นอนไม่หลับ สมองไม่หยุดคิด รักษาอย่างไร


นอนไม่หลับ สมองไม่หยุดคิด

การนอนไม่หลับ หรือเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับวงรอบการหลับตื่นของมนุษย์ ถือเป็นปัญหาสำคัญที่รบกวนชีวิตประจำวันทั้งการเรียนและการทำงาน ถึงต้นเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากสมองทำงานก่อนนอน แต่บ่อยครั้งที่มีปัญหาแฝงมากกว่านั้น ดีที่ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีและความรู้ช่วยให้สามารถเข้าใจและจัดการโรคเกี่ยวกับการหลับ-ตื่นได้ดีขึ้น จึงสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดและมีประสิทธิผลมากขึ้น

นอนไม่หลับ อาการเป็นอย่างไร?

โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) คือ โรคที่มีความผิดปกติในวงจรการหลับ โดยมีอาการเด่น คือ

  1. หลับยาก ใช้เวลานานกว่าจะหลับ อาจมีอาการนอนไม่หลับสมองไม่หยุดคิด
  2. หลับไม่ยาก แต่นอนไม่นาน ตื่นบ่อย
  3. ตื่นเร็วกว่าที่ควรแล้วไม่หลับอีก

ผู้เป็นโรคนอนไม่หลับอาจจะมีอาการเพียงข้อใดข้อหนึ่ง หรือมีหลายข้อรวมกันก็ได้ อาการเกิดขึ้นทั้งๆ ที่มีโอกาสและมีเวลานอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่ได้นอนกลางวัน ไม่พบการผล็อยหลับ โดยอาการนอนไม่หลับนี้จะต้องมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันด้วย

นอนไม่หลับ มีกี่แบบ?

อาการนอนไม่หลับ สามารถแบ่งได้ 2 แบบ ตามระยะเวลาการเกิดอาการ

1. อาการนอนไม่หลับเฉียบพลัน

นอนไม่หลับเฉียบพลัน หมายถึง มีอาการข้างต้นมาไม่เกิน 3 เดือน

กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับเหตุการณ์ตึงเครียดในระยะไม่นาน เช่น เศร้าเสียใจจากการสูญเสีย มีเรื่องกังวลใจ มีภาวะที่ต้องคิดมากขึ้น สมองคิดไม่หยุดก่อนจะนอน

หรืออาจมีคำอธิบายอื่นๆ ที่มาอธิบายอาการนอนไม่หลับ เช่น ทำงานเป็นกะ ทำงานผิดเวลา ต้องฝืนทำงานเวลาง่วง ทำให้เมื่อถึงเวลานอนจะไม่หลับ หรือภาวะอ่อนล้า นอนไม่หลับจากการเดินทางข้ามเส้นเวลา ได้รับสารที่กระตุ้นสมอง เช่น คาเฟอีน เป็นต้น ทำให้สมองทำงานไม่หยุด หยุดยาก จนหลับไม่ลง

การรักษาอาการนอนไม่หลับเฉียบพลัน สามารถแก้ไขได้ที่ต้นกำเนิดของการนอนไม่หลับ และอาจใช้ยาช่วยเหลือในช่วงเวลาสั้นๆ จนกว่าร่างกายจะเริ่มปรับสภาพได้จึงค่อยหยุดยา ซึ่งควรปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยในการวินิจฉัยปัญหา

2. อาการนอนไม่หลับเรื้อรัง

นอนไม่หลับเรื้อรัง หมายถึง มีอาการนอนไม่หลับมานานกว่า 3 เดือน

ในระยะแรกอาจเป็นอาการนอนไม่หลับเฉียบพลัน แล้วเรื้อรังมาจนเกิดปัญหานอนไม่หลับที่แท้จริง โรคนอนไม่หลับเรื้อรังจำเป็นต้องวินิจฉัยแยกโรคอย่างละเอียด เพราะมีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค มีเหตุกระตุ้นหลายอย่างและมีความซับซ้อน

เมื่อเกิดการนอนไม่หลับเรื้อรัง มักจะเกิดพฤติกรรมหลายอย่างที่อาจจะทำให้อาการนอนไม่หลับนั้นเรื้อรังมากขึ้นไปอีก เช่น เมื่อนอนไม่หลับก็จะอ่อนเพลีย ทำงานไม่ได้ จึงต้องดื่มกาแฟปริมาณมาก ผลจากกาแฟก็ไปทำให้นอนไม่หลับมากขึ้นไปอีก วนเวียนไปอย่างนี้เรื่อยๆ

การรักษาอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง นอกจากรักษาโรคร่วมอื่นๆ ให้ดีแล้ว ยังจะต้องมีการรักษาที่เน้นเฉพาะแบบโรคนอนไม่หลับ ทั้งการใช้ยาและไม่ใช้ยา

จะทราบได้อย่างไรว่าตัวเองเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรังหรือไม่?

นอกเหนือจากการไปพบแพทย์เพื่อซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อแยกโรคและสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นต้นกำเนิดของการนอนไม่หลับ เช่นโรคซึมเศร้า โรคหัวใจวายที่เหนื่อยเวลานอน โรคต่อมลูกหมากโตที่ต้องลุกมาปัสสาวะบ่อยๆ เวลากลางคืน หรือโรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ (Obstructive sleep apnea)

ยังอาจใช้การทำแบบทดสอบเพื่อคัดกรองภาวะการนอนที่ผิดปกติ คือ Epworth’s Sleepiness Scale หากทำแล้วมีคะแนนเกินกว่าที่กำหนด จะมีการให้ทำการตรวจทดสอบยืนยันว่ามีความผิดปกติทางการหลับในรูปแบบใด และเป็นโรคนอนไม่หลับหรือไม่

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคนอนไม่หลับเรื้อรังตาม International Classification of Sleep Disorders นั้น อาศัยเกณฑ์อาการอย่างน้อยหนึ่งอย่างในห้าอย่าง โดยอาการที่เกิดจะต้องเกิดอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ดังนี้

  1. ใช้เวลานานกว่าจะหลับ
  2. หลับไม่สนิท ตื่นมากลางคันและหลับต่อได้ยาก
  3. ตื่นเร็ว
  4. ปฏิเสธการเข้านอนในเวลาที่เหมาะสม
  5. ไม่สามารถเข้านอนเองได้

นอกจากมีอาการอย่างน้อย 1 ใน 5 แล้ว จะต้องมีผลกระทบจากการนอนไม่หลับที่ชัดเจนด้วย เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิในการทำงานหรือการเรียน หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน มีปัญหาพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง

และอาการกับผลข้างเคียงที่เกิดจะต้องเป็นมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 เดือน ทั้งๆ ที่มีเวลาและโอกาสที่จะนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ และไม่สามารถอธิบายได้ด้วยโรคหรือภาวะอื่นใดอีก

การตรวจเพื่อหาความผิดปกติอื่นๆ

ในบางกรณีอาจจะต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุอื่นๆ ของโรคทางระบบประสาทหรือระบบทางเดินหายใจที่ทำให้นอนไม่หลับ เช่น

  • การตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) ถือเป็นการตรวจมาจรฐานที่สำคัญที่สุดในการตรวจความผิดปกติของวงจรการหลับตื่น มีการวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ความอิ่มตัวออกซิเจนในเลือด

    นิยมใช้ตรวจหาโรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ สามารถตรวจได้ทั้งที่โรงพยาบาลหรือหน่วยเคลื่อนที่ที่สามารถไปตรวจที่บ้าน สำหรับผู้ป่วยบางรายมาตรวจที่โรงพยาบาลแล้วนอนไม่หลับ
  • การตรวจ Multiple sleep latency test เป็นการตรวจเฉพาะในห้องปฏิบัติการตรวจการนอนหลับ เพื่อตรวจความผิดปกติของระยะต่างๆ ในวงจรการหลับตื่น โดยเฉพาะการง่วงนอนมากเกินปกติ

  • การตรวจ Maintainance of wakefulness test เป็นการตรวจประเมินความตื่นตัวในสถานการณ์ที่ง่ายต่อการนอนหลับ

การรักษาอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง

หลังจากแยกโรคนอนไม่หลับเฉียบพลับ ภาวะอื่นๆ ที่ทำให้นอนไม่หลับ ว่าเป็นโรคทางกายเช่น โรคหัวใจวาย โรคหืด โรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ การใช้ยากระตุ้นสมองต่างๆ และแยกโรคทางจิตประสาทเช่น โรคซึมเศร้า โรคตึงเครียดหลังจากมีเหตุมากระทบ (Post traumatic stress disorder)

การรักษาโรคนอนไม่หลับนอกจากต้องรักษาโรคต่างๆ ข้างต้นแล้ว จำเป็นต้องให้การรักษาเฉพาะโรคนอนไม่หลับควบคู่กันไปด้วย อันประกอบด้วยสองส่วนคือการรักษาแบบใช้ยาและไม่ใช้ยาที่ควรใช้ควบคู่กันไปด้วยเสมอ ดังนี้

1. การรักษาแบบไม่ใช้ยา (Cognitive-behavioral treatment for insomnia: CBT-I)

เป็นรูปแบบการปรับพฤติกรรม ปรับสิ่งแวดล้อม ปรับภาวะจิตใจให้เหมาะสมกับการนอนหลับ เช่น

  • จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ปรับแสงสว่างในห้องนอนให้พอเหมาะ ให้เสียงเงียบเพียงพอ
  • ลดสิ่งกระตุ้นเช่นการใช้โทรศัพท์ก่อนนอน การดูภาพยนตร์ (แต่กิจกรรมทางเพศไม่จำเป็นต้องงดเว้น สามารถทำได้)
  • ปรับการกินอาหารไม่ให้หิวในช่วงเข้านอน
  • งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในช่วงค่ำ
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะจะทำให้ตื่นในช่วงดึกที่เราหลับสนิทไปแล้ว
  • ไม่ดื่มน้ำมากเกินไป เพราะจะทำให้ต้องลุกไปถ่ายปัสสาวะบ่อยกลางดึก
  • จำกัดชั่วโมงการนอน เพื่อให้เมื่อถึงเวลานอนที่กำหนดจะได้หลับง่ายและยาวนาน แต่วิธีนี้ต้องทำภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจนำพาไปสู่การนอนไม่หลับได้ ห้ามทำในผู้ป่วยโรคลมชักและอารมณ์แปรปรวน

การรักษาแบบนี้ ต้องพูดคุยร่วมกันระหว่างผู้ป่วยและทีมแพทย์ผู้รักษาและออกแบบให้เข้ากับชีวิตประจำวัน ครอบครัวและสภาพแวดล้อม เป็นการรักษาที่ควรทำเสมอไม่ว่าจะใช้ยาหรือไม่ก็ตาม

2. การรักษาแบบใช้ยา (Hypnotics drugs)

ตัวอย่างยาที่ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง มีดังนี้

เมลาโทนิน (Melatonin)

เป็นฮอร์โมนที่ช่วยรักษาอาการเริ่มหลับยาก เป็นตัวเลือกหากไม่ต้องการใช้ยากลุ่มเบนโซไดอาซีพีน เพราะผลข้างเคียงน้อยมาก เป็นยาที่แพทย์และเภสัชกรแนะนำให้ใช้ในเบื้องต้น

ปัญหา คือ ประสิทธิภาพของเมลาโทนินผันแปรมาก ในแต่ละคนอาจออกฤทธิ์ไม่เหมือนกัน ถึงบางคนได้ผลดี แต่ในบางคนอาจไม่ออกฤทธิ์เลย ซึ่งถ้าไม่ได้ผลก็ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางในขั้นต่อไป

ยากลุ่มเบนโซไดอาซีพีน (Benzodiazepines) 

ยาในกลุ่มนี้ที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในโรคนอนไม่หลับ ได้แก่ Estazolam, Flurazepam, Quazepam, Temazepam, Triazolam

ส่วนยาชนิดอื่น เช่น Lorazepam, Diazepam, Alprazolam จะเป็นการใช้นอกเหนือการรับรอง ไม่สามารถยืนยันประสิทธิภาพหรือผลข้างเคียงได้เหมือนกับยาที่ได้รับการรับรอง

สำหรับยาที่ออกฤทธิ์เร็ว มักจะใช้สำหรับกลุ่มที่เริ่มหลับยาก คือยา Temazepam

ส่วนยาที่ออกฤทธิ์ช้าแต่ยาวนาน เหมาะสำหรับกลุ่มที่เริ่มหลับได้ดี แต่ไม่สามารถคงการหลับได้ยาวนาน ผลข้างเคียงสำคัญของยากลุ่มนี้คือผลข้างเคียงต่อระบบประสาท เช่น ซึม ความคิดอ่านช้าลง การตอบสนองช้าลง ผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่สำคัญคือใจสั่น และทำให้ความดันโลหิตตกลงได้ จึงต้องระมัดระวังการใช้ในผู้สูงวัยและผู้ที่การทำงานของตับบกพร่อง

อีกหนึ่งผลเสียคือ หากใช้ยากลุ่มนี้เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 3-4 เดือนขึ้นไป เมื่อหยุดใช้กะทันหันจะมีอาการถอนยา ทำให้กลับมานอนไม่หลับอีก

ยากลุ่มที่ไม่ใช่เบนโซไดอาซีพีน (Non-benzodiazepine)

ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์คล้ายยากลุ่มเบนโซไดอาซีพีน แต่ผลข้างเคียงระบบประสาทและระบบหลอดเลือดน้อยกว่ามาก รวมทั้งโอกาสติดยาน้อยกว่า

ได้แก่ ยาโซลพิเดม (Zolpidem) แบบต่างๆ ทั้งแบบออกฤทธิ์เร็ว เช่นแบบอมใต้ลิ้น แบบสเปรย์พ่นปากและแบบออกฤทธิ์นานเพื่อควบคุมการหลับระยะยาว

สามารถเลือกใช้ยานี้ได้หากต้องการหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยากลุ่มเบนโซไดอาซีพีน ผลข้างเคียงที่พบได้บ้างคือออาการง่วงซึม อาการเดินละเมอ

เมลาโทนินรีเซปเตอร์อะโกนิสต์ (Melatonin receptor agonist) 

เช่น ยาราเมลเทียน (Ramelteon) ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์สั้น ใช้เพื่อแก้ไขอาการเริ่มหลับยากเท่านั้น ไม่มีผลข้างเคียงต่อระบบประสาทและหัวใจ

โอเรกซินรีเซปเตอร์แอนตาโกนิสต์ (Orexin receptor antagonist) ได้แก่ ยาซูเวอร์แรกแซนต์ (Suvorexant) เป็นการยับยั้งตัวรับสารโอเรกซิน (Orexin) หากสารโอเรกซินทำงาน จะทำให้วงจรการตื่นถูกกระตุ้นและวงจรการหลับถูกรบกวน

สามารถใช้ได้ทั้งเริ่มหลับยากหรือหลับแล้วตื่นบ่อย

ยานอกข้อบ่งใช้ (Off-labelled medication)

ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงคือซึม ง่วง สมองไม่แจ่มใส

ตามกลไกและการศึกษาแล้ว ไม่ได้เป็นยาสำหรับรักษาอาการนอนไม่หลับ แต่มีข้อบ่งใช้ยาในกรณีอื่น เช่น ยาต้านฮิสตามีนที่ใช้แก้แพ้ คลอร์เฟนนิรามีน หรือยารักษาอาการซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic) เช่น อะมิทริปทิลีน (Amitriptyline) หรือ นอร์ทริปทิลีน (Nortriptyline)

อย่างไรก็ตาม การรักษาอาการนอนไม่หลับ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาหรือไม่ใช้ยาก็ตาม จำเป็นต้องเข้ารับการวินิจฉัย ประเมิน รักษาและติดตามอย่างใกล้ชิด ค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละขั้น ไม่สามารถรักษาแบบครั้งเดียวหายขาดได้

ส่วนเรื่องค่ารักษาพยาบาลนั้น สิทธิการรักษาต่างๆ ในปัจจุบันครอบคลุมการตรวจ การรักษา ในกรณีได้รับการวินิจฉัยและยืนยันความจำเป็นการรักษาโดยแพทย์ จึงไม่ควรปล่อยปละละเลยจนโรคนอนไม่หลับมารบกวนชีวิตประจำวันจนชีวิตไม่มีความสุข


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจปรึกษาปัญหาการนอนไม่หลับ


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล. การใช้ยาในโรคนอนไม่หลับ ใน ใน เวชศาสตร์การนอนหลับขั้นพื้นฐาน สำหรับแพทย์ พยาบาล นักศึกษาและบุคลากรทางการแพทย์. กรุงเทพฯ: สมาคมโรคจากการนอนหลับแห่งประเทศไทย, 2560.
  • คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยารักษาโรคทางจิตเวช (2556), ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. วารสารสามคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. 2556; 58(3): 221-32
  • WebMD, Insomnia: Definition, Symptoms, Causes, Diagnosis
@‌hdcoth line chat