นวดแผนไทย ศาสตร์โบราณที่ไม่ได้มีดีแค่แก้ปวด


ผู้หญิงกำลังนวดแผนไทย

การนวดแผนไทย ถือเป็นอีกหนึ่งการแพทย์แผนโบราณของไทยที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน บ้างก็ว่าบันทึกของศาสตร์การนวดแผนไทยมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

ในขณะที่นักประวัติศาสตร์หลายคนก็เห็นว่าการนวดแผนไทยอาจมีมาตั้งแต่ 2,500 ปีก่อนโดยชาวอินเดียคนหนึ่ง ที่นำมาเผยแพร่ไปทั่วเอเชียใต้จนกลายเป็นที่นิยมมากขึ้น

ด้วยความที่บันทึกต่างๆ มีจำนวนน้อย ทำให้ความเป็นมาของการนวดแผนไทยอาจมีหลายความเชื่อ แต่ศาสตร์การนวดแผนไทยก็ถูกส่งต่อกันแบบปากต่อปากมาจนถึงปัจจุบัน

ในบทความนี้จะพามารู้จักกับการนวดแผนไทย ทั้งประเภท ประโยชน์ และข้อควรระวังของการนวดแผนไทย


เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่

ขยาย

ปิด


นวดแผนไทยคืออะไร?

การนวดแผนไทย (Thai Massage) หรือเรียกอีกอย่างว่าการนวดแผนโบราณ เป็นหนึ่งในรูปแบบการนวดบำบัด (Therapeutic Touch) โดยให้ผู้รับบริการนอนราบบนเสื่อหรือฝูกนอนที่พื้น แล้วให้ผู้นวด บีบ คลึง และกดตามลำตัว เพื่อกระตุ้นอวัยวะภายในและเพิ่มความยืนหยุ่นของกล้ามเนื้อ

ผู้ให้บริการนวดแผนไทยจะใช้มือ นิ้วหัวแม่มือ ศอก ท่อนแขน หรือแม้แต่ฝ่าเท้าประกอบในการนวดกล้ามเนื้อ รวมถึงมีการเคลื่อนไหวร่างกายมากกว่าการนวดประเภทอื่นๆ ที่ให้ผู้รับบริการนอนราบไปเฉยๆ

แม้จะมีชื่อว่าการนวดแผนไทย แต่ลักษณะความเชื่อนั้นคล้ายคลึงกับศาสตร์การแพทย์แผนจีน คือเชื่อว่าในร่างกายมีพลังงานไหลเวียนผ่านส่วนต่างๆ การนวดคลึงและยืดเหยียดร่างกายอาจช่วยให้พลังงาน และเลือดไหลเวียนดีขึ้นนั่นเอง

นวดแผนไทย ราคาโปรโมชั่น

นวดแผนไทยมีกี่ประเภท?

การนวดแผนไทยสามารถแบ่งได้หลายประเภท ขึ้นอยู่กับว่าจะแบ่งด้วยวิธีไหน โดยหากแบ่งให้เข้าได้ง่าย คือการแบ่งตามสรรพคุณ ซึ่งแบ่งได้หลักๆ 3 ประเภท ดังนี้

  • นวดเพื่อสุขภาพ เป็นการนวดที่สามารถนวดได้ทุกคน รวมถึงผู้สูงอายุ ช่วยกระตุ้นระบบของร่างกายให้ผ่อนคลาย เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น
  • นวดเพื่อการรักษา เป็นการเน้นบรรเทากลุ่มอาการปวดต่างๆ เช่น ปวดหลัง ปวดคอ ปวดกล้ามเนื้อ ไหล่ติด เข่าตึง
  • นวดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นการนวดฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคพาร์กินสัน

อย่างไรก็ตาม บางสถานที่อาจแบ่งตามกระบวนการนวดเป็น 2 ประเภทคือนวดเชลยศักดิ์ (นวดแบบจับเส้น) และนวดราชสำนัก (ใช้เฉพาะนิ้วมือนวดกดจุด)

นวดแผนไทยต่างจากการนวดประเภทอื่นอย่างไร?

การนวดมีด้วยกันหลายแบบ แม้ส่วนใหญ่จะมีจุดประสงค์เพื่อความผ่อนคลายเป็นหนึ่งในจุดประสงค์หลัก แต่การนวดแผนไทยอาจต่างจากการนวดประเภทอื่นเล็กน้อย ดังนี้

  • การนวดแผนไทยนอนราบกับพื้น แต่การนวดในหลายๆ ประเภทมักให้นอนบนเตียง หรือโต๊ะนวด
  • การนวดแผนไทยยังใส่เสื้อผ้าไว้ได้ โดยอาจใส่เสื้อผ้าหลวมให้ขยับตัวได้สะดวก ในขณะที่การนวดบางประเภทอาจต้องถอดเสื้อผ้าออกทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด
  • การนวดแผนไทยไม่มีการใช้น้ำมันนวด ต่างกับการนวดน้ำมัน (Oil Massage) ที่ใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อให้ความผ่อนคลาย เพราะน้ำมันนวดอาจส่งผลต่อการควบคุมแรงกดของผู้นวดแผนไทย
  • การนวดแผนไทยขยับร่างกายเยอะ เช่น อาจมีการปรับท่าทางคล้ายท่าโยคะ มีการดึง หรือกดเพื่อให้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ต่างกับการนวดหลายๆ ประเภทที่มักจะนอนเฉยๆ เพียงอย่างเดียว
ท่านวดไทย

ประโยชน์ของการนวดแผนไทย

การนวดแผนไทยมีประโยชน์หลายข้อ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการนวด ดังนี้

  • ช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ทั้งคอ บ่า และส่วนอื่นๆ ทั่วร่างกาย
  • ช่วยลดอาการปวดตึงตามข้อ มีการศึกษาทดลองให้ผู้เข้าร่วมที่มีอาการข้อเข่าอักเสบ เข้ารับการนวดแผนไทยร่วมกับการออกกำลังกายด้วยไม้เท้าเป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าผู้เข้าร่วมรู้สึกปวดน้อยลง และเดินได้ดีขึ้น
  • บรรเทาอาการปวดหลัง การนวดแผนไทยมีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดหลังและรักษาร่วมกับวิธีอื่นๆ ได้ มีการศึกษากับคนที่มีอาการปวดหลัง 120 คน โดยครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้เข้ารับการนวดแผนไทยสัปดาห์ละ 2 ครั้งนาน 4 สัปดาห์ พบว่าอาการปวดหลังลดลงอย่างมีนัยะสำคัญ บางการศึกษาพบว่าอาจช่วยลดอาการปวดหลังส่วนบนด้วย แต่อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดหลังต่อเนื่องมานาน ควรไปพบแพทย์ก่อนนวดแผนไทย
  • มีส่วนช่วยลดอาการปวดหัว มีการศึกษาแสดงว่าผู้ที่เข้ารับการนวดแผนไทย 9 ครั้งใน 3 สัปดาห์ สามารถลดอาการปวดหัวจากความเครียดหรือไมเกรนลงได้
  • ช่วยขยายขอบเขตการเคลื่อนไหวร่างกาย การนวดแผนไทยประกอบไปด้วยการกด บีบ และการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ช่วยให้ข้อต่อและกล้ามเนื้อสามารถเคลื่อนไหวได้มากขึ้น ไม่ยึดเกร็งง่ายเกินไป
  • มีส่วนช่วยลดความเครียด แม้การนวดแผนไทยจะใช้น้ำหนักมากกว่าการนวดประเภทอื่น แต่สำหรับหลายคนก็รู้สึกผ่อนคลายจากการนวดแผนไทย เคยมีนักวิจัยทำการสแกนสมองผู้ที่เข้ารับการนวดแผนไทย พบว่าช่วยลดความวิตกกังวลได้ ทั้งนี้การลดความเครียดอาจได้ผลดีขึ้นเมื่อพักผ่อนอย่างเพียงพอ
  • ช่วยให้กระปรี้กระเปร่า นวดแผนไทยมีการเคลื่อนไหวเกือบทั้งร่างกายเช่นเดียวกับโยคะ ทำให้ผู้ที่รับการนวดแผนไทยอาจรู้สึกกระปรี้กระเป่ามากขึ้นด้วย
  • มีส่วนช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น การนวดแผนไทยช่วยให้ระบบไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองดีขึ้นผ่านการยืดเหยียด ทำให้เนื้อเยื่อในร่างกายได้รับออกซิเจนไปเลี้ยงมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์
  • อาจมีส่วนช่วยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง การศึกษาในปี 2012 พบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่รับการนวดแผนไทยเป็นประจำ อาจช่วยให้สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น รวมถึงอาจลดอาการปวด ช่วยให้นอนหลับดีขึ้นด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนเสมอ

นอกจากนี้ ประโยชน์อื่นที่อาจได้รับจากการนวดแผนไทย เช่น ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น ระบบย่อยอาหารดีขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากคุณมีอาการปวดกล้ามเนื้อรุนแรง หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ของร่างกาย ควรไปพบแพทย์ก่อนตัดสินใจรักษาด้วยการนวดแผนไทย เพราะโรคบางชนิดไม่อาจรุนแรงมากขึ้นหากรับการนวดแผนไทย

ประโยชน์ของการนวดแผนไทย

ใครไม่ควรนวดแผนไทย?

การนวดแผนไทยมีผลกระทบต่อระบบไหลเวียนเลือด และกล้ามเนื้อ จึงอาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิดหรือเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้

  • ผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ผู้ป่วยโรคความดันสูง
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เช่น โรคกระดูกพรุน
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่เพิ่งรับการผ่าตัดมาไม่นาน
  • ผู้ที่มีแผลเปิด
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • ผู้ที่กำลังอยู่ระหว่างตั้งครรภ์
  • ผู้ป่วยโรคเลือด
  • ผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือด
  • ผู้ที่มีแผลไฟไหม้
  • ผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)
  • ผู้ที่ปวดกล้ามเนื้อจากการมีไข้
  • ผู้ที่ปวดกล้ามเนื้อเฉียบพลัน บวม แดง

หากใครอยู่ในเงื่อนไขดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการนวดแผนไทยจนกว่าจะรักษาให้หายดี หรือปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลเพื่อประเมินความเหมาะสมก่อนรับบริการ

การเตรียมตัวก่อนการนวดแผนไทย

ผู้ที่มานวดแผนไทยมักไม่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ ขั้นตอนการเตรียมตัวเล็กๆ น้อยๆ อาจมีดังนี้

  • มาก่อนเวลานัด 10-30 นาที ควรมาถึงเวลานัดเล็กน้อยเพื่อกรอกเอกสาร โดยเฉพาะเมื่อมาใช้บริการเป็นครั้งแรก
  • แจ้งข้อมูลสุขภาพ ก่อนเริ่มนวดแผนไทยควรแจ้งกับผู้ให้บริการถึงประวัติสุขภาพ เพราะโรคประจำตัวบางชนิดอาจไม่เหมาะกับการนวดแผนไทย หรือหากนวดได้ ผู้ให้บริการจะได้ระมัดระวังมากขึ้น
  • สวมเสื้อหลวมๆ หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้ารัดรูป เพราะทำให้เคลื่อนไหวระหว่างนวดไม่สะดวก หรือบางสถานที่อาจมีชุดให้เปลี่ยน

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนตัดสินใจนวดแผนไทย เพื่อลดโอกาสเกิดผลกระทบให้มากที่สุด

ขั้นตอนการนวดแผนไทย

ขั้นตอนการนวดแผนไทยอาจแตกต่างกันออกไปตามเทคนิคของผู้ให้บริการ และประเภทของการนวด โดยขั้นตอนหลักๆ อาจมีดังนี้

  1. ผู้ให้บริการอาจให้คุณเปลี่ยนเป็นชุดที่ทางสถานที่เตรียมไว้ให้ หรือบางกรณีอาจให้สวมชุดที่หลวมๆ เคลื่อนไหวสะดวกของคุณเอง
  2. เมื่อเปลี่ยนชุดแล้ว ผู้ให้บริการจะเตรียมเสื่อนอน หรือฝูกนอนไว้ให้ที่พื้น รวมถึงหมอนรองศีรษะด้วย
  3. ผู้ให้บริการจะค่อยๆ ยืดเหยียดส่วนต่างๆ ของร่างกายคุณโดยอาจใช้แรงกดช่วย
  4. ผู้ให้บริการจะใช้มือ นิ้วหัวแม่มือ ข้อศอก และหัวเข่า เพื่อกดคลึงส่วนต่างๆ ของร่างกาย
  5. ในบางกรณีผู้ให้บริการอาจมีการขยับร่างกายคล้ายกับท่าโยคะผ่านการดึงและกด
  6. ขั้นตอนเหล่านี้อาจทำให้บางคนรู้สึกเจ็บหรือปวดกล้ามเนื้อได้ โดยสามารถแจ้งกับผู้ให้บริการเพื่อลดการลงน้ำหนัก

สำหรับผู้ที่มีอาการบาดเจ็บ หรือส่วนไหนของร่างกายที่เจ็บง่ายเป็นพิเศษ ควรแจ้งกับผู้ให้บริการก่อนเริ่มการนวดทุกครั้ง

อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการนวดแผนไทย

การนวดแผนไทยมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นบางประการ เช่นเดียวกับการนวดหลายๆ ประเภท ดังนี้

  • อาจเกิดอันตรายกับผู้ป่วยโรคหัวใจ เนื่องจากการนวดแผนไทยทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเปลี่ยนแปลง ผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับระบบเลือดและหัวใจจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
  • อาจเกิดอาการปวด หากผู้นวดมือหนัก หรือใช้น้ำหนักไม่เหมาะกับร่างกายของคุณ อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บกล้ามเนื้อหรือกระดูกได้

อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ได้รับความผ่อนคลายและประโยชน์จากการนวดแผนไทยมากกว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้น แต่ก็ควรปรึกษาผู้นวดแผนไทยก่อนตัดสินใจใช้บริการ

นวดแผนไทยแล้วเจ็บเกิดจากอะไร?

หลายคนมาใช้บริการนวดแผนไทยโดยคาดหวังว่าจะช่วยบรรเทาอาการปวดหรืออาการอื่นๆ แต่หลังนวดเสร็จกลับมีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อจนเกิดความกังวล ต่อไปนี้เป็นสาเหตุที่เป็นไปได้ของอาการปวดหลังนวดแผนไทย

  • นวดแผนไทยขณะเป็นไข้ โดยปกติคนที่เป็นไข้จะมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวและปวดตามร่างกาย และอาจคิดว่าการนวดแผนไทยจะช่วยบรรเทาอาการได้ แต่ความจริงแล้วหากนวดแผนไทยขณะมีไข้อาจทำให้อาการปวดรุนแรกว่าเดิมได้
  • นวดขณะปวดกล้ามเนื้อ ผู้ที่นวดแผนไทยเพื่อการรักษา เช่น ลดอาการปวดกล้ามเนื้อ มีแนวโน้มจะระบมกล้ามเนื้อหลังรับการนวดได้ง่ายกว่าคนอื่น
  • นวดแผนไทยหลังเกิดการอักเสบ หากเกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ เส้นเอ็นอักเสบเฉียบพลัน จนมีอาการปวด บวม แดง ไม่ควรรับการนวดแผนไทยทันที เพราะอาจทำให้ปวดมากขึ้นหลังนวดแผนไทย
  • นวดหรือกดแรงไป บางกรณีผู้นวดอาจลงน้ำหนักมากเกินไปจนทำให้เจ็บ คุณควรแจ้งกับผู้ให้บริการทันทีเพื่อลดน้ำหนักมือลง
  • มานวดแผนไทยครั้งแรก ผู้ที่มานวดแผนไทยครั้งแรก หรือแม้แต่ไม่ได้นวดแผนไทยมานานมากแล้วอาจยังไม่ชินกับการลงน้ำหนักของผู้ให้บริการ ทำให้เกิดการระบมหลังรับบริการได้

ต้องนวดแผนไทยบ่อยไหม?

จำนวนครั้งและความถี่ของการนวดแผนไทยนั้นอาจแตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสมของแต่ละคน แต่โดยทั่วไปหากต้องการนวดเพื่อสุขภาพก็สามารถนวดแผนไทยได้สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง หรือในกรณีที่นวดเพื่อรักษาอาการปวด อาจนวดวันเว้นวัน และค่อยๆ เว้นระยะห่างขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออาการปวดดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะนวดแผนไทยเพื่อจุดประสงค์ใด ก็ไม่ควรนวดติดต่อกันทุกวัน ควรเว้นวันให้กล้ามเนื้อได้พักบ้าง อาจปรึกษาแพทย์หรือผู้ให้บริการนวดแผนไทยเพื่อวางแผนการนวดที่เหมาะสมกับตัวเอง

โดยสรุปแล้ว การนวดแผนไทยถือเป็นศาสตร์โบราณอย่างหนึ่งที่มีประโยชน์หลากหลาย เช่น ลดอาการปวดเมื่อย ปวดหัว เพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย ช่วยให้ผ่อนคลาย ลดความเครียด วิตกกังวล ซึ่งปัจจุบันได้รับการยอมรับจากวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

แต่ทั้งนี้ ก็อาจไม่ได้เหมาะกับทุกคนเสมอไป โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพและอาจได้รับผลกระทบจากการนวดแผนไทย ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนนัดหมายนวดเสมอ

หากต้องการเช็กราคานวดแผนไทย หรือทำนัดนวดแผนไทยตามสถานที่ต่างๆ สามารถเช็กคิวและทำนัดได้ผ่าน HDmall.co.th พร้อมรับส่วนลดมากมาย

นวดแผนไทย ราคาประหยัด

บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Webmd, Benefits of Thai Massage, (https://www.webmd.com/balance/benefits-of-thai-massage), 6 July 2021.
  • Rebecca Joy Stanborough, MFA, 6 Science-Supported Benefits of Thai Massage, (https://www.healthline.com/health/thai-massage-benefits), 14 July 2020.
  • MedicalNewsToday, What are the health benefits of Thai massage?, (https://www.medicalnewstoday.com/articles/323687), 14 November 2018.
  • รศ.นพ.ประดิษฐ์ ประทีปะวณิช, นวดเพื่อสุขภาพ, (https://si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=344), 11 ตุลาคม 2553.
  • คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หน่วยแพทย์ทางเลือก, (https://www.rama.mahidol.ac.th/altern_med/th/node/48).
  • Honestdocs, นวดแผนไทย คลายปวดเมื่อยด้วยศาสตร์โบราณ, (https://hd.co.th/thai-massage), 30 กันยายน 2019.
  • พท.ป.พิมพ์วิภา แพรกหา, อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยหลังการนวด, (https://www.ttmed.psu.ac.th/th/blog/203), 27 เมษายน 2563.
@‌hdcoth line chat