ถอนฟัน รวมทุกเรื่องที่ควรรู้ก่อนไปถอนฟัน


ถอนฟัน รวมทุกเรื่องที่ควรรู้ก่อนไปถอนฟัน

การถอนฟันอาจสร้างความกังวลใจแก่ใครหลายๆ คน โดยเฉพาะหากฟันซี่นั้นเป็นฟันแท้ หากถอนออกไปเมื่อไหร่ก็จะกลายเป็นฟันหลอทันที อย่างไรก็ตาม การรักษาทางทันตกรรมบางอย่าง เช่น การจัดฟัน ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการถอนฟันไปไม่ได้ 

บทความนี้จะช่วยให้คุณทราบทุกขั้นตอนของการถอนฟัน ไม่ว่าจะถอนฟันเพราะฟันผุ หรือถอนฟันเพื่อจัดฟัน เพื่อจะได้เตรียมตัวเตรียมใจ วิธีปฏิบัติตัวหลังถอนฟันเพื่อให้แผลหายดี ไม่มีอาการแทรกซ้อน รวมถึงแนะนำการใช้สิทธิ์ประกันสังคมให้ทราบ

การถอนฟันเพราะฟันผุกับจัดฟัน เหมือนกันหรือไม่

การถอนฟันเพราะฟันผุกับถอนฟันเพื่อจัดฟัน มีสาเหตุและแนวทางการรักษาต่างกัน ดังนี้

ถอนฟันเพราะฟันผุ

โดยปกติแนวทางการรักษาสำหรับฟันผุที่ยังไม่ทะลุโพรงประสาทฟันคือ การอุดฟัน แต่การรักษาสำหรับฟันผุที่ทะลุโพรงประสาทฟันแล้วมี 2 ทางเลือก 

ทางเลือกแรกคือ การรักษารากฟันร่วมกับการใส่เดือยฟัน หรือครอบฟัน ส่วนอีกทางเลือกคือ การถอนฟันซี่ดังกล่าวออกไป

ถอนฟันเพราะจัดฟัน

ทันตแพทย์จะพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ลักษณะการซ้อนเกของฟัน ลักษณะการสบฟัน การเลือกฟันให้เป็นหลักยึดสำหรับการเคลื่อนฟันซี่อื่นๆ ความสมมาตรของฟันและกระดูกขากรรไกรซ้าย-ขวา ความอูมนูน-ความยุบของใบหน้าเมื่อมองจากด้านข้าง 

นอกจากนี้ยังพิจารณาลักษณะโครงสร้างใบหน้าของผู้จัดฟันประกอบ ได้แก่ จมูก คาง โหนกแก้ม หน้าผาก ระนาบความเอียงของระดับสายตา 

ดังนั้นการเลือกซี่ฟันและจำนวนที่จะถอนจึงแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย แม้แต่ในผู้ป่วยรายเดียวกัน การถอนฟันอาจไม่ใช่ตำแหน่งที่สมมาตรกันระหว่างซ้ายขวา หรือบนล่าง

นอกจากในผู้ป่วยรายที่ต้องการจัดฟัน ซึ่งมีทั้งซี่ฟันผุและฟันซี่ที่ทันตแพทย์พิจารณาแล้วว่า ต้องถอนเพื่อการจัดฟัน ฟันทั้ง 2 ซี่นั้นอาจเป็นคนละซี่กัน การรักษาของแต่ละซี่ก็จะไม่เกี่ยวข้องใดๆ ต่อกัน แต่หากบังเอิญเป็นซี่เดียวกันก็สามารถถอนซี่ดังกล่าวโดยไม่ต้องพิจารณาอุด หรือรักษารากฟัน

สำหรับผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง จำเป็นต้องมีใบส่งตัวจากแพทย์เจ้าของไข้มาด้วย ทันตแพทย์ถึงจะสามารถถอนฟันให้ได้เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

ตำแหน่งที่จะถอนฟันทำให้มีวิธีถอนแตกต่างกัน หรือไม่

การถอนฟันแต่ละซี่มีหลักการเหมือนกัน ดังนี้

  • ทันตแพทย์จะซักประวัติด้านสุขภาพและการแพ้ยาก่อน 
  • ถ่ายภาพรังสี (x-ray) ประกอบการวินิจฉัยสรุปสาเหตุที่ต้องถอนฟันและให้เห็นถึงความยาว รูปร่าง และตำแหน่งของฟันและกระดูกบริเวณรอบๆ ฟัน 
  • ทันตแพทย์จะเตรียมบริเวณที่ถอนฟัน ได้แก่ ฉีดยาชา ทำความสะอาดเหงือกและฟันข้างเคียง 
  • เมื่อบริเวณที่จะถอนฟันเกิดอาการชาแล้ว ทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือที่ทำให้ฟันหลวมจากเหงือก จากนั้นจะถอนฟันออกมาด้วยคีมถอนฟัน ในบางรายทันตแพทย์อาจต้องปรับสภาพกระดูกที่อยู่ด้านล่างให้มีความเรียบเนียนขึ้น 
  • เมื่อถอนฟันเสร็จสิ้นแล้ว ทันตแพทย์จะปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ บางกรณีถ้าแผลกว้าง หรือแผลลึกมาก เช่น การถอนฟันคุด ทันตแพทย์อาจต้องเย็บแผลเพื่อให้เลือดหยุดไหลและแผลปิดสนิท สมานตัวกันเร็วยิ่งขึ้น 
  • ทันตแพทย์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับข้อปฏิบัติและการดูแลแผลที่เกิดจากการถอนฟัน รวมทั้งการดูแลทำความสะอาด

อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งฟันที่จะถอนแต่ละตำแหน่งที่แตกต่างกันจะทำให้มีรายละเอียดของขั้นตอนการถอนต่างกัน เช่น การถอนฟันหน้า ฟันเขี้ยว หรือฟันกรามน้อยที่มีรากเดียวจะใช้การโยกและหมุนซี่ฟัน 

ส่วนการถอนฟันกรามน้อยที่มีหลายราก ฟันกรามใหญ่ หรือฟันคุด จะใช้การโยก การดันฟันไปยังช่องว่างด้านหลังของขากรรไกร หรือการตัดฟันเป็นชิ้นๆ ก่อนถอนออกจากขากรรไกร

นอกจากนี้การฉีดยาชาและลักษณะการชายังแตกต่างกันระหว่างขากรรไกรบนและล่าง รวมถึงต่างกันในระหว่างเด็กและผู้ใหญ่อีกด้วย

การดูแลตัวเองหลังถอนฟัน

หลังการถอนฟัน สิ่งสำคัญที่สุดคือ การกัดผ้าก๊อซให้แน่นเพื่อหยุดเลือด ห้ามบ้วนเลือด หรือบ้วนน้ำลายหลังถอนฟัน ควรพักผ่อนมากๆ รับประทานอาหาร อ่อนๆ งดอาหารรสจัด และรักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี มีรายละเอียด ดังนี้

  1. กัดผ้าก๊อซให้แน่นบนบริเวณที่ถอน ห้ามเคี้ยว หรือพูดถ้าไม่จำเป็น โดยปกติเลือดที่ไหลออกจากแผลจะหยุดไหลภายใน 1 ชั่วโมง แต่อาจมีลิ่มเลือดที่ละลายปนกับน้ำลายซึมออกมาได้ตลอด 24 ชั่วโมงแรก
  2. เมื่อกัดครบ 2 ชั่วโมง ให้เอาผ้าก๊อซออก หากยังมีเลือดสดๆ ไหลออกมาอีก ให้กัดผ้าก๊อซชิ้นใหม่ที่ทันตแพทย์ให้อีก 1 ชั่วโมง โดยต้องล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบผ้าก๊อซมาวางที่แผล
  3. ต้องรับประทานยาตามที่ทันตแพทย์จ่ายอย่างเคร่งครัด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ
  4. หากเลือดไหลไม่หยุด ห้ามอมน้ำแข็ง ให้ใช้เจลแช่เย็น หรือน้ำแข็งในถุงพลาสติกห่อด้วยผ้า หรือกระดาษ ประคบนอกปากบริเวณผิวหนังที่ตรงกับฟันที่ถอนภายใน 48 ชั่วโมงแรก
  5. ห้ามบ้วนน้ำ ห้ามบ้วนน้ำลาย ห้ามบ้วนเลือด ตลอดวันที่ถอนฟัน 
  6. ห้ามแคะแผล ดูดแผลเล่น และห้ามใช้ลิ้นดุนเล่นที่แผล 
  7. ห้ามออกกำลังกายหนัก แต่สามารถทำงานและใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ 
  8. ห้ามสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือรับประทานของมึนเมาอย่างน้อย 1 สัปดาห์
  9. การรับประทานอาหารในวันแรกควรเป็นอาหารเหลว แต่ไม่ควรร้อนเกินไป เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม

การถอนฟันก่อให้เกิดการบาดเจ็บ ความชอกช้ำแก่กระดูกและเหงือก หลังจากยาชาหมดฤทธิ์ไปผู้ที่ถอนฟันออกไปจึงมักมีอาการปวดตามมา และจะมีอาการปวดสูงสุดในช่วง 3-5 ชั่วโมงหลังผ่าตัด 

อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้จะบรรเทาได้โดยการรับประทานยา การประคบ และปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่ทันตแพทย์แจ้งไว้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการกัดผ้าก็อซให้แน่น ไม่บ้วนเลือด หรือน้ำลาย อาการปวดจะค่อยๆ บรรเทาลงหลังวันที่ 2 หรืออาจไม่มีอาการเจ็บปวดเลยในบางราย

หากหลังวันที่ 3 เป็นต้นไป อาการเจ็บปวดยังไม่ทุเลา หรือปวดมากขึ้น อาจเกิดเป็นปัญหาแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น กระดูกเบ้าฟันอักเสบ ตามมาได้ ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา

สำหรับแผลจะเริ่มปิดหลังถอนฟันประมาณ 5 วันแรกหลังการถอน ส่วนใหญ่จะปิดภายใน 2 สัปดาห์ และจะปิดสนิทใช้เวลาประมาณ 1 เดือน 

  • แผลในฟันบนจะหายเร็วกว่าฟันล่าง 
  • ฟันซี่ใหญ่ หรือฟันที่มีหลายรากจะหายช้ากว่าฟันซี่เล็ก 
  • หากเป็นการผ่าฟันคุดล่าง อาจใช้เวลานานถึง 2 เดือน แผลจึงหายสนิท

ราคา หรืออัตราค่าบริการการถอนฟัน

สำหรับราคา หรืออัตราค่าบริการการถอนฟันนั้น ขึ้นอยู่กับความยากง่ายในแต่ละเคส มีการเพิ่มปริมาณยาชา หรือไม่อย่างไร มีการเย็บแผล จ่ายยา เวชภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่ รวมทั้งค่าบริการอื่นๆ ของแต่ละคลินิกทันตกรรม หรือสถานพยาบาล 

โดยทั่วไปราคา หรืออัตราค่าบริการการถอนฟันมีดังนี้

  • การถอนฟันทั่วไปจะอยู่ที่ซี่ละ 600-800 บาท 
  • การถอนฟันในเคสยากอยู่ที่ซี่ละ 900 -1,200 บาท 
  • กสนถอนฟันโดยวิธีผ่าตัดและเย็บแผลจะอยู่ที่ซี่ละ 1,000- 1,500 บาท

อย่างไรก็ตาม อาจติดต่อสอบถามราคา หรืออัตราค่าบริการการถอนฟัน จากคลินิกทันตกรรม หรือสถานพยาบาล ก่อนเข้ารับบริการ รวมทั้งวิธีการชำระเงินและการใช้สิทธิ์ประกันสังคม (ถ้ามี)

 

การใช้สิทธิ์ประกันสังคมสำหรับถอนฟัน

ผู้ที่จะสามารถรับสิทธิ์ทำฟันประกันสังคมต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือนภายใน 15 เดือน เมื่อครบสิทธิสามารถใช้บริการทำฟันเดือนไหนของปีก็ได้ 

ทั้งนี้หากผู้ประกันตนส่งเงินสมทบครบ 3 เดือนแล้ว แต่ลาออกจากงานแล้วก็ยังสามารถรับบริการทันตกรรมได้ เพราะสิทธิ์ประกันสังคมยังคงคุ้มครองต่อให้อีก 6 เดือน นับจากวันที่ลาออก

การถอนฟันสามารถใช้สิทธิ์ประกันสังคมได้ทั้งการถอนฟันเพราะฟันผุ ถอนเพราะจัดฟัน ถอนฟันคุด ผ่าฟันคุด รวมไปถึงการขูดหินปูน ผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริง 900 บาท/ปี โดยอัตราค่าบริการที่สามารถเบิกได้แตกต่างไปตามประเภทของทันตกรรม 

การใช้สิทธิ์ประกันสังคมสามารถเลือกปฏิบัติได้ 2 วิธี ได้แก่

  1. รับบริการที่คลินิกทันตกรรมทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วไป และผู้ใช้สิทธิ์ต้องชำระเงินกับทางคลินิกไปล่วงหน้าก่อน (ต้องสำรองจ่าย) จากนั้นนำหลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นคำขอรับประโยชน์กรณีทันตกรรม ได้แก่
    • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีทันตกรรม (สปส.2-16) (ออกให้โดยคลินิกทันตกรรม)
    • ใบรับรองแพทย์
    • ใบเสร็จรับเงิน
    • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้

    ยื่นเอกสารทั้งหมดได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาที่สะดวก เพื่อรอรับเงินคืนจากสำนักงานประกันสังคมภายในวงเงิน 900 บาท/ปี

  2. รับบริการที่คลินิกทันตกรรมทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีป้ายระบุว่า “สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม ไม่ต้องสำรองจ่าย” ผู้ใช้สิทธิ์สามารถใช้บัตรประชาชนเป็นหลักฐานเข้ารับบริการได้ โดยไม่ต้องสำรองจ่ายภายในวงเงิน 900 บาท/ปี

หากมีข้อสงสัย หรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามช่องทางต่อไปนี้ 

  • www.sso.go.th 
  • สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง 
  • สำนักประกันสังคมสอบถามสิทธิประกันสังคมพื้นที่/ จังหวัด/ สาขาทั่วประเทศ 
  • ดาวน์โหลดโมบายแอพพลิเคชั่น ชื่อ SSO Connect Mobile เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูล สอบถามสิทธิได้ด้วยตนเองอย่างง่ายดาย

อย่าลืมว่า สิทธิ์ประกันสังคมสำหรับทำฟันมีให้ปีต่อปี หากคุณเป็นผู้ประกันตนอย่าลืมไปใช้สิทธิ์ทำฟันประจำปีกัน จะได้มีสุขภาพช่องปากและฟันที่สะอาดแข็งแรง

เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจจัดฟัน


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • สำนักงานประกันสังคม. กระทรวงแรงงาน. กรณีทันตกรรม (ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ผ่าตัดฟันคุด และใส่ฟันเทียม) [อินเทอร์เน็ต]. นนทบุรี 2560 [เข้าถึงเมื่อ 20 มีนาคม 2562] เข้าถึงได้จาก: https://www.sso.go.th/wpr/main/privilege/กองทุนประกันสังคม_detail_detail_1_125_0/24_24
  • พรหมมา ลลิตกร. การถอนฟันทางปฏิบัติ (Practical tooth extraction). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2558.
  • ตำราศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล (Oral and maxillofacial surgery) โดย ศ.นพ.เชื้อโชติ หังสสูต กรุงเทพฯ: เยียร์บุ๊คพับลิชเชอร์, 2536
@‌hdcoth line chat