วิธีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดอย่างไร? ป้องกันได้กี่ปี?

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือที่นิยมเรียกกันว่า “โรคกลัวน้ำ” เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies Virus) ผ่านทางน้ำลายของสัตว์เลือดอุ่น หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ติดเชื้อไวรัสนี้อยู่ จากการถูกกัด ข่วน หรือเลียบริเวณบาดแผล เนื้อเยื่อบุตา หรือปาก

มีคำถามเกี่ยวกับ วัคซีนพิษสุนัขบ้า? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หลายคนมักเข้าใจผิดว่า โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากสุนัข หรือแมวกัดเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว โรคพิษสุนัขบ้าสามารถเกิดได้กับสัตว์เลือดอุ่นทุกชนิด โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ชะนี ลิง กระรอก วัว สุกร หนู หรือค้างคาว

โรคพิษสุนัขบ้านั้น ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรค คน หรือสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสนี้ จะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูงสุดถึง 100% แต่อย่างไรก็ตาม โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies vaccine)

สารบัญ [show]

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดได้กี่แบบ?

แนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่

  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสโรค เป็นวิธีการที่แนะนำ โดยเฉพาะในผู้ที่ต้องใกล้ชิดกับสัตว์เป็นประจำ เพราะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันล่วงหน้า ทำให้การรักษาหลังสัมผัสโรคทำได้ง่ายขึ้น และช่วยลดการใช้อิมมูโนโกลบินได้
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างทันท่วงที โดยจะมีวิธีการฉีดที่แตกต่างกันในผู้ที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน และผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีน

ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสโรค (PrEP) ฉีดอย่างไร?

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสโรค (Pre-exposure prophylaxis rabies: PrEP) คือ การฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้ และสามารถรักษาด้วยการฉีดวัคซีนและอิมมูโนโกลบินเท่านั้น

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสโรคนั้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาหลังสัมผัสโรค ลดจำนวนเข็มวัคซีนที่ต้องฉีด และไม่จำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบินที่บริเวณบาดแผล ซึ่งช่วยลดความเจ็บปวด และค่าใช้จ่ายในการรักษาได้มาก

โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิศสุนัขบ้าก่อนสัมผัสโรค ฉีดได้ 2 วิธี ดังนี้

  1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วยวิธีการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular regimen: IM) ฉีด 1 โดส ในวันที่ 0, 7, 21 หรือ 28 รวมเป็นทั้งหมด 3 เข็ม โดยผู้ใหญ่ฉีดที่บริเวณต้นแขน ส่วนเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ให้ฉีดที่บริเวณหน้าขา
  2. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วยวิธีการฉีดเข้าผิวหนัง (Intradermal regimen: ID) ฉีด 1 มล. บริเวณต้นแขน ในวันที่ 0, 7, 21 หรือ 28 รวมเป็นทั้งหมด 3 เข็ม ทั้งนี้ผู้ที่ใช้ยาเคมีบำบัดต้านมาลาเรีย (Antimalarial chemoprophylaxis) จะไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้

โดยร่างกายจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงพอที่จะป้องกันโรค ภายใน 7-10 วัน หลังรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเข็มสุดท้าย

ทั้งนี้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วยวิธีฉีดเข้ากล้ามเนื้อกับฉีดเข้าผิวหนัง จะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย คือการฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าการฉีดเข้าที่ผิวหนัง

อย่างไรก็ตาม เมื่อฉีดเข็มกระตุ้นแล้วจะมีระดับภูมิคุ้มกันที่ใกล้เคียงกัน ประมาณ 83-98%

สำหรับใครที่สนใจฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสโรค สามารถปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเพื่อเลือกวิธีการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมกับตนเองได้ หรือเลือกฉีดพร้อมกับวัคซีนชนิดอื่นๆ ได้

เช่น ในเด็กเล็กสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าพร้อมกับฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และโปลิโอ (DTP-IPV) ได้เลย

เมื่อถูกสัตว์ที่ต้องสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ต้องทำอย่างไร?

ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับวิธีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค ผู้อ่านควรที่จะรู้จักวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกสัตว์ที่ต้องสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียที่บาดแผล เสียก่อน มีรายละเอียดดังนี้

  • จับสัตว์ที่ต้องสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าขังไว้เพื่อสังเกตอาการ แต่ถ้าหากสัตว์เสียชีวิต ให้นำซากสัตว์แช่น้ำแข็ง แล้วรีบนำไปส่งตรวจภายใน 24 ชั่วโมง
  • หากอยู่ไกลจากสถานพยาบาล ให้ล้างแผลทุกแผลด้วยน้ำสะอาด และฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง ให้ลึกถึงก้นแผล อย่างน้อย 15 นาทีก่อน โดยระมัดระวังไม่ให้แผลช้ำ
  • เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือแอลกอฮอล์ 70% และรีบไปพบแพทย์ทันที
  • เมื่อไปพบแพทย์แล้ว แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก หลังจากนั้นแพทย์จะพิจารณาระดับสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

ระดับสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า มีกี่ระดับ?

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้แบ่งระดับสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าเป็น 3 ระดับ ดังนี้

มีคำถามเกี่ยวกับ วัคซีนพิษสุนัขบ้า? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

  • สัมผัสโรคระดับ 1 บริเวณที่สัมผัสน้ำลายสัตว์ เป็นผิวหนังปกติ ไม่มีบาดแผล
  • สัมผัสโรคระดับ 2 สัตว์กัด หรือข่วน เป็นรอยช้ำ เป็นแผลถลอก หรือสัตว์เลียบาดแผล
  • สัมผัสโรคระดับ 3 สัตว์กัด หรือข่วน มีเลือดออกชัดเจน น้ำลายสัตว์ถูกเยื่อบุตา ปาก หรือบาดแผลเปิด บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าโดยไม่ทำให้สุก

ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค (Rabies PEP) ฉีดอย่างไร?

หลังจากที่ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และประเมินระดับสัมโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว แพทย์จะทำการรักษาด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค (Rabies Post-Exposure Prophylaxis: Rabies PEP) เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างทันท่วงที

โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค แบ่งเป็น 2 กลุ่มดังนี้

1.การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค ในผู้ที่เคยรับวัคซีนแล้ว

ในกรณีที่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าภายใน 10 ปี ไม่ว่าจะสัมผัสโรคระดับ 1, 2 หรือ 3 ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบิน แต่ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยสามารถเลือกฉีดได้หลายวิธี ดังนี้

  • ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าผิวหนัง 1 ครั้ง ในกรณีที่เคยรับวัคซีนเข็มสุดท้ายน้อยกว่า 3 เดือน
  • ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าผิวหนัง 2 ครั้ง (วันที่ 0 และ 3) ในกรณีที่เคยรับวัคซีนเข็มสุดท้ายมากกว่า 3 เดือน
  • ฉีดเข้าผิวหนัง 4 จุด บริเวณต้นแขนและต้นขาทั้งสองข้าง ภายในครั้งเดียว

2.การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค ในผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีน

แนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค ในผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน จะขึ้นอยู่กับระดับการสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า มีหลายกรณี ดังนี้

  • กรณีสัมผัสโรคระดับที่ 1 ไม่จำเป็นต้องทำการรักษา พิจารณาให้ฉีดวัคซีนแบบ PrEP
  • กรณีสัมผัสโรคระดับที่ 2
    • ตรวจสมองสัตว์ ผลเป็นลบ ไม่จำเป็นต้องทำการรักษา พิจารณาให้ฉีด PrEP
    • ตรวจสมองสัตว์ ผลเป็นบวก ให้รักษาด้วยการฉีดแบบ Rabies PEP
    • สัตว์หนีไป หรือเป็นสัตว์ป่า ให้รักษาด้วยการฉีดแบบ Rabies PEP
    • สุนัข หรือแมวที่มีอาการปกติ ถูกเลี้ยงดูอย่างดี ได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้า ครบ 2 เข็ม และกัดเพราะมีแรงจูงใจ ให้กักสัตว์ไว้เพื่อสังเกตอาการ 10 วัน หากสัตว์ตาย ให้ส่งตรวจสมองสัตว์ และเริ่มรักษาด้วยวิธีการฉีด Rabies PEP ทันที
    • สุนัข หรือแมวที่มีอาการปกติ แต่ไม่เคยได้รับวัคซีน หรือเลี้ยงแบบปล่อย ให้กักสัตว์เพื่อสังเกตอาการร่วมกับการฉีดวัคซีนแบบ Rabies PEP
  • กรณีสัมผัสโรคระดับที่ 3 วิธีรักษาเหมือนกับระดับที่ 2 แต่จะต้องฉีดอิมมูโนโกลบินร่วมด้วย โดยควรฉีดตั้งแต่วันแรกที่ถูกกัด หากวันแรกไม่สามารถฉีดได้ ให้ฉีดในวันถัดไป และไม่ควรฉีดช้าเกิน 7 วัน

โดยการวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรคในผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน จะแบ่งเป็น 2 วิธี ดังนี้

  • ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เรียกว่า “สูตร ESSEN” โดยฉีดวัคซีน 1 เข็ม บริเวณกล้ามเนื้อต้นแขน ในวันที่ 0, 3, 7, 14 และ 28
  • ฉีดเข้าผิวหนัง เรียกว่า “สูตร TRC-ID” โดยฉีดวัคซีนบริเวณผิวหนังต้นแขนทั้งสองข้าง ข้างละ 1 จุด รวมเป็น 2 จุด ในวันที่ 0, 3, 7 และ 28

การฉีดอิมมูโนโกลบินร่วมกับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า คืออะไร?

อิมมูโนโกลบิน (Immunoglobulin) คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่อยู่ในเลือด ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกัน หรือภูมิต้านทานโรค เมื่อฉีดเข้าไปที่บาดแผลบริเวณที่ถูกสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด จะสามารถทำลายเชื้อไวรัสบริเวณบาดแผลได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังฉีด

แพทย์มักพิจารณาให้ฉีดอิมมูโนโกลบินร่วมกับฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ในผู้ที่สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าระดับ 3 และไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้ามาก่อน โดยสามารถฉีดพร้อมกับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าได้เลย

โดยอิมมูโนโกลบิน แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • อิมมูโนโกลบูลินที่ผลิตจากซีรั่มของมนุษย์ (Human rabies immunoglobulin: HRIG)
  • อิมมูโนโกลบูลินที่ผลิตจากซีรั่มของม้า (Equine rabies immunoglobulin: ERIG) จะต้องทำการตรวจภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Intradermal skin test) ก่อนทุกครั้ง เพราะอาจมีอาการแพ้ ผื่นคัน หรือลมพิษได้

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดแล้วป้องกันได้กี่ปี?

ปกติแล้ว หลังจากที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 1-2 ปี ระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายจะค่อยๆ ลดลง จนไม่สามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้

ดังนั้นหลังจากที่สัมผัสโรคแล้ว จะต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทุกครั้ง ซึ่งร่างกายจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงพอที่จะป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบินร่วมด้วย

สามารถเลื่อนฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้หรือไม่?

ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่มีคำแนะนำในการเลื่อนนัดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จึงไม่ควรเลื่อนนัดการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในผู้ที่ฉีดวัคซีนหลังสัมผัสโรค ควรฉีดวัคซีน 3 เข็มแรกให้ครบภายใน 7 วัน เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคได้อย่างทันท่วงที

ในกรณีที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไม่ครบ ต้องทำอย่างไร?

ในกรณีที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 3 เข็มแล้ว และสัตว์ที่ถูกกักขังไว้ ไม่เสียชีวิต หรือไม่มีอาการผิดปกติใดๆ หลังสังเกตอาการครบ 10 วัน ไม่จำเป็นต้องฉีดต่อ ให้ถือว่าได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบก่อนสัมผัสโรคแล้ว

หญิงตั้งครรภ์สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้หรือไม่?

หญิงตั้งครรภ์สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และอิมมูโนโกลบินได้ตามปกติ แต่จะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่า กำลังตั้งครรภ์อยู่

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในเด็กและในผู้ใหญ่ มีความแตกต่างกันหรือไม่?

การให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในเด็กและในผู้ใหญ่ ไม่มีความแตกต่างกัน ทั้งแบบฉีดก่อนสัมผัสโรค และฉีดหลังสัมผัสโรค

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ไม่มียารักษา เมื่อได้รับเชื้อแล้ว ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างทันท่วงที สามารถส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ วิธีการที่ดี่ที่สุดในการลดอันตรายที่อาจเกิดจากโรคนี้ จึงเป็นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสโรคนั่นเอง

มีคำถามเกี่ยวกับ วัคซีนพิษสุนัขบ้า? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ