ต่อมน้ำเหลืองโต อักเสบ อาการเป็นอย่างไร วิธีรักษา


ต่อมน้ำเหลืองโต

หลายคนน่าเคยได้ยินชื่อ ต่อมน้ำเหลือง มาบ้างจากชื่อโรค หรือภาวะผิดปกติบางอย่าง เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคต่อมน้ำเหลืองอุดตัน อาการต่อมน้ำเหลืองโตก็เช่นกัน โดยต่อมน้ำเหลืองเป็นต่อมขนาดเล็กบรรจุน้ำเหลือง ซึ่งเป็นของเหลวสีใสที่ไหลเวียนผ่านระบบท่อน้ำเหลือง โดยน้ำเหลืองจะเดินทางผ่านระบบน้ำเหลือง ซึ่งประกอบขึ้นจากช่องทางต่างๆ ทั่วทั้งร่างกาย มีลักษณะคล้ายกับหลอดเลือด

ภาวะต่อมน้ำเหลืองโต มีอาการอักเสบ อาจเกิดได้จากการตอบสนองต่อการติดเชื้อ และเนื้องอก

หน้าที่ของต่อมน้ำเหลือง

ต่อมน้ำเหลืองเป็นสถานที่เก็บเม็ดเลือดขาว ทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย เวลาแบคทีเรีย ไวรัส และเซลล์ที่ทำให้เกิดโรคผ่านเข้ามาในท่อน้ำเหลือง ก็จะถูกสกัดที่บริเวณต่อมน้ำเหลืองก่อน 

หลังจากนั้น ต่อมน้ำเหลืองจะสะสมสิ่งต่างๆ เหล่านี้เอาไว้ และเมื่อปริมาณมีมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตขึ้นนั่นเอง อาจมีอาการอักเสบร่วมด้วย

ต่อมน้ำเหลืองอยู่ตรงส่วนไหนของร่างกาย

ต่อมน้ำเหลืองอยู่ทั่วร่างกาย และยังสามารถพบได้ที่บริเวณใต้ผิวหนังในหลายๆ ส่วน เช่น

  • รักแร้
  • ใต้ขากรรไกร
  • ลำคอทั้ง 2 ข้าง
  • ขาหนีบทั้ง 2 ข้าง
  • บริเวณเหนือกระดูกไหปลาร้า

สาเหตุของต่อมน้ำเหลืองโต

ต่อมน้ำเหลืองโต เกิดจากร่างกายได้ตอบสนองต่อความเจ็บป่วย การติดเชื้อ หรือความเครียด เป็นอาการหนึ่งที่บ่งบอกว่า ระบบน้ำเหลืองกำลังทำงานเพื่อกำจัดเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกาย

นอกจากนี้ ต่อมน้ำเหลืองยังสามารถโตได้จากการที่มีการติดเชื้อในบริเวณใกล้เคียง เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่คอจะโต เวลาที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน หรือในเวลาที่เป็นหวัด

หรือหากต่อมน้ำเหลืองบริเวณศีรษะ หรือคอเกิดโตขึ้น ก็อาจเกิดมาจากอาการเจ็บป่วยต่อไปนี้

  • การติดเชื้อที่หู
  • ไข้หวัด
  • การติดเชื้อในโพรงจมูก
  • โรคหัด (Measles) คือโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
  • การติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
  • การติดเชื้อที่ฟัน
  • โรคโมโนนิวคลิโอซิส (Mononucleosis)
  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง
  • คออักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สเตรปโทคอกคัส (Streptococcus spp.)
  • ต่อมทอนซิลอักเสบ
  • วัณโรค (Tuberculosis)
  • เหงือกอักเสบ หรือมีแผลในช่องปาก

ยาที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตได้

ยาบางชนิด และปฏิกิริยาตอบสนองต่ออาการแพ้ยาบางอย่างนั้น สามารถทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตได้ เช่น ยากันชัก ยาฆ่าเชื้อมาลาเรีย

สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตได้ เช่น

  • โรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)
  • การติดเชื้อผ่านทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส (Syphilis) หรือหนองใน สามารถทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตได้
  • ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคลูปัส และข้ออักเสบชนิดรูห์มาตอยด์

มะเร็งกับภาวะต่อมน้ำเหลืองโต

ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็งชนิดใด หากมีการแพร่กระจายในร่างกายก็สามารถทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตได้ ซึ่งในช่วงที่เชื้อมะเร็งแพร่จากบริเวณหนึ่งไปยังต่อมน้ำเหลือง จะทำให้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยลดลงด้วย 

นอกจากนี้มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งเป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับระบบน้ำเหลืองโดยตรง ก็สามารถทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตได้เช่นกัน

ตัวอย่างชนิดมะเร็งที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต เช่น

  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin Disease: HD)
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin lymphoma: NHL)
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • มะเร็งที่มีการแพร่กระจาย

อาการอื่นๆ ที่อาจจะพบร่วมกับต่อมน้ำเหลืองโต 

นอกเหนือจากการตรวจหาต่อมน้ำเหลือง แพทย์จะมีการสอบถามอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในขณะที่มีภาวะต่อมน้ำเหลืองโตด้วย เช่น

  • ไอ
  • อ่อนเพลีย
  • มีไข้
  • หนาวสั่น
  • มีน้ำมูก
  • เหงื่อออก

หากคุณมีอาการเหล่านี้ หรือมีต่อมน้ำเหลืองโต แตะแล้วเจ็บ แต่ไม่มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ก็ยังเข้าข่ายอาการที่ควรไปพบแพทย์อยู่ ส่วนต่อมน้ำเหลืองที่โตแต่ไม่เจ็บนั้น อาจเป็นอาการของโรคมะเร็งได้

ปกติแล้วต่อมน้ำเหลืองที่โต จะค่อยๆ มีขนาดเล็กลงเมื่ออาการอื่นๆ เริ่มหายไป แต่หากอาการอย่างอื่นค่อยๆ ดีขึ้นแล้ว แต่ต่อมน้ำเหลืองยังโต แตะและเจ็บอยู่ รวมถึงมีอาการบวมนานหลายวัน ก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยอาการ

การวินิจฉัย

หากผู้ป่วยเพิ่งมีอาการป่วย หรือได้รับบาดเจ็บ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน เพราะสามารถช่วยในการวินิจฉัยสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้นได้

โดยในเบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติของผู้ป่วย เนื่องจากมีหลายโรค และยาบางตัวที่สามารถทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตได้ ดังนั้นการให้ประวัติอย่างละเอียดจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ง่ายขึ้น

หลังจากซักประวัติแล้ว แพทย์จะตรวจร่างกายโดยการคลำดูขนาดของต่อมน้ำเหลืองที่โต และดูว่ามีอาการเจ็บหรือไม่ หลังจากนั้นอาจมีการตรวจเลือดเพื่อดูโรคบางโรค หรือความผิดปกติของฮอร์โมน

หากจำเป็นแพทย์อาจตรวจวินิจฉัยทางรังสีเพื่อประเมินต่อมน้ำเหลือง หรือบริเวณอื่นๆ ของร่างกายที่อาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

นอกจากนี้ อาจมีการตรวจเพิ่มเติมอีกในผู้ป่วยบางราย เช่น การตัดต่อมน้ำเหลืองไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาโรคบางโรค เช่น โรคมะเร็ง หากจำเป็นแพทย์อาจจะต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองทั้งหมดออก

การรักษาต่อมน้ำเหลืองโต

  • ปกติแล้วต่อมน้ำเหลืองโตมักจะค่อยๆ เล็กลงได้เอง โดยที่ไม่ต้องรับการรักษา ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจนัดมาตรวจติดตามอาการโดยไม่ได้รักษาอื่นๆ
  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ มีอาการอักเสบ แพทย์อาจจะสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อไวรัส เพื่อกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดต่อมน้ำเหลืองโต นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ยาลดแก้ปวด และการอักเสบร่วมด้วย เช่น แอสไพริน (Aspirin) และไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
  • ต่อมน้ำเหลืองโตที่เกิดจากโรคมะเร็งอาจไม่กลับไปมีขนาดเล็กเหมือนเดิม จนกว่าจะได้รับการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งการรักษามะเร็ง มีได้ตั้งแต่ตัดเนื้องอก หรือต่อมน้ำเหลืองที่มีเซลล์มะเร็งลามไปออก หรืออาจต้องใช้ยาเคมีบำบัด เพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็ง
  • แพทย์จะเป็นผู้เสนอ และวางแผนแนวทางการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยให้มากที่สุด

การป้องกันต่อมน้ำเหลืองโต

ต่อมน้ำเหลืองโต อักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัส สามารถป้องกันได้เบื้องต้น ดังนี้

  • สวมใส่หน้ากากอนามัยเวลาอยู่ในที่แออัด โดยเฉพาะช่วงไข้หวัดระบาด เช่น บนรถโดยสารสาธารณะ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยโรคติดเชื้อที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
  • ล้างมือบ่อยๆ ทั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากทำกิจกรรมต่างๆ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ

ต่อมน้ำเหลืองโตจะไม่สร้างอาการ หรือความผิดปกติร้ายแรง หากคุณรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ และรักษาสุขอนามัยร่างกายให้สะอาดเป็นประจำ นอกจากนี้ หากคุณรู้สึกเจ็บป่วย และคลำเจอก้อนประหลาดที่คาดว่า จะเป็นภาวะต่อมน้ำเหลืองโต ก็ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการทันที


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat