"หญ้าหวาน" หรือ "สตีเวีย (Stevia)" คือ พืชสมุนไพรทางเลือกใหม่สำหรับใช้ทดแทนความหวานของน้ำตาล เชื่อว่าเมื่อรับประทานแล้วไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย ทั้งยังให้รสชาติหวานเหมือนน้ำตาล และกำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนรักสุขภาพ
หลายคนอาจยังไม่รู้จักสรรพคุณของหญ้าหวานดี ดังนั้นวันนี้มาดูกันว่า สมุนไพรทางเลือกใหม่ชนิดนี้มีข้อดีอะไรบ้าง
หญ้าหวานคืออะไร?
หญ้าหวานเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "Stevia rebaudiana" ลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย คล้ายต้นโหระพา มีดอกเป็นช่อสีขาว ความสูงประมาณ 30-90 เซนติเมตร แต่เดิมหญ้าหวานมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศบราซิล และปารากวัย แต่ต่อมาในประเทศไทยได้เริ่มนำพืชชนิดนี้มาปลูกในภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพอากาศเย็น เหมาะแก่การเจริญเติบโตของหญ้าหวาน
สรรพคุณและจุดเด่นของหญ้าหวาน
- หญ้าหวาน มีคุณสมบัติให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 10-15 เท่า
- สารสตีวิโอไซด์ที่สกัดได้จากหญ้าหวาน มีความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 200-300 เท่า
- เป็นสารให้ความหวานที่ไม่ให้พลังงาน
การใช้หญ้าหวานเพื่อประโยชน์ของสุขภาพ เริ่มจากการนำมาสกัดเพื่อใช้ผสมในเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ และอาหารชนิดต่างๆ เช่น เต้าเจี้ยว ซีอิ้ว ผักดอง เนื้อปลาบด ด้วยเหตุนี้ คนรักสุขภาพจำนวนมากจึงนิยมนำหญ้าหวานมาใช้ทดแทนความหวานของน้ำตาลนั่นเอง เหมาะกับคนทานลดหวานแบบคีโต หรือผู้ป่วยเบาหวาน
ประโยชน์ของหญ้าหวาน
หญ้าหวานไม่มีแคลอรี่ หรือหากมีก็อยู่ในปริมาณที่น้อยมาก ซึ่งหากเทียบกับน้ำตาลเพียง 2 ช้อนชา จะให้พลังงานถึง 30 แคลอรี่ และคาร์โบไฮเดรต 8 กรัม หญ้าหวานจึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในด้านต่างๆ อีกมากมาย
- ลดน้ำตาลในเลือด ด้วยคุณสมบัติที่ปราศจากพลังงาน จึงทำให้ร่างกายสามารถขับสารที่ได้จากหญ้าหวานออกมาได้ทันที นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า หญ้าหวานอาจกระตุ้นการทำงานของอินซูลินให้ดีขึ้นได้ และช่วยเพิ่มการผลิตอินซูลินด้วย ทำให้หญ้าหวานเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ที่รักสุขภาพทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้หญ้าหวานจะเป็นสมุนไพรที่ดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน แต่ก็ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในคนต่อไป เพื่อยืนยันประสิทธิภาพในข้อนี้ด้วย
- ลดความเสี่ยงต่อหลายๆ โรค หญ้าหวานสามารถช่วยลดไขมันในเลือด และลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ จึงมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันโรคหัวใจ เบาหวาน โรคอ้วน และโรคความดันโลหิตสูง
- บำรุงตับ และบำรุงกำลัง โดยใช้ทดแทนเกลือแร่ในผู้ที่มีภาวะขาดน้ำ ทำให้ไม่เกิดอาการอ่อนเพลีย
- ช่วยเพิ่มความหวานให้อาหาร โดยหญ้าหวานสามารถให้ความหวานได้เท่าเดิมโดยใช้ตาลน้อยลง หรืออาจไม่ต้องใช้น้ำตาลเลย
- นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ เช่น นำใบหญ้าหวานมาอบแห้ง แล้วใช้ทั้งใบ หรือนำมาบดสำหรับใช้ชงชา หรือนำใบมาอบแห้งบดใช้แทนน้ำตาล เหมาะสำหรับใส่ในน้ำอัดลม ชาเขียว ขนม แยม ไอศกรีม หมากฝรั่ง หรือซอสปรุงรสก็ได้
- สามารถทนความร้อนได้ดี เมื่อนำมาใช้กับอาหารจึงไม่เน่าเสียง่าย และแม้จะผ่านความร้อนนานๆ ก็ไม่ทำให้อาหารเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
- ใช้แทนน้ำตาลในยาสีฟัน นอกเหนือจากการใช้ในอาหาร ปัจจุบันยังมีการนำสารสตีวิโอไซด์ที่สกัดจากหญ้าหวานไปใช้เป็นส่วนผสมในยาสีฟันแทนน้ำตาลด้วย
วิธีใช้หญ้าหวาน
- แบบชงเป็นชา ต้มน้ำร้อนแต่ไม่ต้องเดือดจัด ใส่ชาหญ้าหวาน 1-2 ใบ แช่ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 นาทีแล้วค่อยดื่ม หากเป็นกาน้ำปริมาณ 150-200 มิลลิลิตร ควรใส่ชาหญ้าหวานประมาณ 3-4 ใบ โดยการแช่หญ้าหวานในน้ำอุ่นนานๆ จะยิ่งช่วยเพิ่มความหวานให้มากขึ้น
- แบบสำหรับใส่เครื่องดื่ม ทำเช่นเดียวกับแบบแรก แต่กรองเอากากใบชาทิ้ง แล้วนำน้ำที่ได้ไปชงกาแฟหรือเครื่องดื่มตามต้องการเพื่อเพิ่มความหวาน
ข้อควรระวัง
- ในไทยมีผลิตภัณฑ์จากหญ้าหวานจำนวนไม่น้อย บางยี่ห้อราคาถูกมาก เพราะเลือกใส่น้ำตาลเทียมชนิดอื่นที่ราคาถูกกว่าเป็นส่วนผสมหลักแล้วใส่หญ้าหวานเพียงเล็กน้อย ทำให้ไม่ได้ปลอดภัยเท่าหญ้าหวานสเตเวียแท้ จึงควรดูรายละเอียดบนฉลากของผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อว่ามีสัดส่วนหญ้าหวานในปริมาณเท่าไหร่ หากคุณต้องการลดหวานแค่บางส่วน อาจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทดแทนก็ได้
- การทานหญ้าหวานเป็นประจำ ถึงแม้ว่าจะดีกว่าการทานน้ำตาลโดยตรง แต่ไม่ลดอาการติดหวาน หากต้องการลดปริมาณน้ำตาลควบคู่ไป ก็ควรลดปริมาณความหวานที่ทาน จะส่งผลดีในระยะยาวมากกว่า
งานวิจัยความปลอดภัยการใช้หญ้าหวาน
ปัจจุบัน หญ้าหวานได้รับการประกาศจากทั้งสหรัฐอเมริกา และประเทศไทยแล้ววาสามารถใช้บริโภคเพื่อให้ความหวานได้อย่างปลอดภัย
เนื่องจากหญ้าหวานเริ่มถูกนำมาใช้ประโยชน์มานาน ทำให้มีการวิจัยมากมายที่พยายามหาคำตอบว่า พืชชนิดนี้มีอันตรายหรือไม่ โดยบางงานวิจัยกล่าวว่า การบริโภคหญ้าหวานในปริมาณมากจะทำให้จำนวนสเปิร์มลดลง และอาจทำให้เป็นมะเร็งได้ ถึงขั้นในช่วงหนึ่งที่องค์การอาหาร และยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้สั่งห้ามใช้หญ้าหวานเป็นสารปรุงแต่งในอาหารด้วย ต่อมาได้มีการทดลองค้นคว้าถึงข้อเสีย และพิษของหญ้าหวานซ้ำหลายครั้ง ผลที่ได้พบว่าไม่มีพิษ หรืออาจมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น องค์การอนามัยโลก (World health organization: WHO) จึงประกาศว่า การใช้พืชชนิดนี้ไม่ได้เป็นอันตรายแต่อย่างใด จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2009 ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประกาศ และให้การยอมรับว่าหญ้าหวานเป็นพืชที่ปลอดภัย ส่วนในประเทศไทยเองก็มีทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ศึกษาผลเสีย และอันตรายของหญ้าหวาน เช่นกัน
สรุปว่า หญ้าหวานมีความปลอดภัย สามารถใช้บริโภคเพื่อทดแทนความหวานของน้ำตาลได้ และถือเป็นสารให้ความหวานเทียมที่มีการยอมรับสูงกว่าน้ำตาลเทียมสังเคราะห์ชนิดอื่น
แม้ว่าการศึกษาในปัจจุบันจะไม่พบว่า การใช้หญ้าหวานเป็นอันตรายแก่ร่างกาย แถมยังเป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพทดแทนน้ำตาลได้เป็นอย่างดี แต่อย่าลืมว่า การรับประทานสมุนไพรชนิดใดๆ ก็ตามที่มากเกิน ไปก็ย่อมไม่ดีต่อร่างกายได้ ดังนั้น การใช้หญ้าหวานก็ยังคงต้องคำนึงถึงปริมาณที่เหมาะสมด้วย เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและมั่นใจได้ว่าปลอดภัยต่อสุขภาพจริงๆ
เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจเบาหวาน
เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ
บทความแนะนำ
- น้ำมันมะกอก ประโยชน์ สรรพคุณ ข้อควรระวัง
- อาการขาดนิโคตินและวิธีเลิกบุหรี่
- ร้อนใน สาเหตุ อาการ กินอะไรได้บ้าง
- อาการไข้เลือดออก สังเกตอย่างไร
- ยาแก้ท้องเสีย ข้อมูล สรรพคุณ วิธีใช้
ที่มาของข้อมูล
ปิด
ปิด
- Andrew Weil, Is Stevia Really Safe? (https://www.drweil.com/diet-nutrition/nutrition/is-stevia-really-safe/), 3 December 2007.
- Jennifer Huizen, Does stevia have any side effects? (https://www.medicalnewstoday.com/articles/319837.php), 27 October 2017.
- Keren Price, Does Stevia Affect Insulin? (https://www.livestrong.com/article/536467-does-stevia-affect-insulin/)