สังคัง ข้อมูลโรค อาการ วิธีรักษา


โรคสังคัง หรือที่เรียกว่า โรคกลาก (Tinea Cruris) เกิดจากการติดเชื้อราที่ผิวหนัง พบได้บ่อยบริเวณผิวหนังที่อับชื้น เช่น ขาหนีบ ต้นขาด้านใน หรือบั้นท้าย 

ลักษณะของรอยโรคสังคัง

ลักษณะของโรคผื่นสังคัง คือ ผื่นสีแดง บริเวณขอบผื่นจะชัด มีสะเก็ด หรือขุยร่วมด้วย โดยจะมีลักษณะเป็นแผ่น หรือวงก็ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อราที่ทำให้เกิดโรค ทำให้เกิดอาการคันมาก

โรคสังคังมักเกิดขึ้นที่บริเวณขาหนีบ หัวเหน่า หรือบริเวณรอยพับต่างๆ ของร่างกาย หากไม่ดูแลรักษาให้ดีก็อาจลามไปที่อวัยวะเพศ และทวารหนักได้ แต่ส่วนมากจะไม่ส่งผลกระทบต่อถุงอัณฑะ หรือองคชาติ

ในบางครั้งอาจทำให้ผิวบริเวณนั้นเป็นสีดำคล้ำ หรืออ่อนกว่าปกติ ซึ่งอาจคงอยู่แบบนั้นจนกว่าการติดเชื้อจะบรรเทาลง

สาเหตุของโรคสังคัง

โรคสังคัง เกิดจากเชื้อราในกลุ่มเดอร์มาโตฟัยท์ (Dermatophytes) โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อรา Dermatophytes Epidermophyton Floccosum, Trichophyton Mentagrophytes และ T. Rubrum ซึ่งเชื้อราเหล่านี้จะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่อุ่น และเปียกชื้น 

โรคสังคัง พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่มักเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า และในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก โดยความชื้นจะกระตุ้นให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะบริเวณระหว่างถุงอัณฑะ และต้นขาด้านใน 

อาการของโรคสังคัง

  • คันใต้ร่มผ้า มีขอบนูนชัดเจน เป็นรูปวงกลมหรือจันทร์เสี้ยว
  • มีผื่นขึ้น คัน แสบร้อนมากขึ้น 
  • หากปล่อยไว้ อาจมีอาการหนังลอก กลายเป็นวงสีดำ หรือสีน้ำตาล และขยายวงกว้างมากขึ้น

ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคสังคัง

  • ผู้ที่มีน้ำหนักมากจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคสังคังได้มากกว่าคนปกติ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะมีไขมันที่ใต้ผิวหนังที่สามารถกักเก็บความชื้นได้ดี 
  • ผู้ที่เหงื่อออกเยอะมากๆ ตามซอกคอ ข้อพับต่างๆ เช่น นักกีฬา 
  • ผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันที่ไม่ค่อยแข็งแรง ทำให้มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายมากกว่าคนทั่วไป
  • ผู้ที่สวมใส่เสื้อผ้าเปียกชื้น หรือรัดจนเกินไปเป็นเวลานาน สามารถทำให้เชื้อราแพร่กระจายจนทำให้เป็นโรคสังคังได้

โรคสังคังเป็นโรคติดต่อหรือไม่?

โรคสังคัง เป็นโรคที่สามารถติดต่อได้ง่าย โดยสามารถติดโรคสังคังได้จากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อได้โดยตรง หรือผ่านการสวมใส่เสื้อผ้า หรือผ้าขนหนูที่ยังไม่ซักของผู้ที่เป็นโรคสังคัง

นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคสังคังมีโอกาสที่จะติดเชื้อที่บริเวณอื่นๆ ในร่างกายด้วย เช่น หากเป็นโรคน้ำกัดเท้า หรือกลากที่เท้า (Tinea Pedis) หรือโรคกลากที่เล็บมือ หรือเล็บเท้า (Tinea Unguium) แล้วเท้าบริเวณที่เป็นโรคสัมผัสกับขอบกางเกงในระหว่างแต่งตัว ก็อาจทำให้บริเวณที่สวมใส่กางเกงในติดเชื้อและเป็นสังคังตามไปด้วยนั่นเอง

การรักษาโรคสังคัง

โรคสังคัง รวมไปถึงโรคกลากชนิดอื่นๆ สามารถรักษาให้หายได้โดยการใช้ยาต้านเชื้อรา ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ มีทั้งแบบครีมทา โลชั่น หรือแป้ง โดยส่วนมากแล้วมักจำเป็นต้องทาลงบนผิวหนังติดต่อกัน 2 - 4 สัปดาห์

หากไม่แน่ใจว่า ผื่นที่เกิดขึ้นเป็นโรคสังคัง สามารถไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยได้ โดยแพทย์สามารถประเมินได้ด้วยสายตา หรือขูดเอาเซลล์เนื้อบริเวณรอยโรคไปส่องกล้องเพื่อตรวจหาชนิดของเชื้อรานั้นๆ และจ่ายยาที่เหมาะสมกับโรคให้

ตัวยาสำหรับรักษาโรคสังคัง

ยาต้านเชื้อราบางชนิด สามารถรักษาโรคสังคังได้

เมื่อไรควรไปพบแพทย์

ในกรณีที่เป็นซ้ำบ่อยๆ หรือรักษาด้วยตัวเองแล้วอาการสังคังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่า ผื่นที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากเชื้อราใช่หรือไม่ 

นอกจากรักษาด้วยยาแล้ว ผู้ที่เป็นโรคสังคังควรใส่ใจกับการดูแลทำความสะอาด ไม่ปล่อยให้อับชื้น และหากมีน้ำหนักตัวมากก็ควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน จะช่วยลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ 

การป้องกันโรคสังคัง

การระมัดระวังเหล่านี้สามารถช่วยลดความเสี่ยงของคุณในการเกิดโรคสังคังได้

  • รักษาความสะอาดบริเวณขาหนีบ บั้นท้าย และต้นขาด้านใน และทำให้แห้งอยู่เสมอ โดยการโรยแป้งเมื่ออุ่น หรือซับด้วยผ้าหลังอาบน้ำ
  • หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดจนเกิดไป
  • ห้ามนำเสื้อผ้ากีฬากลับมาใส่ซ้ำ หากยังไม่ได้ซัก โดยเฉพาะ โดยเฉพาะการสวมกางเกงในชายซัพพอร์ตเตอร์สำหรับนักกีฬา (Jockstraps)
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าขนหนู เสื้อผ้า หรือของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นโดยที่ยังไม่ได้ซัก
  • ควรรักษาการติดเชื้อจากโรคกลากโดยทันที
  • ในกรณีที่สาเหตุความอับชื้นมาจากความอ้วน ควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

โรคสังคัง เป็นโรคที่ไม่อันตราย แต่ก็สร้างความรำคาญใจให้กับผู้เป็นไม่น้อย เพื่อป้องกันการเกิดโรค หรือการกลับมาเป็นซ้ำ ควรรักษาความสะอาดร่างกายอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ซัก และใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น


เปรียบเทียบราคาแพ็คเกจตรวจโรคผิวหนัง

เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat