โรคตับอักเสบบี (Chronic Viral Hepatitis B) เป็นโรคร้ายที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จนทำให้เซลล์ตับเกิดการอักเสบ และก่อเป็นอาการเจ็บป่วยหลายอย่าง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม เบื่ออาหาร อ่อนเพลียง่าย หากไม่รีบรักษาตั้งแต่ในระยะแรกๆ ก็มีความเสี่ยงที่ตับจะเกิดพังผืด หรือก่อเกิดเป็นโรคตับแข็ง หรือโรคมะเร็งตับได้
เชื้อไวรัสตับอักเสบบียังสามารถส่งต่อเชื้อถึงกันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การใช้อุปกรณ์เจาะหู อุปกรณ์สัก หรืออุปกรณ์เข็มฉีดยา เข็มสำหรับฝังเข็มทางการแพทย์ที่ไม่สะอาด และยังส่งต่อเชื้อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ได้อีก
อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถยับยั้งได้ผ่านการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งมีให้บริการอยู่ทั่วไปในทุกสถานพยาบาล แต่ถึงจะรับวัคซีนไปแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่ทุกคนจะยังสามารถรับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเข้าร่างกายได้อยู่โดยที่ไม่รู้ตัว
และยังมีโอกาสถึง 5-10% ที่ร่างกายของเราจะไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้ออกไปจากร่างกายจนหมดได้ และทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ตามมาหลังจากรับเชื้อ และทำให้เรากลายเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสตับอักเสบบีไปสู่ผู้อื่นได้
หากรู้ว่าตนเองจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงรับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี การตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจึงเป็นกระบวนการที่จำเป็น เพื่อให้คุณได้แน่ใจว่าร่างกายของตนเองยังไม่มีเชื้อชนิดนี้อยู่ในร่างกาย
แล้วการตรวจเชื้อไวรัสบีเป็นอย่างไร มีกี่วิธี ต้องเตรียมตัวก่อนตรวจอย่างไรบ้าง HDmall.co.th ขอคลายความสงสัยให้กับคุณ ผ่านบทความนี้
เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่
ปิด
ปิด
ตรวจไวรัสตับอักเสบบีคืออะไร?
การตรวจไวรัสตับอักเสบบี คือ การตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย เพื่อวินิจฉัยความเสี่ยงในการเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีทั้งแบบธรรมดาและแบบเรื้อรัง รวมถึงเป็นการตรวจเพื่อดูภูมิคุ้มกันร่างกายที่ต่อต้านเชื้อไวรัสตับอักเสบบีด้วย
ตรวจไวรัสตับอักเสบบีมีกี่แบบ?
ปัจจุบันแนวทางการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีใช้วิธีการเจาะเก็บตัวอย่างเลือดเป็นหลัก แต่จะมีแนวทางการตรวจเพื่ออ่านผลแตกต่างกันไปตามแต่จุดมุ่งหมายในการตรวจ ซึ่งแบ่งได้หลักๆ 5 รูปแบบ ได้แก่
- การตรวจ HBsAg หรือ Hepatitis B surface Antigen เป็นการตรวจเลือดเพื่อหาสารโปรตีนจากเปลือกของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หากผลตรวจเป็นบวก หรือ Positive ก็แสดงว่า มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ในร่างกาย และจัดเป็นผู้ที่ติดเชื้อ
- การตรวจ HBsAb หรือ Hepatitis B surface Antibody เป็นการตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันร่างกายที่ต่อต้านเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หากผลตรวจเป็นบวก หรือ Positive ก็แสดงว่า ผู้เข้าตรวจมีภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งอาจได้รับมาจากการฉีดวัคซีน หรือเคยติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มาก่อนจนร่างกายมีการตอบสนองจนเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเอง
- การตรวจ anti-HBs หรือ (Hepatitis B surface Antibody) เป็นการตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันร่างกายที่ต่อต้านส่วนเปลือก หรือ Surface ของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี นิยมตรวจในผู้ที่เคยฉีดวัคซีนต้านเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมาก่อนแล้ว รวมถึงผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมาก่อนจนมีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้น แต่รักษาหายดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยากต้องการตรวจหาภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาจากการติดเชื้อชนิดนี้
- การตรวจ anti-HBc หรือ HBcAb Hepatitis B core antibody เป็นการตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันร่างกายที่สร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านส่วนแกน หรือ Core ของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี นิยมตรวจเพื่อประเมินการฟื้นตัวของร่างกายผู้ป่วยภายหลังจากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และแพทย์ยังสามารถใช้การตรวจนี้แยกระหว่างกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีทั่วไปกับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังได้อีกด้วย
- การตรวจ HBeAg หรือ Hepatitis B e antigen เป็นการตรวจเลือดในกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีไปแล้ว โดยเป็นการตรวจดูสารโปรตีนที่อยู่ในเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งสามารถบอกถึงประสิทธิภาพการฟักตัวของเชื้อไวรัส เพื่อให้แพทย์ประเมินความรุนแรงของรอยโรคในผู้ป่วยรายนั้นๆ และประเมินโอกาสที่จะส่งต่อเชื้อไปยังผู้อื่นได้
ใครควรตรวจไวรัสตับอักเสบบี?
ผู้ที่ตกเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อชนิดนี้ ได้แก่
- ทารกที่มีมารดาเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
- ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
- ผู้ที่เคยผ่านการใช้อุปกรณ์เจาะหู อุปกรณ์สัก เข็มฉีดยา เข็มสำหรับฝังเข็ม และรู้สึกไม่มั่นใจในความสะอาดของอุปกรณ์ จนรู้สึกกังวลว่าอาจได้รับเชื้อนี้จากผู้ที่ใช้อุปกรณ์ร่วมกัน
- ผู้ที่เคยผ่านการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เช่น แปรงสีฟัน มีดโกนหนวด
- ผู้ที่เคยผ่านการใช้สารเสพติดผ่านเข็มฉีดยา และได้ใช้เข็มนั้นร่วมกับผู้อื่นที่มีโอกาสเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสตับอักเสบบีด้วย
- ผู้ที่ปฏิบัติงานในแผนกที่ต้องมีการสัมผัสเลือด น้ำเหลือง หรือบาดแผลจากผู้อื่นเป็นประจำ เช่น พยาบาล แพทย์ เจ้าหน้าที่กู้ภัย
- ผู้ที่เพิ่งคลุกคลีอยู่กับผู้ที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
การเตรียมตัวก่อนตรวจไวรัสตับอักเสบบี
ก่อนตรวจไวรัสตับอักเสบบี ผู้เข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวใดๆ เป็นพิเศษ แต่หากมีโรคประจำตัวและยาประจำตัวให้แจ้งข้อมูลในส่วนนี้ในทางแพทย์ทราบเสียก่อน เพราะอาจต้องงดยาบางชนิดล่วงหน้าก่อนตรวจเลือด
ขั้นตอนการตรวจไวรัสตับอักเสบบี
การตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจะเป็นการเจาะเลือดที่แทบไม่ต่างจากการเจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพทั่วไป โดยขั้นตอนหลักๆ อาจมีดังนี้
- เจ้าหน้าที่อาจให้ผู้เข้ารับบริการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และวัดความดัน
- จากนั้นเจาะเก็บตัวอย่างเลือดเหมือนการตรวจสุขภาพทั่วไป
- เจ้าหน้าที่นำตัวอย่างเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ หลังจากนั้นรอฟังผลเลือดกับแพทย์
ตรวจไวรัสตับอักเสบบีกี่วันรู้ผล?
ระยะเวลารอผลตรวจไวรัสตับอักเสบบีจะแตกต่างกันไปตามสถานพยาบาล ในบางแห่งอาจใช้เวลาวิเคราะห์ผลตรวจเลือดเพียงประมาณ 30 นาทีเท่านั้น บางแห่งต้องรอประมาณ 2-3 วัน ซึ่งผู้เข้ารับบริการจะต้องเดินทางกลับมาฟังผลตรวจเลือดใหม่ในภายหลัง
การดูแลตัวเองหลังตรวจไวรัสตับอักเสบบี
ในกรณีที่ตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แพทย์มักแนะนำให้ผู้เข้ารับบริการตรวจเช็กการทำงานของตับ (Liver Function Test) เพิ่มเติมเพื่อดูความเสียหายของตับ ณ ปัจจุบันว่า ยังคงเหลือประสิทธิภาพมากน้อยอยู่เท่าใด และจะจัดยาทำลายเชื้อไวรัสพร้อมคำแนะนำในการดูแลตนเองเพิ่มเติมหลังจากนี้ให้กับผู้เข้ารับบริการ
หลังจากนั้นแพทย์แนะนัดหมายให้ผู้เข้ารับบริการที่ตรวจพบเชื้อกลับมาตรวจไวรัสตับอักเสบบีซ้ำอีกครั้ง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพและตรวจดูปริมาณเชื้อไวรัสหลังจากลองรับการรักษามาระยะหนึ่งแล้ว
ส่วนผู้ที่ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ ควรดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงและดูแลสุขอนามัยร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ โดยคำแนะนำสำหรับการป้องกันโอกาสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ได้แก่
- ควรฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบบีให้ครบ โดยเฉพาะในเด็กแรกเกิด
- ดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อย งดกินยาและวิตามินเสริมที่ไม่จำเป็น เพื่อให้สุขภาพตับยังแข็งแรง ไม่ทำงานหนัก หรือได้รับสารพิษมากเกินไป
- งดการใช้ภาชนะข้าวของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว แปรงสีฟัน มีดโกน
- มีเพศสัมพันธ์โดยการสวมถุงยางอนามัยเสมอ และงดการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่อย่าหักโหมจนเกินไป
- หมั่นตรวจสุขภาพทุกปี
ฉีดวัคซีนตับอักเสบบีแล้ว ต้องตรวจไวรัสตับอักเสบบีไหม?
ประสิทธิภาพจากวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีสามารถป้องกันโอกาสติดเชื้อได้สูงถึง 95% แต่ก็ยังมีกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้วบางท่านที่ภูมิต้านทานไม่ได้เพิ่มขึ้นจากการฉีดวัคซีน และยังจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้อยู่
หลังจากฉีดวัคซีนตับอักเสบบีครบแล้ว เพื่อความมั่นใจในระดับภูมิคุ้มกัน ผู้เข้ารับบริการที่รู้สึกกังวลใจ หรือได้ไปคลุกคลีกับผู้ที่เป็นพาหะ จนเกิดเป็นความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง ควรลองตรวจไวรัสตับอักเสบบีดูสักครั้งเพื่อเช็กระดับภูมิคุ้มกันร่างกายของตนเอง
อย่างไรก็ตาม การตรวจนี้ไม่ได้เป็นการตรวจเชิงบังคับ หากผู้เข้ารับบริการที่ฉีดวัคซีนครบแล้วยังรู้สึกไม่มั่นใจในภูมิคุ้มกันของตนเอง ก็สามารถลองปรึกษาแพทย์ได้ว่า ควรตรวจไวรัสตับอักเสบบีเพิ่มเติมอีกหลังฉีดวัคซีนหรือไม่
หลายคนอาจมองว่า โรคไวรัสตับอักเสบบีเป็นโรคที่ไกลตัว ดูไม่ได้จำเป็นที่จะต้องระมัดระวังมากขนาดนั้น แต่ก็ต้องอย่าลืมว่า โรคนี้เป็นที่ติดต่อหากันได้ง่ายอีกโรคหนึ่ง และเราก็ไม่อาจทราบได้ว่า ใครที่อยู่รอบตัวเราบ้างที่เป็นพาหะของโรคนี้ บางทีโรคไวรัสตับอักเสบบีอาจอยู่ใกล้ตัวคุณมากกว่าที่คิด
เราทุกคนจึงต้องไม่ลืมการฉีดวัคซีนป้องเชื้อไวรัสตับอักเสบบีให้ครบ 3 เข็ม ร่วมกับดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อป้องกันโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จนกลายเป็นพาหะ และส่งต่อเชื้อร้ายนี้ไปสู่ผู้อื่นได้อีก
เช็กราคาแพ็กเกจตรวจไวรัสตับอักเสบบี ผ่านแพ็กเกจบนหน้าเว็บไซต์ HDmall.co.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแพ็กเกจวัคซีนที่จำเป็นต้องร่างกาย แพ็กเกจตรวจสุขภาพ แพ็กเกจการรักษาโรคต่างๆ ที่คุณสนใจผ่านทางไลน์ @hdcoth
บทความที่เกี่ยวข้อง
- วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ ปลอดภัย ป้องกันตับ ป้องกันโรค
- ตรวจตับ อาจจับสัญญาณอันตรายได้ตั้งแต่ต้น!
- รวมรีวิวตรวจสุขภาพตับ ประสบการณ์จริงจาก HDreview
ที่มาของข้อมูล
ปิด
ปิด
- Hepatitis B Foundation, Hepatitis B Blood Tests (https://www.hepb.org/prevention-and-diagnosis/diagnosis/hbv-blood-tests/), 4 August 2022.
- Test.com, Hepatitis B Testing (https://www.testing.com/tests/hepatitis-b-test/), 4 August 2022.
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ความรู้เกี่ยวกับโรคไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) (http://nih.dmsc.moph.go.th/login/filedata/Hepatitis.pdf), 4 August 2022.
- ผศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี, โรคตับอักเสบบี คืออะไร (https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=768), 4 สิงหาคม 2565.
- รศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี, ไวรัสตับอักเสบมหันตภัยร้ายที่ป้องกันได้ (https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1243), 4 สิงหาคม 2565.
- โรงพยาบาลสมิติเวช, ไวรัสตับอักเสบบี อันตรายกว่าที่คุณคิด (https://www.samitivejchinatown.com/th/health-article/Viral-Hepatitis-B), 4 สิงหาคม 2565.