ผ่าตัดพังผืดที่มือ กับ พ.ต.ต. นพ. วรพล เจริญพร ด้วยบริการจาก HDcare


ผ่าตัดพังผืดที่มือ กับ พ.ต.ต. นพ. วรพล เจริญพร ด้วยบริการจาก HDcare

สรุปการรีวิว

ขยาย

ปิด

  • โรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท เกิดจากพฤติกรรมการใช้งานข้อมือหนักเกินไป จนทำให้เนื้อเยื่อพังผืดที่ข้อมือหนาตัวขึ้นจนไปกดเบียดเส้นประสาทซึ่งคอยหล่อเลี้ยงฝ่ามือและนิ้ว
  • อาการบ่งชี้ที่เด่นชัดเมื่อเกิดโรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท คือ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บ ร้าว ชา หรือรู้สึกแปล๊บขึ้นที่นิ้ว เมื่ออาการรุนแรงหนักขึ้น กล้ามเนื้อที่มือจะเริ่มฝ่อลีบ ซึ่งจะทำให้ใช้งานมือแทบไม่ได้ ไม่สามารถกำมือ แบมือ หรือใช้มือทำกิจกรรมอื่นๆ ไม่ได้อีก รวมถึงทำให้รูปร่างของมือดูฟีบลง
  • การผ่าตัดพังผืดที่มือ คือ การผ่าตัดเพื่อกำจัดเนื้อเยื่อพังผืดที่ไปกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของข้อมือและมือกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง
  • การผ่าตัดพังผืดที่มือแบ่งออกได้ 3 เทคนิค คือ การผ่าตัดเทคนิคแบบแผลเปิดใหญ่ขนาดปกติ การผ่าตัดเทคนิคแบบแผลเปิดขนาดเล็ก และเทคนิคแบบส่องกล้อง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำให้เจ็บแผลได้น้อย แผลผ่าตัดมีขนาดไม่ถึง 1 เซนติเมตร และใช้เวลาพักฟื้นไม่นานด้วย
  • บทความนี้ได้รับการสปอนเซอร์จาก HDcare ศูนย์รวมการผ่าตัดโดยทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ จาก HDmall.co.th แพทย์ผู้ให้ข้อมูลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโฆษณา

เจาะลึกการผ่าตัดพังผืดที่มือ เมื่อเราใช้งานข้อมือหนักเกินไปจนเกิดเนื้อเยื่อพังผืดที่หนาตัวขึ้น และทำให้เกิดปัญหาใช้งานมือยากลำบากกว่าเดิม จะสามารถแก้ไขปัญหาด้วยการผ่าตัดได้อย่างไร

ให้ข้อมูลโดย พ.ต.ต. นพ. วรพล เจริญพร หรือ “หมอพั้นช์” ศัลยแพทย์ด้านกระดูกและข้อ และมีประสบการณ์ผ่าตัดส่องกล้องและการผ่าตัดแผลเล็กโดยเฉพาะ หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare

อ่านประวัติหมอพั้นช์ได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอพั้นช์” คุณหมอกระดูกกับประสบการณ์ผ่าตัดส่องกล้องและผ่าตัดแผลเล็ก]

เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่

โรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาทเกิดจากอะไร?

โรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท เกิดจากพฤติกรรมการใช้งานข้อมือหนักเกินไป จนทำให้เนื้อเยื่อพังผืดที่ข้อมือหนาตัวขึ้นจนไปกดเบียดเส้นประสาทซึ่งคอยหล่อเลี้ยงฝ่ามือและนิ้ว จนทำให้เกิดอาการผิดปกติ

ในโลกอินเทอร์เน็ต โรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาทยังนิยมเรียกกันในชื่ออื่นๆ อีก เช่น โรคพังผืดบีบรัดเส้นประสาทบริเวณข้อมือ หรือ Carpal Tunnel Syndrome

อาการของโรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาทเป็นอย่างไร?

อาการของโรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาทที่เด่นชัดคือ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บ ร้าว ชา หรือรู้สึกแปล๊บขึ้นที่นิ้ว โดยส่วนมากจะพบที่นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และครึ่งหนึ่งของนิ้วนาง

โรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท มีการพัฒนาระยะของโรคค่อนข้างช้าและกินระยะเวลานาน ทำให้ในช่วงแรกที่เกิดโรค ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวหรือไม่สังเกตเห็นอาการ

จนอาการอยู่ในระยะที่รุนแรง ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าข้อมือมีปัญหาผิดปกติ ซึ่งระยะของโรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาทแบ่งออกได้ 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะแรก: รู้สึกชาหรือร้าวบริเวณมือถึงปลายนิ้ว โดยเฉพาะนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และครึ่งหนึ่งของนิ้วนาง อาการที่เกิดขึ้นจะพบได้บ่อยในช่วงกลางคืน ช่วงตื่นนอน และช่วงที่ทำกิจกรรมซึ่งต้องบิดข้อมือ หรือต้องกำมือแน่นๆ
  • ระยะกลาง: เริ่มมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่มือจนถึงปลายนิ้ว ร่วมกับรู้สึกชาและปวดร้าวบริเวณมือจนถึงปลายนิ้ว ทำให้เริ่มใช้งานมือได้ไม่สะดวก
  • ระยะสุดท้าย: กล้ามเนื้อที่มือฝ่อลีบ ทำให้ใช้งานมือแทบไม่ได้ ไม่สามารถกำมือ แบมือ หรือใช้มือทำกิจกรรมอื่นๆ ได้อีก

โรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท พบได้บ่อยในกลุ่มใด?

โรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาทพบบ่อยในกลุ่มผู้ที่ขยันทำงาน หรือมีกิจวัตรต้องใช้ข้อมือทำงานอย่างหนัก เช่น ผู้ที่ทำงานกับคีย์บอร์ดทั้งวัน ผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือกดพิมพ์ข้อความบ่อยครั้ง ผู้ที่ออกกำลังกายในท่าที่ต้องใช้ข้อมืออย่างหนัก

นอกจากนี้ โรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาทยังพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่กำลังให้นมบุตร

วิธีตรวจวินิจฉัยโรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท

การตรวจวินิจฉัยโรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาททำได้ไม่ยากและมีขั้นตอนที่เรียบง่าย โดยจะเป็นการซักประวัติสุขภาพกับแพทย์ร่วมกับตรวจดูอาการผิดปกติที่ข้อมือ อย่างไรก็ตาม การตรวจวินิจฉัยนั้นควรกระทำผ่านแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น

ถ้าไม่รักษาโรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาทจะส่งผลเสียอย่างไร?

การละเลยไม่รักษาอาการจากโรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท เป็นการเพิ่มโอกาสให้เส้นประสาทโดนกดทับจากเนื้อเยื่อพังผืดหนักขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่มือฝ่อหนักขึ้นกว่าเดิม ไม่สามารถใช้มือทำกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนเดิม หรือใช้งานมือไม่ได้เลย และทำให้ลักษณะของมือฟีบลงไป ทำให้รูปร่างของมือดูไม่สวยงาม

การรักษาโรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท มีกี่วิธี?

การรักษาโรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาทมีหลายวิธี ถ้าอาการของโรคยังไม่รุนแรง ผู้ป่วยยังใช้งานมือได้อยู่บ้าง แพทย์จะพิจารณาวิธีรักษาด้วยการพักใช้งานมือสักระยะ หรือยืดกล้ามเนื้อ ทำกายภาพบำบัด หรือกินยา ฉีดยาเพื่อระงับอาการ

แต่ถ้าอาการของโรคอยู่ในระดับที่รุนแรงแล้ว ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือกล้ามเนื้อฝ่ามือฝ่อ มีความยากลำบากในการใช้มือ แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้วิธีผ่าตัดพังผืดข้อมือ ซึ่งเป็นอีกวิธีรักษาที่ช่วยแก้ปัญหาโรคตั้งแต่ต้นตอ และเป็นวิธีรักษามาตรฐานของโรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาทด้วย

การผ่าตัดพังผืดที่มือคืออะไร?

การผ่าตัดพังผืดที่มือ คือ การผ่าตัดเพื่อกำจัดเนื้อเยื่อพังผืดที่ไปกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของข้อมือและมือกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง โดยแบ่งออกได้ 3 เทคนิค ได้แก่

  • การผ่าตัดเทคนิคแบบแผลเปิดใหญ่ขนาดปกติ เป็นการผ่าตัดด้วยเทคนิคดั้งเดิมที่แพทย์จะเปิดผิวหนังเพื่อดูเส้นประสาทที่เสียหายจากเนื้อเยื่อพังผืด และตัดเนื้อเยื่อพังผืดที่กดทับเส้นประสาทออก ตำแหน่งของแผลผ่าตัดจะอยู่ที่อุ้งมือ มีขนาดแผลประมาณ 1 นิ้ว
  • การผ่าตัดเทคนิคแบบแผลเปิดขนาดเล็ก เป็นการผ่าตัดที่มีขั้นตอนใกล้เคียงกับการผ่าตัดแบบแผลเปิดใหญ่ขนาดปกติ ตำแหน่งแผลอยู่ที่เดียวกัน แต่แผลจะมีขนาดเล็กกว่า โดยอยู่ที่ 7 มิลลิเมตรถึง 1 เซนติเมตร
  • การผ่าตัดเทคนิคแบบส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดที่แพทย์จะใช้เครื่องมือและกล้องผ่าตัดขนาดเล็กสอดเข้าไปตัดเนื้อเยื่อพังผืด ตำแหน่งของแผลจะย้ายมาอยู่ที่ข้อมือและมีขนาดแผลไม่ถึง 1 เซนติเมตร

เทคนิคการผ่าตัดพังผืดที่มือแต่ละแบบ มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร?

การผ่าตัดแบบแผลเปิดใหญ่ขนาดปกติ มีข้อดีตรงที่แพทย์จะสามารถมองเห็นโครงสร้างความเสียหายของเส้นประสาทได้ชัดเจน แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ขนาดแผลจะใหญ่กว่า ทำให้มีโอกาสเจ็บแผลได้มากกว่า ระยะเวลาฟื้นตัวของแผลก็นานขึ้นและมีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นหลังผ่าตัดได้มากขึ้น

การผ่าตัดแบบส่องกล้อง มีข้อดีตรงที่แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กมาก มีโอกาสเจ็บแผลน้อย และระยะเวลาฟื้นตัวของแผลจะสั้น นอกจากนี้แผลจะอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ต้องรับน้ำหนักในระหว่างใช้งานมือ และยังแนบเนียนไปกับผิว หากมีรอยแผลเป็นหลังผ่าตัดก็สังเกตได้ยาก

แต่การผ่าตัดส่องกล้องก็มีข้อเสียตรงที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดจากแพทย์มากกว่า เพราะอุปกรณ์ผ่าตัดมีขนาดเล็กมาก แพทย์ต้องมีเทคนิคและความชำนาญในการใช้เครื่องมือสูงกว่าการผ่าตัดแบบแผลเปิด

ระยะเวลาในการผ่าตัดพังผืดที่มือ ใช้เวลานานแค่ไหน?

การผ่าตัดพังผืดที่มือจะใช้ระยะเวลา 15-30 นาทีืจากนั้นผู้ป่วยสามารถเดินทางกลับบ้านได้ทันที

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดพังผืดที่มือ

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดพังผืดที่มือไม่ว่าเทคนิคไหนก็ตาม ล้วนมีขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อน ผู้ป่วยไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร และใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เพียงแต่ให้แจ้งประวัติสุขภาพ ประวัติโรคประจำตัว ยาประจำตัวที่กินอยู่ ให้แพทย์ทราบล่วงหน้าก่อน

การดูแลตัวเองและการพักฟื้นหลังผ่าตัดพังผืดที่มือ

  • กินยาตามที่แพทย์สั่งจ่ายให้อย่างเคร่งครัด โดยทั่วไปจะประกอบไปด้วยยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ ยาแก้ปวด
  • ยกแขนสูงหรือใส่ที่ห้อยแขน 2-3 วันเพื่อลดอาการบวม
  • งดยกของหนัก งดออกกำลังกาย งดเล่นกีฬา 10-14 วัน หลังจากนั้นสามารถใช้งานข้อมือได้ตามปกติ
  • งดให้แผลโดนน้ำและเหงื่อจนกว่าแพทย์จะนัดมาตรวจแผล ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด
  • หากพบความผิดปกติที่แผล ให้รีบกลับมาพบแพทย์โดยทันที

ผ่าตัดพังผืดที่มือ มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงหลังผ่าตัดพังผืดที่มือที่พบได้บ่อย ได้แก่ อาการเจ็บแผลหลังการผ่าตัด และการเกิดแผลเป็นคีลอยด์ซึ่งอาจนูนชัดหรือมีขนาดที่ง่ายต่อการสังเกตเห็นในผู้ป่วยบางราย

วิธีป้องกันโอกาสเกิดโรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท

โรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาทมีต้นเหตุมาจากการใช้งานข้อมือหนักเกินไป ดังนั้นวิธีป้องกันโอกาสเกิดโรคนี้ คือ การพักใช้งานข้อมือบ้างเป็นครั้งคราว และหมั่นยืดกล้ามเนื้อข้อมือ นอกจากนี้การแช่ข้อมือกับน้ำอุ่นตอนเช้าและตอนเย็นก็มีส่วนช่วยลดโอกาสเกิดโรคนี้ได้เช่นกัน

ผ่าตัดพังผืดที่มือ กับ พ.ต.ต. นพ. วรพล ด้วยบริการจาก HDcare

สำหรับผู้ที่กำลังเจอปัญหาใช้งานมือไม่เต็มที่ มีอาการเจ็บ ร้าว ชา รู้สึกแปล๊บที่มือไปจนถึงปลายนิ้ว อย่ารอช้าที่ทักมาปรึกษาวิธีการรักษากับทาง HDcare หรือหากใครที่ได้รับการวินิจฉัยโรคเรียบร้อยแล้ว แต่รักษาด้วยตนเองหรือกินยา ฉีดยา และยังไม่หายดี ทาง HDCare ยินดีเป็นผู้ช่วยนัดหมายแพทย์เพื่อทำการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดให้กับคุณ

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

บทความที่แนะนำ

@‌hdcoth line chat