การฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า ในคน ต้องฉีดตอนไหน ถึงจะดี


การฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า ในคน ต้องฉีดตอนไหน ถึงจะดี

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทยมักจะมีโรคร้ายแรงซึ่งเกิดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแพร่ระบาด นั่นคือ โรคพิษสุนัขบ้า แม้ว่าโรคพิษสุนัขบ้าจะเคยหายไปจากประเทศไทย หรือแทบไม่ปรากฏผู้ติดเชื้อในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันก็กลับมีการติดเชื้อเกิดขึ้นมาอีกครั้ง 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันโรคนี้สามารถป้องกัน หรือรักษาได้ด้วยการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า

รู้จักกับโรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “โรคกลัวน้ำ” เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเรียกว่า "Rabies Virus" 

เชื้อโรคชนิดนี้ไม่ได้มีแค่เพียงเฉพาะในสุนัขเท่านั้น แต่ยังสามารถพบได้ในสัตว์เลือดอุ่นที่เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น แมว กระรอก กระแต ลิง ชะนี วัว ควาย หนู หมี เสือ ค้างคาว แรคคูน สะกั๊ง แต่จะพบมากที่สุดในสัตว์เลี้ยงประเภทสุนัขและแมว

โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อได้ทางใด

เชื้อไวรัส Rabies Virus สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ด้วยการข่วน กัด จนเกิดบาดแผลเปิด และการสัมผัสน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อโรคนี้ หรือน้ำลายกระเด็นเข้าตา ปาก และทางบาดแผล 

ยิ่งหากได้รับเชื้อทางบาดแผลด้วยแล้ว เชื้อโรคจะสามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วและมากขึ้น

โรคสุนัขบ้า โรคกลัวน้ำ

หลังจากได้รับเชื้อไวรัส เชื้อจะเข้าสู่แขนงประสาทและระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อเชื้อไวรัสเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนมากขึ้นจะทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อเกิดอาการคลุ้มคลั่ง และกระวนกระวาย 

ถ้าเชื้อไวรัสเข้าสู่ไขสันหลังก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเป็นอัมพาตแล้วเสียชีวิตได้ 

ทั้งนี้โรคพิษสุนัขบ้าจะใช้ระยะเวลาในการฟักตัวจนถึงการเกิดอาการประมาณ 5 วัน – 5 ปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของบาดแผล ตำแหน่งของแผล และระยะทางของแผลไปยังสมอง

โรคสุนัขบ้าติดต่อได้ทางใด

ต้องโดนกัด หรือข่วนอย่างไร จึงติดเชื้อ

หากสัมผัสเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าด้วยวิธีดังกล่าว หรืออาจเพียงแค่ถูกสัตว์นั้นๆ ข่วน หรือกัด จนมีบาดแผลที่เลือดไม่ออก หรือมีเลือดออกเพียงเล็กน้อย บางรายอาจมีแค่รอยช้ำ หรือไม่มีบาดแผลเลยก็ตาม 

ทุกตัวอย่างบาดแผลที่กล่าวมาควรต้องล้างบริเวณบาดแผลด้วยน้ำเกลือ ฟอกสบู่ และเช็ดแผลด้วยยาฆ่าเชื้อ จากนั้นให้รีบไปพบแพทย์ทันที 

แต่ถ้าเพียงสัมผัสลูบตัว หรือโดนน้ำลายสัตว์นั้นๆ โดยไม่ได้มีบาดแผล ให้ทำความสะอาดบริเวณที่ไปสัมผัสสัตว์นั้นๆ ก็เพียงพอแล้ว

โรคสุนัขบ้า ติดเชื้ออย่างไร

การป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า

วัคซีนพิษสุนัขบ้าผลิตมาจากเชื้อไวรัส Rabies Virus ที่ทำให้ตายแล้ว เมื่อฉีดวัคซีนเข้าสู่ร่างกายก็จะเข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า แต่จะได้ผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อใช้ร่วมกับเซรุ่มอิมมูโนโกลบุลิน 

วัคซีนโรคนี้จะแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ดังต่อไปนี้

1. วัคซีนชนิดป้องกันก่อนการสัมผัสโรค (Pre – exposure vaccination) 

เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อโรคชนิดนี้ค่อนข้างสูง เช่น ผู้ที่ทำงานในห้องทดลอง ผู้ที่ค้นคว้าวิจัย หรือผู้ที่ทำหน้าที่ผลิตเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ที่มีความเสี่ยงเนื่องจากอาชีพที่อาจจะสัมผัสกับสัตว์ได้ เช่น สัตวแพทย์ ผู้ช่วยสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ พนักงานส่งสินค้าตามบ้าน รวมทั้งผู้ที่ต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า          

วัคซีนชนิดนี้เป็นการฉีดเพื่อให้ผู้ที่มีความเสี่ยงเหล่านี้มีระดับภูมิคุ้มกันโรคสูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งอาจมีโอกาสไปสัมผัสเชื้อไวรัสได้โดยไม่รู้ตัวขณะปฏิบัติงาน หลังจากฉีดแล้วจะต้องมีการตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันโรคทุกๆ 1 ปี  

หากฉีดวัคซีนชนิดป้องกันแล้วแต่ไปได้รับเชื้อไวรัสนี้ อาการก็จะไม่รุนแรงมากนัก มีค่าใช้จ่ายที่ลดลง และไม่จำเป็นต้องให้เซรุ่มอิมมูโนโกลบุลินอีกด้วย

2. วัคซีนชนิดป้องกันหลังการสัมผัสโรค (Post – exposure vaccination) 

เป็นการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค Rabies virus หลังจากการได้สัมผัส การติดเชื้อโรค หรือได้รับบาดเจ็บจากสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้ไปแล้ว


ป้องกันด้วยซีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า

วิธีฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า

กรณีฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular regimen: IM) วัคซีน 1 คอร์ส ฉีดปริมาณ 0.5 มิลลิลิตร วันที่ฉีดคือ วันที่ 0 (วันที่ถูกสัตว์กัด), 3, 7, 14 และ 28 ผู้ใหญ่และเด็กโต: จะฉีดบริเวณกล้ามเนื้อต้นแขน (Deltoid) 

เด็กทารกหรือเด็กเล็ก จะฉีดวัคซีนที่บริเวณกล้ามเนื้อที่อยู่กึ่งกลางต้นขาด้านหน้าค่อนไปทางหน้าขาด้านนอก (Antero-lateral Thigh) 

 ในทุกวัยห้ามฉีดเข้าสะโพกเพราะบริเวณนี้จะดูดซึมยาเข้าไปช้า

กรณีฉีดเข้าในหนัง (Intradermal regimen: ID) วัคซีน 1 คอร์ส จะฉีดเข้าในหนังบริเวณต้นแขน 2 ข้าง ข้างละ 1 จุด (รวม 2 จุด) ปริมาณจุดละ 0.1 มิลลิลิตร วันที่ฉีดคือวันที่ 0 (วันที่ถูกสัตว์กัด), 3, 7 และ 28 

การฉีดวิธีนี้จะได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้เพียงบางประเทศเท่านั้นเพราะต้องกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญในการฉีดวัคซีนเท่านั้น โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถฉีดวัคซีนด้วยวิธีนี้ได้ หลังการฉีดด้วยวิธีนี้จะเกิดตุ่มนูนขึ้นมา 

มีข้อห้ามใช้วัคซีนฉีดเข้าในหนังกับบุคคลในกลุ่มดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่ต้องได้รับยาคอร์ติโคสเตอรอยด์แบบระยะยาว หรือยาประเภทอื่นๆ เช่น ยา Cyclosporin และยารักษาโรคมาลาเรีย Chloroquine
  • ผู้ที่มีระบบภูมิต้านทานบกพร่อง
  • ผู้ที่ต้องมารักษาโรคพิษสุนัขบ้าแต่มาล่าช้า หรือผู้ที่ต้องมารับการรักษาแต่มีบาดแผลใหญ่ที่ศีรษะและคอ เนื่องจากจะตอบสนองต่อยาช้าลง

ข้อควรปฏิบัติเพิ่มเติม

หากถูกสุนัข หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นกัดซ้ำ หรือลืมไปพบแพทย์ มีข้อปฏิบัติดังนี้ 

  • หากมาพบแพทย์หลังโดนกัดช้า จำเป็นต้องได้รับการรักษาเช่นเดียวกับกรณีเพิ่งถูกกัด
  • ถ้าจำประวัติการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าเดิมไม่ได้ จำเป็นต้องเริ่มฉีดเหมือนผู้ป่วยใหม่
  • หากผู้ป่วยไม่มาตามนัดฉีดวัคซีน จำเป็นต้องฉีดโดยนับต่อจากเข็มสุดท้ายที่ผู้ป่วยควรได้รับ
  • หากไม่มาตามนัด ในกรณีที่เป็นการสัมผัสโรคประเภทที่ 3 คือ เลือดออกชัดเจน สุนัขเลีย หรือมีการสัมผัสน้ำลายบริเวณเยื่อบุต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใบหน้า และได้รับวัคซีนน้อยกว่า 2 เข็ม หรือไม่ได้รับอิมมูโนโกลบูลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ต้องเริ่มฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าใหม่
  • หากได้รับวัคซีนน้อยกว่า 2 เข็ม แล้วโดนกัดใหม่ ต้องเริ่มฉีดใหม่ทั้งหมด
  • หากได้รับวัคซีนมากกว่า 3 เข็ม แล้วโดนกัดใหม่ ห้ามฉีดอิมมูโนโกลบูลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เพราะจะขัดขวางการสร้างภูมิคุ้มกัน แบ่งได้เป็น 2 กรณี
    • กรณีโดนกัดมากกว่า 6 เดือน หลังเข็มสุดท้าย ต้องฉีดกระตุ้น 2 เข็มเข้ากล้ามเนื้อ วันที่ 0 (วันที่ถูกกัด) และ 3 หรือฉีดกระตุ้น 4 เข็มเข้าในหนังทันทีวันที่ถูกกัด
    • กรณีโดนกัดน้อยกว่า 6 เดือน หลังเข็มสุดท้าย ต้องฉีดกระตุ้น 1 เข็มเข้ากล้ามเนื้อทันทีวันที่ถูกกัด
  • เด็กที่สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า ต้องรับการฉีดวัคซีนเช่นเดียวกับผู้ใหญ่
  • สตรีตั้งครรภ์ที่มีการสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าให้รักษาเหมือนผู้ป่วยผู้ใหญ่ทั่วไป เนื่องจากการตั้งครรภ์ไม่เป็นข้อห้ามของการให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและการให้อิมมูโนโกลบูลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
  • ผู้ที่ภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น ผู้ป่วย HIV ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด หากสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าประเภท 2 และ 3 ต้องได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้าฉีดเข้ากล้ามเนื้อและอิมมูโนโกลบูลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมทั้งให้หยุดยากดภูมิคุ้มกันหากสามารถหยุดได้
  • หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ผื่นขึ้นตามตัว หายใจเหนื่อยหอบ คลื่นไส้อาเจียนหรือท้องเสีย ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินการรักษาให้เหมาะสม

ขั้นตอนการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า

ผลข้างเคียงจากวัคซีนพิษสุนัขบ้า

  • บริเวณที่ฉีดวัคซีนมีอาการบวมแดง หรือรู้สึกปวด
  • ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ
  • วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
  • เหนื่อย หรืออ่อนแรงมากผิดปกติ
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า

ขนาดและกำหนดเวลาในการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า

  • การฉีดแบบชนิดป้องกันก่อนการสัมผัสโรค (Pre-exposure vaccination)
  • การฉีดแบบกระตุ้นหลังได้รับการฉีดแบบชุดแรกครบ
  • การฉีดแบบชนิดป้องกันหลังการสัมผัสโรค (Post-exposure vaccination)

เด็กและผู้ใหญ่ให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 3 เข็ม จึงครบวัคซีนชุดแรก (Primary vaccination) เริ่มจากวันแรก ฉีดเข็มที่ 1 วันที่ 7 และวันที่ 21 หรือ 28 โดยสามารถฉีดไม่ตรงตามนัดได้เพียง 1 – 2 วันเท่านั้น

หลังจากที่ได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้าชุดแรกครบ 1 ปีแล้ว ให้ฉีดกระตุ้นอีก 1 เข็ม จากนั้นจะฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นอีกทุกๆ 5 ปี สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อสูงจะต้องฉีดกระตุ้นซ้ำ หากมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่า 0.5 ยูนิต / มิลลิเมตร

ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า กี่เข็ม กี่วัน

สามารถฉีดวัคซีนได้ทั้งสองวิธี นั่นคือ การฉีดเข้ากล้ามเนื้อและฉีดเข้าในผิวหนัง โดยจะต้องฉีดในช่วง 14 วันแรกที่ได้รับการสัมผัสเชื้อโรคมา เป็นการทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรค 

การฉีดวัคซีนแบบนี้จะต้องมาให้ตรงตามตารางที่แพทย์นัด หากมาผิดนัดจะต้องฉีดเข็มต่อไปเลยโดยไม่ต้องเริ่มใหม่ แต่ทั้งนี้ก็จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์

  • การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
  • การฉีดเข้าในผิวหนัง

ผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนเลย: จำเป็นต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 5 เข็ม คือ วันแรก วันที่ 3 วันที่ 7 วันที่ 14 และเข็มที่ 5 ในวันที่ 28 – 30 

ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนชนิดป้องกันมาก่อน: ให้ฉีดในวันแรก 1 เข็ม 

หากได้รับมาแล้วแต่น้อยกว่า 6 เดือน: ให้ฉีดวันแรก 1 เข็ม 

หากได้รับวัคซีนมานานเกิน 6 เดือน: ให้ฉีดกระตุ้น 2 เข็ม ในวันแรกและวันที่ 3 โดยไม่จำเป็นต้องฉีดเซรุ่มอิมมูโนโกลบุลินป้องกันเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

ผู้ที่ได้รับเชื้อแต่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนเลย: จะต้องฉีด 4 ครั้ง ครั้งละ 2 จุด ที่บริเวณต้นแขนทั้งสองข้างในวันแรก  วันที่ 3 วันที่ 7 และวันที่ 28 โดยไม่ต้องฉีดเซรุ่มอิมมูโนโกลบุลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 

หากได้รับวัคซีนมาน้อยกว่า 6 เดือน: ให้ฉีดกระตุ้น 1 เข็มเท่านั้น 

หากได้รับมานานกว่า 6 เดือน: ให้ฉีด 2 เข็ม ในวันแรกและวันที่ 3

หากโดนสุนัขกัดขณะกำลังได้รับการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าก็ไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นและฉีดเซรุ่มอิมมูโนโกลบุลินอีกเช่นกัน 

สำหรับผู้ที่มารักษาไม่ตรงตามที่แพทย์กำหนดจะต้องฉีดวัคซีนที่นับต่อจากเข็มสุดท้ายที่ผู้ป่วยควรได้รับโดยไม่จำเป็นต้องเริ่มใหม่ รวมทั้งผู้ที่มีประวัติการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าที่ไม่ชัดเจน เช่น ชนิดของวัคซีน หรือจำนวนเข็มที่เคยได้รับ ก็จะต้องเริ่มรักษาใหม่เหมือนกับผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนโรคนี้มาก่อน 

โรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้เกิดเฉพาะฤดูร้อนเท่านั้นแต่สามารถเกิดขึ้นและเป็นได้ต่อเนื่องทุกฤดูกาล ดังนั้นเมื่อฉีดวัคซีนแล้วเพื่อประสิทธิภาพที่สมบูรณ์ก็ควรจะต้องฉีดให้ครบ โดยสามารถเข้ารับบริการได้ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนรวมทั้งสถานีอนามัยใกล้บ้าน


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • คลินิกป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สถานเสาวภา สภากาชาดไทย, แนวทางการดูแลรักษาผู้สัมผัส โรคพิษสุนัขบ้า สถานเสาวภา สภากาชาดไทย พ.ศ. 2561 (http://www.lpnh.go.th/newlp/wp-content/uploads/2013/10/Rabies-book-2018-4-09-2018-ok.pdf), 2561
  • โรคพิษสุนัขบ้า คืออะไร? เกิดจากเชื้ออะไร? รักษาหายไหม? ป้องกันอย่างไร?, (https://hdmall.co.th/c/what-is-rabies-disease).
  • โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ภัยร้ายใกล้ตัว (http://www.siphhospital.com/th/news/article/share/579), 2562
@‌hdcoth line chat