สารคัดหลั่ง คืออะไร น้ำลาย เป็นไหม มีอะไรบ้าง?


สารคัดหลั่ง คืออะไร น้ำลาย เป็นไหม

สารคัดหลั่งกับของเสียที่ร่างกายขับออก ในบางครั้งอาจเกิดความเข้าใจผิดหรือสับสนว่า คืออะไร หมายถึงแค่ปัสสาวะ หรืออุจจาระ หรือเหงื่อเท่านั้นใช่หรือไม่ เรามาดูความหมาย และความสำคัญของมันพร้อมกัน 

ความหมายของสารคัดหลั่ง

สารคัดหลั่ง (Secretion) คือ สารที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อให้ทำหน้าที่ต่างๆ เป็นสารที่มีความจำเป็น และมีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

สารคัดหลั่งจะแตกต่างไปจากของเสียที่ร่างกายขับออกมา ซึ่งเป็นของเสียในร่างกายที่ไม่ใช้งานแล้ว จำเป็นที่จะต้องขับออกไป หากไม่มีการขับออกจะเกิดผลเสียต่อร่างกายได้

รายละเอียดเพิ่มเติมของ สารคัดหลั่ง กับ สารที่ร่างกายขับออก มีดังนี้

สารคัดหลั่ง (Secretion) 

สารคัดหลั่ง หมายถึง สารที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ต่างๆ โดยเฉพาะ เช่น แอนติบอดีที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาว เพื่อกำจัดสิ่งแปลกแปลอมหรือเชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกาย หรือฮอร์โมนซึ่งเป็นสารที่ผลิตจากต่อมไร้ท่อ ทำหน้าที่ควบคุมอวัยวะเป้าหมายให้ทำงานได้อย่างสมดุล 

โดยฮอร์โมนที่เป็นสารคัดหลั่งจะถูกขนส่งไปยังเซลล์ หรืออวัยวะเป้าหมายด้วยระบบไหลเวียนเลือด สารคัดหลั่งอาจอยู่ในรูปแบบดังต่อไปนี้

1. เลือด

เลือด (Blood) เป็นของเหลวที่ไหลเวียนในร่างกาย เลือดมีหน้าที่ขนส่งออกซิเจนจากปอดสู่เนื้อเยื่อต่างๆภายในร่างกาย และรับคาร์บอนไดออกไซด์จากเนื้อเยื่อมายังปอดเพื่อกำจัดออกในขั้นตอนต่อไป 

ส่วนประกอบของเลือด ได้แก่ เซลล์เม็ดเลือดกับน้ำเลือด และเซลล์เม็ดเลือด (ฺBlood cell) จะแบ่งย่อยออกเป็นเม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาว ซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกัน ดังนี้

  1. เม็ดเลือดแดง (Red Blood cell) ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปยังเซลล์ในร่างกาย และรับคาร์บอนไดออกไซด์จากเซลล์มากำจัดที่ปอด
  2. เม็ดเลือดขาว (White Blood cell) ทำหน้าที่ป้องกัน และกำจัดสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย แบ่งออกได้เป็น 5 ชนิด ได้แก่
    1. นิวโทรฟิล (Neutrophil) เป็นเซลล์แรกที่เข้ามาทำลายเชื้อโดยใช้เยื่อหุ้มเซลล์การโอบล้อมจุลชีพ จากนั้นจะใช้น้ำย่อยในเซลล์ย่อยเชื้อนั้น
    2. อีโอซิโนฟิล (Eosinophil) เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อพยาธิ
    3. เบโซฟิล (Basophil) มีบทบาทสำคัญในการเกิดภูมิแพ้ เช่น ผื่นคัน ลมพิษ คัดจมูก น้ำมูกไหล
    4. ลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) ทำหน้าที่สร้างแอนติบอดี
    5. โมโนไซต์ (Monocyte) มีหน้าที่ในการกลืนกินเชื้อโรค และช่วยสร้างแอนติบอดี

2. เกล็ดเลือด 

เกล็ดเลือด(Platelets) เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการอุดรอยฉีกของเส้นเลือด และช่วยให้เลือดแข็งตัวเมื่อร่างกายได้รับบาดเจ็บ

3. น้ำเลือด

3.) น้ำเลือด (Plasma) น้ำเลือดประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนมาก ภายในมีสารอาหาร โปรตีนชนิดต่างๆ ที่สำคัญ ที่เกี่ยวกับการควบคุมสมดุลของร่างกาย และสารที่ทำให้เลือดแข็งตัว ความผิดปกติของเลือดที่พบบ่อย ได้แก่

  • ภาวะโลหิตจาง: ภาวะที่ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของร่างกายหลายอย่าง เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ตัวซีด อาการรุนแรงมากอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
  • ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ: ภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเกล็ดเลือดน้อยกว่าปกติ ทำให้เกิดการเลือดออกที่ผิดปกติ  เช่น มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะเป็นเลือด หากอาการรุนแรงมากอาจทำให้เลือดออกจนเสียชีวิตได้
  • ภาวะภูมิแพ้: ภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันมากเกินไปจนเป็นอันตรายต่อตนเอง จะเกิดการอักเสบบริเวณที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น จาม คัดจมูก ผื่นคัน หอบหืด หากคุณพบว่า ตนเองมีภาวะนี้ก็ควรไปรับการตรวจภูมิแพ้ เพื่อจะได้รู้ว่า ตนเองแพ้สารอะไรบ้าง

4. น้ำหล่อสมอง และน้ำไขสันหลัง

น้ำหล่อสมอง และน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid: CSF) เป็นของเหลวที่อยู่รอบสมอง และไขสันหลังเพื่อสามารถรับแรงกระแทกต่อสมอง และไขสันหลัง นอกจากนี้ยังเป็นเส้นทางในการขนส่งอาหารให้กับสมอง และไขสันหลังด้วย

ความผิดปกติของน้ำหล่อสมอง และน้ำไขสันหลังที่พบบ่อย ได้แก่

  • โรคสมองอักเสบ (Encephalitis): เกิดการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่สมอง มีอาการปวดหัว ไม่รู้สึกตัว ชักเกร็งหรือคอแข็ง เชื้อที่พบบ่อย และเป็นสาเหตุ ได้แก่ Herpes Simplex Virus, Epstein-Barr Virus, Rabies Virus
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis): อักเสบบริเวณเยื่อหุ้มสมองหรือไขสันหลัง โดยเกิดการติดเชื้อที่น้ำหล่อสมอง และน้ำไขสันหลัง นอกจากนั้นการได้รับบาดเจ็บบริเวณสมอง หรือโรคมะเร็งก็สามารถทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้

ของเสียที่ร่างกายขับออก (Excretion) 

เป็นสารที่เป็นของเสียที่ร่างกายจำเป็นต้องจำกัดออก เพื่อควบคุมสมดุลของร่างกาย ของเสียที่ขับออกอาจอยู่ในรูปแบบดังต่อไปนี้

1. ปัสสาวะ 

ปัสสาวะ(Urine) เป็นของเสียที่อยู่ในรูปของเหลวที่ผลิตจากไต ส่วนประกอบหลักเป็นน้ำ 95% ส่วนอีก 5% เป็นสารที่ละลายน้ำได้ เช่น ยูเรีย กรดยูริก ครีเอตินีน หรือแอมโมเนีย

ความผิดปกติเกี่ยวกับปัสสาวะที่พบบ่อย เช่น

  • การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection): เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ หรือท่อปัสสาวะ

    เชื้อจุลชีพที่พบบ่อยในการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ คือ เชื้อเอสเชอรีเชีย โคไล (Escherichia coli) เมื่อติดเชื้อทำให้เวลาปัสสาวะมีอาการปวดแสบ ไม่สามารถปัสสาวะได้สุด ปริมาณที่ได้น้อยกว่าปกติ และลักษณะของปัสสาวะที่ได้จะขุ่นหรือมีเลือดปนมากับปัสสาวะ

    ในเพศหญิงมีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่าเพราะมีท่อปัสสาวะสั้นกว่าเพศชาย หรือในเพศหญิงที่ใช้ผ้าอนามัยแบบสอดนั้นเป็นการเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อมากขึ้น หากไม่รักษาความสะอาดให้ดี

2. อุจจาระ 

อุจจาระ(Stool) เป็นกากอาหารที่ไม่ถูกย่อยและไม่ถูกดูดซึมในระบบทางเดินอาหาร ร่างกายจึงขับออกมาในรูปของอุจจาระ ลักษณะของอุจจาระสามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติของร่างกายได้ เช่น อุจจาระเป็นสีแดงบ่งบอกถึงการมีเลือดออกในระบบย่อยอาหาร อุจจาระมีลักษณะแข็งและแห้งบ่งบอกถึงภาวะท้องผูก การพบมูกเลือดในอุจจาระบ่งบอกถึงมีการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร

ความผิดปกติเกี่ยวกับอุจจาระที่พบบ่อย เช่น

  • โรคบิดมีตัว (Amebic dysentery): ติดเชื้อจากโปรโตซัว Entamoeba histolytica ท้องเสีย ถ่ายออกมามีมูกเลือดมีกลิ่นเน่ารุนแรง

3. ตกขาว 

ตกขาว(Vaginal discharge) เป็นมูกที่ถูกปล่อยมาจากต่อมภายในมดลูก หรือบริเวณปากมดลูก เพื่อทำความสะอาดช่องคลอด และป้องกันการติดเชื้อ โดยความผิดปกติที่พบบ่อย เช่น

  • มูกสีขาว: มีลักษณะหนา สีขาว ประกอบกับมีอาการคันบริเวณอวัยวะเพศ บ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อราที่เป็นยีสต์
  • มูกสีเหลือง: บ่งบอกถึงการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • มูกสีเขียว: มีการติดเชื้อโปรโตซัวทริโคโมนัส วาไจนาลิส (Trichomonas vaginalis)

วิธีปฏิบัติเมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่ง หรือของเสียที่ร่างกายขับออก

  1. เมื่อกระเด็นเข้าตา: ล้างด้วยน้ำปริมาณมาก
  2. เมื่อกระเด็นเข้าปาก: บ้วนปาก และกลั้วคอด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก
  3. สัมผัสบริเวณที่เป็นแผล: ล้างด้วยน้ำสะอาดและเช็ดด้วย 70% แอลกอฮอล์ ห้ามบีบเค้นเลือด

หากสงสัยว่า สารคัดหลั่ง หรือของเสียนั้นจะมีเชื้อโรคที่เป็นอันตรายให้รีบพบแพทย์ เพื่อตรวจเลือดและพิจารณาในการรับประทานยาต้านเชื้อต่อไป เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายแล้วจะนำไปสู่การก่อโรคจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน เช่น

  • จุลชีพ: การก่อโรคขึ้นกับความสามารถในการก่อโรคของเชื้อโรคแต่ละชนิด ความรุนแรงในการก่อโรค รวมถึงปริมาณที่ได้รับเชื้อโรค
  • ระบบภูมิคุ้มกัน: ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน ในเด็ก หรือผู้สูงอายุมีโอกาสในการเกิดโรคมากกว่า เนื่องจากภูมิคุ้มกันในเด็กยังเจริญไม่เต็มที่ การป้องกันเชื้อโรคจึงไม่สมบูรณ์ กรณีภูมิคุ้มกันในผู้สูงอายุเริ่มเสื่อมสภาพ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
  • สิ่งแวดล้อม: สภาพแวดล้อมบางอย่างส่งเสริมให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี เช่น สภาวะที่มีความชื้นสูง ทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี

สารคัดหลั่งเป็นสารสำคัญที่ขาดไม่ได้ของร่างกาย และของเสียก็เป็นสารที่จะต้องขับออกมาเพื่อไม่ให้ร่างกายมีเชื้อโรคหมักหมมอยู่ภายในมากเกินไป หากคุณพบว่า ร่างกายมีสารคัดหลั่งผิดปกติ หรือแตกต่างไปจากเดิม 

รวมถึงของเสียที่ขับออกมามีปริมาณน้อย หรือมาก หรือมีลักษณะผิดปกติ ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอรับการวินิจฉัยทันที

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสมอง จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android

@‌hdcoth line chat