ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน จำเป็นต้องตรวจมากแค่ไหน ?

การแต่งงานนับเป็นความฝันของใครหลายๆ คนและเป็นจุดมุ่งหมายของคู่รักหลายๆ คู่ แต่ก่อนที่จะตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกันนั้น สิ่งที่คุณทั้งสองควรทำเป็นอันดับต้นๆ คือ “การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน” เพื่อให้มั่นใจว่าคุณ และคู่พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตร่วมกันจริงๆ นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ยังช่วยให้คุณสามารมีวางแผนการมีลูกได้อย่างเหมาะสม และตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยทั้งแม่ และเด็ก แต่หลายคนอาจเกิดคำถามว่า การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานนั้นจำเป็นจริงๆ หรือไม่

อีกทั้ง คู่รักหลายคู่ยังอาจมองว่า การตรวจก่อนแต่งงานจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่า เราไม่ไว้ใจในคนรักหรือเปล่า หรือตรวจก่อนแต่งงานจะต้องตรวจอะไรบ้าง

ประโยชน์ของการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน 

1. เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนรัก

หลายคนมั่นใจว่า ตนเองมีสุขภาพแข็งแรงจึงคิดว่า ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพก็ได้ หรือบางคนมีความเชื่อว่า การขอให้คนรักไปตรวจสุขภาพ คือ การไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน

แต่จริงๆ แล้ว คุณ หรือคนรักอาจได้รับเชื้อโรคติดต่อบางอย่าง หรือกำลังป่วยโดยไม่รู้ตัวมาก่อนก็ได้ หากเป็นเช่นนั้น เชื้อโรค หรือโรคติดต่อที่คุณเป็นอยู่ก็อาจส่งผ่านสู่คนรัก และลูกน้อยได้ด้วย เชื้อสำคัญได้แก่

1.1  เชื้อไวรัสเอชไอวี

เชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV) คือ เชื้อสำคัญที่ต้องอยู่ในลิสต์การตรวจสุขภาพในอันดับต้นๆ เพราะว่าหากติดเชื้อแล้วจะไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้

อีกสิ่งที่น่ากลัวสำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ คือ ในระยะติดเชื้อเริ่มแรกส่วนมากผู้ป่วยจะยังไม่แสดงอาการใดๆ ออกมา ทำให้ผู้ติดเชื้อบางคนไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อไวรัสเอชไอจี จึงเพิ่มโอกาสการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้โดยง่าย

หากผู้ติดเชื้อที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และทันท่วงทีก่อนที่เชื้อจะลุกลามทำให้ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะทำงานได้ไม่เต็มที่ จนเกิดเป็นโรคเอดส์ รวมถึงเกิดโรคแทรกซ้อนตามมามากมาย และเสียชีวิตลงในที่สุด

ช่องทางหลักในการติดเชื้อเอชไอวีคือ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ดังนั้นเพื่อความมั่นใจทั้งตัวคุณเองและคนรักก็ควรตรวจหาเชื้อนี้ รวมถึงตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ด้วย

1.2 เชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

เชื้อไวรัสตับอีกเสบบี และเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเป็นเชื้อไวรัสที่อันตราย และร้ายแรงไม่แพ้กัน โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้จะเข้าไปทำลายเซลล์ตับ หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาก็อาจลุกลามกลายเป็นโรคมะเร็งตับได้

ช่องทางการติดต่อของเชื้อไวรัสชนิดนี้คือ ทางเลือด น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่น สารคัดหลั่งต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งจากมารดาสู่บุตร 

1.3 โรคซิฟิลิส

เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทริปโปนีมา พัลลิดุม (Treponema pallidum)

อาการของโรคซิฟิลิส คือ ระยะเริ่มแรกจะปรากฏแผลลักษณะแข็งๆ สีแดง ขอบนูน บริเวณช่องคลอด ทวารหนัก องคชาต หรือปาก ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ และแผลนั้นจะหายไปเอง ทำให้ผู้ป่วยคิดว่า หายเป็นปกติแล้ว แต่จริงๆ แล้วเชื้อแบคทีเรียยังซ่อนตัวอยู่ในร่างกาย

ดังนั้นหากคุณป่วยเป็นโรคซิฟิลิส และไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เชื้อแบคทีเรียจะแพร่กระจาย และทำอันตรายเซลล์ร่างกายไปเรื่อยๆ จนทั่วร่างกาย และทำให้เสียชีวิตได้

โรคซิลิฟิสสามารถติดต่อหากันได้ด้วยการสัมผัสแผลที่เกิดจากโรคโดยตรง ซึ่งมักเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือภายในช่องปาก ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือการออรัลเซ็กส์กับผู้ป่วยซิฟิลิสจึงล้วนทำให้ติดเชื้อได้ทั้งนั้น

1.4 การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ

นอกจากโรคหลักๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว หากคุณมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ หรือเคยมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เช่น เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ปลอดภัย ก็ควรตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพื่อความมั่นใจ

โดยตัวอย่างโรคทางเพศสัมพันธ์ที่อาจส่งผ่านถึงกันในคู่รักได้ เช่น เช่น โรคหนองใน เริม หูดหงอนไก่ หูดข้าวสุก

2. เพื่อตรวจความพร้อมของว่าที่คุณพ่อ และคุณแม่มือใหม่

คู่รักส่วนมากเมื่อแต่งงานแล้วก็เริ่มวางแผนเพื่อมีลูก หลายคนมักคิดว่า หากทั้งคุณเอง และคู่รักมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงก็สามารถมีลูกได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพ แต่จริงๆ แล้วควรตรวจคัดกรองก่อนว่า ทั้งคู่มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงพร้อมสำหรับการมีลูกหรือไม่ เช่น

  • ตรวจร่างกายอย่างละเอียด
  • ตรวจหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
  • ตรวจโรคที่อาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์
  • ตรวจภาวะมีบุตรยาก

3. เพื่อความปลอดภัยของลูก

ต่อเนื่องจากข้อที่แล้วว่า สุขภาพของพ่อแม่นั้นส่งผลโดยตรงต่อลูกด้วย โรคบางโรคอาจถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ หรือสุขภาพของลูกในอนาคตได้ จึงต้องมีการตรวจคัดกรองก่อนการตั้งครรภ์เพื่อจะได้วางแผนป้องกันได้อย่างเหมาะสม เช่น

  • โรคเอดส์
  • โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี ที่อาจถ่ายทอดสู่ทารกได้
  • โรคหัดเยอรมัน ที่หากแม่ป่วยเป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้ลูกพิการ หรือเสียชีวิตได้
  • โรคโลหิตจาง หรือธาลัสซีเมีย เป็นอีกโรคที่ไม่ควรมองข้าม ธาลัสซีเมียเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ง่าย เช่น ครรภ์เป็นพิษ เด็กตัวซีดเหลือง ตับ ม้ามโต ตัวแคระแกร็น ใบหน้าผิดรูป มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ

ดังนั้นคู่รักทุกคู่จึงจำเป็นต้องตรวจคัดกรองธาลัสซีเมีย และหากพบว่าคุณเป็นพาหะธาลัสซีเมียจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ว่า มีโอกาสที่จะถ่ายทอดสู่ลูกมากน้อยแค่ไหน จะได้วางแผนการตั้งครรภ์ได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ คุณยังควรตรวจชนิดของกรุ๊ปเลือด Rh (Rh Factor) โดยคนไทยโดยทั่วไปจะมีค่า Rh+ แต่บางคนโดยเฉพาะชาวต่างชาติอาจพบได้ว่า มีชนิด Rh-

หากคู่รักฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีค่า Rh- เมื่อมีการตั้งครรภ์จะทำให้เสี่ยงต่อการแท้งเพิ่มขึ้น เนื่องจากอาจเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกของทารกในครรภ์ และทารกแรกเกิดได้ จึงควรมีการเตรียมการล่วงหน้า

รายละเอียดการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน

ส่วนมากโรงพยาบาล หรือคลินิก จะมีโปรแกรมตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานอยู่แล้ว รายการหลักๆ ที่สำคัญมีดังนี้

1.  การตรวจร่างกายทั่วไปโดยแพทย์ เพื่อตรวจเช็คความสมบูรณ์ของร่างกาย เช่น การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต เอกซเรย์ปอด ตรวจการหายใจ

2. การตรวจเลือด ดูความพร้อม และประเมินความเสี่ยงต่างๆ

  • ตรวจกรุ๊ปเลือด
  • ตรวจความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงและความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
  • ตรวจระดับน้ำตาล เพราะผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป หากมีโรคเบาหวานอาจเป็นอันตรายระหว่างตั้งครรภ์ได้
  • ตรวจฮอร์โมนไทรอยด์ เพราะผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป หากมีโรคไทรอยด์อาจเป็นอันตรายระหว่างตั้งครรภ์ได้
  • ตรวจหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี
  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบีและซี
  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน
  • ตรวจหาเชื้อไวรัสเอดส์
  • ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส
  • ตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม โดยเฉพาะโรคธาลัสซีเมีย

3. การตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ รายการเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการจัดโปรแกรมของแต่ละโรงพยาบาล เช่น ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือดหาเชื้ออื่นตามความเสี่ยง เช่น เชื้อเริม หนองใน

นอกจากนี้โดยผู้หญิงอาจตรวจภายในเพิ่มเติม เช่น มะเร็งปากมดลูก อัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง เพื่อประเมินความแข็งแรงของมดลูก และปีกมดลูก

การตรวจสุขภาพก่อนการแต่งงานถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเพราะความแข็งแรงของร่างกายเป็นพื้นฐานในการสร้างครอบครัวให้สมบูรณ์ หากตรวจพบโรคจะได้วางแผนรักษา หรือป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงที

Scroll to Top