ปัญหาฟันผุไม่ได้เกิดแค่กับฟันแท้เพียงอย่างเดียว แต่สามารถเกิดกับฟันน้ำนมได้เช่นกัน เด็กๆ ที่ยังต้องใช้ฟันน้ำนมเคี้ยวอาหารและเกิดฟันผุจึงต้องมีการอุดฟันตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้ปัญหาฟันผุลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่โตไปมากกว่านั้น
สารบัญ
อุดฟันน้ำนมคืออะไร?
อุดฟันน้ำนม (Milk Tooth Filling) คือ กระบวนการรักษาโรคฟันผุในเด็ก ผ่านการใช้วัสดุทางการแพทย์อุดรูบนผิวฟันส่วนที่เกิดการผุขึ้น เป็นกระบวนการที่คล้ายคลึงกับการอุดฟันแท้ในผู้ใหญ่ที่มีปัญหาฟันผุเกิดขึ้น
โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กๆ เป็นโรคฟันผุบนฟันน้ำนมนั้น เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารที่มักจะอยู่ในกลุ่มขนม นมเนย หรือของหวาน ซึ่งเป็นกลุ่มอาหารที่ง่ายต่อการเกิดคราบจุลินทรีย์ในช่องปาก และทำให้เกิดกรดผุกร่อนบนผิวฟัน
เมื่อกรดเหล่านี้สะสมตัวอยู่บนผิวฟันมากๆ ก็จะไปละลาย “ชั้นผิวเคลือบฟัน” ซึ่งเป็นชั้นเนื้อฟันที่อยู่บนสุดของผิวฟันน้ำนมจนเกิดเป็นรู และเกิดเป็นโรคฟันผุนั่นเอง
นอกจากนี้โรคฟันผุในฟันน้ำนมยังเกิดได้จากพฤติกรรมการแปรงฟันของเด็กที่แปรงฟันได้ไม่สะอาดพอ หรือแปรงฟันไม่ทั่วถึงทุกซี่ จึงทำให้ฟันน้ำนมที่มีเศษอาหารหรือคราบสิ่งสกปรกติดอยู่ไม่ได้รับการทำความสะอาด จึงก่อเป็นโรคฟันผุได้ในภายหลังนั่นเอง
วัสดุอุดฟันน้ำนมมีกี่ประเภท?
วัสดุที่ใช้อุดฟันน้ำนมของเด็กจะแตกต่างกันไปตามแต่ละสถานพยาบาล แต่โดยทั่วไปวัสดุที่ทันตแพทย์นิยมใช้จะมีอยู่ 4 วัสดุ ได้แก่
- วัสดุ Metal Amalgam เป็นวัสดุอุดฟันสีเงินที่ส่วนประกอบทำจากเงิน ดีบุก และทองแดง มีจุดเด่นด้านความแข็งแรงคงทน สามารถรับแรงบดเคี้ยวได้เป็นอย่างดี แต่มีจุดด้อยตรงสีวัสดุที่เห็นได้ชัดจากภายนอก โดยจะเห็นเป็นสีเงินเด่นขึ้นมาจากสีฟันธรรมชาติ
- วัสดุ Composite Resin เป็นวัสดุอุดฟันที่มีส่วนประกอบจากอะคริลิกเรซินซึ่งเป็นพลาสติกที่ขึ้นชื่อเรื่องความคงทนแข็งแรง และยังมีสีใกล้เคียงกับเนื้อฟัน
- วัสดุ Ceramic เป็นวัสดุอุดฟันที่มีสีใกล้เคียงกับเนื้อฟันเช่นกัน และมีความคงทนต่อการเกิดคราบบนฟันเนื้อฟัน แต่จะมีความเปราะบางกว่าเมื่อเทียบกับวัสดุ Composite resin
- วัสดุ Glass Ionomer เป็นวัสดุอุดฟันที่ทำขึ้นจากแก้วและพลาสติกอะคริลิก มีสีขาวคล้ายคลึงกับสีฟันธรรมชาติเช่นกัน และยังมีคุณสมบัติสามารถปล่อยฟลูออไรด์ออกจากตัววัสดุเองได้ ซึ่งสามารถช่วยลดอาการเสียวฟันได้ดี แต่ในส่วนของความคงทนแข็งแรงนั้นยังเป็นรองจากวัสดุ Composite resin
เด็กคนไหนควรอุดฟันน้ำนม?
เด็กทุกคนที่มีปัญหาฟันผุเกิดขึ้น ควรได้รับการอุดฟันน้ำนมทุกคนเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาฟันผุลุกลามในภายหลัง โดยผู้ที่จะพิจารณาให้เด็กทำการอุดฟันน้ำนมก็คือทันตแพทย์
อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองอาจทราบถึงปัญหาฟันผุในเด็กได้ยาก กว่าจะเริ่มสังเกตเห็น หรือแสดงอาการออกมาชัดเจน ก็อาจเริ่มมีการผุไปเยอะแล้ว
นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ผู้ปกครองทุกคนควรพาเด็กๆ ไปตรวจฟันทุกๆ 6 เดือน เพื่อที่หากทันตแพทย์ตรวจเจอฟันผุ ก็จะได้ทำการอุดฟันให้ตั้งแต่เนิ่นๆ
อาการแบบไหนควรพาเด็กไปอุดฟัน
อาการของโรคฟันผุที่พบได้บ่อย ได้แก่
- เด็กมีอาการเสียวฟันมาก
- เด็กมีอาการปวดฟัน
- สังเกตเห็นว่าฟันมีจุดหรือคราบเล็กๆ คล้ายกับรูหรือร่องสีดำ สีน้ำตาลเข้ม เมื่อลองแปรงฟันแล้วจุดตรงนั้นก็ไม่หายไป
หากพบอาการเหล่านี้ นั่นอาจเป็นสัญญาณบอกว่า เด็กๆ อาจมีฟันผุซี่ใดซี่หนึ่งในช่องปาก และควรพาไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจดูสาเหตุตั้งแต่เนิ่นๆ หากพบว่าเกิดจากโรคฟันผุ ทันตแพทย์จะได้ทำการอุดฟันให้ทันที
อุดฟันน้ำนมทำได้ตอนกี่ขวบ?
กระบวนการอุดฟันน้ำนมสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่เด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไป
ลูกกลัวหมอฟันทำอย่างไรดี?
การไปเจอหมอฟันเป็นฝันร้ายสำหรับเด็กหลายๆ เมื่อไปถึงคลินิกทำฟันก็มักจะร้องไห้งอแงส่งเสียงดัง และทำให้ผู้ปกครองหลายคนใจอ่อนยอมผ่อนผันไม่พาเด็กๆ ไปตรวจฟันตามกำหนด
การละเลยนี้อาจนำไปสู่ปัญหาฟันผุที่รุนแรงกับเด็กในอนาคตข้างหน้าได้ เราจึงมีตัวอย่างคำแนะนำในการพาเด็กไปพบทันตแพทย์ เพื่อที่คุณจะพาเด็กๆ ไปพบหมอฟันได้อย่างราบรื่นตามเป้าหมาย
- รับบริการกับทันตแพทย์สำหรับเด็ก ซึ่งเป็นทันตแพทย์ที่จะรู้แนวทางการรับมือกับเด็กๆ ได้ดีกว่า และเข้าใจถึงการต่อต้านของเด็กที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตรวจฟัน
- หาสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจ อาจเป็นสมุดนิทาน ของเล่น การ์ตูนที่เด็กๆ ชอบ แล้วนำมาเล่าหรือเล่นในระหว่างที่เด็กตรวจฟัน แต่ต้องแน่ใจว่าจะต้องไม่เป็นการรบกวนการทำงานของทันตแพทย์
- เล่นบทบาทสมมติ โดยอาจแกล้งให้ทันตแพทย์และพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นตัวละครที่เด็กๆ ชอบ และวางสถานการณ์ให้ห้องทำทันตกรรมเป็นโลกอีกใบหรือดินแดนที่อยู่ในเทพนิยาย เพื่อให้เด็กรู้สึกอ่อนคลายและรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวในห้องทำทันตกรรมไม่ได้น่ากลัว
- เลือกเวลาให้ถูก ควรพาเด็กๆ ไปพบทันตแพทย์ในช่วงที่เขารู้สึกผ่อนคลายและไม่เหน็ดเหนื่อย ควรหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่เด็กมักง่วงนอน หิว หรืออ่อนล้าจากการทำกิจกรรมอื่นๆ มา เพราะนั่นเป็นช่วงเวลาที่คุณจะควบคุมดูแลเขาได้ยากกว่า
- อดทนและมีสติ บางครั้งวิธีทั้งหมดที่กล่าวไปด้านบนอาจใช้ไม่ได้กับเด็กๆ ในบ้านคุณ และคุณอาจต้องเผชิญกับเสียงร้องไห้โวยวายของเด็กๆ ในระหว่างที่อยู่กับทันตแพทย์ ขอให้อดทนเอาไว้ และตั้งสติไว้มากๆ เสมอ อย่าตะคอกหรือตอบโต้เด็กด้วยท่าทีที่รุนแรง เพราะนั่นจะยิ่งทำให้เขาตื่นกลัว
คุณอาจสอบถามทันตแพทย์ว่า ควรจะออกมารอด้านนอกห้องทำฟันหรือไม่ เพราะบางครั้งการมีผู้ปกครองอยู่ในห้องทำฟันด้วย จะยิ่งทำให้เด็กต่อต้านหนักกว่าเดิม หรือหากจำเป็นต้องอยู่ในห้องทำฟันด้วย ก็ให้ค่อยๆ ใช้วาจาและท่าทีที่อ่อนโยนค่อยๆ รับมือกับเด็กอย่างละมุนละม่อมจะดีที่สุด
อุดฟันน้ำนมเองได้ไหม?
การอุดฟันน้ำนมต้องกระทำทุกขั้นตอนโดยทันตแพทย์เท่านั้น ผู้ปกครองที่เด็กๆ ในบ้านมีปัญหาฟันผุไม่ควรอุดฟันให้เด็กๆ เองโดยเด็ดขาด
ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีร้านค้าออนไลน์ หรือเว็บไซต์ขายอุปกรณ์ทางการแพทย์วางขายวัสดุอุดฟัน แต่ก็ไม่ควรซื้ออุปกรณ์เหล่านั้นมาอุดฟันให้เด็กๆ เอง เพราะอาจทำให้ฟันเด็กเกิดความเสียหายจากความไม่ชำนาญในการรักษาฟันได้ และอาจรุนแรงถึงขั้นต้องถอนฟันน้ำนมของเด็กออกก่อนวัยอันควร
การเตรียมตัวก่อนอุดฟันน้ำนม
ก่อนตัดสินใจให้เด็กอุดฟันน้ำนม ผู้ปกครองควรพาเด็กไปตรวจฟันกับทันตแพทย์ก่อน เพื่อให้ทันตแพทย์ยืนยันว่า เด็กควรจะรับการอุดฟันน้ำนมจริงๆ โดยก่อนไปตรวจฟัน ต้องให้เด็กแปรงฟันทุกซี่ให้สะอาดเสียก่อน
จากนั้นหากตรวจพบฟันผุจริงๆ ทันตแพทย์จะนัดหมายให้มาอุดฟันในวันอื่น หรือหากสามารถอุดฟันได้เลย ทันตแพทย์ก็จะอุดฟันน้ำนมให้เด็กในวันเดียวกับที่ตรวจสุขภาพฟัน
โดยทั่วไปเด็กๆ ทุกคนสามารถอุดฟันน้ำนมได้โดยไม่มีข้อห้าม นอกเสียจากเด็กจะมีโรคประจำตัวหรือประวัติสุขภาพที่น่ากังวล ดังนั้นก่อนเริ่มการตรวจฟันหรืออุดฟันในทุกขั้นตอน ผู้ปกครองจะต้องแจ้งข้อมูลด้านสุขภาพของเด็กให้ทางทันตแพทย์ทราบเสียก่อน เช่น
- แจ้งประวัติสุขภาพของเด็ก ประวัติโรคประจำตัว ทั้งในอดีต และปัจจุบัน
- แจ้งประวัติการใช้ยา วิตามินเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพที่เด็กๆ ใช้อยู่
- แจ้งประวัติการแพ้ยาของเด็กอย่างละเอียด
ขั้นตอนการอุดฟันน้ำนม
การอุดฟันน้ำนมโดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที ขึ้นอยู่กับกระบวนการของแต่ละสถานพยาบาล จำนวนฟันน้ำนมที่ผุ และการให้ความร่วมมือของเด็ก โดยขั้นตอนหลักๆ ที่จะเกิดขึ้นในการอุดฟันน้ำนม มีดังต่อไปนี้
- ทันตแพทย์ตรวจดูฟันซี่ที่ต้องอุด
- ทันตแพทย์ทำความสะอาดช่องปากให้เรียบร้อย
- ทันตแพทย์ทายาชาเพื่อลดอาการระบมหรือไม่สบายเหงือกในระหว่างอุดฟันให้เด็ก
- ทันตแพทย์ขูดหินปูนและกรอฟันให้เรียบร้อย เพื่อให้เหลือแต่เนื้อฟันธรรมชาติที่สะอาดและไม่มีคราบ
- ทันตแพทย์อุดรูฟันที่ผุด้วยวัสดุอุดฟันที่เลือกไว้ จากนั้นขัดให้วัสดุอุดรูที่ผุอย่างแน่นหนาและแนบสนิทกับเนื้อฟัน
- ในบางสถานพยาบาลอาจมีการยิงเลเซอร์ซ้ำลงไปยังวัสดุอุดฟันเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและให้วัสดุเกาะติดไปกับเนื้อฟันอย่างหมดจดยิ่งขึ้นด้วย
การดูแลเด็กหลังอุดฟันน้ำนม
กระบวนการดูแลฟันน้ำนมของเด็กๆ หลังจากอุดฟันน้ำนม มีดังต่อไปนี้
- ผู้ปกครองจะต้องหมั่นย้ำเตือนให้เด็กแปรงฟันให้สะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็นไม่ให้ขาด พร้อมกับสอนวิธีแปรงฟันที่ถูกต้องและละเอียดให้กับเด็กด้วย
- ทุกครั้งที่กินอาหาร ขนม และนมทุกมื้อ ควรให้เด็กๆ บ้วนปากหลังกินอาหารเสร็จด้วย
- อย่าให้เด็กกินขนมรสหวานหรือขนมที่มีน้ำตาลบ่อยๆ หรือหากเด็กอยากกิน ให้กินรวมอยู่ในมื้ออาหารใหญ่ และอย่าให้เด็กกินขนมจุกจิกบ่อย
- พาเด็กมาตรวจฟันกับทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน หรือปีละ 2 ครั้งไม่ให้ขาด
โดยสรุปแล้ว แม้การพาเด็กๆ ไปพบทันตแพทย์อาจเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับผู้ใหญ่หลายคน แต่ก็เป็นกระบวนการที่ไม่อาจมองข้ามได้ และไม่ใช่ที่ไปหาทันตแพทย์แล้วจะพบฟันผุเสมอไป ในกรณีที่ดูแลรักษาความสะอาดได้ดี ก็อาจไม่พบปัญหาใดก็เป็นได้
แต่หากเจอฟันน้ำนมผุตั้งแต่เนิ่นๆ ทันตแพทย์จะได้อุดเพื่อรักษาได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอรักษาตอนที่อาการลุกลามไปมากกว่าเดิม ที่อาจทำให้ทั้งเจ็บและเสียเวลามากกว่าเดิม ทั้งนี้เพื่อให้เด็กยังสามารถใช้ฟันน้ำนมต่อไปได้จนกว่าจะหลุดออกตามธรรมชาติ และไม่กระทบต่อการขึ้นของฟันแท้ในอนาคต