โรค PTSD คืออะไร ข้อมูล อาการ แนวทางรักษา


อุบัติเหตุ หรือประสบการณ์รุนแรงเลวร้ายที่หลายๆ คนเคยเผชิญในวัยเด็ก สามารถทำให้เกิดภาวะความผิดปกติทางจิตใจได้ ซึ่งเราสามารถเรียกอาการนี้ได้ว่า "ภาวะผิดปกติทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรง (Posttraumatic Stress Disorder: PTSD)" หรือสามารถเรียกได้สั้นๆ ว่า "ภาวะ PTSD"

รู้จักความหมายของภาวะ PTSD

ภาวะ PTSD คือ หนึ่งในกลุ่มโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นความผิดปกติทางจิตใจที่เกิดจากผู้ป่วยประสบเหตุการณ์ที่รุนแรง และกระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจมาก จนทำให้เกิดความหวาดกลัวต่ออาการบาดเจ็บ ความตาย ภัยธรรมชาติ สถานที่ วัตถุ สัตว์บางชนิด หรือบุคคลที่เคยพบเจอมาก่อน 

ผู้ป่วยภาวะ PTSD จะไม่สามารถปรับตัวให้อยู่ในภาวะปกติได้เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่ตนเองหวาดกลัว และยังส่งผลให้เกิดอาการวิตกกังวลอย่างหนักด้วย 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะ PTSD

เหตุการณ์ หรือสิ่งสะเทือนจิตใจที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะผิดปกตินี้ได้ จะต้องเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงมากพอจนผู้ป่วยไม่สามารถปรับตัว หรือหายหวาดกลัวจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ อีกทั้งยังทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถช่วยเหลือหรือแก้ไขเหตุการณ์นั้นได้อีกด้วย 

โดยปัจจัยเสี่ยงของโรค PTSD จะมีดังต่อไปนี้

  • ลักษณะบุคลิกภาพ ผู้ที่มักมองโลกในแง่ร้าย ถูกปลูกฝังให้หวาดกลัวต่อบางสิ่ง หรือคนที่อยู่รอบตัวมาตั้งแต่เด็ก หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการความเครียดให้กับตนเอง จนไม่สามารถควบคุม หรือรับมือสถานการณ์บางอย่างได้ มีความเสี่ยงที่เกิดภาวะ PTSD ได้จากความผิดพลาด หรือความเข้าใจผิดของตนเอง
  • สุขภาพจิต ผู้ป่วยโรควิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้าจะมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะเกิดภาวะ PTSD ได้หากต้องเผชิญกับสิ่งที่หวาดกลัว หรือที่เคยสร้างความสะเทือนใจมาก่อน
  • ประสบการณ์ชีวิต การประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญในวัยเด็ก หรือที่รุนแรงมากๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะ PTSD ได้ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท
    • ภัยจากธรรมชาติ เช่น คลื่นยักษ์ น้ำท่วม พายุ แผ่นดินไหว 
    • ภัยที่เกิดจากมนุษย์ เช่น สงคราม อุบัติเหตุหมู่ การปล้น การถูกต่อว่าด้วยคำพูดรุนแรงซ้ำๆ การถูกทารุณกรรม การข่มขืนกระทำชำเรา การฆาตกรรม 

ระยะของภาวะ PTSD

ผู้ที่ประสบกับภาวะ PTSD มีอาการเป็น 2 ระยะดังนี้

1. ระยะความเครียดแบบเฉียบพลัน (Acute Stress Disorder: ASD) 

ระยะความเครียดแบบเฉียบพลันจะเกิดขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์แรก หรือประมาณ 1 เดือน หลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ โดยผู้ป่วยจะมีอาการตอบสนองครั้งแรกคือ กลัว สิ้นหวัง หรือสับสนไม่รู้ว่าตนเองอยู่ที่ไหน 

ระยะความเครียดแบบเฉียบพลันจะยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะ PTSD แบบเต็มตัว หากผู้ป่วยรีบหาทางรักษา และรับการช่วยเหลือทางจิตใจทันเวลา 

แต่หากผู้ป่วยไม่ได้รับความช่วยเหลือ หรือไม่สามารถปรับตัวยอมรับกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นได้ ก็มีแนวโน้มที่ระยะความเครียดนี้จะพัฒนาไปสู่ภาวะ PTSD ได้

2. ระยะความผิดปกติทางจิตใจ (PTSD)  

เป็นระยะที่ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะ PTSD แล้ว โดยผู้ป่วยจะรู้สึกโศกเศร้า มีความบกพร่องในการเข้าสังคม มีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะนี้จะแสดงอาการออกมาภายใน 6 เดือนหลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรง หรืออาจเกิดขึ้นช้ากว่านั้นก็ได้ตามแต่สถานการณ์ที่ผู้ป่วยเผชิญ

หากอาการของภาวะ PTSD มีระยะเวลามากกว่า 3 เดือน แพทย์จะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรค PTSD แบบเรื้อรัง ซึ่งอาการของภาวะ PTSD ยังแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มอาการ ดังนี้

1. รู้สึกว่าได้กลับไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีกครั้ง (Re-experiencing) 

เป็นอาการของผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญบางอย่าง และไม่สามารถหลุดจากความคิดเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นได้ โดยมีการหวนกลับมาของเหตุการณ์ทางมโนภาพ ความคิด และการรับรู้ ฝันร้ายถึงเหตุการณ์นั้นบ่อยๆ 

ผู้ป่วยมีความรู้สึกว่า เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นอีก หรือเห็นภาพลวงตา ภาพหลอน และมีความทุกข์ทรมานจิตใจอย่างรุนแรง เมื่อพบสิ่งที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำอีก ร่วมกับมีอาการทางกาย เช่น เหงื่อออก และหายใจสั้น เมื่อนึกถึงภาพเหตุการณ์นั้น

2. Avoidance/numbing 

ผู้ป่วยจะพยายามหลีกเลี่ยงความคิด ความรู้สึก หรือการพูดถึงเหตุการณ์นั้น และพยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรม สถานที่ หรือบุคคลที่กระตุ้นให้นึกถึงเหตุการณ์นั้น จนอาจถึงขั้นไม่สามารถนึกถึงช่วงสำคัญของเหตุการณ์นั้น รู้สึกเฉยชาไม่สนใจสิ่งรอบข้าง 

นอกจากนี้ ความรู้สึกสนใจของผู้ป่วยในการเข้าร่วมกิจกรรมสำคัญต่างๆ ลดลง มีความรู้สึกแยกตัว หรือห่างเหินจากผู้อื่น ไม่แสดงออกถึงอารมณ์ หรือความรู้สึก ไม่สามารถรู้สึกถึงความรัก และอาจรู้สึกว่า ตนไม่มีอนาคต จนไม่คาดหวังในอาชีพการงาน การแต่งงาน การมีครอบครัว หรือการมีอายุยืนยาว

3. Hyperarousal 

มีภาวะตื่นตัวสูงผิดปกติ เช่น มีปัญหาการนอนหลับหรือไม่สามารถนอนหลับได้นาน มีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว หรือโกรธง่าย ไม่มีสมาธิ มีอาการระแวดระวัง มีอาการตกใจกลัวเกินความเป็นจริง  

อาการ PTSD ในเด็ก

อาการ PTSD ในวันรุ่นจะมีความคล้ายคลึงกับผู้ใหญ่ แต่หากเป็นในผู้ป่วยเด็ก อาจสังเกตอาการได้ดังนี้

  • ฉี่รดที่นอน
  • อยู่ดีๆ ก็ไม่พูด หรือพูดน้อย เก็บตัว
  • ขี้อ้อน ติดคนเลี้ยงดูมากกว่าปกติ
  • ก่อกวน ทำลายข้าวของ ไม่เคารพเชื่อฟัง

ผลกระทบจาก PTSD

อาการ PTSD อาจส่งผลให้ผู้ป่วยละเลยการดูแลสุขภาพตนเอง กระทบต่อการทำงาน ความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง และการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ หากมีอาการ PTSD เรื้อรัง ก็อาจส่งผลให้เกิดโรค และปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ตามมาได้ เช่น โรคหัวใจ โรคอ้วน ติดแอลกอฮอล์ โรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย 

การรักษา PTSD

เป้าหมายของการรักษา PTSD คือ มุ่งเน้นให้ความคิดทางลบของผู้ป่วยลดน้อยลง และเพิ่มความคิดความรู้สึกทางบวกของผู้ป่วยให้มากขึ้น เช่น  

  • ให้การสนับสนุนที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปลอดภัยยิ่งขึ้น ได้แก่ ที่อยู่อาศัย การรักษาทางการแพทย์ และการดูแลสุขภาพ 
  • ความช่วยเหลือจากครอบครัวในการกิจกรรมที่ทำให้มีความสุขในชีวิตประจำวัน 
  • ให้ความรู้เกี่ยวกับอาการ PTSD และแนะนำวิธีการเผชิญหน้ากับสิ่งที่หวาดกลัว
  • สร้างความเชื่อมั่น และเพิ่มแรงจูงใจในการรักษา

หากผู้ป่วยมีความมั่นคงภายในจิตใจมากขึ้น สามารถจัดการอารมณ์ แลเห็นคุณค่าของตัวเองได้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยนึกถึงความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ในชีวิต เช่น ความความภูมิใจ สิ่งที่เคยมีความสุข ความสัมพันธ์กับคนอื่น และสามารถกลับไปปรับตัวดำเนินชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพจิต


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat