เหตุการณ์เด็กๆ ในบ้านล้มป่วยย่อมสร้างความวิตกกังวลให้กับพ่อแม่และผู้ใหญ่ในครอบครัว ดังนั้นมันจะดีกว่าหรือไม่หากคุณให้พวกเขาได้รับวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย เพื่อลดโอกาสเกิดอาการเจ็บป่วยจากโรคร้ายที่ไม่อาจทำนายล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน และอาการจะร้ายแรงเพียงใด
ในบทความนี้ HDmall.co.th จะพาทุกคนไปเจาะลึกเกี่ยวกับการฉีด “วัคซีนเด็ก” ซึ่งเป็นรายการวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคที่พบได้บ่อยในเด็ก เป็นกระบวนการสำคัญที่พ่อแม่ทุกคนไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด และควรพาเด็กไปรับวัคซีนอย่างครบถ้วนทุกรายการ แต่วัคซีนที่จำเป็นต่อสุขภาพเด็กๆ นั้นมีกี่ชนิด ต้องฉีดบ่อยแค่ไหน แต่ละช่วงวัยควรฉีดอะไรบ้าง มาสำรวจข้อมูลพร้อมๆ กัน
สารบัญ
ทำไมต้องฉีดวัคซีนให้เด็ก?
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมเด็กๆ ต้องฉีดวัคซีนด้วย นอกจากทำให้เจ็บตัวแล้วยังสร้างความวุ่นวายให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องคอยดูแลเด็กไม่ให้ร้องไห้งอแงจนเสี่ยงบาดเจ็บจนเข็มฉีดยา
แต่ความจริงแล้ว การฉีดซีนเด็กเป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อช่วยเสริมภูมิคุ้มกันร่างกายให้เด็กได้เป็นอย่างดี
เนื่องจากวัยเด็กเป็นช่วงวัยที่ภูมิคุ้มกันร่างกายยังไม่พัฒนาจนแข็งแรงสมบูรณ์ดีพอ จึงเสี่ยงเกิดอาการเจ็บป่วยหรือติดเชื้อโรค เชื้อไวรัสต่างๆ ได้ง่าย ถึงแม้พ่อแม่ผู้ปกครองจะเลี้ยงดูเด็กให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาดและปลอดภัยก็ตาม
เพราะในแต่ละวัน ก็ยังมีโอกาสที่เด็กจะสูดเอาเชื้อโรคเข้าร่างกายผ่านการหายใจได้ หรือรับเอาสิ่งสกปรกเข้าไปก่อโรคผ่านการกินอาหาร หรือการเล่นของเล่น ซึ่งตามพฤติกรรมของเด็กมักจะหยิบเอาสิ่งของใกล้ตัวเข้าปากอยู่เสมอ และยากจะควบคุมอยู่ในสายตาผู้ปกครองได้ตลอด
นอกจากนี้ถึงแม้เด็กจะได้ภูมิคุ้มกันร่างกายจากน้ำนมแม่ในส่วนหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังมีเชื้อโรคและเชื้อไวรัสอื่นๆ ที่ร่างกายเด็กยังไม่สามารถต่อสู้และกำจัดมันออกไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
เด็กจึงต้องมีการพึ่งพาสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันจากวัคซีน เพื่อช่วยขับไล่สิ่งแปลกปลอมในร่างกายให้ออกไปจนหมดก่อนที่จะก่อโรคหรืออาการเจ็บป่วยนั่นเอง
ดังนั้นการฉีดวัคซีนเด็กจึงเป็นเหมือนการดูแลสุขภาพเด็กในเชิงรุก เพื่อเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันร่างกายเด็กให้ตอบสนองต่อสิ่งสกปรกหรือสารก่อโรคที่เข้าร่างกายได้ทันเวลา ช่วยลดความกังวลใจให้กับพ่อแม่และผู้ปกครองในการเลี้ยงดูเด็กได้
วัคซีนที่เด็กควรได้รับมีอะไรบ้าง?
รายการวัคซีนที่ผู้ปกครองควรพาเด็กๆ ไปฉีดให้ครบ สามารถแบ่งได้ตามช่วงอายุของเด็ก ดังต่อไปนี้
1. เด็กแรกเกิด
เด็กทารกแรกเกิดอายุน้อยกว่า 1 เดือนควรรับวัคซีน 2 ชนิดด้วยกันได้แก่
- วัคซีน BCG หรือวัคซีนป้องกันวัณโรค (Bacillus Calmette-Guern Vaccine) โดยควรฉีดให้เด็กทันทีหลังคลอด และก่อนเดินทางออกจากโรงพยาบาล
- วัคซีน HB1 หรือวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (Hepatitis B) เป็นโรคติดต่อที่ส่งผ่านจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ได้ หากไม่รีบฉีดวัควัคซีนป้องกัน เด็กจะมีความเสี่ยงสูงต่อการล้มป่วยเป็นโรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
- ฉีดเข็มที่ 1 ภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอดเด็ก
- ฉีดเข็มที่ 2 เมื่อเด็กอายุได้ 1-2 เดือน (ในกรณีมารดาเป็นพาหะนำโรค)
2. เด็กอายุ 2 เดือน
เมื่อเด็กอายุ 2 เดือน จะมีรายการวัคซีนเพิ่มเติมอีก 3 รายการ ได้แก่
- วัคซีน DTP-HB-Hib หรือวัคซีนรวมป้องกัน 5 โรค (เข็มที่ 1) ได้แก่ โรคคอตีบ โรคบาดทะยัก โรคไอกรน โรคไวรัสตับอักเสบบี และโรคติดเชื้อแบคทีเรียฮิบ
- วัคซีน RV หรือวัคซีนป้องกันไวรัสโรตา (Rotavirus) (เข็มที่ 1) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสตัวการสำคัญทำให้เด็กเกิดโรคอุจจาระร่วง
- วัคซีน OPV หรือวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน (Oral Polio Vaccine) (ครั้งที่ 1) โดยโรคโปลิโอเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบ หรือเป็นอัมพาตได้ ส่วนลักษณะวัคซีนแบบรับประทานจะเป็นยาหยดเข้าปากเด็กประมาณ 2-3 หยด
3. เด็กอายุ 4 เดือน
- วัคซีน DTP-HB-Hib หรือวัคซีนรวมป้องกัน 5 โรค (เข็มที่ 2)
- วัคซีน RV หรือวัคซีนป้องกันไวรัสโรตา (Rotavirus) (เข็มที่ 2)
- วัคซีน OPV หรือวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน (Oral Polio Vaccine) (ครั้งที่ 2)
- วัคซีน IPV หรือวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอแบบฉีด
4. เด็กอายุ 6 เดือน
- วัคซีน DTP-HB-Hib หรือวัคซีนรวมป้องกัน 5 โรค (เข็มที่ 3)
- วัคซีน OPV หรือวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน (Oral Polio Vaccine) (ครั้งที่ 3)
- วัคซีน RV หรือวัคซีนป้องกันไวรัสโรตา (Rotavirus) (เข็มที่ 3)
5. เด็กอายุ 9 เดือน
- วัคซีน MMR (Measles-Mumps-Rubella Vaccine) (เข็มที่ 1) หรือวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมัน
6. เด็กอายุ 1 ขวบ
- วัคซีน JEV หรือวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis Vaccine) (เข็มที่ 1)
7. เด็กอายุ 1 ขวบ 6 เดือน
- วัคซีน MMR (Measles-Mumps-Rubella Vaccine) (เข็มที่ 2)
- วัคซีน OPV หรือวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน (Oral Polio Vaccine) (ครั้งที่ 4)
- วัคซีน DTP (ครั้งที่ 4) เป็นวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ โรคบาดทะยัก และโรคไอกรน ซึ่งปรับมาจากวัคซีนป้องกัน 5 โรคที่ฉีดไปแล้ว 3 ครั้ง
8. เด็กอายุ 2 ขวบ 6 เดือน
- วัคซีน JEV หรือวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis Vaccine) (เข็มที่ 2)
9. เด็กอายุ 4 ขวบ
- วัคซีน DTP (ครั้งที่ 5)
- วัคซีน OPV หรือวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน (Oral Polio Vaccine) (ครั้งที่ 5)
รายการวัคซีนเด็กที่ควรฉีดให้ครบตามเกณฑ์
เมื่อเด็กอายุได้ประมาณ 7 ขวบหรืออยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ผู้ปกครองและครูที่โรงเรียนควรมีการตรวจสอบประวัติการฉีดวัคซีนของเด็กอย่างละเอียดอีกครั้ง หากเด็กยังตกหล่นไม่ได้รับวัคซีนตัวใด ก็ให้รับการฉีดเพิ่มเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันร่างกายต่อไป
โดยรายชื่อวัคซีนที่เด็กวัย 7 ขวบควรฉีดให้ครบตามเกณฑ์ จะมีดังต่อไปนี้
- วัคซีน BCG หรือวัคซีนป้องกันวัณโรค
- วัคซีน HB หรือวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี
- วัคซีน OPV หรือวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน
- วัคซีน MMR หรือวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมัน
- วัคซีน JEV หรือวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี
- วัคซีน IPV หรือวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอแบบฉีด
- วัคซีน DT หรือวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและโรคบาดทะยัก
นอกจากนี้เมื่อเด็กผู้หญิงเข้าสู่ช่วงวัย 11-12 ปี ผู้ปกครองก็ควรพาเด็กไปรับวัคซีน HPV ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกให้ครบถ้วน 2 ด้วย โดยระยะห่างระหว่างเข็ม 1 กับเข็ม 2 จะอยู่ที่ประมาณ 6 เดือน
วัคซีนทางเลือกสำหรับเด็กมีอะไรบ้าง?
วัคซีนทางเลือก (Optional Vaccines) คือ วัคซีนที่อยู่นอกเหนือจากวัคซีนเด็กพื้นฐานที่จำเป็นต้องฉีดให้กับเด็กทุกคน เป็นทางเลือกเสริมในการป้องกันโรคอื่นๆ เพิ่มเติม ตามแต่ความสะดวกของผู้ปกครองที่จะกำหนดให้เด็กฉีดหรือไม่ฉีดก็ได้ เช่น
- วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) โดยควรฉีดปีละ 1 เข็มอย่างสม่ำเสมอ
- วัคซีนโรคตับอักเสบเอ (Hepatitis A)
- วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies vaccine)
- วัคซีนโรคอีสุกอีใส (Varicella vaccine)
- วัคซีนโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Conjugated Vaccine)
- วัคซีนป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ป้องกันการเกิดโรคสมองอักเสบ (Pneumococcal vaccine)
เด็กฉีดวัคซีนช้าควรฉีดอย่างไร?
หากคุณไม่ได้พาเด็กไปฉีดวัคซีนตามช่วงวัยที่เหมาะสม หรือรับเลี้ยงเด็กที่ไม่มีประวัติการรับวัคซีนมาก่อน ทางกองป้องกันโรคด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำกำหนดการฉีดวัคซีนเด็กที่ฉีดวัคซีนล่าช้าไว้ดังต่อไปนี้
กรณีเด็กอายุ 1-6 ขวบ
1. ทันทีที่พบเด็กหรือรู้ว่า เด็กยังไม่ได้รับวัคซีน
มีรายการวัคซีนที่จำเป็น 3 ตัว ได้แก่
- วัคซีน DTP-HB-Hib หรือวัคซีนรวมป้องกัน 5 โรค (ครั้งที่ 1)
- วัคซีน OPV หรือวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน (ครั้งที่ 1)
- วัคซีน IPV หรือวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอแบบฉีด
- วัคซีน MMR หรือวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมัน (ครั้งที่ 1)
- วัคซีน BCG หรือวัคซีนป้องกันวัณโรค
2. เดือนที่ 1 หลังพบเด็กหรือรู้ว่า เด็กยังไม่ได้รับวัคซีน
- วัคซีน DTP-HB-Hib หรือวัคซีนรวมป้องกัน 5 โรค (ครั้งที่ 2)
- วัคซีน OPV หรือวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน (ครั้งที่ 2)
- วัคซีน JEV หรือวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี (ครั้งที่ 1)
3. เดือนที่ 2
- วัคซีน MMR หรือวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมัน (ครั้งที่ 2)
3. เดือนที่ 4
- วัคซีน DTP-HB-Hib หรือวัคซีนรวมป้องกัน 5 โรค (ครั้งที่ 3)
- วัคซีน OPV หรือวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน (ครั้งที่ 3)
4. เดือนที่ 12
- วัคซีน DTP หรือวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ โรคบาดทะยัก และโรคไอกรน ซึ่งปรับมาจากวัคซีน DTP-HB-Hib โดยครั้งนี้จะเป็นการฉีดครั้งที่ 4
- วัคซีน OPV หรือวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน (ครั้งที่ 4)
- วัคซีน JEV หรือวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี (ครั้งที่ 2)
กรณีเด็กอายุ 7 ขวบขึ้นไป
1. ทันทีที่พบเด็กหรือรู้ว่า เด็กยังไม่ได้รับวัคซีน
- วัคซีน DT หรือวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและโรคบาดทะยัก (ครั้งที่ 1)
- วัคซีน OPV หรือวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน (ครั้งที่ 1)
- วัคซีน IPV หรือวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอแบบฉีด
- วัคซีน MMR หรือวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมัน
- วัคซีน BCG หรือวัคซีนป้องกันวัณโรค
2. เดือนที่ 1 หลังพบเด็กหรือรู้ว่า เด็กยังไม่ได้รับวัคซีน
- วัคซีน HB หรือวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (ครั้งที่ 1)
- วัคซีน JEV หรือวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี (ครั้งที่ 1)
3. เดือนที่ 2
- วัคซีน DT หรือวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและโรคบาดทะยัก (ครั้งที่ 2)
- วัคซีน HB หรือวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (ครั้งที่ 2)
- วัคซีน OPV หรือวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน (ครั้งที่ 2)
4. เดือนที่ 7
- วัคซีน HB หรือวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (ครั้งที่ 3)
5. เดือนที่ 12
- วัคซีน JEV หรือวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี (ครั้งที่ 2)
- วัคซีน DT หรือวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและโรคบาดทะยัก (ครั้งที่ 3)
- วัคซีน OPV หรือวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน (ครั้งที่ 3)
ก่อนฉีดวัคซีนเด็กผู้ปกครองควรเตรียมตัวอย่างไร?
การฉีดวัคซีนอาจเป็นกระบวนการที่ง่ายสำหรับผู้ใหญ่ แต่คงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ปกครองของเด็กซึ่งเป็นช่วงวัยที่มักมองการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องน่ากลัว เมื่อรู้กำหนดการฉีดวัคซีนเด็กแล้ว ผู้ปกครองควรวางแผนการล่วงหน้า เพื่อให้กระบวนการฉีดวัคซีนดำเนินการไปอย่างเรียบร้อย เช่น
- พาเด็กไปตรวจสุขภาพเสียก่อน เพื่อให้แน่ใจถึงสภาวะร่างกายของเด็กที่พร้อมต่อการรับวัคซีน มิฉะนั้นหากเด็กมีโรคประจำตัวหรืออาการเจ็บป่วยซ่อนอยู่ วัคซีนอาจไปกระตุ้นให้อาการเหล่านั้นรุนแรงขึ้นได้
- แจ้งประวัติแพ้ยา แพ้วัคซีน ยาประจำตัว วิตามินเสริม อาหารเสริมที่เด็กกำลังรับอยู่ให้แพทย์ทราบอย่างครบถ้วนก่อนวันมาฉีดวัคซีน
- หากเด็กมีไข้ หรือเจ็บป่วยกะทันหัน ให้แจ้งสถานพยาบาลเพื่อเลื่อนนัดหมายฉีดวัคซีนใหม่ ไม่ควรฝืนพาเด็กมาฉีดวัคซีนโดยที่สุขภาพยังไม่แข็งแรง
- หาสิ่งหลอกล่อเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจเด็กจากเข็มวัคซีน อาจเป็นตุ๊กตา ของเล่น การ์ตูน หรือนิทานเรื่องโปรด
- ควรให้เด็กนั่งอยู่บนเก้าอี้สบายๆ หรือบนตักของผู้ใหญ่ที่เด็กไว้ใจ
- ใจเย็นๆ และตั้งสติ เพราะมีโอกาสที่เด็กจะร้องไห้หรือเสียงดังจนผู้ปกครองรู้สึกโกรธจนเผลอตะคอกเด็กได้ และจะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกกลัวมากขึ้นไปอีก หากไม่แน่ใจว่าสามารถรับมือเด็กได้ตามลำพัง ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่หรือพยาบาลแผนกที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ช่วยดูแลเด็กในระหว่างฉีดวัคซีนร่วมด้วย
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนให้เด็ก
หลังฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้ว เด็กอาจมีอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นได้ เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ผิวบริเวณที่รับวัคซีนบวมแดง อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้จะหายไปเองภายในช่วง 2-3 วัน
นอกเหนือจากอาการข้างเคียงเพียงเล็กน้อย ก็ยังมีอาการข้างเคียงรุนแรงจากการรับวัคซีนเด็กที่เกิดขึ้นได้ หากผู้ปกครองพบอาการเหล่านี้ ก็ให้รีบพาเด็กกลับมาพบแพทย์ทันที แต่โดยปกติจะเกิดขึ้นได้ยาก และพบได้ไม่บ่อยนัก เช่น
- คลื่นไส้อาเจียน
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- สูญเสียความทรงจำ หรือไม่มีสมาธิ
- สูญเสียการได้ยิน
- การนอนหลับผิดปกติ เช่น นอนไม่หลับ นอนเยอะกว่าปกติ หรือนอนหลับๆ ตื่นๆ