HDmall สรุปให้
ปิด
ปิด
- เมื่อแพทย์ลงความเห็นให้ผ่าคลอด มีกำหนดการคลอดเรียบร้อยแล้ว แพทย์มักแนะนำให้ คุณแม่พบวิสัญญีแพทย์ เพื่อแจ้งรายละเอียดโรคประจำตัว (ถ้ามี) ภาวะทางสุขภาพ และยาประจำตัว หรือยาที่ใช้เป็นประจำ ส่วนวิสัญญีจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการวางยาสลบที่เหมาะสม มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด
- คุณแม่ควรเช็คสิทธิประโยชน์การคลอดที่มี วางแผนลาคลอด เคลียร์งาน เตรียมข้าวของเครื่องใช้ทั้งของตนเองและลูกน้อย รวมทั้งเอกสารที่จำเป็นให้พร้อม
- ก่อนผ่าตัดคุณแม่ต้องงดน้ำและอาหารมื้อหลักอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนผ่าคลอด สำหรับอาหารอ่อน เช่น ซุปใส สามารถงดได้ก่อนผ่าคลอดอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- คุณแม่ไม่ควรพยายามโกนขนด้วยตนเองเพราะจะทำให้มีโอกาสติดเชื้อบริเวณที่ผ่าตัดได้ และต้องอาบน้ำ สระผมด้วยน้ำยาที่โรงพยาบาลเตรียมให้ ถอดคอนแทคเลนส์ ถอดฟันปลอม ถอดเครื่องประดับต่างๆ ออกทั้งหมด สำหรับคุณแม่ที่ทาเล็บแนะนำให้ล้างสีออกให้หมดด้วย
- เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจฝากครรภ์ หรือคลอดบุตร หรือแอดไลน์ @hdcoth
เมื่อแพทย์ตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่า คุณแม่มีข้อบ่งชี้ทางสุขภาพ เช่น มีภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะรกเกาะต่ำ อุ้งเชิงกรานแคบเกินไป ไม่เหมาะกับการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติเพราะจะทำให้คุณแม่ หรือลูกมีความเสี่ยงต่างๆ ตามมาได้
แพทย์จะลงความเห็นให้ “ผ่าคลอด” หรือ "ผ่าตัดคลอด"
จากนั้นแพทย์จะเริ่มวางแผนผ่าคลอดให้เหมาะสมกับคุณแม่เป็นรายๆ ไป เช่น การเตรียมแพทย์สาขาอื่นๆ (หากจำเป็น) อุปกรณ์การแพทย์พิเศษ เพื่อให้การผ่าคลอดผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
ส่วนคุณแม่เองหากสามารถเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมก่อนผ่าคลอดได้จะถือเป็นเรื่องดี เพราะจะได้ไม่ฉุกละหุก เข้าห้องผ่าตัดได้อย่างสบายใจ
ทั้งนี้คุณแม่ควรวางแผน เตรียมตัวก่อนผ่าคลอดอย่างไรบ้าง? ต้องงดอาหารกี่ชั่วโมง? ต้องโกนขนไหม? ต้องเตรียมของไปผ่าคลอดอะไรบ้าง ทั้งหมดนี้ HDmall.co.th มีคำตอบให้
สิ่งที่ควรวางแผนก่อนผ่าคลอดมีอะไรบ้าง?
โดยทั่วไปเมื่อแพทย์ลงความเห็นให้ผ่าคลอด มีกำหนดการคลอดเรียบร้อยแล้ว แพทย์มักแนะนำให้ คุณแม่พบวิสัญญีแพทย์ หรือหมอรมยา เพื่อแจ้งรายละเอียดโรคประจำตัว (ถ้ามี) ภาวะทางสุขภาพ และยาประจำตัว หรือยาที่ใช้เป็นประจำ (หากมี)
วิสัญญีจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการวางยาสลบที่เหมาะสม และการให้ยาระงับความเจ็บปวดเฉพาะที่ ทั้งหมดนี้ควรสอดคล้องกับสภาวะสุขภาพของคุณแม่ในปัจจุบัน และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด หากมีข้อสงสัย หรือมีความกังวลใดๆ แนะนำให้ถามวิสัญญีแพทย์ได้ เพื่อความสบายใจ
บางแห่งยังอาจมีการเจาะเลือดคุณแม่เพื่อดูกรุ๊ปเลือด ระดับฮีโมโกลบิน สำหรับการจัดเตรียมเลือดสำรองไว้หากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ต้องให้เลือด
จากนั้นสิ่งที่คุณแม่ควรทำได้แก่
- การเตรียมจองห้องพักประเภทที่ต้องการ โดยมากโรงพยาบาลเอกชนมักจัดเป็นแพ็กเกจร่วมกับการผ่าตัดคลอดไว้แล้ว ขั้นตอนนี้เพื่อให้มั่นใจว่า เมื่อถึงกำหนดคลอด คุณแม่จะมีห้องพักตามที่ต้องการอย่างแน่นอน
- บางครอบครัวยังอาจวางแผนหาพี่เลี้ยงมาช่วยดูแลทารกในช่วงที่คุณแม่กำลังพักฟื้นหลังผ่าคลอดด้วย รวมถึงอาจหาคนที่ช่วยแบ่งเบาภาระงานบ้านด้วย
- คุณแม่ที่เป็นมนุษย์เงินเดือนควรเช็คสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับระหว่างลาคลอด จำนวนวันลาคลอด รวมทั้งการวางแผนสำหรับการเคลียร์งานต่างๆ ในช่วงที่ลาคลอดและกำหนดช่วงเวลาที่ต้องลาคลอด
- เตรียมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และเตรียมใจให้สบาย ผ่อนคลายพร้อมเข้ารับการผ่าตัดคลอด
เตรียมของไปผ่าคลอดอะไรบ้าง?
อันดับแรกควรสอบถามโรงพยาบาลถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในห้องพักที่จองไว้ล่วงหน้าว่า "มีอะไรบ้าง" เพื่อจะได้ไม่เตรียมของซ้ำซ้อน หรือ "มีอะไรที่คุณแม่จำเป็นต้องใช้ แต่ที่นั่นไม่มีให้บริการบ้าง" เพื่อจะได้เตรียมไป
อันดับต่อมาคือ การเตรียมข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว
- สมุดบันทึกการฝากครรภ์
- เอกสารของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องใช้ในการแจ้งเกิด การทำสูติบัตร รวมทั้งเอกสารสำคัญอื่นๆ เช่น เอกสารประกันสุขภาพ
- ของใช้ส่วนตัวของคุณแม่ ชุดชั้นในและเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ผ้าอนามัยชนิดหนา
- ยาประจำตัวคุณแม่ที่จำเป็นต้องใช้
- ของใช้ส่วนตัวของลูกน้อย เช่น ผ้าขนหนู ผ้าห่อตัว ผ้าอ้อม หมวก ถุงมือ ถุงเท้า
- ของใช้ส่วนตัวของผู้เฝ้า
- สำรองค่าใช้จ่ายไว้ก่อน หากเกิดภาวะฉุกเฉินที่ไม่คาดฝันซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม นอกเหนือจากแพ็กเกจ
เตรียมตัวก่อนผ่าคลอดอย่างไร?
โดยทั่วไปแพทย์มักนัดหมายให้คุณแม่มาเตรียมความพร้อมที่โรงพยาบาลก่อนผ่าคลอด 1 วัน เพื่อทำสิ่งต่อไปนี้
- รับน้ำยาสำหรับอาบน้ำและสระผม เพื่อทำความสะอาดร่างกาย ลดจำนวนแบคทีเรีย และลดโอกาสการติดเชื้อก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- งดน้ำและอาหารมื้อหลักอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนผ่าคลอด สำหรับอาหารอ่อน เช่น ซุปใส สามารถงดได้ก่อนผ่าคลอดอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- พักผ่อนให้เพียงพอ อย่ากังวล อย่าเครียด
- ก่อนเข้ารับการผ่าตัด พยาบาลจะสวนอุจจาระ ทำความสะอาดบริเวณหน้าท้อง และโกนขนบริเวณหน้าท้อง หัวหน่าว จนถึงฝีเย็บออกจนหมด ทั้งนี้คุณแม่ไม่ควรพยายามโกนขนเหล่านี้ด้วยตนเองเพราะจะทำให้มีโอกาสติดเชื้อบริเวณที่ผ่าตัดเพิ่มได้
- ก่อนเข้าห้องผ่าคลอด คุณแม่จำเป็นต้องล้างเมคอัพ ล้างครีมทาผิวต่างๆ ออกให้หมด และอาบน้ำ สระผมด้วยน้ำยาที่โรงพยาบาลเตรียมให้อีกครั้ง จ
- ต้องถอดคอนแทคเลนส์ ถอดฟันปลอม ถอดเครื่องประดับต่างๆ ออกทั้งหมด สำหรับคุณแม่ที่ทาเล็บแนะนำให้ล้างสีออกให้หมดด้วย
- จากนั้นสวมชุดสำหรับเข้าห้องผ่าตัดโดยไม่ต้องสวมชุดชั้นใน เมื่อพร้อมพยาบาลจะมาใส่สายสวนปัสสาวะคาไว้ เพื่อสวนปัสสาวะที่ค้างอยู่ออก โดยสายสวนนี้คุณแม่จะต้องใส่ไว้ตลอดการผ่าตัดจนถึง 1 วันหลังผ่าตัด แพทย์จึงอนุญาตให้ถอดสายสวนออกได้
- พยาบาลจะเจาะเส้นเลือดเพื่อให้สารน้ำ หรือน้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ รวมถึงอาจเป็นช่องทางสำหรับให้ยา หรือให้เลือดหากจำเป็น
เมื่อพยาบาลเตรียมร่างกายคุณแม่พร้อมทั้งหมดแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการผ่าคลอด หรือผ่าตัดคลอดต่อไป ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 45 นาที-1 ชั่วโมง เจ้าตัวน้อยก็พร้อมออกมาลืมตาดูโลกแล้ว
ว่าที่คุณแม่สามารถ เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจฝากครรภ์และคลอดบุตร ที่ตรงใจ คุ้มค่าได้ที่นี่เลย หรือที่ไลน์ @hdcoth โดยมีจิ๊บใจดี เสียงใสคอยให้บริการข้อมูล สั่งซื้อแพ็กเกจ และจองคิวนัดหมายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่ง! แอดเลยไม่ต้องรอ
ที่มาของข้อมูล
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, คำแนะนำการปฏิบัติตนก่อนและหลังผ่าตัดคลอดบุตร (https://www.hospital.tu.ac.th/yoongthong3/doc/comment_2.pdf), 22 เมษายน 2564.
Brian Krans, C-Section (Cesarean Section) (https://www.healthline.com/health/c-section), 22 April 2021.
Hedwige Saint Louis, MD, MPH, FACOG, Cesarean Delivery (https://emedicine.medscape.com/article/263424-overview), 22 April 2021.
MedlinePlus, Cesarean Section (https://medlineplus.gov/cesareansection.html), 22 April 2021.
Michele Herman, All About C-Sections: Before, During, and After (https://www.parents.com/pregnancy/giving-birth/cesarean/all-about-c-sections-before-during-and-after/), 22 April 2021.
NHS, Caesarean section (https://www.nhs.uk/conditions/caesarean-section/), 22 April 2021.
Robin Elise Weiss, PhD, MPH, 7 Tips for a Safer C-Section (https://www.verywellfamily.com/tips-for-a-safer-c-section-2758499), 22 April 2021.