ผ่าตัดกระดูกสันหลัง กับเรื่องควรรู้ก่อนตัดสินใจ


ผ่าตัดกระดูกสันหลัง

การรักษาโรคปวดหลังด้วยการผ่าตัดกระดูกสันหลังเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถรักษาโรคปวดหลังให้หายได้ โดยการผ่าตัดกระดูกสันหลังมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมจากการวินิจฉัยของแพทย์

ปัจจุบันการผ่าตัดกระดูกสันหลังมีการพัฒนาเทคนิควิธีการอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีตมาก และเพื่อให้ทุกคนรู้จักการผ่าตัดกระดูกสันหลังดียิ่งขึ้น HDmall.co.th จึงรวบรวมข้อมูลการผ่าตัดกระดูกสันหลังมาฝากกัน


เลือกอ่านข้อมูลผ่าตัดกระดูกสันหลังได้ที่นี่

  • ผ่าตัดกระดูกสันหลังคืออะไร?
  • ผ่าตัดกระดูกสันหลังมีกี่แบบ?
  • การเตรียมตัวผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • ผ่าตัดกระดูกสันหลังพักฟื้นนานไหม?
  • ไม่ผ่าตัดกระดูกสันหลังได้ไหม?
  • ผ่าตัดกระดูกสันหลังแล้วหายไหม?
  • ผ่าตัดกระดูกสันหลังอันตรายไหม?

  • ผ่าตัดกระดูกสันหลังคืออะไร?

    การผ่าตัดกระดูกสันหลัง (Spine Surgery) คือการทำให้การกดทับเส้นประสาท (Neural Compression) หายด้วยการตัดหรือนำเอาสิ่งที่กดทับรากประสาท (Neural Deompression) อยู่ออกไป และการทำให้กระดูกสันหลังที่หลวม โยก ไม่มั่นคงทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทแน่นขึ้นด้วยการเชื่อมข้อต่อกระดูกสันหลัง

    โรคปวดหลังมีหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติทางกระดูกสันหลังตั้งแต่กำเนิด อุบัติเหตุ การทำงานหนัก การเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง เนื้องอกในกระดูก เป็นต้น

    เช็กราคาผ่าตัดกระดูกสันหลัง

    ผ่าตัดกระดูกสันหลังมีกี่แบบ?

    การผ่าตัดกระดูกสันหลังแบ่งเป็น 2 วิธีหลักๆ คือ การผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Spine Surgery) และ การผ่าตัดกระดูกสันหลังเพื่อระบายโพรงเส้นประสาทและเชื่อมข้อ (Decompressive lumbar Laminectomy with Posterolateral Spinal Fusion: DLPL Fusion) หรือแบบดั้งเดิม

    1. เทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็ก

    ปัจจุบันการผ่าตัดแบบแผลเล็กถูกพัฒนาออกมาหลายวิธี เพื่อให้การผ่าตัดมีขนาดแผลเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บน้อยที่สุด และเพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วที่สุด โดยเทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็กแบ่งย่อยได้ 3 วิธี คือ

    1.1. การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังแบบใช้กล้องขยาย (Microscopic Lumb Microdiscectomy)

    การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังแบบใช้กล้องขยาย คือการผ่าตัดหลังผ่านกล้องขยายหรือกล้องจุลทรรศน์ เป็นวิธีรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่ได้มาตรฐาน โดยจะตั้งกล้องนอกตัวผู้ป่วยเพื่อใช้ขยายภาพบริเวณที่ทำการผ่าตัด และแม้ว่าจะเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็กก็ตาม แต่อาจต้องเลาะกล้ามเนื้อและกระดูกออกบางส่วนเพื่อให้เห็นจุดที่เป็นต้นตอของปัญหา

    ขั้นตอนการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังแบบใช้กล้องขยาย
    1. จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนคว่ำ
    2. ฉีดยาชาควบคู่กับยาระงับความรู้สึก ผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจจะให้ใช้ยาสลบแทน
    3. แพทย์ผ่าโดยใช้การกรีดแผลเล็กเพียงประมาณ 2 นิ้วที่บริเวณกระดูกสันหลัง เพื่อเปิดกล้ามเนื้อบริเวณหลัง
    4. ในขณะผ่าตัดแพทย์จะสอดกล้องเข้าไปส่องยังจุดที่ต้องการรักษา วิธีนี้ทำให้มองเห็นตำแหน่งและลักษณะของรอยโรคได้อย่างชัดเจนโดยดูผ่านหน้าจอมอนิเตอร์
    5. ใช้สายท่อซึ่งมีความยืดหยุ่นติดอุปกรณ์ผ่าตัดและกล้องขยายขนาดเล็กประสิทธิภาพสูงเข้าไป กล้องจะขยายและแสดงภาพให้แพทย์เห็นอย่างชัดเจนจนสามารถนำเอาเนื้อเยื่อหมอนรองกระดูกที่กดทับและชิ้นส่วนกระดูกเล็กๆ ออกมาได้
    6. แพทย์เย็บปิดแผล
    การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังแบบใช้กล้องขยายเหมาะกับใคร?

    วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Disc Herniation) และผู้ป่วยที่มีภาวะโพรงประสาทตีบแคบ (Spinal Stenosis) จนไปกดทับเส้นประสาท แต่ไม่มีความผิดรูปของกระดูกสันหลัง เช่น กระดูกคดหรือเคลื่อน

    1.2. การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยวิธีส่องกล้อง (Full-Endoscopic lumbar Discectomy: FED)

    การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยวิธีส่องกล้อง คือการใช้กล้องขนาดเล็ก (Endoscope) เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 มิลลิเมตร ด้วยขนาดที่เล็กมากๆ แผลจึงมีขนาดเล็กเพียง 1 เซนติเมตรเท่านั้นเพื่อนำส่วนของหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาทออกไป โดยทำให้สามารถเห็นรอยโรคและสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการอย่างชัดเจนโดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อหรือกระดูกออกไป เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

    ขั้นตอนการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยวิธีส่องกล้อง
    1. จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนคว่ำ
    2. แพทย์ให้ผู้ป่วยดมยาสลบ
    3. เมื่อผู้ป่วยดมยาสลบแล้ว แพทย์จะสอดกล้องเอ็นโดสโคปผ่านทางแผลผ่าตัดขนาด 1 เซนติเมตร เข้าไปยังเส้นประสาทส่วนที่ถูกกดทับ
    4. แพทย์จะเลาะเนื้อเยื่อรอบๆ แผลผ่าออกให้น้อยที่สุด กล้องเอ็นโดสโคปจะช่วยให้มองเห็นเส้นประสาทอย่างชัดเจน จนแพทย์สามารถเลือกตัดเฉพาะเนื้อเยื่อที่กดทับเส้นประสาทออก
    5. แพทย์ทำการเย็บปิดแผล
    การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยวิธีส่องกล้องเหมาะกับใคร?

    การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยวิธีส่องกล้อง เป็นวิธีที่เหมาะผู้ป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทและผู้ป่วยที่มีภาวะโพรงประสาทตีบแคบกดทับเส้นประสาท ที่ไม่มีความผิดรูปของกระดูกสันหลัง เช่นกระดูกคดหรือเคลื่อน

    1.3. การผ่าตัดเชื่อมข้อทางด้านหลังแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Transforaminal Lumbar Interbody fusion: MIS TLIF)

    การผ่าตัดเชื่อมข้อทางด้านหลังแบบแผลเล็ก คือการผ่าตัดระบายโพรงเส้นประสาทและเชื่อมข้อต่อแบบแผลเล็กด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์พิเศษ มีเป้าหมายเพื่อทำให้ของกระดูกสันหลังมีความมั่นคง และเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกระดูกสันหลัง (Spinal Fusion) แบ่งได้เป็น 2 วิธี คือ

    1.3.1. การผ่าแบบ Percutaneous Screw

    เป็นวิธีผ่าตัดแบบแผลเล็กเพื่อใส่โลหะยึดตรึงกระดูกสันหลัง ซึ่งมีมากมายหลายชนิด แต่ที่ใช้กันแพร่หลาย ได้แก่สกรูหัวจม (Pedicle Screw)

    ขั้นตอนการผ่าแบบ Percutaneous Screw
    1. จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนคว่ำ
    2. แพทย์ให้ผู้ป่วยดมยาสลบ
    3. เจาะรูเพื่อเปิดแผลเล็กผ่านผิวหนัง โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สร้างภาพ 3 มิติ (O-arm) ร่วมกับเครื่องระบบนำวิถี (Navigator) เพื่อช่วยบอกตำแหน่งของสกรูและโลหะดามกระดูก
    4. เจาะรูที่กระดูกในตำแหน่งที่กำหนด
    5. ใส่สกรูและโลหะดามกระดูกตามกระบวนการโดยไม่ให้กระทบกระเทือนเส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียงและตรวจสอบความเรียบร้อย
    6. แพทย์ทำการเย็บปิดแผล
    การผ่าแบบ Percutaneous Screw เหมาะกับใคร?

    ผู้ป่วยที่เหมาะสมใช้วิธีการรักษาแบบนี้คือผู้ป่วยที่มีอาการกระดูกสันหลังเคลื่อน ซึ่งมักมีอาการปวดหลังขณะมีการเคลื่อนไหว และห้ามใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนระดับรุนแรงเพราะมีความเสี่ยงในขั้นตอนการตรึงสกรู

    1.3.2. การผ่าแบบ Percutaneous Vertebral Augmentation with Cement

    เป็นวิธีผ่าตัดแบบแผลเล็กด้วยวิธีการฉีดซีเมนต์เข้าไปซ่อมแซมสันกระดูกที่ยุบหรือหัก ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้สันกระดูก

    ขั้นตอนการผ่าแบบ Percutaneous Screw
    1. จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนคว่ำ
    2. ใช้ยาชาเฉพาะที่หรือร่วมกับยากล่อมประสาท (Sedative Analgesia) อาจทำการบล็อกข้อต่อ (Facet Joint Blocks) ด้วยเพื่อลดความเจ็บปวดด้วย
    3. ใช้เข็มสำหรับกระดูกสันหลังแบบปากฉลาม (Vertebral Needle) เจาะไปยังตำแหน่งที่กำหนด
    4. ผสมซีเมนต์ให้เข้ากันจนเหลวเหมือนยาสีฟัน
    5. ใช้กระบอกฉีดยา (Syringe) ดูดซีเมนต์ที่ผสมแล้วฉีด
    6. รอจนซีเมนต์เริ่มแข็ง จากนั้นจะ Vertebral Needle ออก และปิดด้วยผ้าพันแผลกาว
    การผ่าแบบ Percutaneous Vertebral Augmentation with Cement เหมาะกับใคร?
    • ผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังหักหรือทรุดเนื่องมาจากภาวะกระดูกพรุน
    • ผู้ที่ป่วยมีกระดูกสันหลังผิดรูปเนื่องมาจากภาวะกระดูกพรุน
    • ผู้ป่วยที่กระดูกสันหลังมีอาการหลังเชื่อมติดช้าจากภาวะกระดูกพรุน
    ผ่าตัดกระดูกสันหลัง ราคา

    2. การผ่าตัดกระดูกสันหลังเพื่อระบายโพรงเส้นประสาทและเชื่อมข้อ หรือแบบดั้งเดิม

    เป็นการผ่าตัดเพื่อระบายโพรงเส้นประสาท (Nerve Decompress) ที่ถูกกดทับและเชื่อมข้อกระดูกสันหลังเข้าด้วยกันโดยการใส่เหล็กยึดกระดูกสันหลัง ทำให้ช่องทางของเส้นประสาทมีขนาดใหญ่ขึ้น และเชื่อมข้อให้กระดูกสันหลังปล้องนั้นๆ มีความแข็งแรงมากขึ้น เพื่อลดโอกาสการกดทับเส้นประสาทซ้ำ การผ่าตัดชนิดนี้จึงช่วยลดการกดทับของเส้นประสาทที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดหลังได้

    ขั้นตอนการผ่าตัดแบบดั้งเดิม

    1. จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนคว่ำ
    2. แพทยให้ผู้ป่วยดมยาสลบ
    3. แพทย์ทำการผ่าโดยเปิดแผลที่กลางหลัง (Open Laminectomy)
    4. แพทย์ทำการเลาะกล้ามเนื้อและตัดกระดูกออกบางส่วนหรือเนื้อเยื่อพังผืด ที่กดทับรากประสาทนั้นออกไปรวมถึงการใส่โลหะดามกระดูก (Pedicle Screw Fixation) จากทางด้านหลังเพื่อยึดตรึงกระดูกสันหลัง
    5. แพทย์เย็บปิดแผล

    การผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบดั้งเดิมเหมาะกับใคร?

    การผ่าตัดวิธีนี้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังร้าวลงขาเนื่องจากโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบหรือมีความไม่มั่นคง (Instability) ของกระดูกสันหลังปล้องนั้นๆ ร่วมด้วย เช่น มีความผิดรูปของกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังเคลื่อน หลังคด หรือหลังโก่งผิดรูป โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีการกดทับเส้นประสาทจากการประสบอุบัติเหตุกระดูกหลังหักเป็นอัมพาตครึ่งท่อน การกดทับเส้นประสาทจากโรคเนื้องอกหรือมะเร็ง

    การเตรียมตัวผ่าตัดกระดูกสันหลัง

    • ควรทราบรายละเอียดขั้นตอนการผ่าตัด สิ่งที่จะพบทั้งก่อนและหลังผ่าตัดอย่างครบถ้วน เช่น ควรทราบว่าเมื่อเสร็จการผ่าตัดผู้ป่วยจะตื่นจากการทำผ่าตัดพร้อมมีสายต่างๆ ทั่วร่างกาย เช่น สายจากการให้น้ำเกลือ สายสวนปัสสาวะ หรือสายที่ทำการบันทึกสัญญาณชีพจากอวัยวะต่าง ๆ, ผู้ป่วยที่ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดอาจได้รับคำแนะนำให้พักที่ห้อง ICU 1 วันก่อนย้ายไปห้องพักผู้ป่วยปกติ, ผู้ป่วยที่ไม่ต้องอยู่ ICU หลังการผ่าตัดจะถูกย้ายไปอยู่ที่ห้องพักฟื้น เพื่อสังเกตอาการประมาณ 1 – 2 ชม. เป็นต้น
    • ผู้ป่วยต้องพบแพทย์ผู้ชำนาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัดก่อนการผ่าตัด เพื่อฝึกขยายปอดให้ถูกต้องสำหรับช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด
    • รับประทานยาตามที่แพทย์แจ้งโดยต้องรับประทานต่อเนื่องจนถึงเช้าวันผ่าตัด เช่น ยาลดความดันโลหิตสูง ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ ยาขยายหลอดลม เป็นต้น
    • งดรับประทานยาตามที่แพทย์แจ้งให้งดก่อนผ่าตัด เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน เฮพาริน เป็นต้น
    • จัดหาญาติที่สามารถดูแลผู้ป่วยและประสานกับเจ้าหน้าที่ก่อนและหลังผ่าตัด
    • ควรพักผ่อนนอนหลับให้เต็มที่ก่อนผ่าตัด
    • งดสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ก่อนมาโรงพยาบาล
    • งดน้ำ และอาหารก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 6–8 ชั่วโมง
    • อาบน้ำ สระผม แปรงฟัน ตัดเล็บให้เรียบร้อย หากทาเล็บให้เช็ดยาทาเล็บออก
    • ไม่แต่งหน้า ไม่ติดเครื่องประดับอื่นๆ ไม่ใส่คอนแทคเลนส์ และต้องถอดฟันปลอมฝากญาติไว้ กรณีผู้ป่วยที่มีฟันโยกต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ
    • สวมใส่เสื้อผ้าที่สบายและถอดง่าย
    • ไม่นำของมีค่ามาโรงพยาบาล
    • หากท่านมีอาการแพ้ยาต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่หรือแพทย์ทราบ นำยาเดิมที่รับประทานประจำมาให้แพทย์ดูด้วย

    การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดกระดูกสันหลัง

    การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดสัปดาห์ที่ 1

    • เดินออกกำลังเบาๆ ทุกวัน เพิ่มระยะทาง และเวลาขึ้นวันละน้อย พร้อมสวมอุปกรณ์พยุงหลัง ใช้ไม้เท้าและสวมรองเท้ากันกระแทก
    • ขึ้นลงบันได ต้องจับราวบันไดทุกครั้ง
    • ไม่ควรนั่งนานเกิน 20 นาที
    • กินยาและดูแลแผลตามที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์

    การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดสัปดาห์ที่ 2

    • สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้มากขึ้น เดินได้ไกลขึ้น และบ่อยขึ้น
    • ยกของที่น้ำหนักเบา หรือไม่เกิน 2 กิโลกรัมได้บ้าง
    • ผู้ป่วยที่ฟื้นตัวเร็วและไม่มีอาการปวดอาจสามารถขับรถระยะทางใกล้ๆ ได้
    • ในระยะนี้แพทย์อาจนัดตรวจประเมินหลังผ่าตัด

    การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดสัปดาห์ที่ 3

    • เพิ่มระยะทางและเวลาเดินให้มากขึ้น
    • เริ่มทำงานบ้านได้เล็กน้อย
    • ยกของมีน้ำหนักได้มากขึ้น แต่ไม่เกิน 5 กิโลกรัม
    • ในช่วงนี้ผู้ป่วยที่อายุไม่มาก ร่างกายฟื้นตัวเร็ว อาจไม่ต้องใช้ไม้เท้าช่วยในการเดิน แต่ต้องสวมอุปกรณ์พยุงหลัง และสวมรองเท้ากันกระแทก

    การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดสัปดาห์ที่ 4

    • การเดินจะทำได้มากขึ้นและไกลขึ้น
    • สามารถออกกำลังกายเบาๆ และทำงานบ้านได้มากขึ้น
    • สามารถขับรถได้ไกลขึ้น
    • ผู้ป่วยทั่วไปสามารถเดินได้โดยไม่ต้องใช้ไม้เท้า แต่ต้องใช้อุปกรณ์พยุงหลัง
    • สำหรับการผ่าตัดกระดูกสันหลังทั่วไป หลังจากนี้ในเดือนที่ 2 และ 3 หลังผ่าตัด สามารถเพิ่มกิจกรรมได้ เช่น ว่ายน้ำ ถีบจักรยานอยู่กับที่ และออกกำลังกายอื่นที่ไม่หนัก และสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติแต่ไม่ควรหักโหม อาการตึงหลังอาจยังคงมีอยู่ไปจนระยะเวลา 3-5 เดือนจึงจะค่อยๆ ดีขึ้น
    • ผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อน คำแนะนำจะแตกต่างจากนี้ตามการประเมินจากอาการหลังผ่าของผู้ป่วยแต่ละคนและชนิดของการผ่าตัด
    • นอกจากนี้ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องก้มตัวสุดหรือแอ่นหลังสุดเป็นประจำ เช่น ใช้วิธีย่อเข่าแทนการก้มหลังลงไปยกของ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีการสั่นสะเทือน กรณีที่แผลหายดีแล้วแต่ยังมีอาการหลังตึงหลังแนะนำให้ออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำ เพื่อยึดและเสริมสร้างกล้ามเนื้อ
    เช็กราคาผ่าตัดกระดูกสันหลัง

    ผ่าตัดกระดูกสันหลังพักฟื้นนานไหม?

    ระยะเวลาฟักฟื้นขึ้นอยู่กับวัย ความซับซ้อนอาการของโรค และการเลือกวิธีการผ่าตัด แต่โดยทั่วไประยะเวลาพักฟื้นราวๆ 3-5 เดือน

    ไม่ผ่าตัดกระดูกสันหลังได้ไหม?

    ส่วนใหญ่โรคของกระดูกสันหลังโดยเฉพาะโรคข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม (Lumbar Spondylosis) สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นการรักษาเพื่อประคองอาการ เช่น การรักษาด้วยยาทา การใช้เครื่องช่วยพยุงหลัง การทำกายภาพบำบัด การฝังเข็ม เป็นต้น แต่หากอาการรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้ เช่น มีปัญหาเรื่องการควบคุมการอั้นปัสสาวะหรืออุจจาระ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือรักษาด้วยวิธีที่ไม่ใช่การผ่าตัดแล้วไม่หายอย่างน้อย 6-12 สัปดาห์ ต้องได้รับรักษาด้วยการผ่าตัด

    ผ่าตัดกระดูกสันหลังแล้วหายไหม?

    ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดที่ได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ผลการรักษาจะเป็นไปในทางที่ดีโดยแต่จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด แต่อย่างไรก็ตามผลการรักษาขึ้นอยู่กับโรคและความรุนแรงของโรคก่อนเข้ารับการรักษา เช่น สภาพโรคที่เรื้อรังมานาน มีเนื้องอกในกระดูก หรือการผ่าตัดแก้ไขผลการผ่าตัดครั้งแรก การผ่าตัดก็อาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด หรืออาจกลับมาเป็นซ้ำจากการใช้งานหลังในลักษณะเดิมหลังผ่าตัด

    ผ่าตัดกระดูกสันหลังอันตรายไหม?

    ความปลอดภัยของการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย โรคประจำตัว และความซับซ้อนของโรคของแต่ละคน เช่น ผู้สูงอายุบางท่านสภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวก็จะลดโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนลงได้ ในขณะที่บางรายมีโรคประจำตัวหลายโรค จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างละเอียดจากแพทย์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด

    การผ่าตัดกระดูกสันหลังในปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบวิธีการเพื่อลดความเจ็บปวดและระยะเวลาพักฟื้นตัวลงมาก ทำให้การผ่าตัดกระดูกสันหลังดูมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้เราควรเลือกโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานและเลือกรูปแบบและวิธีการการผ่าตัดที่เหมาะสมกับอาการ ซึ่งอาศัยความชำนาญของแพทย์ในการพิจารณาด้วย

    เช็กราคาการผ่ากระดูกสันหลังจากโรงพยาบาลต่างๆ พร้อมบริการเช็กคิวทำนัดให้ฟรี โดยแอดมิน ของ HDmall.co.th


    บทความที่เกี่ยวข้อง


    ที่มาของข้อมูล

    ขยาย

    ปิด

    • กนกอร พิเดช จิราพร, ปชาณัฏฐ์ นันไทยทวีกุล, วารสารแพทย์นาวี, ผลของโปรแกรมส่งเสริมการจัดการตนเองต่อความสามารถในการทำกิจกรรมของผู้ป่วยหลังผ่าตัดกระดูกสันหลังระดับบั้นเอวในระยะฟื้นฟูสภาพ, ( https://he01.tci-thaijo.org/index.php/nmdjournal/article/download/158605/114878/434706), 2 พฤษภาคม 2561.
    • ผศ.นพ.ต่อพงษ์ บุญมาประเสริฐ, หน่วยโรคกระดูกสันหลัง ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, โรคข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม (DEGENERATIVE DISEASES OF THE SPINE), (https://w1.med.cmu.ac.th/ortho/images/education/Dr.Torpong/PDF%20new_58/Degenerative%20Diseases%20of%20the%20Spine.pdf), พ.ศ.2557.
    • รศ.นพ.วิทเชษฐ พิชัยศักดิ์, ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, การผ่าตัดกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท, (https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=460).
    • สายใจ เอียงอิ่ม, หน่วยผ่าตัดออร์โธปิดิคส์ งานพยาบาลผ่าตัด ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช, ผู้ป่วยผ่ากระดูกสันหลังเคลื่อนด้วยการเชื่อมกระดูกและใส่โลหะยึดตรึงกระดูกสันหลัง, (https://www2.si.mahidol.ac.th/division/nursing/sins/index.php/manual/169-manual-2555-04), พ.ศ.2553.
    @‌hdcoth line chat