วิตามินอี คืออะไร? ข้อมูล วิธีใช้ ผลข้างเคียง ข้อควรระวัง


วิตามินอี (Vitamin E) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 

1. โทโคเฟอรอล (Tocopherol) 

2. โทโคไตรอีนอล (Tocotrienols)  

วิตามินอี เป็นหนึ่งในวิตามินที่ละลายในไขมันได้ดี ซึ่งวิตามินประเภทละลายไขมันนี้ จะสามารถถูกกักเก็บไว้ตามกล้ามเนื้อหรือไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ภายหลังจากที่เรารับประทานเข้าไป 

ข้อดี คือ เราไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินกลุ่มนี้ทุกวัน เพราะมีสะสมอยู่ตามกล้ามเนื้อ แต่หากเรารับประทานวิตามินอีมากเกินไป จะเกิดการสะสมมากเกินไปในส่วนต่างๆ ทำให้เป็นพิษจากวิตามินได้

วิตามินอี เป็นสารที่จำเป็นต่อร่างกายในด้านสุขภาพและมีประโยชน์ด้านความงาม และเพื่อการเสริมวิตามินอีที่ถูกต้องเหมาะสม จึงควรทำความเข้าใจให้มากขึ้นเกี่ยวกับความต้องการวิตามินอีในร่างกาย และการรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมวิตามินอี รวมถึงประโยชน์ของวิตามินอีในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ ยา อาหาร และเครื่องสำอาง

หน้าที่ของวิตามินอีในร่างกาย

  • เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ 
  • ป้องกันการแตกของเม็ดเลือดแดง 
  • ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและป้องกันการอุดตันของเส้นเลือด 
  • ลดกระบวนการอักเสบในร่างกาย
  • รักษาสมดุลของกล้ามเนื้อลาย (skeletal muscle)
  • วิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งทำหน้าที่ในการชะลอและป้องกันการเสียหายของเซลล์ ทำให้เซลล์มีความเสถียรมากขึ้น 

วิตามินอีกับการป้องกันโรค

วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระมีบทบาทในกระบวนการต้านการอักเสบ ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด และการเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีการศึกษาการป้องกันโรคดังนี้

  1. โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Diseases) ช่วยเพิ่มการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ลดปัจจัยเสี่ยงสำหรับการแข็งตัวของหลอดเลือด เช่น ลดการเกิดลิ่มเลือด และลดระดับคอเลสเตอรอล
  2. โรคมะเร็ง (Cancer) โดยวิตามินอีจะช่วยยับยั้งการสร้างสารบางชนิดที่ช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง จึงช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง  
  3. ต้อกระจก (Glaucoma) เกิดจากกรดไขมันที่เลนส์ตาสัมผัสกับออกซิเจน โดยมีรังสีอัลตราไวโอเลตช่วยกระตุ้นบ่อยๆ จนเกิดปฏิกิริยาสร้างอนุมูลอิสระ (free-radical) ทำให้เลนส์ตารับแสงได้น้อยลงจากการที่เคยเห็นภาพต่างๆ ได้ชัดเจน กลายเป็นเห็นภาพขุ่นมัว วิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้อนุมูลอิสระไม่สามารถทำปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อไปได้ จึงลดการเกิดต้อกระจก
  4. โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) โดยวิตามินอีสามารถยับยั้งการผลิตไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ซึ่งเป็นพิษต่อเซลล์ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์สมอง และช่วยป้องกันมิให้เซลล์ประสาทถูกทำลาย
  5. ไวรัสเอชไอวี (HIV) และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Autoimmune diseases) วิตามินอีเป็นสารต้านการอักเสบที่สำคัญ โดยพบว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีมักบกพร่องในการต้านการอักเสบ จากการศึกษาผู้ชายที่มีระดับวิตามินอีในเลือดสูงกว่า 23.5 μm / L มีความเสี่ยงต่อการก้าวหน้าของโรคลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
  6. เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน (Immune system) วิตามินอีช่วยกระตุ้นกลไกการป้องกันของร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกัน และเพิ่มกระบวนการฟาโกไซโทซิส (phagocytic function) ซึ่งเป็นกระบวนการดักจับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมของเซลล์

ประโยชน์ของวิตามินอี ในรูปแบบต่างๆ

  1. วิตามินอีในรูปแบบยา โดยทางด้านการแพทย์ จะใช้รักษาโรคโลหิตจางในทารกแรกคลอดเนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก ใช้รักษาโรคขาดสารอาหาร ใช้รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อขาเวลาเดิน ไปจนถึงโรคที่มีการนำวิตามินอีไปใช้นอกข้อบ่งใช้หลัก เช่น โรคปวดปลายประสาทจากการติดเชื้องูสวัด และโรคอัลไซเมอร์
  2. วิตามินอีในรูปแบบอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีการใช้วิตามินอีเป็นสารกันหืนในอาหาร ซึ่งจะมีประโยชน์ในการบำรุงร่างกาย ในส่วนของการป้องกันการเกิดโรค และลดความรุนแรงของภาวะต่างๆ ยังคงต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติม
  3. วิตามินอีในรูปแบบเครื่องสำอาง วิตามินอีเป็นวิตามินที่มีการนำมาใช้มากชนิดหนึ่งในเครื่องสำอางสำหรับผิว โดยวิตามินอี ห้ความชุ่มชื้นกับผิว ป้องกันผิวแห้ง มักใช้เป็นครีมบำรุงผิว ใช้ผสมในครีมกันแดด เนื่องจากวิตามินอีสามารถกรองรังสี UVB ได้

ความต้องการวิตามินอีของร่างกาย

ตามคำแนะนำของ Recommended Dietary Allowance (RDA) หรือปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับประจําวัน ของวิตามินอี ได้แก่

เด็ก  

  • 1-3 ขวบ เท่ากับ 6 มิลลิกรัมต่อวัน (9 IU)
  • 4-8 ขวบ เท่ากับ 7 มิลลิกรัมต่อวัน (10.4 IU)
  • 9-13 ขวบ เท่ากับ 11 มิลลิกรัมต่อวัน (16.4 IU)

ผู้ใหญ่ 

  • หญิง  14 ปีขึ้นไป และตั้งครรภ์ เท่ากับ 15 มิลลิกรัมต่อวัน (22.4 IU)
  • หญิง ให้นมบุตร เท่ากับ 19 มิลลิกรัมต่อวัน (28.5 IU)
  • ชาย 14 ปีขึ้นไป เท่ากับ 15 มิลลิกรัมต่อวัน (22.4 IU)

หากเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี และรับประทานอาหารครบ 5 หมู่เป็นประจำ ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการขาดวิตามินอี ในบางรายอาจต้องการวิตามินอีมากกว่าคนทั่วไป เช่น คนที่มีปัญหาการดูดซึมวิตามินอี เป็นต้น

แหล่งอาหารที่มีวิตามินอี

วิตามินอี สามารถหาได้จากอาหารธรรมชาติหลายอย่าง เช่น ไข่ พืช ผัก ผลไม้ อาหารจำพวกถั่ว  เมล็ดพืช ธัญพืช นอกจากนี้ยังมีอยู่ในน้ำมันที่มีส่วนผสมของถั่ว อาทิ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกทานตะวัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ออกซิเจนและความร้อนสามารถทำลายวิตามินอีได้ และการแช่แข็งเป็นเวลานานก็ทำให้เกิดการสูญเสียวิตามินอีได้เช่นกัน ดังนั้นการบริโภคผักหรือผลไม้สดจะช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินอีที่ร่างกายได้รับได้

นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำนมมารดา โดยเฉพาะน้ำนมมารดาหลังคลอด (colostrum) ก็เป็นอีกแหล่งที่ให้วิตามินอีในปริมาณที่สูงมากเช่นกัน

การขาดวิตามินอี

โดยปกติจะไม่พบการขาดวิตามินอีจากการขาดสารอาหาร แต่มักพบจากความผิดปกติในการดูดซึมไขมัน เช่น การทำงานของตับ ตับอ่อน และลำไส้ผิดปกติ หรือมีโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคที่มีอาการผิดปกติของระบบประสาท (เดินเซ) ร่วมกับการขาดวิตามินอี (ataxia with vitamin E deficiency)

นอกจากนี้ยังพบการขาดวิตามินอีได้ในทารกคลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ผู้ที่มีพังผืดจับในถุงน้ำดี (cystic fibrosis) รวมทั้งในผู้ที่ขาดเอนไซม์ กลูโคส-6-ฟอสเฟต ดีไฮโดรจีเนส (G-6-PD) ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกได้ ซึ่งการขาดวิตามินอี ต้องใช้ระยะเวลานานจึงจะเริ่มมีสัญญาณการเกิดความเสียหายของระบบประสาทปรากฏขึ้น เช่น สูญเสียการรับสัมผัสและการตอบสนองต่อสิ่งเร้า สูญเสียความรู้สึกทางกาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีปัญหาเรื่องการกลอกตาและทรงตัวได้ยาก เป็นต้น 

การได้รับวิตามินอีมากเกิน

โดยปกติร่างกายจะรับปริมาณวิตามินอีขนาดสูงได้ดี แต่หากได้รับวิตามินอี ในปริมาณมากเกิน 800 IU อาจพบอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย มึนงง อาการท้องอืด ปวดหัว ตาพร่า อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ได้บ้าง แต่โดยส่วนมากแล้ว ถ้าได้รับในขนาดไม่เกินวันละ 800 IU จะมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคที่ไม่มีความผิดปกติใดๆ 

ส่วนวิตามินอีที่ปรากฏอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับทาผิว อาจพบอาการแพ้ทางผิวหนังจากการสัมผัส (contact dermatitis) ได้ในบางราย

เวลาที่ควรรับประทานวิตามินอี

ช่วงเวลาที่แนะนำสำหรับการรับประทานวิตามินอี คือ พร้อมมื้ออาหารหรือหลังอาหาร เนื่องจากวิตามินอีเป็นสารอินทรีย์ จึงควรรับประทานพร้อมอาหารและแร่ธาตุอื่นๆ เพื่อการดูดซึมที่ดีที่สุด 

หากคุณต้องรับประทานวิตามินทั้งหมดภายในมื้อเดียวควรเลือกรับประทานหลังอาหารมื้อใหญ่สุดของวัน และอย่าลืมว่า แร่ธาตุสำคัญอย่างยิ่งต่อการดูดซึมของวิตามิน คุณจึงควรรับประทานวิตามินและแร่ธาตุไปพร้อมๆ กัน

รูปแบบของวิตามิน

รูปแบบของวิตามินมีความหลากหลายมาก ได้แก่ ยาน้ำ แคปซูลชนิดนิ่ม อาหารทางการแพทย์ นมทางการแพทย์ วิตามินรวมซึ่งมีวิตามินอีประกอบอยู่ด้วย ครีมทาผิว โลชั่นบำรุงผิว และอื่นๆ 

นอกจากนี้วิตามินอียังมีอยู่ในอาหารธรรมชาติ โดยเฉพาะในผักและผลไม้

ข้อควรระวัง

วิตามินอี เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน สามารถสะสมในร่างกายจนเป็นอันตรายได้ ถ้าได้รับติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หากมีโรคประจำตัวที่มียารับประทานประจำอยู่ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้งว่าสามารถทานวิตามินอีเพื่อเป็นการเสริมอาหารได้หรือไม่ เพื่อตรวจสอบว่ายาที่รับประทานอยู่เดิมกับวิตามินอีนั้นมีอันตรกิริยาต่อกันหรือไม่ ทั้งนี้ยกตัวอย่างเช่น ยาบางกลุ่มอาจเกิด “ยาตีกัน” กับวิตามินอีได้ เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านไวรัส ยาเคมีบำบัดหรือยากดภูมิเป็นต้น ซึ่งผลที่ตามมาอาจทำให้ยาที่ใช้อยู่ไม่ได้ผล เกิดอาการเลือดออกผิดปกติ หรืออาการข้างเคียงอื่นๆ ได้

การเลือกซื้อวิตามินให้ปลอดภัย 

  • ฉลากจะต้องระบุชื่อยี่ห้อ ส่วนประกอบสําคัญ ส่วนผสมอื่นๆ อย่างชัดเจนและมีปริมาณที่แน่นอน (อาจรวมถึงฉลากข้อมูลทางโภชนาการ) 
  • ได้รับรองขึ้นจดทะเบียนตําหรับจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา 
  • มีที่อยู่ของผู้ผลิตผู้แทนจำหน่ายชัดเจน 
  • มีวันผลิต วันหมดอายุและวิธีการเก็บรักษา

การเก็บรักษาวิตามินอี

  • เก็บอาหารเสริมไว้ในภาชนะกันแสง หลีกเลี่ยงที่ร้อนชื้น และที่เย็นจัด หากนำไว้ในตู้เย็นใต้ช่องฟรีซจะทำให้เสื่อมเร็ว
  • วิตามินอีในผักผลไม้ หากนำไปปรุงสุกหรือนำไปแช่แข็ง จะทำลายวิตามินอีให้เหลือน้อยลง

เปรียบเทียบราคาโปรโมชั่นแพ็กเกจตรวจวิตามิน


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat