shoulder tendonitis physical therapy

กายภาพบําบัด เอ็นไหล่อักเสบ

หากคุณมีอาการปวดไหล่ตอนยกแขน ขยับผิดท่าแล้วรู้สึกได้ว่ากระดูกหัวไหล่ดัง ก๊อก! ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ไม่ปกติ หากคุณมีอาการดังกล่าว คุณอาจกำลังเผชิญกับอาการเอ็นไหล่อักเสบ (Shoulder tendinitis)

หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจต้องใช้การผ่าตัดรักษา แต่หากยังเป็นไม่มาก อาจสามารถรักษาด้วยวิธีอื่นที่ไม่ต้องผ่าตัด เช่น การรักษาเอ็นไหล่อักเสบด้วยการทำกายภาพบำบัด (Physical therapy: PT) นั่นเอง

เอ็นไหล่อักเสบ คืออะไร?

เอ็นไหล่อักเสบ เป็นการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อ โรเทเตอร์ คัฟฟ์ (Rotator cuff) หรือเอ็นรอบข้อไหล่ ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ 4 มัด มีหน้าที่ช่วยพยุงหัวกระดูกต้นแขนให้อยู่ในเบ้าข้อไหล่

หากใช้งานหัวไหล่หนักเกินไป จะทำให้เอ็นรอบข้อไหล่อักเสบ หรือฉีกขาดได้ ในผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป อาจประสบปัญหานี้จากเอ็นรอบข้อไหล่เสื่อม ถ้าหากไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่อาการข้อติด หรือกล้ามเนื้อไหล่อ่อนแรงได้

อาการเอ็นไหล่อักเสบเป็นอย่างไร?

อาการที่บ่งบอกว่าคุณอาจเป็นเอ็นข้อไหล่อักเสบ มีดังต่อไปนี้

  • ปวดส่วนนอกของต้นแขน โดยเฉพาะเวลายกแขนขึ้นเหนือศีรษะ หรือเอามือไปด้านหลัง
  • ปวดด้านหน้าและด้านบนหัวไหล่ โดยเฉพาะเวลายกแขนขึ้นเหนือศีรษะ หรือเอามือไปด้านหลัง
  • อาจมีอาการบวมด้านหน้าของหัวไหล่
  • อาจมีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วยจากอาการปวด
  • อาจมีเสียง “คลิก” ในหัวไหล่ของคุณเมื่อยกแขนขึ้นเหนือหัว
  • อาจรู้สึกอ่อนแรง และเคลื่อนไหวได้จำกัด
  • อาจรู้สึกไหล่ติดขัด

อาการดังกล่าวอาจดีขึ้นเมื่อพักผ่อนอย่างเต็มที่ แต่หากไม่มีการเปลี่ยนพฤติกรรม หรือรับการรักษา อาการอาจแย่ลงได้ นอกจากนี้หากอาการปวดลุกลามเกินช่วงข้อศอกไป อาจเป็นสัญญาณของอาการอื่นๆ ร่วมด้วย

กายภาพบำบัดเอ็นไหล่อักเสบคืออะไร?

กายภาพบำบัด (Physical therapy: PT) รักษาอาการเอ็นไหล่อักเสบ ถือเป็นการรักษาเบื้องต้นโดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยพัฒนาการใช้งานกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อบริเวณเล็กๆ ที่มักถูกละเลย

การเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็กเหล่านี้มีส่วนพัฒนาการทำงานของหัวไหล่ โดยนักกายภาพบำบัดจะประเมินอาการ และเป็นผู้วางแผนการบำบัดด้วยวิธีต่างๆ ให้

เมื่อสามารถควบคุมอาการปวดได้ นักกายภาพบำบัดจะให้คำแนะนำในการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับแขนและหัวไหล่

อย่างไรก็ตาม การกายภาพบำบัดไม่ได้ช่วยรักษาอาการบาดเจ็บโดยตรง แต่เป็นการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อเท่านั้น หากอาการเป็นมากขึ้น หรือปล่อยไว้ระยะเวลานาน อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

กายภาพบำบัดเอ็นไหล่อักเสบทำอย่างไร?

วิธีการกายภาพบำบัดเอ็นข้อไหล่อักเสบอาจมีความแแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน นักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้วางแผนการรักษาให้เหมาะกับผู้รับบริการ แต่โดยทั่วไปวิธีที่นักกายภาพบำบัดเลือกมาใช้ อาจมีดังนี้

  • ประคบเย็น (Ice therapy) มักใช้สำหรับอาการบาดเจ็บเฉียบพลัน มีส่วนช่วยลดอาการอักเสบ บวม และช่วยบรรเทาอาการปวด
  • ประคบร้อน (Heat therapy) ช่วยบรรเทาอาการปวด และช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย มักใช้หลังจากอาการบาดเจ็บนั้นผ่านมาเกิน 72 ชั่วโมงแล้ว
  • กายภาพบำบัดด้วยมือ (Hands-on therapy) นักกายภาพบำบัดจะใช้มือดัด หรือนวดคลึงผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพื่อบรรเทาอาการบาดเจ็บของหัวไหล่
  • การเสริมสร้างกล้ามเนื้อ (Strengthening) นักกายภาพบำบัดจะแนะนำท่าออกกำลังกายเสริมสร้างกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการปวดบริเวณที่บาดเจ็บ นอกจากนี้หากบริเวณดังกล่าวแข็งแรงขึ้น ก็จะช่วยลดโอกาสบาดเจ็บซ้ำแบบเดิมอีกด้วย
  • การดึงรอก (Pulley) เป็นการนำรอกมาหนีบประตูไว้ และให้ผู้รับบริการใช้มือทั้งสองยึดที่จับรอก จากนั้นใช้แขนข้างที่ไม่ได้บาดเจ็บออกแรงดึง ช่วยให้หัวไหล่ข้างที่บาดเจ็บขยับขึ้นลงได้โดยไม่ต้องออกแรง นักกายภาพบำบัดจะแนะนำระดับความสูง องศาการดึงให้เหมาะสมกับแต่ละคน
  • การขยับเคลื่อนข้อต่อ (Joint mobilization) เป็นท่าทางการเคลื่อนไหวเพิ่มความยืดหยุ่นของเยื่อหุ้มข้อ (Joint capsule) เพื่อให้หัวไหล่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยนักกายภาพบำบัดที่มีความรู้เรื่องกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) จะวางแผนการเคลื่อนไหวให้
  • อัลตราซาวด์ (Ultrasound) การอัลตราซาวด์เพื่อบำบัดรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็นข้อไหล่ และเนื้อเยื่ออื่นๆ เป็นการใช้ความร้อนเข้าไปช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในเนื้อเยื่อ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการไหล่ติดร่วมด้วย ช่วยให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นได้มากขึ้น และเพิ่มขอบเขตการเคลื่อนไหว
  • การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า (Electrical stimulation) เป็นการใช้ไฟฟ้าเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อหัวไหล่ เพื่อกระตุ้นประสาท บางกรณีอาจใช้เพื่อลดการอักเสบ และลดอาการปวด
  • เทปคิเนซิโอ (Kinesiology taping) หรือที่หลายคนเรียกว่าเทปพยุงกล้ามเนื้อ เมื่อติดเข้ากับกล้ามเนื้อจะกระชับผิว ทำให้เกิดพื้นที่ระหว่างใต้กล้ามเนื้อและผิวหนัง ช่วยลดการระคายเคืองของหัวไหล่ได้ นอกจากนี้ยังอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และน้ำเหลืองอีกด้วย
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Activity modification) นอกจากนักกายภาพบำบัดจะช่วยบรรเทาอาการให้กับคุณแล้ว ยังช่วยคุณวางแผนป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำด้วย โดยแนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อให้หัวไหล่ไม่ทำงานหนักเกินไป
  • ปรับปรุงพื้นที่ทำงานให้เหมาะกับสรีระของตัวเอง เพราะหลายคนอาจต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน นักกายภาพบำบัดอาจแนะนำสัดส่วนที่เหมาะสม หรือแนะนำท่าออกกำลังกายง่ายๆ ที่ทำได้ที่โต๊ะทำงาน
  • การออกกำลังกายที่บ้าน การกายภาพบำบัดหัวไหล่ที่ทำกับนักกายภาพบำบัดนั้น ควรทำอย่างสม่ำเสมอ นักกายภาพบำบัดอาจแนะนำให้คุณออกกำลังกายต่อที่บ้านเป็นประจำเพื่อให้การรักษาได้ผลตามต้องการที่สุด

หลังจากนักกายภาพบำบัดแนะนำให้ปฎิบัติตามวิธีดังกล่าวแล้ว ควรสอบถามนักกายภาพบำบัดถึงความเหมาะสมในการนำไปทำต่อที่บ้าน เพื่อให้การรักษาเกิดความต่อเนื่องและเห็นผลลัพธ์มากขึ้น

กายภาพบำบัดเอ็นไหล่อักเสบ ช่วยอะไร?

การไปทำกายภาพบำบัดเอ็นไหล่อักเสบ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการปวดเพียงอย่างเดียว แต่นักกายภาพบำบัดจะวางแผนร่วมกับคุณเพื่อป้องกันการกลับมาบาดเจ็บซ้ำจากสาเหตุเดิมด้วย ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่นักกายภาพบำบัดอาจให้แนะนำระหว่างให้บริการ

  • นักกายภาพบำบัดอาจอธิบายพื้นฐานเรื่องกายวิภาคเกี่ยวกับหัวไหล่ เพื่อให้คำแนะนำในการเคลื่อนไหวอย่างถูกวิธี
  • นักกายภาพบำบัดจะใช้วิธีต่างๆ เพื่อช่วยให้คุณสามารถกลับมาเคลื่อนไหวแขน และหัวไหล่ได้ดีขึ้น
  • นักกายภาพบำบัดจะแนะนำการออกกำลังกายเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหัวไหล่ขณะอยู่ที่บ้าน หรือสถานที่ทำงาน
  • นักกายภาพบำบัดจะแนะนำการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การนั่งที่เหมาะสม ลักษณะการยืนที่ถูกวิธี เพื่อลดและป้องกันอาการปวด
  • นักกายภาพบำบัดอาจแนะนำลักษณะการนอนที่ไม่ส่งผลกระทบกับหัวไหล่
  • นักกายภาพบำบัดอาจแนะนำวิธีการถือของอย่างปลอดภัย
  • นักกายภาพบำบัดจะแนะนำการประคบเย็น หรือประคบร้อน เพื่อบรรเทาอาการปวด
  • ช่วยให้คุณกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการบาดเจ็บรุนแรง หรือปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้วยังไม่หาย ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย แต่หากอาการยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น การกายภาพบำบัดเอ็นไหล่อักเสบ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาเบื้องต้น

Scroll to Top