ผื่นกุหลาบ คืออะไร? ข้อมูลโรค อาการ รักษา


โรคผื่นกุหลาบ หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า “Pityriasis rosea” (rosea เป็นภาษาละติน แปลว่า กุหลาบ) โรคดังกล่าวเป็นโรคที่ค่อนข้างพบได้บ่อย สามารถเจอได้ในคนที่อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 10-35 ปี มักเป็นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า และพบมากในช่วงวัยรุ่น 

เชื่อว่า โรคผื่นกุหลาบเกิดจากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Immunologic reaction) ต่อเชื้อไวรัส Human herpesvirus-7 (HHV-7) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมากที่สุด รองลงมา คือ ปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อเชื้อไวรัส Human herpesvirus-6 (HHV-6) 

นอกจากนี้ยังมีรายงานถึงการพบความสัมพันธ์ของผื่นกุหลาบกับเชื้อไวรัส Human herpesvirus-8 (HHV-8) และไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ A (H1N1 influenza A virus) แต่เป็นสาเหตุที่พบได้น้อยกว่าไวรัสที่กล่าวถึง 2 ตัวแรก

เนื่องจากโรคดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส จึงทำให้พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน และเป็นโรคไม่ติดต่อ แต่การติดเชื้อไวรัสสามารถติดต่อได้ผ่านทางการไอ จาม หรือแม้แต่สัมผัสสารคัดหลั่งที่มีเชื้อกับเยื่อเมือก (Mucosal tissue) ของร่างกาย เช่น ตา  

ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัสที่ได้กล่าวมาข้างต้นอาจไม่แสดงอาการผื่นกุหลาบทุกราย เนื่องจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันของแต่ละคนแตกต่างกัน ทำให้ปฏิกิริยาต่อการติดเชื้อไวรัสต่างกัน

ผื่นกุหลาบมีอาการ และลักษณะของผื่นอย่างไร?

โดยทั่วไป โรคผื่นกุหลาบจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และสามารถหายเองได้ ผู้ป่วยมักมีอาการของการติดเชื้อไวรัสนำมาก่อนมีผื่น เช่น เป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ หรืออ่อนเพลีย นำมาก่อนมีผื่นเป็นสัปดาห์ หรือพบร่วมกับผื่น 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการของการติดเชื้อไวรัสเลยก็ได้

ในช่วงแรกของโรค จะมี “ผื่นนำ” มักมีลักษณะเป็นผื่นราบเดี่ยวๆ รูปร่างรี สีแดงชมพู มีขุยสีขาวเด่นชัดบริเวณขอบผื่น ขอบผื่นยกขึ้นเล็กน้อย มักพบบริเวณลำตัว และสามารถขยายใหญ่ขึ้นได้จนมีขนาด 2-4 เซนติเมตร รวมถึงมีมากกว่า 1 ตำแหน่ง ทางการแพทย์เรียกผื่นดังกล่าวว่า “Herald patch” 

หลังจากมีผื่นนำขึ้นไม่กี่วัน จะมีผื่นลักษณะคล้ายกันเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่มีขนาดเล็กกว่า รูปร่างรี โดยแกนตามยาวของผื่นจะขนานไปตามเส้นผิวหนัง (Langer clevage line) 

ผื่นดังกล่าวมักอยู่บริเวณหลัง ลำตัว ท้อง ต้นแขน และต้นขา บริเวณหลังอาจเห็นผื่นเรียงตัวคล้ายรูปแบบของต้นคริสมาสต์ (Christmas tree pattern) โดยส่วนมากจะไม่พบผื่นบริเวณหน้า ฝ่ามือ หรือฝ่าเท้า ผื่นที่เกิดขึ้นอาจมีอาการคันร่วมด้วยได้

ตามที่ได้กล่าวในข้างต้นว่า ผื่นกุหลาบมักหายที่ประมาณ 2-3 เดือน แม้ไม่ได้รับการรักษาใดๆ หากเกินจากระยะเวลาดังกล่าว อาจมีความจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติม เช่น การตัดชิ้นเนื้อผิวหนังเพื่อดูรายละเอียดภายใต้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น 

การวินิจฉัยโรคผื่นกุหลาบ

โรคผื่นกุหลาบสามารถวินิจฉัยได้จากลักษณะของผื่น การเรียงตัว และการกระจายตัวของผื่น การดำเนินของโรค และประวัติของผู้ป่วยที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ยังมีโรคทางผิวหนังอีกหลายโรคที่อาจแสดงอาการผื่นคล้ายโรคผื่นกุหลาบ เช่น 

  • ผื่นในการติดเชื้อซิฟิลิสระยะที่สอง (Secondary syphilis) ซึ่งอาจต้องได้รับการยืนยันทางการตรวจอิมมูโนวิทยา ซึ่งเป็นเทคนิคการตรวจหาภูมิคุ้มกันที่ถูกสร้างขึ้นภายหลังการติดเชื้อซิฟิลิส ต่อตัวเชื้อซิฟิลิส (Serology) เพิ่มเติม
  • ผื่นแพ้ยา (Drug eruption) สามารถมีลักษณะผื่นคล้ายผื่นกุหลาบได้ ประวัติชนิดของยาที่ใช้ และระยะเวลาในการได้รับยา สามารถช่วยให้แพทย์ให้การวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
  • ผื่นจากเชื้อกลาก (Tinea corporis) ลักษณะของผื่นจากเชื้อกลากคล้ายคลึงกับผื่นนำของผื่นกุหลาบในช่วงแรก การขูดเชื้อเพื่อย้อมสีพิเศษทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูสายเชื้อรา สามารถใช้ในการยืนยันการวินิจฉัยได้
  • ผื่นสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ผื่นสะเก็ดเงินบางชนิด เช่น ชนิดผื่นขนาดเล็ก (Guttate psoriasis) อาจมีลักษณะคล้ายคลึงกับผื่นกุหลาบได้ อาจมีความจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อผิวหนังเพื่อดูรายละเอียดด้วยกล้องจุลทรรศน์เพิ่มเติมในการวินิจฉัยโรค

การดูแลรักษาผื่นกุหลาบ

ผื่นกุหลาบสามารถหายได้เองในเวลา 2-3 เดือน การดูแลรักษาผิวอย่างถูกวิธี การใช้สารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวที่เหมาะสม สามารถช่วยลดอาการคันได้ 

หากมีอาการคันมาก อาจใช้ยาทาสเตียรอยด์ แต่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากเกิดผลข้างเคียงจากยาได้ง่าย ในผู้ป่วยที่มีอาการของผื่นรุนแรง สามารถใช้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะบางชนิด หรือการรักษาด้วยแสงอัลตราไวโอเลตบี (UVB phototherapy) ร่วมด้วยได้ 

อย่างไรก็ตาม มีรายงานทางการแพทย์พบว่าการเป็นโรคผื่นกุหลาบระหว่างตั้งครรภ์สัมพันธ์กับการแท้งบุตร โดยเฉพาะในช่วง 15 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์

ถึงแม้โรคผื่นกุหลาบจะสามารถหายเองได้ใน 2-3 เดือน หากยังคงพบผื่นหลังจากนี้อาจจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคผื่นกุหลาบขณะตั้งครรภ์อาจสัมพันธ์กับการแท้งบุตรได้


เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจปรึกษาแพทย์ผ่านวีดีโอคอล (Telemedical)


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat