น้ำหมึกปากกา ก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวหนัง จริงหรือไม่

ผู้ปกครองอาจเคยใจหายใจคว่ำกันมาแล้วเมื่อพบว่าลูกน้อยกลับมาบ้านพร้อมกับรูปวาดจากหมึกปากกาเต็มตัวไปหมด! แม้จะเข้าใจดีว่าเป็นช่วงที่เด็กกำลังพัฒนาสมอง แต่ก็อดกังวลไม่ได้จริงๆว่า หมึกปากกา…ก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังได้หรือไม่

หมึกปากกา และผลกระทบต่อผิวหนัง

ความจริงแล้ว การใช้ปากกาขีดเขียนร่างกายนั้นไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังแต่อย่างใด เพราะการผลิตปากกาในปัจจุบันได้รับการตรวจสอบมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้นกว่าในอดีตมาก เพื่อควบคุมปริมาณสารเคมีที่เป็นอันตรายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งนั่นก็แปลว่าในหมึกปากกานั้นยังคงมีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายอยู่ นั่นก็คือ Xylene ที่อยู่ในปากกาหมึกถาวรและปากกาเมจิก แต่สารเคมีชนิดนี้ที่พบว่ามีปริมาณที่เจือจางมากในหมึกปากกา ผิวหนังของเราจะได้รับการระคายเคืองได้ก็ต่อเมื่อเราลงไปนอนแช่ในอ่างที่เต็มไปด้วยหมึกปากกาเหล่านี้ในปริมาณมากเป็นตันๆเลยทีเดียว ผู้ปกครองจึงสามารถคลายความกังวลในเรื่องนี้ไปได้เลย

แม้หมึกปากกาจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวหนัง แต่ผู้ปกครองก็ไม่ควรสนับสนุนการขีดเขียนร่างกายด้วยหมึกปากกาเลยแม้แต่น้อย เพราะปัญหาที่มักจะตามมาก็คือการขจัดคราบหมึกปากกาเหล่านี้ออกจากผิวหนัง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

คำแนะนำ: หากต้องการลบหมึกปากกาลูกลื่นหรือปากกาเมจิกออกจากผิวหนัง แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลและทำความสะอาดผิวกายทั่วไป เช่น สบู่ ครีมกันแดด เจลทำความสะอาดมือ และน้ำยาล้างเครื่องสำอางค์ แต่สำหรับการลบหมึกปากกาถาวร แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เช่น น้ำยาล้างเล็บ และสเปรย์ฉีดผม หรืออาจใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความมันผสมอยู่ด้วยก็ได้ เช่น น้ำมันมะพร้าว และเนย

ข้อควรจำ: ไม่ควรพยายามลบหมึกปากกาออกจากผิวหนังโดยการถูกหรือขัดแรงๆ เพราะอาจทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองได้

อันตรายที่แท้จริง เกี่ยวกับหมึกปากกา

จริงอยู่ที่ขีดเขียนร่างกายด้วยหมึกปากกาจะเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองสามารถวางใจได้ แต่ก็ยังคงมีอีกสิ่งที่น่าเป็นกังวล…นั่นก็คือ การที่หมึกปากกาเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทาน เพราะเมื่อสารเคมีเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายจะทำให้กลายเป็นพิษ อาการที่พบคืออาการคันและระคายเคืองที่ดวงตาและผิวหนัง เราจึงแนะนำให้ผู้ปกครองเก็บผลิตภัณฑ์เหล่าให้ไว้ให้ห่างไกลจากมือเด็กให้มากที่สุด

หากผู้ปกครองสังเกตว่าเด็กเล็กได้กลืนกินหมึกปากกาที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ชนิดขวดหรือกระปุกเข้าไปมากกว่า 1 ออนซ์ หรือ 28 มิลลิกรัม แนะนำว่าให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันทีโดยไม่ต้องพยายามทำให้เด็กอาเจียนออกมาก่อนแต่อย่างใด


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ

Scroll to Top