ไวรัส HPV คืออะไร? ทำไมต้องรีบป้องกัน


ไวรัส HPV คืออะไร? รักษาและป้องกันได้อย่างไรบ้าง? ตอบคำถามโดยแพทย์

สรุปการรีวิว

ขยาย

ปิด

  • ไวรัส HPV เป็น DNA ไวรัสชนิดหนึ่ง มีมากกว่า 200 สายพันธุ์ สามารถก่อให้เกิดโรคที่ผิวหนัง โรคตามอวัยวะเพศ และโรคมะเร็งต่างๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็งปากมดลูก 
  • ไวรัส HPV ติดต่อทางการมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสบริเวณอวัยวะเพศ หรือสูดควันที่มีเชื้อ HPV เข้าไปยังจมูกหรือลำคอ
  • ทุกคนเสี่ยงติดเชื้อ HPV แม้ว่าจะโสดก็เสี่ยง เพราะอาจติดเชื้อไวรัส HPV โดยไม่รู้ตัว หรือแม้กระทั่งเด็กก็เสี่ยง โดยยิ่งโตยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น การฉีดวัคซีนป้องกันจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
  • ถ้าติดเชื้อ HPV โดยไม่มีอาการ ไม่ต้องรักษา โดยส่วนใหญ่จะหายได้เอง แต่หากมีอาการแสดงก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาตามอาการและระยะของโรค ถึงได้รับเชื้อ HPV แล้วก็สามารถฉีดวัคซีนเพื่อลดโอกาสเป็นซ้ำได้ 
  • การฉีดวัคซีน อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส HPV ปัจจุบันมีวัคซีน 3 ชนิด ได้แก่ วัคซีนแบบป้องกัน 2 สายพันธุ์ 4 สายพันธุ์ และ 9 สายพันธุ์
    • เช็กราคาฉีดวัคซีน HPV จากคลินิกและโรงพยาบาลทั่วไทยได้ที่ HDmall.co.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับแอดมิน ทักไลน์ @hdcoth

เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่

  • 1. ไวรัส HPV คืออะไร?
  • 2. เชื้อไวรัส HPV ติดต่ออย่างไร?
  • 3. อาการของการติดเชื้อไวรัส HPV เป็นอย่างไร?
  • 4. ใครเสี่ยงติดเชื้อไวรัส HPV บ้าง?
  • 5. ตรวจการติดเชื้อไวรัส HPV อย่างไร?
  • 6. ถ้าติดเชื้อไวรัส HPV รักษาอย่างไร?
  • 7. ป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ได้อย่างไร?

  • 1. ไวรัส HPV คืออะไร?

    ไวรัส HPV (Human Papillomavirus) เป็น DNA ไวรัสชนิดหนึ่ง มีมากกว่า 200 สายพันธุ์ บางสายพันธุ์ก่อให้เกิดโรคที่ผิวหนัง เช่น หูดตามฝ่าเท้า มีประมาณ 40 สายพันธุ์ ที่ก่อให้เกิดโรคตามอวัยวะเพศทวารหนักหรือเยื่อบุอื่นๆ

    และมีอีก 15 สายพันธุ์ที่ก่อมะเร็ง ทั้งมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งองคชาติ รวมถึงมะเร็งช่องปากและลำคอ โดยสายพันธุ์ก่อมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดคือ สายพันธุ์ 16

    2. เชื้อไวรัส HPV ติดต่ออย่างไร?

    ไวรัส HPV ติอต่อทางการมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสบริเวณอวัยวะเพศ หรือสูดควันที่มีเชื้อ HPV เข้าไปยังจมูกหรือลำคอ (Surgical Smoke)

    การติดเชื้อ HPV เป็นภัยเงียบ เพราะจะไม่มีอาการ จะมีอาการเมื่อมีก้อนหูดหรือกลายเป็นก้อนมะเร็งแล้วเท่านั้น จึงอาจแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัว

    แม้ว่าการติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่หายได้เองภายใน 12 เดือน แต่ถ้าติดเชื้อสายพันธุ์ก่อมะเร็งแล้วไม่หาย จะพัฒนาไปเป็นระยะก่อนเป็นมะเร็งและกลายเป็นมะเร็งได้ในที่สุด

    3. อาการของการติดเชื้อไวรัส HPV เป็นอย่างไร?

    การติดเชื้อไวรัส HPV มักไม่มีอาการใดๆ ไม่ได้ทำให้มีไข้ ตกขาว หรือเลือดออกผิดปกติ การติดเชื้อส่วนใหญ่หายได้เอง

    แต่ถ้าติดเชื้อแล้วไม่หาย อาจทำให้เกิดหูดหงอนไก่ ซึ่งจะมีก้อนที่ปากช่องคลอด ช่องคลอด หรือปากมดลูก และอาจมีอาการคันหรือเลือดออกง่ายถ้าไปแกะเกา รวมถึงถ้าติดเชื้อสายพันธุ์ก่อมะเร็งแล้วไม่หาย จะพัฒนากลายเป็นรอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง ถ้าไม่ตรวจให้เจอและรักษาก็จะกลายเป็นมะเร็งได้

    4. ใครเสี่ยงติดเชื้อไวรัส HPV บ้าง?

    สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัส HPV จะมีทั้งหมด ดังนี้

    ทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์

    ทุกเพศทุกวัยที่มีโอกาสมีเพศสัมพันธ์ แม้เพียงครั้งเดียวหรือมีคู่นอนคนเดียวก็เสี่ยงติดเชื้อไวรัส HPV

    จากข้อมูลพบว่า มากกว่า 8 ใน 10 คน ทั้งผู้หญิงและผู้ชายเคยได้รับเชื้อไวรัส HPV ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต และความเสี่ยงจะยิ่งมากขึ้นในคนที่มีคู่นอนหลายคน หรือคู่นอนของเรามีคู่นอนอีกหลายคน

    โสดก็เสี่ยง

    คนโสดก็เสี่ยงติดเชื้อไวรัส HPV เพราะเราอาจติดเชื้อไวรัส HPV โดยไม่รู้ตัว ยิ่งผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ การป้องกันด้วยวัคซีน HPV เพื่อลดความเสี่ยงในอนาคตที่คุณอาจสัมผัสกับคนที่มีเชื้อ และนำไปสู่การเป็นมะเร็งในที่สุดเป็นเรื่องสำคัญ

    เด็ก

    แม้ว่ากลุ่มเด็กดูเหมือนไม่มีความเสี่ยง แต่แน่นอนว่ายิ่งโตขึ้น ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะมีโอกาสได้รับเชื้อไวรัส HPV จากการมีเพศสัมพันธ์ได้ในอนาคต และสามารถนำไปสู่การเป็นมะเร็งจากเชื้อไวรัส HPV ได้ในที่สุด

    ผู้หญิง

    เชื้อไวรัส HPV ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก แต่ยังก่อให้เกิดมะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก และหูดหงอนไก่

    ยิ่งอายุมากขึ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายยิ่งทำงานแย่ลง จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV ถาวร และนำไปสู่มะเร็งจากเชื้อไวรัส HPV มากขึ้น

    ผู้ชาย

    เชื้อไวรัส HPV ไม่ได้ก่อให้เกิดเพียงแค่มะเร็งปากมดลูกสำหรับผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดโรคมะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งองคชาต และมะเร็งทวารหนักในผู้ชายได้ด้วย

    การติดเชื้อในผู้ชายไม่ลดลงตามช่วงอายุ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อเชื้อ HPV ได้ไม่ดี ทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อออกไปได้ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ

    ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจคัดกรองมะเร็งทวารหนัก และมะเร็งช่องปากและลำคอ ทำให้ส่วนมากจะตรวจพบเมื่อเป็นโรคหรือมะเร็งระยะลุกลามแล้วเท่านั้น

    LGBTQ+

    จากข้อมูลบอกว่า ในกลุ่ม MSM (ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย) พบการติดเชื้อ HPV สูงกว่าคนทั่วไป 2-5 เท่า

    ในกลุ่มผู้ชายข้ามเพศที่ยังมีมดลูกอยู่ก็สามารถติดเชื้อ HPV ได้ และเป็นมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน เพราะเขาก็ยังสามารถมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่แบบเพศหญิงได้ทั่วไป

    ในกลุ่มสตรีข้ามเพศที่มีช่องคลอดใหม่แล้ว เชื้อไวรัส HPV ก็เป็นสาเหตุของมะเร็งที่ช่องคลอดใหม่ได้เหมือนกัน

    5. ตรวจการติดเชื้อไวรัส HPV อย่างไร?

    การติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ยกเว้นขึ้นเป็นก้อนหูด หากอยากทราบว่าเราติดเชื้อหรือไม่ จึงจำเป็นต้องตรวจเชื้อ HPV เท่านั้น

    ทั้งการตรวจโดยแพทย์พร้อมตรวจภายใน และถ้าหากไม่กล้าไปหาหมอ ปัจจุบันก็มี “Self HPV test” สามารถตรวจด้วยตัวเองได้ ซึ่งมีความแม่นยำดีเช่นกัน

    6. ถ้าติดเชื้อไวรัส HPV รักษาอย่างไร?

    ถ้าติดเชื้อ HPV โดยไม่มีอาการ ไม่ต้องทำการรักษาใดๆ เพราะส่วนใหญ่หายได้เองเพียงแค่ตรวจติดตามซ้ำ ให้มั่นใจว่าเชื้อหายตามที่แพทย์นัด

    ถ้าเป็นหูดหงอนไก่ จะรักษาโดยการจี้ยา ทายา และฉีดวัคซีนเพื่อลดโอกาสเป็นซ้ำ ถ้ามีระยะก่อนเป็นมะเร็งจะรักษาโดยการผ่าตัด ส่วนถ้ากลายเป็นมะเร็งแล้วการรักษามีทั้งการผ่าตัด ฉายแสง หรือให้ยาเคมีบำบัดขึ้นกับระยะของโรค

    7. ป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ได้อย่างไร?

    การฉีดวัคซีน อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส HPV โดยวัคซีนในปัจจุบันมีด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่

    • วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 16 และ 18
    • วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ จะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18
    • วัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ ช่วยป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 ในผู้หญิงและผู้ชาย ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นเป็น 94% ในประเทศไทย

    ส่วนถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันเชื้อ HPV ได้ 100% เนื่องจากเชื้อ HPV สามารถติดต่อได้ง่ายในบางบริเวณที่ถุงยางไม่ครอบคลุม

    แต่อย่างไรก็ตามควรสวมถุงยางทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงหรือผู้ชาย เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ HPV และโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น โรคเริม โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม การติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น

    เปรียบเทียบราคาอัปเดตและดูรายละเอียดแพ็กเกจฉีดวัคซีน HPV ที่​ HDmall.co.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับแอดมิน ทักไลน์ @hdcoth


    บทความที่ HDmall.co.th แนะนำ


    ที่มาของข้อมูล

    ขยาย

    ปิด

    • พญ. กรพินธุ์ รัตนสัจธรรม สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งนรีเวชวิทยา โรงพยาบาลสมิติเวชชลบุรี
    TH-GSL-00359 09/2023
    @‌hdcoth line chat