หนองในเป็นแล้วอันตราย เป็นหมันและเสียลูกได้

หนองใน เป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย หากปล่อยไว้ให้ลุกลามเรื้อรังเป็นเวลานาน หรือปล่อยไว้ไม่รักษา แม้อาจมีอาการดีขึ้นเองเล็กน้อย แต่แท้จริงเชื้อโรคยังคงตกค้างอยู่ภายในร่างกาย อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา มีอาการรุนแรงมากขึ้นถึงขั้นทำให้มีลูกยากและเป็นหมันได้ทั้งในหญิงและชาย

HDmall.co.th จึงรวบรวมความรู้เกี่ยวกับ โรคหนองใน ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นในชายและหญิง มาฝากกัน เพราะอันตรายที่จะเกิดตามมามีมากกว่าที่คาดคิด หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันการณ์

หนองในคืออะไร?

โรคหนองใน (Gonorrhoeae) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria Gonorrhoeae) ซึ่งก่อให้เกิดการติดเชื้อในหลายบริเวณ โดยเฉพาะหลอดปัสสาวะ ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก ลำคอ เยื่อบุมดลูก ท่อรังไข่ และตา หากปล่อยไว้ให้เรื้อรังและลุกลาม จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมา เช่น เป็นหมัน ปวดท้องน้อยเรื้อรัง และตั้งครรภ์นอกมดลูก

หนองใน เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้มากถึง 50% ของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง สามารถติดต่อได้ด้วยการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก โดยพบได้ในกรณีที่ไม่สวมถุงยางอนามัย หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งจากร่างกายของผู้ที่มีเชื้อหนองใน ซึ่งการติดเชื้อหนองในส่วนใหญ่จะพบที่บริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ลำคอ และเยื่อบุตา เป็นต้น

หนองในเทียมคืออะไร?

โรคหนองในแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ โรคหนองในแท้ และ โรคหนองในเทียม

  1. หนองในแท้ (Gonorrhoeae) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria Gonorrhoeae มีระยะการฟักตัวของเชื้อแบคทีเรียประมาณ 1-10 วัน เป็นโรคหนองในที่พบได้ทั้งเพศชาย เพศหญิง และทารกแรกเกิดที่สามารถติดเชื้อจากแม่ได้ในระหว่างคลอด
  2. หนองในเทียม (Non Gonococcal Urethritis: NGU) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียอื่นที่ไม่ใช่หนองในแท้ เช่น แบคทีเรีย Chlamydia Tachomatis หรือเชื้อไวรัส โปรโตซัว หรือเชื้อรา เป็นต้น มีระยะการฟักตัวของเชื้อนานกว่า 10 วันขึ้นไป พบได้บ่อยในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัยหรือผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อแบคทีเรียดังตัวอย่างที่กล่าวมา โดยหนองในเทียมเป็นเชื้อหนองในที่ไม่ค่อยแสดงอาการชัดเจน หรืออาจมีลักษณะอาการคล้ายกับโรคหนองในแท้ก็ได้

หนองในมีอาการอย่างไร?

จากสถิติพบว่า ผู้ที่มีอาการหนองใน ส่วนมากจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 2 สัปดาห์ และมีอาการชัดเจนตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป แต่ผู้ติดเชื้อบางรายอาจไม่แสดงอาการ โดยในหญิงประมาณ 50% และเพศชาย 10 % มักจะไม่แสดงอาการของโรค จึงทำให้ผู้ติดเชื้อไม่รู้ตัวและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม อาการของโรคหนองในทั้งชายและหญิงมีลักษณะอาการคล้ายกัน แต่จะแสดงอาการแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริเวณที่มีการติดเชื้อ ดังนี้

  • หนองในบริเวณทวารหนัก รู้สึกปวดหรือเจ็บและมีการขับของเหลวออกทางทวารหนัก
  • หนองในบริเวณข้อต่อ รู้สึกปวดขณะเคลื่อนไหวบริเวณข้อต่อที่ติดเชื้อ และบวมแดง
  • หนองในบริเวณลำคอ รู้สึกเจ็บคอและต่อมน้ำเหลืองโต
  • หนองในบริเวณดวงตา รู้สึกเจ็บปวด เคืองดวงตา ตาบวม และมีของเหลวไหลออกจากดวงตา
  • หนองในบริเวณอวัยวะเพศในผู้หญิง ขณะปัสสาวะมีอาการแสบขัด ตกขาว สีเหลือง หรือสีเขียวผิดปกติ ปวดท้องน้อย มีของเหลวออกจากช่องคลอดมากผิดปกติ ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานขณะมีเพศสัมพันธ์ ช่วงที่ไม่มีประจำเดือนอาจมีเลือดออกจากช่องคลอด ขณะที่ช่วงมีประจำเดือนจะเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมากขึ้น
  • หนองในบริเวณอวัยวะเพศในผู้ชาย ขณะปัสสาวะมีอาการแสบขัด มีมูกใสออกจากท่อปัสสาวะที่ไม่ใช่น้ำปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ ถุงอัณฑะบวมหรือปวด ฟกช้ำบริเวณลูกอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง ปลายหนังหุ้มอวัยวะเพศอักเสบ และหลังจากมีเพศสัมพันธ์จะมีหนองเหลืองหรือเขียวไหลออกจากปลายอวัยวะเพศ

หนองในผู้หญิงกับผู้ชายต่างกันไหม?

ความแตกต่างระหว่างอาการหนองในผู้หญิงและผู้ชาย มีดังนี้

  • หนองในผู้ชาย มีมูกใสหรือหนองขุ่นข้น สีขาว เหลือง หรือเขียวไหลออกจากท่อปัสสาวะหรืออวัยวะเพศ รอบรูอวัยวะเพศเป็นสีแดง รู้สึกเจ็บ ปวด และมีอาการบวมบริเวณลูกอัณฑะ หากปล่อยไว้นาน ไม่ได้รับการรักษา เชื้ออาจลุกลามสู่อัณฑะ เสี่ยงต่อการเป็นหมันได้
  • หนองในผู้หญิง มีตกขาว มูก หนอง เป็นสีเขียวหรือเหลืองมากผิดปกติและกลิ่นเหม็น อาจมีเลือดออกทางช่องคลอดแม้ไม่ใช่ช่วงเวลามีประจำเดือน และมีหนองบริเวณช่องคลอดเจ็บบริเวณอุ้งเชิงกราน โดยเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์อาจมีของเหลวไหลออกจากทวารหนัก หากปล่อยไว้นาน ไม่รีบรักษา เชื้ออาจลุกลามไปสู่มดลูกและท่อรังไข่ เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกเชิงกรานอักเสบ และเป็นหมัน

หนองในส่งผลต่อทารกในครรภ์ไหม?

กรณีผู้หญิงที่มีการติดเชื้อหนองในระหว่างการตั้งครรภ์ จะส่งผลต่อทารกค่อนข้างรุนแรง เพราะทารกสามารถติดเชื้อโรคหนองในจากแม่ได้ในระหว่างคลอด จากการสัมผัสเยื่อบุช่องคลอด ซึ่งหากทารกได้รับเชื้อที่บริเวณดวงตาอาจอันตรายทำให้ตาบอด หรือทารกบางรายอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ทั้งนี้หญิงตั้งครรภ์หากสงสัยว่าจะติดเชื้อหนองใน ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

หนองในเกิดจากอะไร?

สาเหตุของโรคหนองใน มีดังนี้

  • การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria gonorrhoeae)
  • การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน โดยไม่สวมถุงยางอนามัย ซึ่งพบว่าชายที่มีเพศสัมพันธ์กับหญิงที่มีเชื้อหนองในจะติดเชื้อได้ประมาณ 30 % ส่วนหญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับชายที่มีเชื้อหนองใน จะมีโอกาสจะติดเชื้อสูงถึง 80 %
  • การสัมผัสเยื่อบุช่องปาก ช่องคลอด ทวารหนัก อวัยวะเพศ ที่มีเชื้อ ซึ่งอาจติดต่อได้โดยยังไม่มีเพศสัมพันธ์
  • การแพร่ของเชื้อเอง โดยในหญิงที่เป็นโรคและมีเชื้อในช่องคลอด เชื้อสามารถแพร่จากช่องคลอดไปทวารหนัก และจากทวารหนักไปช่องคลอดได้เช่นกัน

หนองในติดต่อทางไหน?

โรคหนองในสามารถติดต่อและถ่ายทอดได้ ดังนี้

  • การมีเพศสัมพันธ์
  • การสัมผัสโดยตรง เช่น ทารกที่คลอดทางช่องคลอดของแม่ที่ติดเชื้อ ทำให้เกิดการติดเชื้อที่เยื่อบุตา
  • การแพร่เชื้อหนองในเอง เช่น ในผู้หญิงที่มีเชื้อหนองในสามารถแพร่จากช่องคลอดไปทวารหนัก หรือจากทวารหนักไปช่องคลอดได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์

ทั้งนี้กิจกรรมอื่น เช่น การกอด จูบ ใช้ห้องน้ำ ใช้ผ้าเช็ดตัว สระว่ายน้ำ ห้องน้ำ หรือแก้วน้ำ จาน ชาม ร่วมกัน ยังไม่พบว่าสามารถทำให้เกิดการถ่ายทอดเชื้อหนองในได้

การตรวจวินิจฉัยหนองใน

หากพบว่ามีอาการที่เป็นสัญญาณการติดเชื้อโรคหนองใน ควรรีบพบแพทย์เรื่องรับการวินิจฉัยผลให้แน่ชัด โดยผู้หญิงเข้ารับการตรวจกับสูตินรีแพทย์ และผู้ชายเข้ารับการตรวจกับแพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินปัสสาวะ

สำหรับการตรวจทั้งหนองในแท้และหนองในเทียม สำหรับผู้ชายจะใช้วิธีป้ายหนองจากท่อปัสสาวะ และผู้หญิงจะใช้วิธีป้ายสารน้ำจากช่องคลอด เพื่อนำไปส่งตรวจด้วยย้อมสีและเพาะหาเชื้อแบคทีเรียต่อไป ทั้งนี้บางรายแพทย์อาจให้มีการตรวจพิเศษในห้องปฏิบัติการเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้ชัดผลลัพธ์ที่แน่ชัดยิ่งขึ้น และการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

นอกจากนี้ ผู้มีอาการโรคหนองในที่ไม่ค่อยแสดงอาการ สามารถสังเกตตัวเองได้จากอาการแสบขณะปัสสาวะหรือเริ่มมีผื่นขึ้นบริเวณรอบอวัยวะเพศ ควรรีบพบแพทย์และพาคู่นอนไปตรวจด้วย เนื่องจากคู่นอนอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเป็นผู้แพร่เชื้อ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้มีอาการกลับมาเป็นหนองในซ้ำได้อีกครั้ง

หนองในรักษาอย่างไร?

การรักษาหนองใน แบ่งออกเป็น 2 ภาวะ

1. หนองในชนิดไม่มีภาวะแทรกซ้อน (Uncomplicated Gonorrhoeae) จะเป็นการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ที่ให้ประสิทธิภาพมากกว่าร้อยละ 95 ซึ่งควรรับการรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมา โดยมีวิธีรักษาตามตำแหน่งการติดเชื้อ ดังนี้

  • ผู้มีหนองในที่อวัยวะเพศและทวารหนัก รักษาโดยใช้ยา Ceftriaxone 500 mg แบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 ครั้ง ร่วมกับการรักษาโรคหนองในเทียม หรือใช้ยา Cefixime 400 mg ทาน 1 ครั้ง ร่วมด้วยกับการรักษาโรคหนองในเทียมเช่นเดียวกับยาแบบฉีด
  • ผู้มีหนองในที่ช่องคอ รักษาโดยใช้ยา Ceftriaxone 500 mg แบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 ครั้ง ร่วมกับการรักษาโรคหนองในเทียม
  • ผู้มีหนองในที่เยื่อบุตาวัยผู้ใหญ่ รักษาโดยใช้ยา Ceftriaxone 1 g ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำ 1 ครั้ง ร่วมกับการรักษาอาการหนองในเทียม และผู้ติดเชื้อควรล้างตาด้วยน้ำเกลือปลอดเชื้อให้สะอาดทุกชั่วโมง จนกว่าหนองบริเวณตาจะแห้งสนิท

2. หนองในชนิดมีภาวะแทรกซ้อน (Complicated Gonorrhoeae) มีวิธีการรักษาคล้ายกับการรักษาชนิดไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่ควรรับการรักษาในโรงพยาบาลหรือบางรายอาจต้องรับการผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น โดยมีการรักษาดังนี้

  • ผู้มีหนองในชนิดมีภาวะแทรกซ้อนเฉพาะที่ มีวิธีการรักษาเช่นเดียวกับการรักษาหนองในชนิดไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่ใช้ระยะเวลารักษาอย่างน้อย 2 วันขึ้นไปหรือจนกว่าหนองในจะหาย เช่น ภาวะแทรกซ้อนเกิดฝีในอวัยวะเพศ ลูกอัณฑะอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด และต่อมต่างๆ บริเวณท่อปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น
  • ผู้มีหนองในชนิดมีภาวะแทรกซ้อนแพร่กระจาย จะต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล โดยแพทย์จะรักษาด้วยยา Ceftriaxone 1-2 g ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ วันละ 1 ครั้ง หากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นก็จะได้รับยาทาน Cefixime 400 mg วันละ 2 ครั้ง เช่น ผู้มีภาวะเลือดออกในชั้นผิวหนังหรือเยื่อบุ หรือมีภาวะโรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อ และมีภาวะเอ็นอักเสบ เป็นต้น
  • ผู้มีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แพทย์จะรักษาด้วยยา Ceftriaxone 1-2 g ฉีดเข้าหลอดเลือดดำทุก 12 ชั่วโมง
  • ผู้มีภาวะติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ จะรักษาโดยใช้ยา Ceftriaxone 1-2 g ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ทุก 12 ชั่วโมง และใช้ระยะเวลารักษานานถึง 4 สัปดาห์

การดูแลตนเองระหว่างการรักษาหนองใน

  • งดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหายดี แต่หากมีเพศสัมพันธ์ควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เช่น การสวมถุงยางอนามัย เนื่องจากยาปฏิชีวนะ ส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด และยังเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อด้วย
  • หากพบว่ามีอาการที่สงสัยว่าแพ้ยา เช่น มีผื่นคันตามตัว คลื่นไส้อาเจียน ควรพบแพทย์ก่อนตารางนัด
  • หากพบว่า ยังมีอาการภายหลังการรักษา อาจเกิดการดื้อยาของเชื้อได้ จึงควรกลับมาพบแพทย์อีกครั้ง
  • ควรพบแพทย์ตามการนัดหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจว่าเชื้อแบคทีเรียลดลงและไม่หลงเหลือในร่างกาย

หนองในป้องกันได้ไหม?

วิธีการป้องกันและลดความเสี่ยงการติดหนองใน สามารถทำได้ ดังนี้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง เมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง
  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วยโรคหนองใน เพื่อป้องกันการติดต่อของเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ติดเชื้อหนองใน โดยเฉพาะทางปาก ช่องคลอด อวัยวะเพศ หรือทวารหนัก
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือผู้ที่เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น
  • ภายหลังการรักษาหนองในหายแล้ว ควรสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นทำความสะอาดอวัยวะเพศสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้กลับไปเป็นหนองในซ้ำอีก
  • ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ อย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี ทั้งการตรวจโรคหนองในและโรคเอดส์ เนื่องจากพบว่าประมาณร้อยละ 77 ของผู้ติดเชื้อ HIV มีปัจจัยเสี่ยงมาจากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งผู้ป่วยหนองในจะมีโอกาสรับเชื้อ HIV ได้ง่ายกว่าคนปกติ ในขณะเดียวกัน ผู้ติดเชื้อ HIV ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน ก็สามารถแพร่เชื้อ HIV ให้กับผู้สัมผัสได้มากกว่า ดังนั้น ผู้ป่วยโรคหนองใน จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ HIV

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย ไม่ได้มีเพียงโรคหนองใน แต่ยังรวมไปถึงโรคหูดหงอนไก่ เชื้อเอชไอวี และซิฟิลิส ซึ่งสามารถป้องกันได้ง่าย ไม่เสียเวลา ไม่สิ้นเปลือง และไม่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาให้ยุ่งยากในการรักษา เพียงสวมถุงยางอนามัยระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ก็ป้องกันได้มากถึงร้อยละ 98 ทีเดียว

Scroll to Top