คู่มือตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก


เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งเต้านมในผู้หญิงไทย

การฉีดวัคซีนป้องกันเอชพีวี (HPV) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ วัคซีนมะเร็งปากมดลูก และเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในช่วงอายุที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ


เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่

ขยาย

ปิด


วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นการตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกก่อนที่จะมีอาการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งปากมดลูก หรือตรวจหามะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่มีการบริการในประเทศไทยในปัจจุบันนั้น มี 3 วิธีหลักๆ ได้แก่

  • การตรวจทางเซลล์วิทยาของปากมดลูก แบ่งเป็นการตรวจแป๊ปสเมียร์แบบสามัญ (Conventional Pap Smear) และการเก็บตัวอย่างเซลล์ด้วยของเหลว (Liquid-based cytology: LBC)
  • การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ด้วยวิธีการตรวจ DNA แบ่งเป็นการตรวจร่วมกับการตรวจทางเซลล์วิทยา และการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV เพียงอย่างเดียว
  • การตรวจด้วยน้ำส้มสายชู (Visual inspection with acetic acid: VIA)

สามารถอ่านข้อมูลรายละเอียดของแต่ละวิธีได้ที่ด้านล่างนี้เลย

1. ตรวจแปปเสมียร์ (Pap Smear)

การตรวจแปปสเมียร์แบบสามัญ (Conventional Pap Smear) หรือเรียกสั้นๆ ว่า ตรวจแปปเสมียร์ เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจทางเซลล์วิทยาปากมดลูกแบบดั้งเดิม

ขั้นตอนการตรวจแปปเสมียร์

  • แพทย์จะใช้เครื่องมือสอดผ่านและถ่างช่องคลอด
  • แพทย์จะตรวจสภาพเบื้องต้นของช่องคลอด และเก็บตัวอย่างด้วยแปรง ส่งห้องตรวจ
  • แพทย์ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างเซลล์ และแปลผลตรวจ

ข้อดีของการตรวจแปปเสมียร์

  • สามารถตรวจพบรอยโรคก่อนมะเร็งทุกระดับความรุนแรงได้ใกล้เคียงกับการตรวจตินแพร๊พ แป๊บ เทสต์ แต่มีราคาถูกกว่า

2. การตรวจตินแพร็พ แป๊บ เทสต์ (ThinPrep Pap Test)

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยเก็บตัวอย่างเซลล์ด้วยของเหลว (Liquid-based cytology: LBC) หรือนิยมเรียกกันสั้นๆ ตามยี่ห้อน้ำยาตรวจว่า ตรวจตินแพร็พ แป๊บ เทสต์ (ThinPrep Pap Test) จัดเป็นหนึ่งในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจทางเซลล์วิทยาปากมดลูกแบบใหม่

ข้อดีของการตรวจตินแพร็พ แป๊บ เทสต์

  • เก็บตัวอย่างเซลล์ได้มากกว่า ลดปัญหาการเก็บตัวอย่างไม่เพียงพอ
  • ในกระบวนการตรวจ มูกและเลือดจะถูกกำจัดออกไป ลดปัญหาสิ่งบดบังเซลล์ ทำให้เห็นตัวอย่างเซลล์ชัดเจนขึ้น ลดอัตราการเกิดผลลบลวงได้
  • สามารถนำตัวอย่างเซลล์ไปตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ได้ ไม่ต้องเก็บตัวอย่างซ้ำ

ขั้นตอนการตรวจตินแพร็พ แป๊บ เทสต์

  • แพทย์ใช้แปรงขนาดเล็กเก็บเซลล์บริเวณปากมดลูกของผู้รับการตรวจ
  • ถอดหัวแปรงใส่ลงน้ำยารักษาสภาพเซลล์ ส่งเข้าห้องตรวจ
  • แพทย์ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างเซลล์ และแปลผลตรวจ

3. การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ด้วยวิธีการตรวจ DNA

การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ด้วยวิธีการตรวจ DNA จะสามารถตรวจร่วมกับการตรวจทางเซลล์วิทยา หรือตรวจหาเชื้อไวรัส HPV เพียงอย่างเดียวก็ได้ เรียกการตรวจด้วยวิธีนี้ว่า Primary HPV testing

โดยการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ด้วยวิธีการตรวจ DNA สามารถตรวจได้ 2 รูปแบบ คือ

  • HPV DNA testing เป็นการตรวจหาสายพันธุ์เชื้อไวรัส HPV ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก โดยไม่ระบุเจาะจง (High-risk HPV: HR-HPV) ได้แก่สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58, 59, 66 และ 68
  • HPV DNA genotyping เป็นการตรวจระบุสายพันธุ์เชื้อไวรัส HPV เจาะจง ได้แก่ สายพันธุ์ 16 และ 18

ข้อดีของการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ด้วยวิธีการตรวจ DNA

  • สามารถตรวจระบุสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสได้เลย
  • หากตรวจร่วมกับการตรวจทางเซลล์วิทยา จะมีความไวในการตรวจพบรอยโรคก่อนมะเร็งสูงถึง 99%
  • การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ด้วยวิธีการตรวจ DNA เพียงอย่างเดียว มีความไวในการตรวจหารอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกสูงกว่าการตรวจทางเซลล์วิทยาเพียงอย่างเดียว

ขั้นตอนการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ด้วยวิธีการตรวจ DNA

  • เก็บตัวอย่างเซลล์เยื่อบุผิวจากบริเวณปากมดลูก และช่องคลอดด้านใน โดยการใช้แปรงเหมือนกับการตรวจทางเซลล์วิทยา แต่แช่ในกระป๋องน้ำยา HPV DNA test โดยเฉพาะ
  • แพทย์ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างเซลล์ และแปลผลตรวจ

4. การตรวจด้วยน้ำส้มสายชู (Visual inspection with acetic acid: VIA)

การตรวจด้วยน้ำส้มสายชู เป็นการตรวจคัดกรองรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกโดยการใช้สารละลาย Acetic acid เจือจาง 3-5% ชโลมบนปากมดลูกนาน 1 นาที แล้วสังเกตดูการเปลี่ยนแปลงของสีเยื่อบุปากมดลูก

ข้อดีของการตรวจด้วยน้ำส้มสายชู คือ มีราคาถูก สามารถรู้ผลได้ทันที แต่มีข้อเสียคือ สามารถตรวจได้เฉพาะในผู้ที่เห็นรอยต่อระหว่างเยื่อบุปากมดลูกชัดเจน และไม่สามารถประเมินความผิดปกติ หรือตรวจดูรอยโรคที่อยู่ลึกภายในช่องคอมดลูกได้

ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตอนอายุเท่าไหร่ บ่อยแค่ไหน?

โดยทั่วไปแล้ว ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเมื่ออายุ 30 ปี แต่อาจเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 25 ปี ตามความเหมาะสม และควรตรวจคัดกรองทุกทุก 2-3 ปี

หากผลตรวจคัดกรองไม่พบความผิดปกติติดต่อกัน 3 ครั้ง เป็นผู้ที่ไม่เคยมีประวัติได้รับรอยโรคก่อนมะเร็ง และไม่มีภาวะภูมิคุ้นกันบกพร่อง ให้ตรวจซ้ำทุกๆ 3-5 ปี

สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรเข้ารับการตรวจทุก 6 เดือน ในปีแรกหลังวินิจฉัยโรคภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และหลังจากนั้นควรเข้ารับการตรวจปีละ 1 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม ความถี่ในการตรวจคัดกรองอาจปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของบริบทในแต่ละพื้นที่นั้นๆ เช่น หากอยู่ในพื้นที่ที่มีความชุกของมะเร็งปากมดลูกสูงก็อาจต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี

ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV แล้ว จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไหม?

ผู้หญิงที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเหมือนผู้หญิงทั่วไป

ควรหยุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเมื่อไหร่?

หากเป็นผู้ที่ทำการตัดมดลูกออกไปแล้ว และไม่เคยมีรอยโรคก่อนมะเร็งมาก่อน สามารถหยุดเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้เลย แต่ควรตรวจภายในเป็นประจำทุกปี

ส่วนผู้ที่ยังมีมดลูก สามารถหยุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้หลังอายุ 65 ปีขึ้นไป ในกรณีที่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้มีการตรวจเป็นระยะๆ และผลตรวจคัดกรองไม่พบความผิดปกติติดต่อกัน 3 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม หากยังมีเพศสัมพันธ์ หรือมีคู่นอนหลายคน ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามปกติ

ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกราคาเท่าไหร่?

ราคาการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจะแตกต่างกันไปในแต่ละสถานพยาบาล และโปรแกรมการตรวจสุขภาพ ตัวอย่างเช่น

  • การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วบวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV DNA testing) ราคาประมาณ 1,200 บาท
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี ThinPrep ราคาประมาณ 1,300 บาท
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก รวมตรวจหาเชื้อ HPV และอัลตราซาวด์หาเนื้องอกมดลูกและรังไข่ ราคาประมาณ 6,000 บาท
  • โปรแกรมตรวจสุขภาพสำหรับผู้หญิงทั่วไปที่รวมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย ราคาประมาณ 20,000 บาท

สนใจตรวจสุขภาพสำหรับผู้หญิง ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการต่างๆ เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้บ้านได้เลย

มีข้อสงสัยเพิ่มเติม สอบถามข้อมูลกับแอดมินได้ที่ไลน์ @hdcoth พร้อมให้บริการตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่งทุกวัน! หรือจองคิวผ่าน HDmall เพื่อรับโปรโมชันดีๆ และส่วนลดต่างๆ มากมาย เช่น รีวิวรับแคชแบ็ก หรือใช้บัตรนิสิตเพื่อรับส่วนลดเพิ่ม เป็นต้น


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • ศ.นพ.จตุพล ศรีสมบูรณ์, การใช้ HPV Testing เพียงอย่างเดียวในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (http://www.tgcsthai.com/file/HPV_Booklet_v16.pdf)
  • สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, แนวทางการตรวจคัดกรอง วินิจฉัย และรักษา โรคมะเร็งปากมดลูก (http://www.nci.go.th/th/cpg/TextBook%20มะเร็งปากมดลูก%20จากโรงพิมพ์.pdf).
  • รศ.นพ.ชัยยศ ธีรผกาวงศ์, แปป สเมียร์ ( Pap smear ) ของปากมดลูก (https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=958)
  • พ.ญ. นวลอนงค์ วงศ์ขันแก้ว, การส่องกล้องปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป (colposcopy) (https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/index.php?option=com_content&view=article&id=1178:colposcopy&catid=45&Itemid=561).
@‌hdcoth line chat