การทำหมันหมาตัวเมีย กับเรื่องที่ควรทราบก่อนตัดสินใจแบบถามตอบเข้าใจง่าย


สำหรับผู้ที่เพิ่งรับสุนัขมาเลี้ยงใหม่ตั้งแต่ยังเล็กหลายคนอาจคิดว่ารอให้สุนัขโตขึ้นก่อนจึงค่อยพาไปทำหมัน หรือรอจนสุนัขเริ่มมีพฤติกรรมติดสัด หรือเข้าสู่ช่วงผสมพันธุ์ก่อนค่อยทำหมันก็ได้ เพราะเกรงว่าสุนัขจะเจ็บ หรือเสี่ยงอันตราย

แต่สุนัขแต่ละสายพันธุ์เข้าสู่ช่วงติดสัดในระยะเวลาที่ต่างกัน เมื่อสุนัขเผลอออกไปผสมพันธุ์กับสุนัขตัวอื่นโดยที่ผู้เลี้ยงไม่รู้ เมื่อทราบอีกทีก็อาจมีลูกสุนัขเกิดใหม่พร้อมกันหลายตัว และกลายเป็นความรับผิดชอบของผู้เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นหลายเท่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสุนัขตัวเมียที่ต้องให้นมลูกในระยะแรก หากเลี้ยงไม่ไหวก็ต้องหาบ้านให้สุนัขพร้อมกันหลายตัว

ในบทความนี้จะมาพูดถึงการทำหมันหมาตัวเมียเป็นหลัก โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลกับผู้เลี้ยงที่กำลังชั่งใจว่าจะพาสุนัขตัวเมียไปทำหมันเมื่อไรดี? ควรรอให้ถึงรอบผสมพันธุ์ก่อนไหม? ควรผ่าตัดทำหมันหมาตัวเมียแบบไหน? และในหัวข้ออื่นๆ

หากสนใจแพ็กเกจทำหมันหมาตัวเมียก็สามารถเช็กราคาทำหมันหมาตัวเมียก่อนตัดสินใจได้ แต่สำหรับผู้ที่ต้องการอ่านข้อมูลเกี่ยวกับการทำหมันหมาตัวผู้ สามารถอ่านได้ที่บทความ ทำหมันหมาตัวผู้


เลือกหัวข้อที่สนใจเกี่ยวกับการทำหมันหมาตัวเมียได้ที่นี่

ขยาย

ปิด


การทำหมันหมาตัวเมียคืออะไร?

การทำหมันหมาตัวเมีย (Spaying) คือกระบวนการนำอวัยะสืบพันธุ์ของสุนัขเพศเมีย เช่น รังไข่ (Ovaries) และมดลูก (Utherus) ออก เพื่อป้องกันไม่ให้สุนัขตั้งครรภ์ได้

สุนัขเพศเมียหลายตัวอาจไม่มีพฤติกรรมที่เกิดจากสัญชาติญาณทางเพศอีกเลย เช่น การหนีออกจากบ้านเพื่อหาคู่ผสมพันธุ์ การแสดงท่าทางคล้ายขณะกำลังผสมพันธุ์ ในขณะที่บางตัวอาจยังมีอยู่บ้าง

นอกจากการทำหมันหมาตัวเมียจะสามารถควบคุมประชากรสุนัขที่เกิดโดยไม่ตั้งใจได้แล้ว ยังมีส่วนช่วยให้สุขภาพโดยรวมของสุนัขดีขึ้น มีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น และอาจลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เช่น การหนีออกจากบ้าน ทั้งนี้เนื่องจากการทำหมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงนิสัย หรือพฤติกรรมที่เกิดจากประสบการณ์ของสุนัข

การทำหมันหมาตัวเมียมีกี่วิธี?

การทำหมันหมาตัวเมียสามารถแยกออกมาได้ 2 วิธีหลักๆ ดังนี้

1. ทำหมันหมาด้วยการผ่าตัดนำทั้งรังไข่และมดลูกออก (Ovariohysterectomy)

การผ่าตัดนำทั้งรังไข่และมดลูก (Ovariohysterectomy: OVH) ออกไปทั้งคู่ เป็นวิธีที่ใช้กันทั่วไปในประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศไทยก็มีให้บริการเช่นกัน การนำอวัยวะทั้ง 2 อย่างออกไปพร้อมกันเลย สามารถป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งรังไข่ และโรคที่เกี่ยวกับมดลูกด้วยในการผ่าตัดครั้งเดียว

นอกจากนี้การผ่าตัดนำทั้งรังไข่และมดลูกออก ยังสามารถใช้เพื่อรักษาโรคหรืออาการที่เกิดขึ้นแล้วโดยตรงได้ เช่น ภาวะมดลูกอักเสบเป็นหนอง (Pyometra)

อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจสร้างแผลมากกว่าอีกการผ่าตัดนำรังไข่ออกเพียงอย่างเดียว และอาจใช้เวลาผ่าตัดรวมถึงพักฟื้นนานกว่า จึงควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับสุนัขแต่ละตัวมากที่สุด

ทำหมันหมาตัวเมีย ราคา, ราคาทำหมันสุนัข

2. ทำหมันหมาด้วยการผ่าตัดนำรังไข่ออก (Ovariectomy)

การผ่าตัดนำรังไข่ออก (Ovariectomy: OVE) เพียงอย่างเดียว เป็นวิธีที่มีบาดแผล และความซับซ้อนน้อยกว่าวิธีแรก ทำให้สุนัขอาจอยู่ภายใต้ยาสลบในระยะเวลาที่สั้นกว่าด้วย

ในกรณีที่สัตวแพทย์ให้บริการผ่าตัดทำหมันด้วยเทคนิคส่องกล้อง (Laparoscopic) วิธีนี้อาจเหมาะมากกว่าการผ่าตัดนำทั้งรังไข่และมดลูกออกทั้งคู่

โดยปกติแล้วการนำเพียงรังไข่ออกเพียงอย่างเดียว ก็สามารถป้องกันโรคร้ายต่างๆ ที่อาจถูกกระตุ้นจากฮอร์โมนได้อยู่แล้ว ดังนั้นการนำมดลูกออกไปด้วยจึงอาจไม่ใช่ความจำเป็นสูงสุดในการผ่าตัดทำหมันและดูแลสุขภาพสำหรับสุนัขทุกตัว

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของทั้ง 2 วิธีในการป้องกันการตั้งครรภ์ รวมถึงความปลอดภัยนั้นใกล้เคียงกัน จึงควรพิจารณาการผ่าตัดร่วมกับสัตวแพทย์ เพื่อเลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสุนัขแต่ละตัว

ข้อดีของการทำหมันหมาตัวเมีย

การทำหมันหมาตัวเมียนั้น นอกจากจะมีข้อดีเด่นชัดเรื่องการควบคุมประชากรสุนัขแล้ว ยังมีข้อดีอีกหลายข้อด้านสุขภาพด้วย ดังนี้

  • ลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งเต้านมในสุนัข (Mammary Cancer)
  • ลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งรังไข่ในสุนัข (Ovarian Cancer) และมะเร็งมดลูก (Uterine)
  • ลดโอกาสเกิดภาวะมดลูกอักเสบเป็นหนอง (Pyometra) หรือการติดเชื้อในมดลูก
  • ลดความต้องการหนีออกจากบ้าน เนื่องจากขณะติดสัด (Estrus) สุนัขจะพยายามหนีออกจากบ้านเพื่อหาคู่ผสมพันธุ์ การทำหมันหมาตัวเมียจะช่วยลดความต้องการดังกล่าวได้
  • ลดความแปรปรวนของฮอร์โมนที่มักเกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์หลังผสมพันธุ์
  • ช่วยไม่ให้สุนัขมีรอบติดสัตว์ จึงไม่มีอาการบวมที่อวัยวะเพศ และไม่มีเลือดออกจากอวัยวะเพศตามรอบผสมพันธุ์
  • อาจมีส่วนช่วยทำให้อายุขัยสุนัขยืนยาวขึ้น สุนัขส่วนใหญ่ที่ผ่านการทำหมันแล้วมักมีอายุโดยเฉลี่ยยาวนานกว่าสุนัขที่ไม่ได้ผ่านการทำหมัน
  • อาจมีส่วนช่วยให้สุนัขลดความวิตกกังวล หรือความกลัว

นอกจากนี้ การทำหมันหมาตัวเมียอาจใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นๆ โดยตรง ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความต้องการควบคุมประชากรสุนัข เช่น รักษาความผิดปกติของรังไข่จากซีสต์ (Cysts) รักษาภาวะมดลูกติดเชื้อ หรือมะเร็ง เป็นต้น

ทำหมันหมาตัวเมีย ราคา, ราคาทำหมันสุนัข

ข้อเสียของการทำหมันหมาตัวเมีย

แม้การทำหมันหมาตัวเมียจะมีข้อดีมากมาย แต่ก็มีข้อเสียที่ต้องพิจารณา และหาวิธีป้องกันพร้อมๆ กันไปด้วย ดังนี้

  • อาจทำให้การเผาผลาญ (Metabolism) ของสุนัขลดลง เนื่องจากสุนัขมีความต้องการเคลื่อนไหวน้อยลง หากผู้เลี้ยงพาสุนัขตัวเมียไปทำหมันแล้ว ควรปรึกษากับสัตวแพทย์ถึงการปรับอาหารให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของสุนัข รวมถึงวางแผนการออกกำลังกายให้สุนัขเพิ่มเติมเพื่อป้องกันไม่ให้สุนัขอ้วนเกินไปจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ
  • การทำหมันหมาตัวเมียที่สายพันธุ์ใหญ่ เช่น โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ (Golden Retriever) ในวัยที่กระดูกยังไม่โตเต็มที่ อาจมีความสัมพันธ์กับอาการบาดเจ็บที่เอ็นไขว้หน้าเข่า จึงควรปรึกษาสัตวแพทย์เป็นกรณีไป
  • การทำหมันหมาตัวเมียอาจสัมพันธ์ต่อภาวะปัสสาวะเล็ด (Urinary Incontinence) ในวัยกลาง และวัยชราของสุนัข เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

หากเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการทำหมันหมาตัวเมียแล้ว โดยส่วนมากการทำหมันหมาตัวเมียก็ยังคงส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมของสุนัขมากกว่าข้อเสียที่จะได้รับ

ในด้านของบุคลิกตัวตนของสุนัขเอง เช่น ความฉลาด ความขี้เล่น และความเป็นมิตรของสุนัข ก็จะไม่ได้เปลี่ยนไปแต่อย่างใด

ควรพาหมาตัวเมียไปทำหมันตอนไหน?

ควรทำหมันหมาตัวเมียช่วงก่อนจะเข้าสู่ช่วงติดสัดหรือรอบผสมพันธุ์ครั้งแรก เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกเต้านมให้มากที่สุด (Mammary Tumors) ซึ่งอายุเฉลี่ยของการติดสัดครั้งแรกอาจอยู่ที่ประมาณ 6 เดือน

นอกจากนี้ การทำหมันหมาตัวเมียก่อนจะถึงช่วงติดสัดครั้งแรกยังช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการเสียเลือดมากในสุนัขได้ หลายคลินิกจึงแนะนำให้สุนัขตัวเมียทำหมันช่วงอายุประมาณ 5 เดือน หรือหากอายุเกิน 5 เดือนไปแล้วก็ควรหลีกเลี่ยงการทำหมันหมาตัวเมียในช่วงที่กำลังติดสัด

แต่ข้อมูลเบื้องต้นดังกล่าวไม่อาจใช้ได้กับสุนัขทุกตัวเสมอไป เพราะการเลือกระยะเวลาที่เหมาะสมในการทำหมันหมาตัวเมียนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สุขภาพของสุนัข พฤติกรรม สภาพแวดล้อมในการเลี้ยงสุนัข รวมถึงสายพันธุ์ของสุนัข

สุนัขพันธุ์เล็กอาจเริ่มเข้าสู่ช่วงติดสัดครั้งแรกที่อายุประมาณ 4 เดือนขึ้นไป ในขณะที่สุนัขพันธุ์ใหญ่อาจเข้าสู่ช่วงติดสัดครั้งแรกตอนอายุ 18-24 เดือน

ปัจจัยเรื่องของวิธีการเองก็มีความแตกต่างกันได้ เช่น การทำหมันหมาตัวเมียด้วยการตัดรังไข่เพียงอย่างเดียว (Ovariectomy) ควรทำเมื่อสุนัขยังอายุน้อย และเป็นช่วงที่มีสุขภาพดี แต่หากสุนัขมีอายุมากแล้วอาจต้องพิจารณาทำหมันด้วยการตัดทั้งรังไข่และมดลูกออก (Ovariohysterectomy)

ดังนั้น เมื่อทราบระยะเวลาโดยเฉลี่ยของการทำหมันซึ่งก็คือประมาณ 6 เดือนแล้ว เมื่อใกล้ถึงช่วงเวลาดังกล่าว หากต้องการทำหมันหมาตัวเมียที่เลี้ยงไว้ ก็ควรลองพาไปปรึกษากับสัตวแพทย์เป็นกรณีไป เพื่อที่จะได้ข้อมูลที่เหมาะสมกับสุนัขของตนเองมากที่สุด

ขั้นตอนการทำหมันหมาตัวเมียเป็นอย่างไร?

การทำหมันหมาตัวเมียเป็นการผ่าตัดที่แพร่หลาย และสัตวแพทย์ในปัจจุบันทำกันเป็นจำนวนมาก วิธีการไม่ซับซ้อนมากนัก ขั้นตอนหลักๆ อาจมีดังนี้

  1. สัตวแพทย์จะทำการตรวจร่างกาย และตรวจเลือดเพื่อเช็กการทำงานของอวัยวะภายใน รวมถึงสุขภาพโดยรวมของสุนัข
  2. หากผลการตรวจร่างกายเป็นไปด้วยดี สัตวแพทย์จะทำการให้ยาสลบ ปัจจุบันมักเลือกใช้เป็นแบบท่อช่วยหายใจ (Endotracheal Tube: ET) เพื่อให้ยาสลบสามารถเข้าสู่ปอดได้โดยตรงร่วมกับการให้ออกซิเจนตลอดการผ่าตัด
  3. เมื่อยาสลบออกฤทธิ์แล้ว สัตวแพทย์จะทำการโกนขนบริเวณที่จะทำการผ่าตัด และทำการฆ่าเชื้อก่อนจะเริ่มผ่าตัดทำหมัน
  4. สัตวแพทย์อาจทำการเปิดแผลบริเวณกลางหน้าท้อง (แถวสะดือ) จากนั้นนำรังไข่ออกทีละข้าง หรืออาจนำมดลูกออกด้วย ขึ้นอยู่กับเทคนิคของสัตวแพทย์แต่ละคน
  5. เมื่อนำรังไข่ทั้ง 2 ข้างออกมาแล้ว จะทำการเย็บปิดแผล ซึ่งอาจเป็นการใช้ไหมละลาย หรือไหมปกติก็ได้ขึ้นอยู่กับสัตวแพทย์พิจารณา แต่หากต้องมาตัดไหม มักจะเป็นช่วง 8-12 วันหลังรับการผ่าตัด

ขั้นตอนการผ่าตัดอาจมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเทคนิคของสัตวแพทย์แต่ละคน

การทำหมันสุนัขเพศเมีย, spaying

การเตรียมตัวก่อนพาหมาตัวเมียไปทำหมัน

การทำหมันหมาตัวเมียอาจต้องพาสุนัขไปพบกับสัตวแพทย์ 2-3 ครั้ง โดยครั้งแรกสัตวแพทย์จะตรวจร่างกายสุนัขแล้ว จึงนัดหมายวันผ่าตัดอีกครั้งพร้อมแนะนำข้อควรปฏิบัติก่อนมาทำหมัน โดยการเตรียมตัวหลักๆ ที่พบได้บ่อยคือการงดน้ำ และอาหารอย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อนทำหมัน เพื่อป้องกันการสำลักขณะผ่าตัด

ส่วนสุนัขที่จำเป็นต้องกินยาหลังจากกินอาหาร ควรปรึกษาสัตวแพทย์ถึงแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม นอกจากนี้ควรแน่ใจว่าวันที่พาสุนัขมาทำหมันนั้น สุนัขจะต้องมีสุขภาพดี ไม่ป่วย และไม่อยู่ระหว่างช่วงเป็นสัดหรือประจำเดือน เพราะอาจมีความเสี่ยงที่สุนัขจะเสียเลือดมากได้

หากไม่แน่ใจว่าสุนัขของตนเองกำลังอยู่ในระหว่างตั้งครรภ์หรือไม่ ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อพิจารณาความเหมาะสมก่อนทำการผ่าตัด

การดูแลหลังหมาตัวเมียทำหมันแล้ว

หลังจากผ่าตัดทำหมันหมาตัวเมียแล้ว สุนัขอาจยังคงต้องการการพักฟื้นรวมถึงมีข้อควรระวังหลายข้อ ดังนี้

  • ไม่ควรให้สุนัขออกไปนอกบ้าน หรือถ้าจำเป็นต้องออกก็ไม่ควรให้สุนัขเดินนานเกินไป
  • หากจำเป็นต้องมีการปล่อยสุนัขออกนอกบริเวณบ้าน ผู้เลี้ยงควรใส่สายจูงให้สุนัขเสมอเพื่อป้องกันไม่ให้สุนัขวิ่งจนอาจกระทบกระเทือนกับแผล
  • ไม่ควรให้สุนัขทำกิจกรรมหนักๆ เช่น วิ่ง กระโดด หรือเดินเยอะเกินไปในช่วง 7-14 วันหลังผ่าตัดทำหมัน เพราะอาจทำให้แผลแตกได้
  • ไม่ควรให้สุนัขเข้าใกล้ หรือเล่นกับสุนัขตัวอื่นๆ
  • งดอาบน้ำ หรือให้สุนัขเล่นน้ำ ระวังอย่าให้แผลเปียกน้ำอย่างน้อย 1 สัปดาห์
  • งดทาครีม หรือยาฆ่าใดๆ ที่สัตวแพทย์ไม่ได้แนะนำ
  • ห้ามใช้ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ (Hyodrogen Peroxide) หรือแอลกอฮอล์ล้างแผลโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากสัตวแพทย์ผู้ทำการรักษา เพราะอาจทำให้เซลล์ถูกทำลายและรักษาหายช้าลง
  • ควรใส่ปลอกคอกันเลียไว้ให้สุนัขตลอดเวลา เพื่อไม่ให้สุนัขเลีย หรือกัดแผลผ่าตัด เนื่องจากสุนัขอาจเผลอทำให้แผลผ่าตัดฉีกขาดได้
  • หมั่นตรวจดูสภาพแผลของสุนัขอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยแผลผ่าตัดที่ปกติดีควรจะดูสะอาด แผลแนบสนิทกันไม่มีรอยแตก สีผิวอาจมีสีชมพูอมแดงเล็กน้อย หากมีอาการไม่พึงประสงค์ เช่น บวมแดงขึ้น มีกลิ่นเหม็น ควรพาไปพบสัตวแพทย์
  • ควรให้สุนัขพักผ่อนมากๆ หากที่บ้านมีเด็กที่ชอบเล่นกับสุนัข ไม่ควรปลุกสุนัขมาเล่นบ่อยในระหว่างที่สุนัขกำลังพักฟื้น

หากดูแลสุนัขอย่างดี และไม่มีอาการอื่นแทรกซ้อน สุนัขอาจกลับไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติได้ภายใน 10 วันหลังผ่าตัดทำหมัน

ทำหมันหมาตัวเมีย ราคา, ราคาทำหมันสุนัข

ทำหมันหมาตัวเมียแล้ว จะแอบหนีออกจากบ้านน้อยลงไหม?

น้อยลง การทำหมันหมาตัวเมียจะทำให้สุนัขไม่มีการติดสัดหรือเข้าสู่รอบผสมพันธุ์อีก ช่วยลดความต้องการเดินออกจากบ้านเพื่อหาสุนัขตัวผู้มาผสมพันธุ์

ทำหมันหมาตัวเมียแล้ว จะยังสามารถเฝ้าบ้านได้อยู่ไหม?

การทำหมันหมาตัวเมีย หรือตัวผู้ ไม่ได้มีผลต่อสัญชาตญาณ ตัวตน การฝึก และประสบการณ์ของสุนัข สุนัขจึงยังคงตอบสนองต่อคนแปลกหน้าที่รุกล้ำเข้ามาบริเวณบ้านได้เหมือนเดิม โดยเฉพาะผู้ที่ฝึกสุนัขมาให้เป็นสุนัขเฝ้าบ้าน ก็จะยังสามารถเฝ้าบ้านได้เหมือนเดิมเช่นกัน

ทำหมันหมาตัวเมียเจ็บไหม?

การทำหมันหมาตัวเมียมีการใช้ยาสลบ (General Anesthetic) ผ่านทางท่อช่วยหายใจตลอดการผ่าตัด เพื่อไม่ให้สุนัขรู้สึกเจ็บขณะทำการผ่าตัด โดยสัตวแพทย์จะค่อยๆ ปิดการให้ยาสลบในช่วงท้ายๆ ของการผ่าตัด และเหลือแต่เพียงออกซิเจนในท่อช่วยหายใจเท่านั้น เพื่อให้สุนัขฟื้นขึ้นได้เมื่อยาสลบอ่อนฤทธิ์ลง

ทำหมันหมาตัวเมียอันตรายไหม?

การผ่าตัดทำหมันหมาตัวเมีย เป็นการผ่าตัดที่ต้องใช้ยาสลบตลอดกระบวนการ ทำให้การผ่าตัดทำหมันนี้มีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายกับสุนัขได้เช่นเดียวกับการผ่าตัดประเภทอื่น เช่น ยาสลบอาจกดการทำงานของหัวใจของสุนัข

อย่างไรก็ตาม ความรู้และอุปกรณ์การแพทย์ในสมัยนี้ช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นอยู่ในอัตราที่ต่ำมากอยู่แล้ว สัตวแพทย์จะคอยดูสัญญาณชีพ ระดับความดันเลือด และอุณหภูมิตลอดทั้งการผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงที่สุนัขจะเกิดอาการบาดเจ็บ และอันตรายให้ได้มากที่สุด

ผลข้างเคียงหลังผ่าตัดทำหมันหมาตัวเมีย

หลังผ่าตัดทำหมันหมาตัวเมียแล้ว เป็นธรรมดาที่อาจเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้ในสุนัขแต่ละตัว ดังนี้

  • อาจเกิดอาการบวมบริเวณแผลผ่าตัด แต่ควรจะค่อยๆ ดีขึ้น
  • อาจเกิดอาการระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ทำการผ่าตัด เนื่องจากผิวหนังอาจไวต่อวัสดุที่ใช้ในการเย็บแผล
  • อาจมีเลือดซึมออกมาจากแผลบ้างในรอบ 24 ชั่วโมงแรกหลังการผ่าตัด โดยเฉพาะสุนัขที่เคลื่อนที่บ่อยๆ
  • สีผิวบริเวณแผลผ่าตัดของสุนัขอาจมีสีแดง หรือดูคล้ายช้ำหลังผ่าตัด ซึ่งจะเห็นได้ชัดหากสุนัขมีสีผิวปกติที่ขาว เกิดจากการซึมของเลือดบริเวณใต้ผิวหนัง หลังจากนั้น 2-3 วัน บริเวณแผลผ่าตัดควรจะค่อยๆ ดีขึ้น และมีสีชมพูอมแดงเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม แม้อาการดังกล่าวจะเป็นผลข้างเคียงปกติที่อาจเกิดขึ้น แต่หากเกิดขึ้นมากเกินไปจนดูผิดปกติ เช่น เลือดออกไม่หยุด หรือเลือดออกเยอะ ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์ทันที

หลังผ่าตัดทำหมันหมาตัวเมีย อาการแบบไหนต้องพาไปหาสัตวแพทย์?

หากสุนัขของคุณมีอาการดังต่อไปนี้หลังจากผ่าตัดทำหมัน ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่ควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ทันที

  • มีของเหลว สารคัดหลั่ง หรือเลือดซึมออกจากแผลอย่างต่อเนื่องเกินกว่า 24 ชั่วโมง
  • มีอาการบวมแดงมากขึ้น
  • มีกลิ่นเหม็นออกจากบริเวณแผลผ่าตัด
  • มีไข้ เบื่ออาหาร
  • มีอาการเจ็บรุนแรง
  • แผลแตก หรือแยกออกจากกัน

ทั้งนี้ หากดูแลสุนัขตามที่สัตวแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด โอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อ แผลแตก หรือแยกออกจากกันก็จะน้อยลงได้มาก

โดยสรุปแล้ว การทำหมันหมาตัวเมียนั้นนอกจากจะช่วยควบคุมประชากรสุนัขที่อาจเกิดโดยไม่ตั้งใจแล้ว ยังมีประโยชน์ในด้านสุขภาพอีกหลายข้อ ซึ่งโดยรวมแล้วสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้เลี้ยงได้มากกว่าการเลี้ยงดูลูกสุนัข และการพาไปรักษาโรคต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น

การทำหมันหมาตัวเมียอาจทำให้พฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนไปก็จริง แต่ไม่ได้มีผลต่อตัวตนของสุนัข และยังคงตอบสนองต่อผู้เลี้ยงอย่างเป็นมิตรเช่นเดิม เพียงแต่อาจต้องการการดูแลเป็นพิเศษในช่วงแรกหลังรับการผ่าตัด

หากสนใจปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อทำหมันหมาตัวเมีย หรือเช็กราคาทำหมันหมาตัวเมีย ก็สามารถเช็กได้ผ่าน HDmall.co.th ได้ก่อนตัดสินใจ


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Dr. Phil Zeltzman, DVM, DACVS, CVJ, Two Ways of Spaying a Dog: Ovariohysterectomy vs. Ovariectomy, (https://www.pethealthnetwork.com/dog-health/dog-surgery-a-z/two-ways-spaying-a-dog-ovariohysterectomy-vs-ovariectomy).
  • Canadian Veterinary Medical Association, SPAY SURGERY: WHAT YOU NEED TO KNOW, (https://www.canadianveterinarians.net/documents/spay-surgery-what-you-need-to-know), 24 October 2012.
  • Ryan Llera, BSc, DVM; Cheryl Yuill, DVM, MSc, CVH, Care of Surgical Incisions in Dogs, (https://vcahospitals.com/know-your-pet/care-of-surgical-incisions-in-dogs).
  • Krista Williams, BSc, DVM; Ernest Ward, DVM, Spaying in Dogs, (https://vcahospitals.com/know-your-pet/spaying-in-dogs).
  • Kathleen Claussen, DVM, What To Know About Dogs in Heat, (https://pets.webmd.com/dogs/how-tell-if-dogs-heat), 14 February 2021.
  • Jennica Johnson, MSc, Dog Neutering or Spaying A Dog: Pros and Cons (Backed by Science), (https://topdogtips.com/pros-and-cons-of-spaying-your-dog/), 4 Kune 2021.
  • Elizabeth A. Martinez, DVM, Spaying or Neutering Your Dog FAQ, (https://pets.webmd.com/dogs/guide/spaying-or-neutering-your-dog-faq), 29 April 2012.
  • Dr. Adrienne Bentley DVM, DACVS, CUVS CLINICAL BRIEF Ovariectomy or Ovariohysterectomy?, (https://www.cuvs.org/sites/default/files/inline-files/Clinical%20Brief_Ovariectomy%20or%20Ovariohysterectomy_%2008.30.18_2.pdf).
  • สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสงขลา, ข้อควรปฎิบัติก่อนการทำหมันสัตว์, (http://pvlo-sgk.dld.go.th/webnew/index.php/th/service-menu/learnning-sgk/82-2016-05-04-04-03-53), 4 พฤษภาคม 2559.
@‌hdcoth line chat