เลือดออกใต้ผิวหนัง ข้อมูลโรค อาการ รักษา

อาการเลือดออกใต้ผิวหนัง สังเกตได้จากจุดสีแดงเล็กๆ ที่เรียกว่า “จุดเลือดออก (Petechiae)” หรือ เป็นปื้นสีแดงแบนๆ ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “จ้ำเลือด (Purpura)” จุดสีแดงที่เกิดขึ้นบนผิวหนังนี้สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ส่วนมากมักจะเกิดจากการกระทบกระแทก หรือการได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย

โดยปกติแล้วหากกดลงบนผิวหนังตนเอง จะพบว่า ผิวหนังบริเวณที่กดมีสีซีดขึ้นชั่วขณะ แต่ถ้ามีเลือดออกใต้ชั้นผิวหนัง เมื่อกดลงบริเวณที่มีจ้ำเลือด ผิวหนังจะไม่เปลี่ยนสี

สาเหตุของภาวะเลือดออกใต้ผิวหนัง

สาเหตุทั่วไปของอาการเลือดออกใต้ชั้นผิวหนัง อาจแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ คือ การบาดเจ็บ การติดเชื้อ โรคไม่ติดเชื้อ ซึ่งได้แก่

  • การบาดเจ็บ
  • ปฏิกิริยาแพ้
  • การติดเชื้อของเลือด
  • ภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง
  • ได้รับการกระแทกจนมีอาการฟกช้ำ
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางประเภท
  • ผลข้างเคียงจากกระบวนการรักษาโรคมะเร็งด้วยเคมีบำบัด
  • ผลข้างเคียงจากกระบวนการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีบำบัด
  • กระบวนการแก่ตัวตามธรรมชาติ
  • โรคขาดวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินซี วิตามินเค

นอกจากนี้ภาวะทางการแพทย์บางชนิดก็สามารถทำให้เกิดเลือดออกใต้ชั้นผิวหนังได้ ดังนี้

  • ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) การอักเสบของชั้นเยื่อหุ้มที่ปกคลุมสมองกับไขสันหลัง
  • ลูคีเมีย (Leukemia) มะเร็งเซลล์เม็ดเลือด
  • คออักเสบ (Strep Throat) การติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้มีอาการเจ็บคอ
  • การติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis) เป็นการอักเสบทั่วร่างกายที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย

เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์?

หากมีอาการต่อไปนี้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

  • รู้สึกเจ็บปวดบริเวณที่มีเลือดออกใต้ผิวหนัง
  • มีเลือดออกจากแผลเปิดค่อนข้างมาก
  • มีก้อนเกิดขึ้นบนตำแหน่งที่เลือดออกใต้ผิวหนัง
  • ผิวหนังที่มีเลือดออกมีสีคล้ำขึ้น
  • มีอาการการบวมที่ปลายนิ้วมือนิ้วเท้า
  • มีเลือดออกจากเหงือก จมูก ปัสสาวะ หรือในอุจจาระ

การวินิจฉัยอาการเลือดออกใต้ผิวหนัง

แพทย์จะสอบถามว่า มีภาวะทางการแพทย์ หรือกำลังรักษาภาวะใดอยู่ หรือไม่ และอาจสอบถามเกี่ยวกับการใช้อาหารเสริม สมุนไพร หรือยาต่างๆ ในปัจจุบัน

เนื่องจากยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ แอสไพริน หรือยาลดความข้นของเลือด สามารถทำให้เกิดอาการเลือดออกใต้ผิวหนังได้

หากยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แพทย์อาจพิจารณาให้เข้ารับการตรวจเลือด หรือปัสสาวะ เพื่อหาร่องรอยของการติดเชื้อ หรือภาวะทางการแพทย์ต่างๆ

หากจำเป็นอาจจะต้องมีการเอ็กซเรย์ร่างกาย หรืออัลตราซาวด์บริเวณที่มีอาการเพื่อตรวจสอบการแตกหัก หรือการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ

การรักษาอาการเลือดออกใต้ผิวหนัง

การรักษาอาการเลือดออกใต้ผิวหนังมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ หากมีภาวะติดเชื้อ หรือภาวะทางการแพทย์อื่นๆ แพทย์อาจจ่ายยาเพื่อหยุดการไหลของเลือด และฆ่าเชื้อ

แต่สำหรับอาการเลือดออกใต้ผิวหนังที่มีสาเหตุมาจากการใช้ยา แพทย์อาจแนะนำให้หยุดยาที่กำลังใช้อยู่ หรือเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นแทน

หากอาการเลือดออกใต้ผิวหนังมาจากการบาดเจ็บ สามารถรักษาด้วยตัวเองที่บ้านได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ยกอวัยวะที่บาดเจ็บให้สูง (หากทำได้)
  • ประคบน้ำแข็งบริเวณที่บาดเจ็บเป็นเวลา 10 นาทีต่อครั้ง
  • บรรเทาอาการปวดด้วยยา Acetaminophen หรือ Ibuprofen

หมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเอง แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น อาการเลือดออกใต้ผิวหนัง แต่หากอาการมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ไม่ควรนิ่งเฉยเด็ดขาด แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยจะดีที่สุด


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ

Scroll to Top