ผ่าตัดผ่าตัดต่อมทอนซิล เมื่อต่อมสร้างภูมิคุ้มกันมีปัญหาจนต้องตัดทิ้ง

ปัญหาต่อมทอนซิลอักเสบไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะนอกจากจะทำให้เจ็บคอมากขณะกลืนน้ำลายหรือกลืนอาหารแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยเกิดไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ และอ่อนเพลียได้อีก หลายคนต้องหยุดเรียนหรือหยุดงานเมื่อเกิดภาวะต่อมทอนซิลอักเสบ

มีคำถามเกี่ยวกับ ผ่าตัดทอนซิล? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

ภาวะต่อมทอนซิลอักเสบมีวิธีรักษาได้หลายวิธี ส่วนมากมักเป็นการกินยารักษาตามอาการ ร่วมกับรักษาสุขอนามัยช่องปากให้สะอาด อย่างไรก็ตาม หากอาการยังคงเป็นอยู่อย่างเรื้อรังและสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วย แพทย์ก็อาจพิจารณารักษาภาวะนี้ให้หายขาดโดยเร็วผ่านวิธีผ่าตัด หรือที่เรียกกันว่า “ผ่าตัดต่อมทอนซิล”

ทำความรู้จักต่อมทอนซิล

ต่อมทอนซิล (Tonsil) คือ ต่อมน้ำเหลืองซึ่งมีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรค และทำหน้าที่ดักจับทำลายเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าร่างกายผ่านทางเดินอาหาร

ต่อมทอนซิลมีอยู่หลายตำแหน่งของร่างกาย แต่ที่เห็นได้ชัดและเป็นที่จดจำมากที่สุดจะอยู่บริเวณโคนลิ้น ข้างลิ้นไก่ทั้ง 2 ข้าง

ภายในต่อมทอนซิลจะประกอบไปด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวจำนวนมากซึ่งคอยทำหน้าที่ขจัดเชื้อโรคไม่ให้เล็ดลอดเข้าไปสร้างความเสียหายต่อร่างกาย

ต่อมทอนซิลจะเกิดการอักเสบหรือมีขนาดโตขึ้นได้ เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวภายในต่อมทอนซิลถูกกระตุ้นจากเชื้อโรค แบคทีเรีย หรือสิ่งสกปรกเป็นจำนวนมาก จนเกิดการติดเชื้อ และอักเสบขึ้นในที่สุด

ผ่าตัดต่อมทอนซิลคืออะไร?

การผ่าตัดต่อมทอนซิล (Tonsillectomy) คือ การผ่าตัดเพื่อนำต่อมทอนซิลบริเวณข้างลิ้นไก่ที่เกิดการอักเสบออก เป็นวิธีรักษาภาวะต่อมทอนซิลอักเสบแบบสุดท้าย หากผู้ป่วยรักษาภาวะนี้ด้วยวิธีการใช้ยาหรือวิธีอื่นๆ เพื่อบรรเทาอาการแล้วยังไม่หายดี

ผ่าตัดต่อมทอนซิลเหมาะกับผู้ป่วยกลุ่มใด?

เมื่อคุณเผชิญกับภาวะต่อมทอนซิลอักเสบ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเสมอไป แต่แพทย์จะพิจารณาให้ผู้ป่วยรักษาภาวะต่อมทอนซิบอักเสบด้วยวิธีผ่าตัด เมื่อเกิดเงื่อนไขการรักษาดังต่อไปนี้

  • รักษาด้วยยาแล้วไม่หาย และผู้ป่วยยังคงมีอาการจากภาวะต่อมทอนซิลอักเสบอย่างต่อเนื่องอยู่
  • ต่อมทอนซิลส่วนที่อักเสบมีก้อนทอนซิลขนาดใหญ่ขึ้นจนไปอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบากทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน
  • ผู้ป่วยกลับมาเป็นภาวะต่อมทอนซิลอักเสบซ้ำๆ ปีละหลายครั้ง แม้จะเคยรักษาหายไปแล้วก็ตาม
  • ผู้ป่วยเผชิญปัญหาต่อมทอนซิลเป็นหนองหรืออาการรุนแรงทุกครั้งที่เกิดภาวะต่อมทอนซิลอักเสบ
  • ภาวะต่อมทอนซิบอักเสบทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
  • ต่อมทอนซิลมีโอกาสเจริญเติบโตกลายเป็นโรคมะเร็งในต่อมทอนซิล ซึ่งแพทย์อาจวินิจฉัยผ่านการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการก่อน แล้วจึงพิจารณาให้ผู้ป่วยรับการผ่าตัดอีกครั้ง

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดต่อมทอนซิล

เมื่อแพทย์พิจารณาให้ผู้ป่วยรับการผ่าตัดต่อมทอนซิล ผู้ป่วยจะต้องมีการเตรียมตัวและเตรียมสุขภาพล่วงหน้า เพื่อให้พร้อมต่อการผ่าตัด โดยสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้ดังต่อไปนี้

มีคำถามเกี่ยวกับ ผ่าตัดทอนซิล? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

  • แจ้งประวัติด้านสุขภาพ โรคประจำตัว ประวัติการรักษาโรคให้แพทย์ทราบอย่างละเอียด
  • แจ้งแพทย์เกี่ยวกับยาประจำตัวทุกชนิด เนื่องจากจำเป็นต้องงดยาบางชนิดก่อนผ่าตัด เช่น ยาแก้อักเสบ (Anti-inflammatory) ยากลุ่มแอสไพริน (Asprin) ยากลุ่มไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
  • แพทย์อาจให้ผู้ป่วยตรวจสุขภาพบางรายการก่อนเข้าผ่าตัด เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • ผู้ป่วยต้องเดินทางมานอนโรงพยาบาลล่วงหน้า 1 วันก่อนผ่าตัด ดังนั้นจึงควรหยุดงานล่วงหน้าประมาณ 3-4 วัน เพื่อเผื่อเวลานอนเตรียมตัวก่อนผ่าตัดและนอนพักฟื้นหลังผ่าตัด
  • ผู้ป่วยต้องงดน้ำงดอาหารประมาณ 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
  • พาญาติหรือคนสนิทมาเฝ้าดูอาการด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกในระหว่างการพักฟื้น
  • ในกรณีผู้ป่วยเป็นเด็ก ผู้ปกครองต้องงดน้ำและงดอาหารเด็กอย่างเคร่งครัด ห้ามแอบให้ขนมหรือให้เด็กดื่มน้ำโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เด็กสำลักระหว่างการผ่าตัดได้

ขั้นตอนการผ่าตัดต่อมทอนซิล

การผ่าตัดทอนซิลจะใช้ระยะเวลาประมาณ 30 นาทีเท่านั้น โดยกระบวนการหลักๆ จะเริ่มจากวิสัญญีแพทย์ให้ยาสลบกับผู้ป่วย จากนั้นแพทย์จะใช้มีดผ่าตัดหรือเครื่องจี้ไฟฟ้าตัดต่อมทอนซิลส่วนที่อักเสบหรือทั้งหมดออกจากช่องปาก

การดูแลตนเองหลังผ่าตัดต่อมทอนซิล

หลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องนอนโรงพยาบาลประมาณ 1 คืนเพื่อเฝ้าดูอาการ และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อระมัดระวังแผลจากการผ่าตัดไม่ให้กระทบกระเทือนหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในภายหลัง เช่น

  • งดสูบบุหรี่และงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบระยะยาว
  • งดการขากเสมหะแรงๆ หรือไอแรงๆ
  • งดการแปรงฟันบริเวณเหงือกหรือในช่องปากลึกๆ จนไปสัมผัสแผล
  • งดยกของหนัก ออกกำลังกาย หรือออกแรงในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด
  • ดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อให้คอและแผลชุ่มชื้นเสมอ
  • กินยาที่แพทย์สั่งจ่ายให้หมด ถึงแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • นอนศีรษะสูงใน 1-2 วันแรกหลังผ่าตัด เพื่อลดอาการแผลบวมจนหายใจไม่สะดวก
  • หากมีเลือดไหลออกจากแผล ให้อมน้ำแข็งหรือประคบเย็นประมาณ 10 นาทีอยู่เรื่อยๆ เพื่อลดความระบมและห้ามเลือด
  • กินอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป น้ำผลไม้ รวมถึงควรกินอาหารไม่มีเนื้อแข็ง ไม่รสจัด หรือร้อนจนเกินไปประมาณ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัดก่อน เพราะอาหารที่ชิ้นใหญ่หรือเนื้อแข็งอาจไปสัมผัสแผลทำให้แผลฉีกขาดได้
  • หมั่นกลั้วคอและบ้วนปากเบาๆ ด้วยน้ำเกลือ เพื่อให้แผลผ่าตัดสะอาดอยู่เสมอ

ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดต่อมทอนซิล ผ่าเสร็จแล้วเจ็บแผลหรือไม่?

หลังผ่าตัดต่อมทอนซิล ผู้ป่วยอาจเผชิญกับปัญหาเลือดออกในช่องปากหรือมีน้ำลายปนเลือดหลังผ่าตัด แต่โดยปกติอาการจะดีขึ้นใน 1-2 วัน รวมถึงอาการเจ็บคอหรือเจ็บแผลหลังผ่าตัด ซึ่งจะดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์หลังผ่าตัดเช่นกัน

นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจเผชิญกับอาการแผลบวม ซึ่งไปปิดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้อาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจในระหว่างนอนพักฟื้น แต่โดยทั่วไปผู้เข้าผ่าตัดส่วนมากจะไม่เผชิญผลข้างเคียงที่รุนแรงถึงระดับนี้

ความเสี่ยงของการผ่าตัดต่อมทอนซิล

แม้จะเป็นการผ่าตัดที่ทำกันอย่างแพร่หลายเป็นระยะเวลานาน แต่การผ่าตัดต่อมทอนซิลก็ยังมีความเสี่ยงเกิดผลกระทบหรือภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายบางอย่างขึ้นได้ เช่น

  • เลือดออกผิดปกติ เลือดออกไม่หยุดระหว่างผ่าตัด ความดันเลือดขึ้นสูง ส่วนมากพบในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือด หรือผู้ป่วยโรคหัวใจ ที่มีอาการโรคอยู่ตั้งแต่แรกก่อนผ่าตัด
  • อาการหยุดหายใจหรือน้ำท่วมปอด ซึ่งหากพบอาการ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเข้าพักฟื้นต่อในห้อง ICU เพื่อเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดก่อน
  • มีแผลที่ลิ้น เหงือก หรือหากมีฟันไม่แข็งแรง ก็อาจพบปัญหาฟันโยกหลังผ่าตัดได้ เพราะเป็นการผ่าตัดที่ต้องใส่เครื่องมือเข้าช่องปากเพื่อตัดต่อมทอนซิลบริเวณดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการผ่าตัดต่อมทอนซิลนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย หากผู้ป่วยมีการแจ้งประวัติด้านสุขภาพกับแพทย์อย่างละเอียดก่อนผ่าตัด รวมถึงเข้ารับการผ่าตัดในสถานพยาบาลชั้นนำและเชื่อถือได้

ผ่าตัดต่อมทอนซิลแล้วเสียงจะเปลี่ยนไหม?

การผ่าตัดต่อมทอนซิลไม่ได้ทำให้เสียงของผู้ป่วยเปลี่ยนไปแต่อย่างใด เพียงแต่ในระยะเวลาที่แผลยังไม่ฟื้นตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังผ่าตัด ผู้ป่วยอาจรู้สึกถึงโทนเสียงที่ไม่เหมือนเดิมได้บ้าง แต่หลังจากนั้นเมื่อแผลเริ่มสมานหายดี เสียงก็จะกลับมาเป็นดังเดิมอีกครั้ง

ผ่าตัดต่อมทอนซิลอันตรายไหม?

หากรับบริการผ่าตัดในสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน การผ่าตัดต่อมทอนซิลก็จัดเป็นการผ่าตัดที่ปลอดภัยและควรทำ เพราะเป็นการผ่าตัดที่ช่วยพัฒนาคุณภาพของชีวิตประจำวันได้หลายช่วน เช่น ลดกลิ่นปาก กลืนอาหารง่ายขึ้น ไม่เจ็บคอจากทอนซิลที่กำลังอักเสบ และยังช่วยลดโอกาสเกิดภาวะหยุดหายใจระหว่างนอนหลับได้

นอกจากนี้การผ่าตัดทอนซิลยังไม่ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลงแต่อย่างใด เพราะภายในร่างกายยังมีต่อมน้ำเหลืองซึ่งทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันร่างกายอยู่อีกหลายส่วน ดังนั้นตราบใดที่คุณยังดูสุขภาพให้แข็งแรงเป็นปกติ แม้จะผ่าตัดนำต่อมทอนซิลออกไปแล้ว ร่างกายก็ยังสามารถต่อต้านเชื้อโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่เช่นเดิม


เช็กราคาผ่าตัดต่อมทอนซิล

มีคำถามเกี่ยวกับ ผ่าตัดทอนซิล? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ HDcare โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ พยาบาล HDcare