แม้โดยทั่วไป “หูด” จะไม่ใช่โรคอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตและอาจหายเองได้ แต่ก็อาจทำให้เสียความมั่นใจได้หากเกิดในบางตำแหน่งของร่างกาย เช่น ใบหน้า หรืออวัยวะเพศที่อาจกลายเป็นมะเร็งได้ ซึ่งหูดยังสามารถติดต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งได้ด้วยการสัมผัส และการมีเพศสัมพันธ์
HDmall.co.th จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคหูด และการเลเซอร์หูด มาฝากกัน ซึ่งเป็นการวิธีรักษาที่จะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อก่อนจะลุกลาม เป็นวิธีที่ได้ผลดี ไม่ต้องเย็บแผล ไม่มีเลือดออก และไม่มีแผลเป็น
สารบัญ
หูดคืออะไร?
หูด (Warts) เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงบริเวณผิวหนังและเยื่อบุผิว เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่เรียกว่า Human Papilloma Virus (HPV) กระตุ้นให้ผิวหนังของเซลล์ชั้นหนังกำพร้าค่อยๆ หนาตัวหรือแข็งตัวขึ้น เกิดเป็นตุ่มหรือก้อนงอกออกมา โดยมีลักษณะเป็นก้อนขนาดแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและตำแหน่งของร่างกายที่เป็น
หูด มีได้ทั้งผิวเรียบหรือขรุขระ สีขาว สีชมพู หรือสีน้ำตาล โดยบริเวณที่พบได้บ่อย ได้แก่ นิ้วมือ แขน ขา เท้า ข้อศอก ข้อเข่า ฝ่ามือ และใบหน้าที่จะขึ้นเป็นเม็ดแบน เล็ก พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียนระหว่างช่วงอายุ 12-16 ปี ซึ่งจะไม่มีอาการเจ็บปวดหรือคัน ส่วนในผู้ใหญ่พบได้ในช่วงอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป เกิดได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายในสัดส่วนที่เท่ากัน
นอกจากนี้หูดยังสามารถเกิดหูดได้ที่อวัยวะเพศ ซึ่งมักเกิดบริเวณส่วนนอกของอวัยวะเพศหรือใกล้กับทวารหนักของชายหรือหญิง และอาจเกิดขึ้นภายในช่องคลอดและปากมดลูกได้เช่นกัน หูดบริเวณนี้อาจทำให้มีอาการแสบ คัน หรือเจ็บปวดได้ในบางครั้ง
หูดมีกี่ประเภท?
ชนิดของโรคหูดที่พบบ่อย แบ่งตามบริเวณที่เกิดได้หลักๆ 3 ประเภท ได้แก่
1.โรคหูดที่ผิวหนัง
- โรคหูดทั่วไป (Common Warts) พบได้บ่อยสุด มีลักษณะนูน ผิวขรุขระ มีขนาดตั้งแต่ 1 มิลลิเมตรถึง 1 เซนติเมตร มักเกิดในบริเวณมือและหัวเข่า
- โรคหูดชนิดคนแล่เนื้อ (Butcher’s Warts) เป็นหูดที่เกิดกับคนที่มีอาชีพแล่เนื้อดิบ โดยมีเนื้อเป็นทางผ่านของเชื้อโรค ลักษณะของหูดจะเหมือนหูดทั่วไปแต่มีขนาดใหญ่กว่า มีผิวขรุขระมากกว่า และเกิดที่บริเวณมือเป็นส่วนใหญ่
- โรคหูดชนิดแบนราบ (Plane Warts หรือ Flat Warts) เป็นหูดที่ผิวค่อนข้างเรียบ แบนราบ มีลักษณะยกนูนจากผิวหนังเพียงเล็กน้อย มีขนาดตั้งแต่ 1-5 ม.ม. และอาจมีจำนวนน้อยหรือมากแล้วรวมกันเป็นกลุ่ม มักเกิดบริเวณใบหน้า มือ และหน้าแข้ง
- โรคหูดที่ฝ่ามือฝ่าเท้า (Plamoplantar Warts) มีลักษณะเป็นตุ่ม นูนกลม ผิวขรุขระ ล้อมรอบด้วยผิวหนังที่หนาตัวขึ้น มักมีอาการเจ็บ จะมีลักษณะคล้ายโรคตาปลาและแยกความแตกต่างกับโรคตาปลาค่อนข้างยาก แต่เมื่อทำการฝานผิวหนังออกดู จะพบจุดเลือดออกเล็กๆ ซึ่งอาจมีการรวมกลุ่มเป็นหูดขนาดใหญ่ขึ้นได้
- โรคหูดติ่งเนื้อ (Filiform Wart ) มีลักษณะเป็นตุ่ม ขรุขระ เป็นติ่งยื่นจากผิวหนัง แต่ไม่แข็งมากเหมือนกับหูดชนิดอื่นๆ มักพบบริเวณใบหน้า และลำคอ
2. โรคหูดหงอนไก่ (Condyloma Accuminata)
เป็นหูดที่เกิดบริเวณอวัยวะเพศภายนอก พบได้ทั้งชายและหญิง มีลักษณะเป็นตุ่มนูน ผิวตะปุ่มตะป่ำ ขรุขระ สีชมพูหรือสีเนื้อ แรกเริ่มเมื่อติดเชื้อจะแสดงออกเป็นรอยโรคเพียงเล็กน้อย และจะลุกลามขยายใหญ่จนมีลักษณะคล้ายหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำ มักจะพบที่บริเวณอวัยวะเพศ ขาหนีบ และในกลุ่มชายรักร่วมเพศอาจพบบริเวณรอบทวาร
3. โรคหูดที่เยื่อบุผิว
โรคหูดที่เยื่อบุผิว อาจพบได้บริเวณเส้นเสียงและกล่องเสียง ซึ่งจะเกิดในเด็กที่คลอดทางช่องคลอดจากมารดาที่ติดเชื้อหูดบริเวณอวัยวะเพศ จึงได้รับเชื้อจากการกลืนหรือสำลักขณะคลอด หรืออาจเกิดในผู้ใหญ่จากการร่วมเพศโดยการใช้ปาก และหูดที่เยื่อบุตา ลักษณะของโรคหูดชนิดนี้จะเป็นตุ่มนูน มีผิวขรุขระ คล้ายหูดทั่วไป
เลเซอร์หูดคืออะไร?
เลเซอร์หูด เป็นการกำจัดหูดโดยใช้เครื่องมือผลิตเลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ (Co2 Laser) ที่ให้ความร้อนสูง ด้วยความยาวช่วงคลื่น 10,600 นาโนเมตร ส่งความร้อนที่มีความละเอียด แม่นยำสูง และเฉพาะเจาะจงไปยังเนื้อเยื่อ ทำให้สามารถเลือกตำแหน่งตัดเฉพาะเนื้อเยื่อที่ต้องการได้ โดยความร้อนจะไม่แผ่ลงลึกไปในชั้นผิว ไม่สร้างความเสียหายให้กับเนื้อเยื่อข้างเคียง ไม่มีเลือดออกหรือออกเล็กน้อยจากสะเก็ดแผลขนาดเล็กที่เกิดขึ้น จึงไม่ต้องเย็บแผล จึงเป็นวิธีรักษาที่ได้ผลดีและมีความปลอดภัยสูง ซึ่งนอกจากจะใช้ Co2 Laser สำหรับกำจัดหูดแล้ว ยังเหมาะกับการนำมาใช้รักษารอยโรคที่มีลักษณะเป็นเนื้องอก เช่น ไฝ ขี้แมลงวัน กระเนื้อ ติ่ง สิวหิน ได้ดีด้วย
ปัจจุบัน ยังมีการรักษาโรคหูดด้วยวิธีอื่นอีก ได้แก่
- การทายารักษาโรคหูด ส่วนใหญ่จะเป็นยาที่มีส่วนผสมของกรดซาลิซิลิก กรดแลคติก กรดไตรคลอโรอะซิติก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจก่อน ไม่ควรทายาด้วยตนเอง
- การจี้ด้วยความเย็น จะใช้เป็นไนโตรเจนเหลว วิธีนี้ใช้ได้ผลดีกับหูดขนาดไม่ใหญ่มาก บางรายที่มีหูดขนาดใหญ่อาจต้องจี้ซ้ำหลายครั้งจนกว่าจะหายขาด
- การจี้ด้วยไฟฟ้า เป็นการทำลายหูดด้วยความร้อน วิธีนี้สามารถกำจัดหูดได้ผลค่อนข้างดี แต่อาจทำให้เกิดแผลเป็นได้
- การผ่าตัด เป็นการผ่าตัดเอาก้อนหูดออกทั้งก้อน วิธีนี้ใช้สำหรับหูดที่มีขนาดใหญ่ หรือเป็นหูดที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล
- การทายาเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน มักใช้ในกรณีมีหูดปริมาณมาก
โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินและเลือกวิธีการรักษาหูด โดยจะประเมินจากหลายปัจจัย เช่น ลักษณะ ขนาด และจำนวน ของหูด รวมถึงตำแหน่งที่เป็น ระยะเวลาการเกิดหูด และสุขภาพโดยรวมของผู้มีหูด
เลเซอร์หูดเหมาะกับใคร?
ผู้ที่อาจเหมาะกับการเลเซอร์หูด มีดังต่อไปนี้
- เมื่อหูดหรือตุ่มเนื้อบริเวณผิวหนัง ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว
- เมื่อหูดหรือตุ่มมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น และอาการนั้นไม่ดีขึ้นภายใน 12 สัปดาห์หลังจากได้แปะปลาสเตอร์ที่มีกรดซาลิไซลิกแล้ว
- เมื่อเป็นหูดอยู่เป็นมานานหลายปีและไม่ยุบหายไป
- เมื่อหูดมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ใหญ่ขึ้น ผิวขรุขระมากขึ้น ขอบของหูดลุกลามไปยังผิวหนังใกล้เคียง แต่กรณีหูดมีเลือดออกเสมอ อาจต้องทำการตรวจอย่างละเอียดเพราะเป็นอาการที่หูดอาจเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการกำจัดหูดควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุ ลักษณะหูด และวิธีการรักษาที่เหมาะสมก่อนตัดสินใจ
เลเซอร์หูดไม่เหมาะกับใคร?
แพทย์จะไม่แนะนำ การเลเซอร์หูด หรือการเลเซอร์ผิวหนังที่เป็นการกำจัดเนื้องอกอื่นออก เช่น ไฝ ขี้แมลงวัน กระเนื้อ ติ่งเนื้อ ตุ่มหรือก้องเนื้อบางชนิด สำหรับกลุ่มคน ดังนี้
- ผู้เป็นโรคภูมิต้านตนเองหรือภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เพราะการทำเลเซอร์อาจทำให้ผิวหนังเกิดบาดแผลหรือมีรอยไหม้เล็กๆ และอาจทำให้ติดเชื้อได้
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะการเลเซอร์มีกระแสไฟฟ้าที่อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
- ผู้ที่มีแนวโน้มเป็นโรคเริม หรือกำลังติดเชื้อไวรัสเริม เนื่องจากการโดนแสงแดดจัด ความร้อน รอยไหม้ หรือแผล อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้โรคเริมกำเริบได้ ดังนั้น ก่อนทำเลเซอร์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน เพื่อหาแนวทางป้องกันการกำเริบของโรคเริม
การเตรียมตัวก่อนเลเซอร์หูด
ผู้ที่ตัดสินใจเข้ารับการเลเซอร์หูดบริเวณผิวหนัง สามารถเตรียมตัวก่อนทำ เหมือนกับการเตรียมตัวเพื่อเลเซอร์ผิวหนังทั่วไป ดังนี้
- ปรึกษาแพทย์ และแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีโรคประจำตัว หรือกรณีเคยเป็นโรคเริมมาก่อน รวมถึงประวัติการแพ้ยา โดยเฉพาะการแพ้ยาชา
- เข้ารับการตรวจร่างกาย เพื่อให้แพทย์ตรวจผิวหนังบริเวณที่จะรักษา และรับฟังขั้นตอนการรักษา และผลลัพธ์จากการรักษาที่อาจเกิดขึ้น
- งดใช้ยาหรืออาหารเสริมบางประเภท เช่น ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรือวิตามินอี เนื่องจากยาหรืออาหารเสริมเหล่านี้จะทำให้เลือดหยุดยาก อย่างน้อย 5-10 วันก่อนทำเลเซอร์ โดยเฉพาะผู้ทำการเลเซอร์หูดขนาดใหญ่
- งดสูบบุหรี่ ประมาณ 14 วันทั้งก่อนและหลังเข้ารับการรักษา
- กรณีผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเริมที่ปาก จะได้รับยาต้านไวรัสก่อนและหลังทำเลเซอร์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส ทั้งแพทย์จะให้รับประทานยาปฏิชีวนะ ระหว่างที่เข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
- กรณีผู้ที่เคยทำเลเซอร์ชนิดที่ทำให้ผิวเกิดอาการลอกอาจได้รับยาทาวิตามินเอ (Topical Retinoid) สำหรับทาผิวเป็นเวลา 4 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการรักษา
- หลีกเลี่ยงการออกแดดก่อนทำเลเซอร์ผิวหนัง และใช้ครีมกันแดดเมื่อต้องออกแดดเสมอ เนื่องจากการออกแดดและโดนแดดแรงก่อนทำเลเซอร์ อาจทำให้บริเวณผิวหนังที่จะทำเลเซอร์เปลี่ยนสีและไม่สม่ำเสมอ
ขั้นตอนการเลเซอร์หูด
ขั้นตอนการเลเซอร์หูดในแต่ละสถานที่ให้บริการอาจมีความแตกต่างกันออกไป แต่ขั้นตอนหลักๆ อาจมีดังต่อไปนี้
- ทำความสะอาดใบหน้า
- แพทย์ทายาชาบริเวณที่จะทำเลเซอร์
- ทำการปิดตาเพื่อป้องกันแสงเลเซอร์
- จากนั้นแพทย์จะยิงเลเซอร์ไปที่หูดโดยตรง เพื่อให้เนื้อเยื่อที่ติดเชื้อกลายเป็นเนื้อตายและหูดหลุดลอกออกมา ขณะยิงจะไม่มีเลือดออก มีเพียงแผลสะเก็ดเล็กน้อยเท่านั้น
- ระยะเวลาในการยิงเลเซอร์ขึ้นอยู่นกับจำนวน และขนาดของหูด บางรายอาจจำเป็นจะต้องรับการยิงเลเซอร์ซ้ำทุก 3-4 สัปดาห์ จนกว่าหูดจะหลุดออกมา
- เมื่อเสร็จสิ้นการเลเซอร์ แพทย์จะให้ยาขี้ผึ้งไปทาบริเวณที่ทำเลเซอร์
- สามารถกลับบ้านได้โดยไม่ต้องพักฟื้น และกลับไปทำงานได้ตามปกติ
การดูแลตัวเองหลังเลเซอร์หูด
หลังจากเลเซอร์หูดจะมีแผล หรือสะเก็ดบริเวณที่ทำเล็กน้อย โดยสามารถดูแลตัวเองได้ง่ายๆ ดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการโดนน้ำบริเวณแผลประมาณ 24 ชั่วโมง และติดพลาสเตอร์ป้องกันน้ำไว้ โดยสามารถแกะพลาสเตอร์ออกและสัมผัสน้ำได้หลัง 24 ชั่วโมง
- ทำความสะอาดแผลโดยใช้น้ำเกลือเช็ด วันละ 2 ครั้ง ระหว่างนี้หากแผลตกสะเก็ด ปล่อยให้สะเก็ดหลุดไปเอง เพื่อเป็นการผลัดผิวตามธรรมชาติ ห้ามแกะหรือเกาให้สะเก็ดหลุดเร็วขึ้นโดยเด็ดขาด
- ทาขี้ผึ้งที่แพทย์ให้อย่างต่อเนื่องจนครบ 7 วัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อและช่วยให้สะเก็ดแผลหลุดออกมา หลังจากสะเก็ดหลุดจะเห็นผิวบริเวณเลเซอร์เป็นสีชมพู ซึ่งจะค่อยๆ หายเป็นปกติไปเอง
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิว บริเวณที่ทำเลเซอร์ประมาณ 7-14 วัน หรือจนกว่าแผลจะหาย
- หลีกเลี่ยงแสงแดดอย่างน้อย 7-14 วัน หรืออาจนานประมาณ 1 เดือน จนกว่าร่องรอยสะเก็ดจะหายเป็นปกติ เพราะผิวบริเวณที่ทำเลเซอร์จะมีความไวต่อแสงแดดขึ้นกว่าปกติ และควรป้องกันผิวด้วยการทาครีมกันแดด
ผลข้างเคียงของการเลเซอร์หูด
การเลเซอร์หูดมีผลข้างเคียงที่พบได้ ดังต่อไปนี้
- ผิวหนังบริเวณที่เลเซอร์มีสภาพบอบบางกว่าปกติ สูญเสียน้ำมาก มีความไวต่อแสงและสิ่งแวดล้อม อาจมีอาการระคายเคืองง่าย โดยเฉพาะการเลเซอร์หูดขนาดใหญ่ที่ต้องเลเซอร์ซ้ำหลายรอบ รวมถึงบางครั้งผิวหนังที่เลเซอร์หลายครั้งจะเกิดรอยคล้ำ ดำ ถาวร ดังนั้นจึงต้องดูแลผิวหลังเลเซอร์อย่างถูกวิธี และให้แผลหายโดยเร็ว เพื่อป้องกันผลข้างเคียงอื่นที่อาจเกิดขึ้น
- อาจทำให้เกิดหลุมบริเวณผิวหนัง ในกรณีที่เลเซอร์หูดขนาดใหญ่และจำนวนมาก แม้ร่างกายจะสร้างผิวหนังขึ้นมาทดแทนแล้วก็อาจยังเหลือเป็นหลุมเล็กน้อยได้
ความเสี่ยงของการเลเซอร์หูด
- อาจมีอาการคัน บวม และแดงเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังที่ทำเลเซอร์ บางรายนานหลายเดือน หรืออาจทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบขึ้นได้
- อาจมีการติดเชื้อ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อไวรัสอื่น ซึ่งการติดเชื้อที่อาจพบได้บ่อย คือ การอักเสบจากไวรัสเริม ซึ่งเป็นไวรัสที่แฝงตัวอยู่ในผิวหนังของผู้ที่เคยเป็นเริมมาก่อน
- อาจมีการเปลี่ยนแปลงของสีผิว เช่น ผิวมีสีเข้มขึ้นหรือจางลง จะสังเกตได้ชัดเจนหลังเลเซอร์ 2-4 สัปดาห์ และในผู้ที่ผิวคล้ำสีผิวอาจเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร
- อาจเกิดมีรอยแผลเป็น จากการเลเซอร์หูดขนาดใหญ่
- กรณี เลเซอร์หูด ใกล้กับเปลือกตา อาจทำให้เกิด ภาวะเปลือกตาม้วนออก หรือเปลือกตาเปิดออก จนมองเห็นด้านในของเปลือกตา
เลเซอร์หูดเจ็บไหม?
โดยปกติแพทย์มักจะทายาชาให้ก่อนเลเซอร์หูดอยู่แล้ว ผู้รับบริการจึงไม่รู้สึกเจ็บขณะเลเซอร์ หรือหากเป็นหูดขนาดใหญ่ก็อาจใช้การฉีดยาชา และทยอยยิงเลเซอร์ออกทีละส่วนแทน จึงช่วยลดความเจ็บปวดลงได้
เลเซอร์หูดกี่วันหาย?
โดยปกติผิวจะเรียบเนียนเป็นปกติภายใน 7-10 วัน ระหว่างนี้ควรทาขี้ผึ้งฆ่าเชื้อตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมถึงรักษาความสะอาดเป็นอย่างดี ก็จะช่วยให้แผลหายเป็นปกติได้เร็วขึ้น
แม้ หูด จะสามารถยุบหายได้เองตามธรรมชาติ แต่อาจต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว เชื้อหูดก็อาจแพร่กระจายไปสู่คนอื่นๆ ได้ จึงควรพบแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นที่หูดยังมีขนาดเล็ก เพื่อรับการตรวจและรักษาอย่างถูกวิธีจะดีกว่า