มือลอกเพราะขาดวิตามินหรือไม่ อาการ วิธีรักษา ป้องกัน


มือลอก หนังลอก รักษาอย่างไร

มือลอกเป็นอาการที่หลายคนเคยเผชิญแต่มักไม่ค่อยทราบสาเหตุกัน โดยหลายคนจะคิดว่า อาการมือลอกนั้นต้องมาจากการขาดความชุ่มชื้นที่ผิวเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว อาการมือลอกสามารถเกิดได้จากสาเหตุมากกว่านั้น

ความหมายของอาการมือลอก

มือลอก (Skin peeling on hands) เป็นอาการที่ผิวหนังชั้นหนังกำพร้าที่มือหลุดลอกออกมาเป็นขุยๆ หรือเป็นแผ่นๆ และมักมีอาการมือแห้งหยาบกร้าน ไม่นุ่มนวลร่วมด้วยจนทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายผิว ระคายเคือง คัน หรืออาจรู้สึกเจ็บที่ผิว

ผิวที่อวัยวะส่วนอื่นซึ่งมักมีอาการลอกร่วมกับบริเวณมือคือ บริเวณริมฝีปากและเท้า

สาเหตุที่ทำให้มือลอก

สาเหตุที่มักทำให้เกิดอาการมือลอกขึ้น มีดังต่อไปนี้

1. สภาพอากาศ

เป็นสาเหตุที่หลายคนมักคาดเดาไว้เป็นอันดับหนึ่ง โดยสภาพอากาศที่แห้งมีส่วนทำให้ความชุ่มชื้นของผิวหนังลดน้อยลงได้ และเมื่อผิวหนังแห้งมากๆ ก็มีโอกาสหลุดลอกออกมาได้นั่นเอง

2. การสัมผัสแสงแดด

รังสีอัลตราไวโอเลต หรือรังสียูวี (Ultraviolet: UV) จากแสงแดดสามารถทำให้ผิวหนังไหม้จนกลายเป็นสีแดง ทำให้เกิดความรู้สึกอุ่นและแสบ จากนั้นผิวหนังบริเวณที่สัมผัสรังสีมากๆ จะค่อยๆ หลุดลอกออก

สำหรับผิวบริเวณแขน มือ และขา ซึ่งเป็นผิวหนังที่มักจะอยู่นอกร่มผ้าจึงมีโอกาสสัมผัสแสงแดดได้บ่อยๆ ผิวหนังบริเวณนี้จึงมีโอกาสหลุดลอกได้ง่ายกว่าผิวหนังส่วนอื่นๆ 

ส่วนผู้ที่ต้องทำงานด้านนอกอาคารอยู่บ่อยๆ ควรสวมถุงมือ และทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันรังสียูวี มิฉะนั้นจะมีความเสี่ยงที่ผิวจะไหม้ และเป็นโรคมะเร็งผิวหนังได้ง่ายกว่าคนทั่วไป 

3. ล้างมือบ่อยๆ

หลายคนอาจคิดว่า การล้างมืออย่างถูกวิธีสามารถช่วยชะล้างเชื้อโรคออกไปจากมือได้ นั่นถือเป็นเรื่องที่เหมาะสมและควรปฏิบัติอย่างยิ่งโดยเฉพาะในช่วงที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาด 

แต่ในทางกลับกัน การล้างมือไม่ว่าจะด้วยน้ำเปล่า ล้างด้วยสบู่ หรือด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ก็ถือเป็นการชะล้างเอาน้ำมันที่ช่วยสร้างความชุ่มชื้นออกไปจากผิวด้วย

เมื่อน้ำมันธรรมชาติถูกชะล้างออกไปจากผิวบ่อยๆ จึงทำให้ผิวบริเวณนั้นเหลือสารน้ำหล่อเลี้ยงให้เกิดความชุ่มชื้นไม่เพียงพอ และทำให้ผิวแห้งจนหลุดลอก หรือเกิดอาการผื่นแพ้สารในสบู่ หรือสารในน้ำยาล้างมือที่ใช้ล้างมือได้

4. พฤติกรรมดูดนิ้ว

พฤติกรรมดูดนิ้ว (Finger sucking) มักพบมากที่สุดในกลุ่มเด็กๆ ตั้งแต่เด็กทารกอายุ 18 สัปดาห์ไปจนถึงเด็กอายุประมาณ 4 ขวบ แล้วหลังจากนั้นพฤติกรรมนี้ก็จะค่อยๆ ลดลงไปเมื่อพวกเขาโตขึ้น

พฤติกรรมดูดนิ้วอย่างต่อเนื่องและเป็นประจำทำให้น้ำลายไปที่ล้างเอาน้ำมันธรรมชาติที่ผิวนิ้วออกไป เมื่อผิวหนังของนิ้วที่เด็กดูดมีความชื้นจากน้ำลายมากขึ้นๆ จะเกิดอาการเปื่อยและเซลล์ผิวชั้นนอกก็จะค่อยๆ หลุดลอกออกได้ในที่สุด 

5. การสัมผัสสารเคมี

สารเคมีที่ทุกคนใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นสบู่ แชมพู ครีมบำรุงผิว ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพผิวได้ทั้งนั้น

โดยสารเคมีในผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจเข้าไปสร้างความระคายเคืองในชั้นผิว ถึงแม้จะเป็นสารต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย หรือช่วยบำรุงผิวก็ตาม

แต่เพราะผิวของแต่ละคนมีการตอบสนองต่อสารที่สัมผัสกับร่างกายแตกต่างกัน ถึงแม้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะมีการโฆษณาว่า ช่วยสร้างความชุ่มชื้น หรือเหมาะกับผู้ที่แพ้สารเคมีง่าย แต่ทุกคนก็สามารถแพ้สารเคมีทุกตัวได้โดยไม่อาจคาดเดาได้ล่วงหน้า

ผลจากการแพ้สารเคมี หรือเกิดความระคายเคืองนี้ สามารถแสดงอาการผิดปกติได้ด้วยอาการผิวหนังลอกนั่นเอง

6. ภาวะผิวหนังอักเสบ

ภาวะผิวหนังอักเสบจนเกิดการหลุดลอก (Exfoliative keratolysis) เป็นประเภทของภาวะผิวหนังอักเสบที่มักพบในช่วงฤดูร้อน หรือเวลาอากาศร้อนจัด

ภาวะผิวหนังอักเสบนี้จะมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำขึ้นมาก่อน ก่อนที่จะแตกออก และทำให้ชั้นผิวหนังกำพร้าแยกออกจากกันจนกลายเป็นแผลแห้ง มีสีแดง และทำให้เกิดอาการเจ็บแสบตามมา แต่จะไม่เกิดอาการคันระคายเคือง

ภาวะผิวหนังอักเสบจนเกิดการหลุดลอกนอกจากจะเกิดจากสภาพได้แล้ว ยังเกิดได้จากการสัมผัสสารเคมีบางอย่างที่สร้างความระคายเคืองได้อีกด้วย

นอกจากภาวะผิวหนังอักเสบ ยังมีอีกโรคที่มีอาการคล้ายกันอีก ชื่อว่า “โรคผื่นผิวหนังอักเสบที่มือ (Hand eczema)” ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยๆ ในกลุ่มวัยกลางคน หรือวัยทำงาน เพราะมีการสัมผัสสารเคมี หรือสิ่งแปลกปลอมได้บ่อย

กลุ่มผู้ที่สัมผัสสารเคมีบ่อยๆ อย่างช่างเสริมสวย ช่างทำผม ช่างทาเล็บ ทันตแพทย์ พยาบาล คนงานก่อสร้าง เป็นอีกกลุ่มอาชีพที่เสี่ยงเป็นโรคนี้ได้ โดยอาการของโรคผื่นผิวหนังอักเสบที่มือโดยหลักๆ จะได้แก่

  • เป็นผื่นแดง และอาจมีน้ำหนองไหลออกมาด้วย
  • ผิวหนังเป็นขุย แห้ง และหลุดลอก
  • มีตุ่มน้ำเล็กๆ ขึ้นที่มือ รวมถึงซอกนิ้ว ง่ามมือ
  • รู้สึกคันระคายเคืองผิวหนัง

7. โรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบซึ่งเกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ผิวหนัง มักเกิดบริเวณหนังศีรษะ แผ่นหลังส่วนล่าง ข้อศอก หัวเข่า หนังศีรษะ แต่ก็สามารถเกิดที่บริเวณอื่นๆ ของร่างกายได้เช่นกัน

โรคสะเก็ดเงินมีอาการโดยหลักๆ คือ เกิดผื่นแดงเรื้อรัง มีขอบชัดเจน ก่อนจะกลายเป็นขุยหลุดลอกในภายหลัง

ขาดวิตามินทำให้มือลอกได้จริงหรือไม่?

อีกสาเหตุที่หลายๆ คนมักกล่าวกันว่า เป็นตัวการทำให้เกิดอาการผิวมือลอกก็คือ ร่างกายขาดวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด ซึ่งก็มีส่วนได้เช่นกัน เช่น

  • วิตามินบีสาม เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนสำคัญในบำรุงดูแลผิวหนัง การขาดวิตามินบี 3 จึงมีส่วนทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ปวดท้อง เบื่ออาหาร และอีกอาการ คือ ผิวแห้งจนหลุดลอกเป็นขุย
  • วิตามินซี เป็นสารวิตามินเสริมสร้างคอลลาเจน เพิ่มความชุ่มชื้น และเสริมเซลล์ผิวของร่างกายให้เพียงพอ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเกือบทุกชนิดจึงมักมีสารวิตามินซีรวมอยู่ด้วย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หากขาดวิตามินตัวนี้ แล้วผิวมือรวมถึงผิวหนังส่วนอื่นๆ จะมีสุขภาพแย่ลงจนหลุดลอกออกมา
  • วิตามินอี ซึ่งเป็นวิตามินเสริมสร้างคอลลาเจนให้กับผิว หากร่างกายไม่ได้วิตามินตัวนี้เพียงพอ ก็อาจเกิดอาการผิวแห้ง และแตกจนลอกเป็นขุยได้

หากอยากให้ร่างกายได้รับสารวิตามินครบถ้วนในเวลาอันเร่งด่วน ก็สามารถไปเข้ารับตัวช่วยด้วยการฉีดวิตามิน หรือรับวิตามินบำรุงทางเส้นเลือดได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดโอกาสการเกิดมือลอกได้แล้ว ยังช่วยให้ผิวพรรณและสุขภาพของคุณดีขึ้นไปอีกด้วย

การรักษาอาการมือลอก

วิธีการรักษาอาการมือลอกนั้นทำได้ไม่ยาก และมักรักษาไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ

  • ทาครีม หรือเจลเพิ่มความชุ่มชื้นเป็นประจำ ทั้งหลังล้างมือและหลังอาบน้ำ เพื่อให้ผิวคงความชุ่มชื้นเอาไว้
  • ประคบเย็น หากอาการมือลอกเกิดจากการสัมผัสแดด หรือของร้อนจัด จากนั้นทายาสำหรับรักษาอาการผิวไหม้ หรือแสบร้อนบริเวณที่ผิวลอก
  • อาบน้ำเย็น หากอาการมือลอกมาจากสภาพอากาศร้อน หรือแห้ง ให้อาบน้ำเย็น เพื่อให้ผิวได้สัมผัสอุณหภูมิที่ต่ำลง รวมถึงเปิดเครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศร่วมด้วย
  • ล้างมือให้สะอาด หากผิวมือลอกจากการสัมผัสสารเคมี ให้รีบล้างมือให้สะอาดโดยใช้สบู่สูตรอ่อนโยนต่อผิว หลังจากนั้นให้หยุดใช้สารที่ทำให้เกิดอาการผิวลอกโดยทันที
  • ทานยาหากแสบมาก หากรู้สึกเจ็บแสบผิวมาก ให้รับประทานยาแก้ปวดบรรเทาอาการ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) 
  • ทายาสำหรับผลัดเซลล์ผิว โดยปกติจะเป็นยาประเภทที่มีกรดแลคติค (Lactic acid) หรือสารยูเรีย (Urea) ผสมอยู่ด้วย
  • สวมถุงมือ หากมีอาการผิวมือลอกร่วมกับมีตุ่มน้ำ เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บ และไม่ทำให้ตุ่มน้ำแตก อย่าเพิ่งใช้ครีม หรือเจลเพิ่มความชุ่มชื้นใดๆ แต่ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาอาการนี้อย่างเหมาะสม โดยวิธีรักษานั้น แพทย์อาจจ่ายยาสเตียรอยด์สำหรับลดอาการคันระคายเคืองและลดผื่นขึ้นมาให้ โดยให้ใช้ร่วมกับครีมเพิ่มความชุ่มชื้น นอกจากนี้แพทย์อาจจ่ายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือที่อ่อนโยนเป็นพิเศษต่อผิวมาให้ด้วย
  • การฉายแสง เป็นวิธีที่แพทย์ใช้รักษาในผู้ที่มีอาการผิวหนังอักเสบอย่างรุนแรง และไม่สามารถรักษาด้วยยาทา หรือยารับประทานได้

วิธีป้องกันอาการมือลอก

คุณสามารถทำตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อลดโอกาสเกิดอาการมือลอก รวมถึงผิวหนังลอกที่อวัยวะส่วนอื่นๆ ด้วย

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารที่แพ้ หรือทำให้เกิดอาการผิวหนังระคายเคืองทุกชนิด
  • ไม่ควรล้างมือบ่อยๆ เกิน 2-3 ครั้งต่อวัน ยกเว้นแต่มีการสัมผัสสิ่งสกปรกอย่างต่อเนื่องทั้งวัน และไม่ควรล้างมือด้วยน้ำอุ่น หรือน้ำร้อน เพราะจะทำให้ความชุ่มชื้นของผิวหายไป
  • ทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ให้ความชุ่มชื้นอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหลังอาบน้ำ และหลังล้างมือ
  • ทาครีมกันแดดบริเวณผิวหนังที่อยู่นอกร่มผ้าซึ่งให้ค่า SPF 30 ขึ้นไปทุกครั้งที่ต้องออกนอกบ้าน และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แดดจัดเป็นเวลานาน
  • สวมถุงมือและปลอกแขนหากต้องสัมผัสสารเคมี หรืออยู่ในที่แดดจัดมากๆ เพื่อไม่ให้ผิวสัมผัสความร้อน หรือสารอันตรายจนเกิดผลข้างเคียง
  • ทำร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอเมื่ออยู่ในฤดูกาลที่สภาพอากาศแห้งจัด หากมีอาการอย่างรุนแรง แนะนำให้ซื้อเครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศติดไว้ที่บ้านด้วย
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้สารอาหาร และวิตามินครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดวิตามินจนส่งผลให้เกิดอาการผิวลอก

อาการผิวลอกไม่ใช่อาการร้ายแรงถึงชีวิต แต่ก็สามารถสร้างความรำคาญ ทำให้เกิดอาการเจ็บแสบระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ดังนั้นคุณจึงต้องดูแลสุขภาพผิวของตนเองให้ดี โดยไม่ใช่แค่ผิวมือเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผิวหนังส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่ต้องได้รับการบำรุงดูแลอย่างดีด้วยเช่นกัน


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจฉีดวิตามิน

เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจวิตามิน


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat