีนอีสุกอีใส ทำได้ง่าย มีความปลอดภัยสูง มีประสิทธิภาพในการช่วยลดความรุนแรงและป้องกันการเกิดโรคอีสุกอีใสได้

    เช็กราคาวัคซีนอีสุกอีใส จากคลินิกและโรงพยาบาลต่างๆ ที่ให้บริการด้านการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส พร้อมบริการเช็คคิวทำนัดให้ฟรี โดยแอดมินของ HDmall.co.th


    บทความที่เกี่ยวข้อง


    ที่มาของข้อมูล

    ขยาย

    ปิด

    • ผศ.ดร.นพ.นพพร อภิวิวัฒนากุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ,วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ให้ลูกฉีดเมื่อไรดี, (https://www.rama.mahidol.ac.th/th/infographics/158).
    • สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ,ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2556, (http://nvi.go.th/uploads/default/files/vaccine-knowledge/optional-vaccines/var.pdf).
    • สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย, วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส. (www.pidst.net/userfiles/30_%20วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส.pdf).
    • มหาวิทยาลัยมหิดลคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก, วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส, (https://www.gj.mahidol.ac.th/main/paediatric-knowledge/varicella-vaccine/).
    • พญ. ธิดารัตน์ แก้วเงิน, ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนครธน ,วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ควรฉีดตอนไหนดีนะ, (https://www.nakornthon.com/article/detail/วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ควรฉีดตอนไหนดีนะ).
    • สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, เทคนิคการฉีดวัคซีน (http://guruvaccine.com/ 5-4-เทคนิคการฉีดวัคซีน/).
    • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา,วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส ,(https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_specify/656), 24 พฤษภาคม 2562.
    @‌hdcoth line chat