โรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบ ป้องกันได้อย่างไร?


โรคปริทันต์-ปริทันต์อักเสบ-การป้องกัน

HDmall สรุปให้

ขยาย

ปิด

  • โรคปริทันต์ หรือโรคปริทันต์อักเสบ (Periodontitis) เป็นอาการที่ลุกลามต่อจากเหงือกอักเสบจนเกิดการเหงือกร่น และกระดูกที่หุ้มรากฟันเริ่มละลายตัวในที่สุด หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษาฟันจะเกิดการโยกคลอนอาจส่งผลให้ต้องถอนฟันออกในที่สุด
  • การป้องกันโรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบที่สำคัญต้องเริ่มที่ “สาเหตุ” ของโรคก่อน นั่นก็คือ “ลดการสะสมของคราบจุลินทรีย์บริเวณขอบเหงือกและคอฟัน” การทำความสะอาดเหงือกและฟันอย่างถูกต้องในทุกๆ วัน
  • วิธีกำจัดคราบจุลินทรีย์ด้วยตนเองมีด้วยกัน 4 วิธีหลัก ได้แก่ การทำความสะอาดฟัน การทำความสะอาดซอกฟัน การนวดเหงือก และการแปรงลิ้น
  • นอกจากการทำความสะอาดฟัน ซอกฟัน เหงือก และลิ้นแล้ว ยังมีวิธีช่วยลดการสะสมของคราบจุลินทรีย์ได้ เช่น ลด หรือเลิกการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การเคี้ยวหมาก เคี้ยวยาสูบ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน ไปพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและรับการขูดหินปูน
  • เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจรักษาโรคเหงือก โรคปริทันต์ หรือแอดไลน์ @hdcoth

โรคปริทันต์ หรือโรคปริทันต์อักเสบ (Periodontitis) เป็นอาการที่ลุกลามต่อจากเหงือกอักเสบจนเกิดการเหงือกร่น และกระดูกที่หุ้มรากฟันเริ่มละลายตัวในที่สุด

โรคปริทันต์ หรือโรคปริทันต์อักเสบ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษาฟันจะเกิดการโยกคลอนอาจส่งผลให้ต้องถอนฟันออกในที่สุด

อย่างไรก็ตาม โรคปริทันต์ หรือโรคปริทันต์อักเสบ สามารถเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยตนเองตั้งแต่วันนี้ เพียงแต่ต้องมีระเบียบวินัยในรักษาสุขภาพฟันและเหงือกอย่างถูกวิธี มีวิธีป้องกันโรคปริทันต์ หรือโรคปริทันต์อักเสบได้อย่างไรบ้างนั้น HDmall.co.th จะพาไปหาคำตอบ

โรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบป้องกันได้อย่างไร?

การป้องกันโรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบที่สำคัญต้องเริ่มที่ “สาเหตุ” ของโรคก่อน นั่นก็คือ “ลดการสะสมของคราบจุลินทรีย์บริเวณขอบเหงือกและคอฟัน”

คราบจุลินทรีย์ในช่องปากจะผลิตสารพิษออกมาทำลายเหงือกและอวัยวะรอบๆ ฟัน เริ่มจากการอักเสบที่เหงือกก่อน เหงือกจะบวมและแดง มีเลือดออกขณะแปรงฟัน

หากไม่รีบรักษา นอกจากคราบจุลินทรีย์จากเดิมที่เป็นสีขาวอ่อนนุ่มจะสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ในไม่ช้าเมื่อได้รับแร่ธาตุที่ตกตะกอนจากอาหาร คราบจุลินทรีย์ก็จะกลายเป็นหินปูน หรือหินน้ำลาย ซึ่งมีความแข็ง ไม่สามารถทำความสะอาดออกเองได้ นอกจากการขูดหินปูนออกโดยทันตแพทย์เท่านั้น

เมื่อถึงตอนนั้น สารพิษก็จะทำลายเหงือกให้เป็นร่องลึกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งทำลายกระดูกเบ้าฟันลึกลงไปเรื่อยๆ จนเกิดหนอง บ้างก็เกิดฝี มีกลิ่นปาก จากนั้นเหงือกจะเริ่มไม่ยึดติดกับฟัน หรือเหงือกร่น ในที่สุดกระดูกเบ้าฟันละลายจนฟันโยกคลอน

ดังนั้นการทำความสะอาดเหงือกและฟันอย่างถูกต้องในทุกๆ วัน นอกจากจะสามารถสลายการสะสมของคราบจุลินทรีย์ในระยะเริ่มต้นได้แล้ว ยังสามารถป้องกันการเกิดโรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบได้อีกด้วย

วิธีกำจัดคราบจุลินทรีย์ มีอะไรบ้าง?

วิธีกำจัดคราบจุลินทรีย์ด้วยตนเองมีด้วยกัน 4 วิธีหลัก ได้แก่ การทำความสะอาดฟัน การทำความสะอาดซอกฟัน การนวดเหงือก และการแปรงลิ้น

ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

วิธีที่ 1 การทำความสะอาดฟัน

  • เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม ขนแปรงไม่แข็งจนเกินไป หัวแปรงกลมมน และมีขนาดพอเหมาะ
  • แปรงฟันอย่างถูกวิธี ด้วยการแปรงฟันจากด้านนอกทั้งฟันบนและฟันล่างก่อน วางแปรงที่คอฟันและขอบเหงือก ขนแปรงทำมุม 45 องศา แล้วเริ่มแปรงเบาๆ เมื่อแปรงฟันด้านนอกครบจึงเริ่มแปรงฟันด้านในทั้งฟันบนและฟันล่าง ส่วนฟันด้านบนเคี้ยวให้วางแปรงในแนวตั้งฉากกับฟันแล้วถูเข้า-ถูออก
  • แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า-ก่อนนอน หากสามารถแปรงฟันได้ทุกครั้งหลังมื้ออาหารจะดีที่สุด แต่หากไม่สามารถแปรงได้ แนะนำให้บ้วนปากแรงๆ 2-3 ครั้ง หลังมื้ออาหาร
  • เลือกใช้ยาสีฟันที่เหมาะสมเพื่อช่วยความความสะอาดฟันและขัดผิวฟัน มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เน้นเนื้อครีมละเอียด ไม่หยาบเกินไป เพื่อป้องกันฟันสึก

วิธีที่ 2 การทำความสะอาดซอกฟัน

  • การใช้ไหมขัดฟันวันละ 1 ครั้งก่อนแปรงฟัน โดยจำเป็นต้องขัดฟันแต่ละซี่ทั้งสองด้าน แม้ว่า อีกด้านของฟันจะไม่มีฟันข้างเคียงแต่ก็ต้องขัดด้วย แต่หากมีปัญหาเหงือกร่นไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้
  • การใช้แปรงขนาดเล็กที่มีลักษณะคล้ายแปรงล้างขวดขนาดจิ๋ว แปรงระหว่างซอกฟัน ถูเข้า-ถูออก ในกรณีที่อาจแปรงฟันไม่ทั่วถึง หรือในกรณีที่มีปัญหาเหงือกร่น ไม่สามารถใช้ไหมขัดฟันได้
  • นอกจากนี้ยังสามารถใช้แถบผ้ากอซทำความสะอาดซอกฟัน ด้วยการพับผ้ากอซในแนวนอนให้เป็นแถบยาว 6 นิ้ว กว้างพอเหมาะกับความสูงของฟัน ใช้ขัดด้านข้างของฟันที่ไม่มีฟันข้างเคียง หรือด้านข้างของฟันห่างมากๆ โดยโอบแถบผ้ากอซเข้าหาฟัน ถูไป-มา ในแนวนอน ราว 5-6 ครั้ง

วิธีที่ 3 การนวดเหงือก

ปุ่มยางนวดเหงือกมีลักษณะเป็นรูปกรวยยึดตั้งฉากกับด้ามจับเหมือนแปรงสีฟัน สามารถใช้กำจัดคราบจุลินทรีย์ด้านที่แปรงเข้าไม่ถึงได้

วิธีใช้ปุ่มยางนวดเหงือก ให้วางปุ่มยาง 45 องศา หรือตั้งฉาก 90 องศา แล้วเบนด้านข้างของปุ่มยางแนบด้านหนึ่งของซอกฟัน ถูหมุนอยู่กับที่ราว 5-6 ครั้ง แล้วจึงเบนปุ่มยางไปแนบฟันอีกด้าน และถูในลักษณะเดียวกัน

วิธีที่ 4 การแปรงลิ้น

เมื่อใช้ไหมขัดฟันและแปรงฟันเสร็จแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแปรงลิ้นด้วยแปรงสีฟัน หรือที่แปรงลิ้น หรือที่ขูดลิ้น เหตุที่ต้องแปรงลิ้นเพราะบนลิ้นมีตุ่มรับรสขนาดเล็กจำนวนมากจึงมีโอกาสที่จุลินทรีย์ หรือเชื้อโรคจะลงไปฝังตัวได้ รวมทั้งยังทำให้เกิดกลิ่นปากตามมา

วิธีแปรงลิ้นที่ถูกต้องควรอ้าปากกว้าง แปรงลิ้นเบาๆ จากโคนลิ้นมาด้านหน้า เพื่อป้องกันการถลอก แล้วบ้วนปากให้สะอาด แต่หากลิ้นมีแผลร้อนใน หรือเลือดออกควรหลีกเลี่ยงการแปรงลิ้นไปก่อน

วิธีลดการสะสมของคราบจุลินทรีย์ มีอะไรบ้าง?

นอกจากการทำความสะอาดฟัน ซอกฟัน เหงือก และลิ้นแล้ว ยังมีวิธีช่วยลดการสะสมของคราบจุลินทรีย์ได้อีก ได้แก่

  • ลด หรือเลิกการสูบบุหรี่
  • ลด หรือเลิกการดื่มสุรา
  • ลด หรือเลิกการเคี้ยวหมาก เคี้ยวยาสูบ
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อให้ช่องปากมีความชุ่มชื้น น้ำลายมีการไหลเวียนดีขึ้น
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสหวานจัดทั้งขนมหวาน เครื่องดื่มรสหวาน เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคเบาหวาน รวมทั้งหากเป็นเบาหวานอยู่แล้วก็ต้องควบคุมโรคเบาหวานให้ดีขึ้น
  • ไปพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและรับการขูดหินปูน
  • หากมีสัญญาณเหงือกอักเสบ เช่น เหงือกเริ่มบวม มีกลิ่นปาก มีเลือดออกตามไรฟัน ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป

หากไม่อยากป่วยด้วยโรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่เสี่ยงต่อการสูญเสียเหงือกและฟัน ใช้เวลารักษา ฟื้นฟูนาน และมีค่าใช้จ่ายในการรักษามาก ควรดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองตั้งแต่วันนี้ อย่าคิดว่า พรุ่งนี้ค่อยเริ่มก็ได้ เพราะบางครั้งพรุ่งนี้ก็อาจสายเสียแล้ว

หากสนใจเข้ารับการรักษาโรคเหงือก โรคปริทันต์ สามารถ เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจรักษาโรคเหงือก โรคปริทันต์ ที่ตรงใจ คุ้มค่ากับงบประมาณได้ที่นี่เลย หรือที่ไลน์ @hdcoth โดยมีจิ๊บใจดี เสียงใสคอยให้บริการข้อมูล สั่งซื้อแพ็กเกจ และจองคิวนัดหมายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่ง! แอดเลยไม่ต้องรอ

ที่มาของข้อมูล

ทันตแพทย์หญิงฉัตรแก้ว บริบูรณ์หิรัญสาร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล,“โรคปริทันต์” ถ้ารู้เท่าทันเราก็ไม่เป็น (https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=698), 8 มิถุนายน 2564.

โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, โรคปริทันต์อักเสบกับโรคหัวใจและหลอดเลือด (http://www.info.dent.nu.ac.th/dentalHospital/index.php/2012-09-18-18-57-27/2-2012-09-27-23-42-04/25-2013-01-05-22-27-52), 8 มิถุนายน 2564.

รศ.ทพ.ยสวิมล คูผาสุข คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, โรคปริทันต์อักเสบ (https://dt.mahidol.ac.th/th/โรคปริทันต์อักเสบ/), 8 มิถุนายน 2564.

Centers for Disease Control and Prevention (CDC), Periodontal Disease (https://www.cdc.gov/oralhealth/conditions/periodontal-disease.html), 8 June 2021.

Jacquelyn Cafasso, Periodontitis (https://www.healthline.com/health/periodontitis), 8 June 2021.

Yvette Brazier, What is periodontitis? (https://www.medicalnewstoday.com/articles/242321), 8 June 2021

@‌hdcoth line chat