ตอกฐานจมูก ออกแบบจมูกให้สวยได้มากกว่า


การตอกฐานจมูก

การตอกฐานจมูกเป็นเทคนิคที่เข้ามาช่วยให้การศัลยกรรมจมูกได้ผลลัพธ์ที่ดีและพึงพอใจ เพราะทำให้ทรงจมูกที่ได้รับการเสริมไม่เพียงแค่โด่ง แต่จะมีรูปทรงสโลปสวยรับกับคิ้ว ใบหน้า แลดูเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น

HDmall.co.th จึงได้รวบรวมข้อมูลการตอกฐานจมูกที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้จักมาก่อน ได้ทราบว่า การตอกฐานจมูกทำอย่างไร และมีประโยชน์อะไร เพื่อให้เป็นข้อมูลก่อนตัดสินใจทำ


เลือกอ่านข้อมูลตอกฐานจมูกได้ที่นี่

  • ตอกฐานจมูกคืออะไร?
  • ตอกฐานจมูกช่วยอะไร?
  • ตอกฐานจมูกเหมาะกับใคร?
  • ตอกฐานจมูกมีกี่แบบ?
  • การเตรียมตัวก่อนตอกฐานจมูก
  • ขั้นตอนการตอกฐานจมูก
  • การดูแลตัวเองหลังตอกฐานจมูก
  • ผลข้างเคียงของการตอกฐานจมูก
  • แผลตอกฐานจมูกกี่วันหาย?
  • ตอกฐานจมูกต้องใส่ซิลิโคนไหม? 


  • ตอกฐานจมูกคืออะไร?

    การตอกฐานจมูก (Nose Osteotomy) คือ เทคนิคการบีบหรือทุบกระดูกแกนจมูก เพื่อทำให้กระดูกแยกออกจากฐานแล้วบีบให้ฐานแคบเข้ามา ซึ่งการบีบจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความหนาของกระดูกและโครงสร้างจมูกของแต่ละคน โดยเทคนิคนี้จะช่วยแก้ปัญหาบริเวณฐานจมูก เช่น ฐานจมูกใหญ่ ฐานจมูกไม่เท่ากัน หรือจมูกฮัมพ์ใหญ่ (Hump Nose) เป็นต้น จมูกฮัมพ์ คือกระดูกส่วนที่นูน แข็ง ยกตัวสูงขึ้นบริเวณสันจมูก ซึ่งจะนูนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับพันธุกรรม เช่น คนยุโรป หรือ คนเอเชีย

    แพทย์จะใช้วิธีตอกฐานจมูก สำหรับผู้ที่มีฐานกระดูกใหญ่ กว้าง เบี้ยว เอียง โค้งคตไม่เรียบ หรือไม่เท่ากัน โดยจะตอกฐานกระดูกข้างสันจมูกทั้ง 2 ข้าง ให้แคบลง ทำให้สามารถจัดทรงฐานกระดูกให้เรียว เล็ก แต่สำหรับผู้มีจมูกฮัมพ์ขนาดเล็กและไม่นูนมาก แพทย์มักเลือกใช้วิธีการตะไบฐานออกแทน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการตอกฐานหรือตะไบฐานจมูกจะทำให้การตกแต่งรูปทรงและขนาดของกระดูกจมูกเล็กลง หากมองด้านหน้าตรง จมูกก็จะโด่ง และสโลป สมส่วน เรียวสวย รับกับรูปหน้า

    ตอกฐานจมูกช่วยอะไร?

    • ช่วยให้การศัลยกรรมเสริมจมูกสวยยิ่งขึ้น เนื่องจากการตอกฐานจมูกเป็นการเพิ่มขั้นตอนการออกแบบและกำหนดความกว้างของสันจมูกให้เท่ากันทั้งสองข้าง ไม่เล็กและไม่ใหญ่เกินไป ส่งผลให้มีความโค้งเว้ารับกับคิ้วและปลายจมูกได้ดี ขณะที่การเสริมจมูกที่ไม่ได้ตอกฐาน จะเป็นเพียงการเพิ่มความโด่งของสันจมูก ไม่ได้มีการปรับ ตกแต่งรูปจมูกแต่อย่างใด
    • ช่วยลดการเบี้ยว เอียงและลอยของซิลิโคนได้ สำหรับผู้มีฐานจมูกสองข้างไม่เท่ากัน เนื่องจากหากเสริมจมูกด้วยการใส่ซิลิโคนเข้าไปตรงกลางระหว่างฐานกระดูกไม่เท่ากัน จะทำให้ซิลิโคนมีโอกาสเบี้ยว เอียงค่อนข้างสูง นอกจากนี้การตอกฐานยังช่วยลดและปรับขนาดกระดูกส่วนเกินที่อาจทำให้เกิดการเบี้ยว เอียงของซิลิโคนในอนาคตได้อีกด้วย
    • ช่วยลดขนาดตรงสันจมูกฮัมพ์ใหญ่ หรือจมูกโก่งงุ้มได้ โดยการปรับสันจมูกให้เล็กลง และเรียบตรง ก่อนใส่ซิลิโคนเสริมให้แนบแน่นไปกับสันจมูก ส่งให้จมูกสโลปโค้งสวย ใบหน้าดูหวานขึ้น
    • ช่วยปรับแต่ง และลดขนาดของแกนจมูกที่มีขนาดกว้างเกินหัวตาทั้งสองข้าง หรือกรณีกระดูกนูนออกมามากเกินไป ด้วยการตอกฐานบีบให้แกนหรือฐานจมูกแคบ แล้วปรับให้ฐานเรียว เล็กลง
    • ช่วยแก้ปัญหาโครงสร้างและรูปทรงจมูกได้หลายลักษณะ เช่น จมูกเบี้ยว เอียง แกนคด ทั้งที่เป็นแต่แรก หรือเกิดจากอุบัติเหตุ โดยการตอกฐานปรับโครงสร้างจมูกให้เรียบ ได้สัดส่วน และ รูปทรงตามต้องการก่อน แล้วจึงใส่ซิลิโคนเสริมจมูก

    ตอกฐานจมูกเหมาะกับใคร?

    การตอกฐานจมูก เป็นเทคนิคที่เหมาะกับผู้มีรูปทรงจมูกเดิม ดังต่อไปนี้

    • ผู้ที่มีจมูกฮัมพ์ใหญ่ หากเสริมจมูกโดยไม่แก้ไข จะทำให้ซิลิโคนเอียงหรือลอยได้ เพราะซิลิโคนไม่สามารถแนบไปกับฐานจมูกในชั้นใต้เยื่อหุ้มกระดูก
    • ผู้ที่มีกระดูกฐานจมูกใหญ่ ทำให้เวลามองทรงจมูกหน้าตรง รู้สึกเหมือนไม่มีดั้ง ทั้งที่สันจมูกโด่ง นูนขึ้น ซึ่งเทคนิคตอกปรับฐานเป็นวิธีแก้ไขปัญหาฐานจมูกใหญ่ได้เพียงอย่างเดียว
    • ผู้ที่มีฐานข้างจมูกไม่เท่ากัน หรือฐานจมูกเอียง หากเสริมซิลิโคนโดยไม่แก้ไข กระดูกข้างที่ใหญ่กว่า จะดันให้ซิลิโคนเอียงไปอีกข้างหนึ่งได้
    • ผู้ที่มีฐานจมูกกว้าง ขอบของสันจมูกไม่คม ไม่ได้รูป ทำให้ดูไม่มีสันจมูก หรือจมูกสั้น ควรตอกปรับฐานให้ได้รูปทรงก่อนเสริมจมูก
    • ผู้ที่มีฐานจมูกที่ใหญ่ บาน และกว้างเกินกว่าหัวตาทั้ง 2 ข้าง
    • ผู้ที่มีปุ่มกระดูกกลางจมูกนูนมาก จนทำให้จมูกงองุ้ม และไม่สามารถเสริมซิลิโคนให้แนบชิดไปกับแกนจมูกได้
    • ผู้ที่มีจมูกที่แกนเบี้ยว เอียง หรือคด ทั้งที่เป็นแต่กำเนิดและเกิดจากอุบัติเหตุ ซึ่งยากต่อการใส่ซิลิโคนเสริมจมูกให้ตรงสวย

    ตอกฐานจมูกมีกี่แบบ?

    การตอกฐานจมูกสามารถทำได้ 3 แบบ ดังนี้

    1. ตอกฐานจมูกแบบเปิด (Open Nose Recon)

    แพทย์จะผ่าเปิดแผลให้เห็นโครงสร้างจมูกทั้งหมด แล้วจึงสอดอุปกรณ์เข้าไปตัดแต่งกระดูกส่วนเกิน ด้วยการตอกฐานจมูกให้แคบลงและกรอฐานจมูกให้เรียบ เพื่อให้ได้จมูกที่เรียวลง ซึ่งวิธีแบบเปิดเหมาะสำหรับจมูกที่มีแกนคด เอียงชัดเจน ซึ่งต้องปรับแก้จมูกให้ตรงก่อนใส่ซิลิโคนเสริมจมูก หรือจมูกฮัมพ์ขนาดใหญ่และฐานกว้างมาก จนจมูกดูงองุ้ม

    2. การตอกฐานจมูกแบบปิด (Close Nose Recon)

    แพทย์จะผ่าเปิดแผลขนาดเล็กบริเวณข้างสันจมูก ข้างใดข้างหนึ่ง เพียง 2 มม. แล้วสอดเครื่องมือขนาดเล็กเข้าไปตอกฐานจมูก แล้วบีบฐานจมูกให้แคบลงตามที่ต้องการ ซึ่งแกนจมูกจะสามารถบีบให้แคบได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรูปทรงและความหนาของกระดูกแต่ละคน ซึ่งวิธีการแบบปิดเหมาะสำหรับจมูกกว้าง หรือฐานจมูกใหญ่เลยหัวตาทั้งสองข้าง แต่ไม่ได้มีปัญหาแกนจมูกคด

    3. การตอกฐานจมูกแบบกึ่งเปิด (Semi-Open Nose Recon)

    แพทย์จะผ่าตัดเปิดแผลรูจมูก 2 ข้าง แล้วเข้าไปปรับโครงสร้างของจมูกในทุกๆ ส่วนได้ดี วิธีนี้เป็นที่นิยม เพราะใช้ระยะเวลาพักฟื้นน้อยกว่าและซ่อนรอยแผลผ่าตัดได้ง่ายกว่าแบบเปิด

    ทั้งนี้ก่อนการศัลยกรรมจมูก แพทย์จะวิเคราะห์เลือกใช้รูปแบบการผ่าตัดที่เหมาะสมตามลักษณะปัญหาจมูก รวมไปถึงการเลือกวิธีตอกฐาน ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่

    • การตอกฐานจากด้านนอก บริเวณ 2 ข้างของสันจมูก เป็นการตอกฐานที่ทำกันส่วนมาก โดยใช้เครื่องมือปรับฐานจมูกที่กว้าง ไม่ได้รูป ให้แคบลงและมีขนาดเท่ากันมากขึ้นก่อนใส่ซิลิโคน ซึ่งจะมองเห็นแผลขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร บริเวณข้างสันจมูกทั้งสองข้าง และค่อยๆ จางหายไป
    • การตอกฐานจากด้านในรูจมูก เป็นวิธีที่พิเศษมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีแผลด้านนอกและลดความบวมช้ำของใบหน้าได้ โดยแพทย์สอดเครื่องมือสอดเข้าไปบริเวณแผลเดียวกับที่เปิดไว้สำหรับการเสริมจมูก แต่ทำการตกแต่งฐานจมูกตามต้องการก่อนใส่ซิลิโคน

    การเตรียมตัวก่อนตอกฐานจมูก

    การตอกฐานจมูกจะมีการเตรียมตัวคล้ายกับศัลยกรรมทั่วไป ได้แก่

    • ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้เทคนิคตอกฐานจมูก เพื่อปรับรูปทรงจมูกให้เหมาะกับรูปหน้า
    • แจ้งแพทย์เกี่ยวกับประวัติ การแพ้ยา แพ้อาหาร และข้อมูลเกี่ยวกับยาที่ใช้ประจำ และโรคประจำตัว
    • งดวิตามิน อาหารเสริม บุหรี่ แอลกอฮอล์ และยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด ก่อนทำศัลยกรรมจมูกประมาณ 1 เดือน
    • งด ชา กาแฟ ก่อนทำประมาณ 1 วัน ก่อนวันทำ
    • ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ก่อนวันทำ

    ขั้นตอนการตอกฐานจมูก

    การตอกฐานจมูกขั้นตอนที่เพิ่มเข้ามาก่อนการทำศัลยกรรมจมูก จึงมีขั้นตอนต่อเนื่องกัน ดังนี้

    1. แพทย์ตรวจร่างกาย และโครงสร้างภายนอก ภายในของจมูก แล้ววางแผนเลือกวิธีการผ่าตัด เลือกเทคนิคที่เหมาะสม รวมถึงการเลือกใช้ยาชาหรือ ใช้ยาสลบในการทำศัลยกรรม
    2. เปิดแผลตามวิธีการผ่าตัดที่วางแผนไว้ เช่น เปิดแผลบริเวณด้านในรูจมูก 2 ข้าง และช่องใต้เยื่อหุ้มกระดูกอ่อนบริเวณจมูกส่วนล่าง หรือจมูกส่วนบน ให้มีขนาดพอเหมาะ
    3. สอดเครื่องมือเพื่อตอกปรับฐานทีละข้าง ให้มีความสมดุลใกล้เคียงกันทั้งสองข้าง และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับรูปทรงกระดูก
    4. บีบฐานกระดูกให้แคบหรือยุบลงตามความเหมาะสมและโครงหน้า หากเป็นจมูกฮัมพ์ขนาดเล็กและไม่นูนมาก แพทย์จะใช้วิธีการตะไบแทนการตอกฐานจมูก
    5. ปรับ ตกแต่งฐานกระดูกให้เรียบ ให้สันจมูกมีความสโลป ไม่โก่งนูน ซึ่งหลังผ่าตัดอาจมีการใส่เฝือกจมูกร่วมด้วย เนื่องจากการทุบกระดูกทำให้กระดูกมีการเคลื่อนตัวได้
    6. ใส่ซิลิโคนเข้าไปในชั้นใต้เยื้อหุ้มกระดูก
    7. เย็บปิดแผล
    8. แพทย์แนะนำวิธีดูแลรักษาตัวเอง และนัดติดตามผลประมาณ 7 วัน
    9. กลับบ้านได้โดยไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล

    การดูแลตัวเองหลังตอกฐานจมูก

    การดูแลตัวเองภายหลังตอกฐานจมูก จะเหมือนกับดูแลหลังการผ่าตัดเสริมจมูกทั่วไป ได้แก่

    • ใช้ก้านสำสีชุบน้ำเกลือล้างแผล ซับทำความสะอาดภายในรูจมูกเบาๆ และเช็ดแผลรอบจมูกบ่อยๆ เพื่อไม่ให้เลือดที่ไหลออกจากแผลกลายเป็นสะเก็ดเลือดรอบแผลซึ่งอาจเป็นเหตุให้ติดเชื้อได้ ในช่วง 3 วันแรก
    • ประคบเย็นข้างสันจมูกทั้งสองข้าง แก้มสองข้าง หน้าผาก ดวงตา ครั้งละ 5-10 นาที ทุกชั่วโมง เพื่อบรรเทาการบวมช้ำ ใน 5 วันแรกหลังผ่าตัด
    • ประคบน้ำอุ่นข้างจมูก เพื่อลดอาการปวดและรอยเขียวช้ำ หลัง 5 วันที่ประคบเย็นแล้ว
    • ระวังไม่ให้แผลโดนน้ำและความร้อน ในช่วงที่แผลยังไม่แห้งสนิท
    • ทาขี้ผึ้งบางๆ เช้า เย็น เพื่อบรรเทาอาการคัน ต่อเนื่อง 7 วัน โดยห้ามแกะเกาแผล เพราะอาจทำให้แผลปริแยก เป็นแผลเป็นและติดเชื้อได้
    • กรณีที่ใส่เฝือกหลังการผ่าตัด จะต้องใส่เฝือกดามจมูกไว้ อย่างน้อย 7 วัน
    • สามารถเริ่มทานวิตามินบำรุงและยา ที่รับประทานประจำได้หลังทำ 7 วัน หรือตามที่แพทย์แนะนำ
    • นอนหน้าตรง ศีรษะสูง และใช้หมอนล็อคคอให้ตรง ไม่นอนตะแคง ประมาณ 1 เดือน
    • งดวิตามิน อาหารเสริม ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ รับประทานอาหารหมักดอง อาหารเค็ม อาหารทะเล ซึ่งทำให้แผลหายช้า ประมาณ 1 เดือน
    • งดออกกำลังกาย เพื่อป้องกันไม่ให้ซิลิโคนเคลื่อน ประมาณ 1 เดือน
    • งดใส่แว่นตา ประมาณ 1 เดือน
    • งดฉีกยิ้ม หัวเราะบ่อยๆ และงดรับประทานอาหารแข็งที่ต้องเคี้ยวแรงๆ เพื่อป้องกันไม่ให้แผลปริแยก จนกว่าจะหายเป็นปกติ
    • รับประทานยาแก้ปวด ยาลดบวม และยาแก้อักเสบ ตามคำสั่งแพทย์โดยเคร่งครัด
    • กรณีเป็นหวัด น้ำมูกไหล หลังการผ่าตัด ต้องรีบแจ้งแพทย์ทราบทันที เพราะอาจเกิดการติดเชื้อได้

    ผลข้างเคียงของการตอกฐานจมูก

    โดยทั่วไปการตอกฐานจมูกเป็นขั้นตอนที่ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บเพราะมีการใช้ยาชาหรือดมยาสลบ แต่ภายหลังทำจะมีอาการปวดหรือบวมเล็กน้อย แล้วจะค่อยๆ หายไป อย่างไรก็ตาม การตอกฐานจมูกอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ ดังนี้

    • มีเลือดออกในจมูก ซึ่งหลังทำจำเป็นต้องใส่เผือกจมูก ประมาณ 7 วัน
    • มีอาการบวมช้ำมากกว่าการเสริมจมูกทั่วไป เนื่องจากกระดูกแกนจมูกเคลื่อนที่ ทำให้มีช่องว่างระหว่างสันจมูกกับกระดูกใบหน้า ซึ่งหลัง 6 เดือน กระดูกสองส่วนจะค่อยๆ ยึดเข้าด้วยกันตามเดิม

    แผลตอกฐานจมูกกี่วันหาย?

    การตอกฐานจมูก จะส่งผลให้เกิดอาการบวม โดยเฉพาะบริเวณแผลผ่าตัดจะบวมมากในวันที่ 2 หลังผ่าตัด และประมาณ 1–2 สัปดาห์ จะค่อยๆ ดีขึ้น

    กรณีการตอกฐานจมูกแบบปิด และแบบกึ่งเปิด ที่เป็นแผลขนาดเล็ก จะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-3 เดือน รูปทรงจมูกจึงเข้ารูป สวยงาม ส่วนกรณีแบบเปิดจะมีอาการบวมช้ำและแผลกว้างกว่า จึงใช้เวลานานกว่า ประมาณ 6–12 เดือน

    อย่างไรก็ตาม แพทย์แนะนำให้ใช้นิ้วกด บีบ ที่ฐานของจมูกร่วมด้วยในช่วงระยะ 3 เดือนแรกหลังจากตอกฐานจมูกเพราะกระดูกยังไม่ยุบเข้าที่ ซึ่งจะช่วยให้ทรงจมูกเข้าที่เร็วขึ้น

    ตอกฐานจมูกต้องใส่ซิลิโคนไหม?

    การตอกฐานจมูก เป็นขั้นตอนที่เพิ่มเข้ามาในการศัลยกรรมจมูก ที่ยังต้องมีการใส่ซิลิโคนภายหลังการตอกฐานจมูก เพื่อปรับ จัด แต่งฐานจมูก เพื่อกำหนดความกว้างของฐานจมูกให้ได้ขนาดที่ต้องการ ซึ่งทำให้ผลลัพธ์ของการเสริมจมูก มีความโค้งเว้ารับกับคิ้วและรูปหน้าสวยมากขึ้น ตลอดจนช่วยลดโอกาสจมูกเบี้ยว เอียงและลอยของซิลิโคนจากปัญหาฐานจมูกไม่เท่ากัน 2 ข้างได้ด้วย

    อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการตอกฐานไม่ได้หมายความว่าการศัลยกรรมเสริมจมูกจะออกมาไม่สวยงาม มีการเบี้ยว หรือเอียงเสมอไป เพียงแต่การตอกฐานจมูก จะช่วยในการออกแบบจมูกให้สวยงามตรงตามความต้องการ และให้ผลลัพธ์สวยงามเป็นธรรมชาติมากกว่า สร้างความพึงพอใจได้มากกว่า

    เช็กราคาการตอกฐานจมูกจากคลินิกและโรงพยาบาลต่างๆ พร้อมบริการเช็กคิวทำนัดให้ฟรี โดยแอดมินของ HDmall.co.th


    บทความที่เกี่ยวข้อง


    ที่มาของข้อมูล

    ขยาย

    ปิด

    • National Library of Medicine, Correction of bony deviation in rhinoplasty, (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7700869/), November 2020
    • Potomac Plastic surgery, Reshaping the Nasal Bone in Rhinoplasty, (https://www.potomacplasticsurgery.com/blog/reshaping-the-nasal-bone-in-rhinoplasty/)
    • MedicineNet, What is an osteotomy rhinoplasty?, (https://www.medicinenet.com/how_painful_is_osteotomy_rhinoplasty_recovery/article.htm)
    @‌hdcoth line chat