กระเพาะอาหารเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบย่อยอาหารในช่องท้องส่วนบน มีรูปตัวเหมือนตัว J ทำหน้าที่ช่วยย่อยอาหาร ภายในมีสภาพแวดล้อมเป็นกรด เพื่อให้ง่ายต่อการดูดซึมที่ลำไส้เล็ก เป็นอวัยวะสำคัญและมีโอกาสเกิดมะเร็งได้ง่าย
สารบัญ
สัญญาณเตือนของมะเร็งกระเพาะอาหาร
มะเร็งกระเพาะอาหารมีอาการหลายอย่าง แต่อาจสังเกตได้ยากเพราะบางอาการเหมือนโรคกระเพาะ ท้องอืดท้องเฟ้อทั่วไป ทำให้ยากต่อการแยกแยะ โดยทั่วไปอาการหลักๆ มีดังนี้
- อาหารไม่ย่อย มีอาการเรอมาก แสบร้อนกลางอก เสียดท้องหรือกรดไหลย้อน
- รู้สึกอิ่มเร็วมากเมื่อรับประทานอาหาร
- เบื่ออาหารง่าย
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ อ่อนเพลียง่าย
- คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีเลือดหรือไม่มีเลือด
- มีปัญหาในการกลืน กลืนอาหารลำบาก เจ็บเวลากลืน
- คลำพบก้อนเนื้อบริเวณที่ด้านบนของท้อง ท้องโต บวม
- ปวดท้องส่วนบนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังกินอาหาร
- อาจมีภาวะตัวเหลือง ตาเหลือง
- มีภาวะโลหิตจาง
มะเร็งกระเพาะอาหารคืออะไร?
มะเร็งกระเพาะ (Gastric Cancer) คือ โรคที่เซลล์มะเร็งก่อตัวขึ้นบริเวณเยื่อบุกระเพาะอาหาร ปกติผนังของกระเพาะอาหารประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 5 ชั้น มะเร็งกระเพาะจะเริ่มต้นที่เยื่อบุชั้นในสุดและแพร่กระจายผ่านชั้นนอกออกมาเมื่อมันโตขึ้น
มะเร็งกระเพาะมีกี่ระยะ
สถาบันวิจัยมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักรแบ่งมะเร็งกระเพาะออกเป็น 4 ระยะดังนี้
- มะเร็งกระเพาะระยะที่ 1 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งยังไม่แพร่กระจายออกไปนอกเยื่อบุชั้นในกระเพาะอาหารและยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียง
- มะเร็งกระเพาะระยะที่ 2 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อกระเพาะ หรืออาจเริ่มแพร่กระจายไปถึงเยื่อบุชั้นนอกของกระเพาะ
- มะเร็งกระเพาะระยะที่ 3 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายออกไปถึงเยื่อบุชั้นนอกของกระเพาะและแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง แต่ยังไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น
- มะเร็งกระเพาะระยะที่ 4 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายผ่านเยื่อบุชั้นนอกของกระเพาะอาหารไปยังอวัยวะหรือเนื้อเยื่อใกล้เคียง และลุกลามไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย
สาเหตุของมะเร็งกระเพาะอาหาร
ปัจจุบันมะเร็งกระเพาะยังไม่สามารถระบุสาเหตุชัดเจนได้ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามะเร็งกระเพาะอาหารส่วนใหญ่เริ่มต้นเมื่อเกิดมีสิ่งผิดปกติบางอย่าง ไปกระทบกระเทือนเยื่อบุภายในกระเพาะอาหารจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและปัจจัยอื่นๆ เช่น
- มีอาการกรดไหลย้อนเป็นเวลานาน หรือโรคโลหิตจางที่เป็นอันตรายที่เกิดจากภาวะอ้วน
- การรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด ตากเค็ม หมักดอง รมควันเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งกระเพาะ
- การสูบบุหรี่
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ไม่ค่อยรับประทานผักและผลไม้
- เกิดการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori:H. Pylori) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง และสาเหตุทำให้เกิดการอักเสบและแผลในกระเพาะอาหาร
- เคยได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งกระเพาะ
- พบว่าคนเอเชียโดยเฉพาะแถบเอเชียเป็นมะเร็งกระเพาะมากกว่าชนชาติผิวขาวกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกา
- มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
- เพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง 2 เท่า
การตรวจมะเร็งกระเพาะอาหาร
การตรวจหามะเร็งกระเพาะมีหลายวิธี แพทย์จะพิจารณาเลือกตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงปัจจัยดังนี้
- ชนิดของมะเร็ง
- ความรุนแรงของโรค
- อายุและสุขภาพทั่วไป
- ผลการตรวจก่อนหน้า
หลังแพทย์พิจารณาปัจจัยดังกล่าวอย่างรอบคอบแล้ว จะเลือกวิธีการตรวจมะเร็งลำไส้โดยเลือกจากวิธีต่อไปนี้
- การตรวจชิ้นเนื้อ คือ การตัดเนื้อเยื่อบุกระเพาะจำนวนเล็กน้อยออกเพื่อตรวจดูทางห้องปฏิบัติการ
- การส่องกล้อง (Gastroscopy) เป็นการตรวจหาเซลล์มะเร็งกระเพาะโดยสอดท่อยางที่มีลักษณะบางเบาและยืดหยุ่นเข้าทางปาก ผ่านหลอดอาหารเข้าไปในกระเพาะอาหาร วิธีนี้แพทย์ยังสามารถตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อออกเพื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการระหว่างการส่องกล้องได้ด้วย
- อัลตราซาวนด์ส่องกล้อง (Endoscopic Ultrasound (EUS) คือ การตรวจหาเซลล์มะเร็งกระเพาะโดยการส่องกล้องที่ติดเครื่องอัลตร้าซาวด์ขนาดเล็กที่ปลายท่อยาง แล้วปล่อยคลื่นเสียงเพื่อสร้างภาพอวัยวะภายใน ทำให้แพทย์เห็นสภาพเยื่อบุผนังทางเดินอาหารและกระเพาะอาหาร วิธีนี้แพทย์สามารถเห็นภาพภายในกระเพาะได้มากกว่าการส่องกล้องที่สามารถแสดงภาพภายในได้จำกัดเฉพาะส่วนที่กล้องเข้าไปถึง
- การเอกซเรย์กลืนแป้งแบเรียม (Double-Contrast Barium Swallowing) คือ การกลืนแป้งแบเรียมซัลเฟต (Barium Sulfate) ซึ่งเป็นสารทึบแสงเพื่อเคลือบเยื่อบุหลอดอาหาร และเยื่อบุกระเพาะอาหารแล้วถ่ายภาพเอ็กซเรย์ แบเรียมเพื่อให้มองเห็นเนื้องอกหรือความผิดปกติอื่นๆ ได้ง่ายกว่าในการเอ็กซ์เรย์
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography: CT Scan) คือ การตรวจหาเซลล์มะเร็งกระเพาะโดยถ่ายภาพภายในกระเพาะด้วยรังสีเอกซ์จากเครื่อง CT Scan ออกมาเป็นภาพ 3 มิติ บางกรณีแพทย์อาจต้องฉีดสีย้อมเข้าเส้นเลือดหากต้องการรายละเอียดภาพชัดมากขึ้น
- การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) คือ การตรวจหาเซลล์มะเร็งกระเพาะโดยใช้เครื่อง MRI ปล่อยสนามแม่เหล็กเพื่อสร้างภาพภายในกระเพาะ แพทย์ต้องฉีดสีย้อมพิเศษเข้าเส้นเลือดให้สีย้อมพิเศษก่อนเข้าเครื่องตรวจเพื่อสร้างภาพที่ชัดเจนขึ้น
- การตรวจเพท-ซีที (PET/CT) คือ การตรวจหามะเร็งกระเพาะด้วยเครื่องเพท (Positron Emission Tomography: PET) และเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ซีที (Computed Tomography: CT) เรียกรวมว่าเพท/ซีที (PET/CT) เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถแสดงตำแหน่งที่มีเซลล์มะเร็งได้อย่างแม่นยำ โดยก่อนตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจจะได้รับการฉีดสารกัมมันตภาพรังสีเล็กน้อย เพื่อสร้างภาพอวัยวะและเนื้อเยื่อภายในกระเพาะ
การรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร
การรักษามะเร็งกระเพาะมีวิธีรักษา 4 วิธีดังนี้
1. การรักษามะเร็งกระเพาะด้วยการผ่าตัด เป็นส่วนหนึ่งของการรักษามะเร็งกระเพาะกรณีที่เซลล์มะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย มักทำร่วมกับการรักษาวิธีอื่นๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด โดยการผ่าตัดสามารถทำได้ด้วย 2 แบบตามเป้าหมายการักษา คือ
- ผ่าตัดเพื่อเอามะเร็งออก คือ การผ่าเพื่อเอาเซลล์มะเร็งกระเพาะบางส่วนหรือทั้งหมดออก ตลอดจนต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงและอวัยวะอื่นๆ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง โดยแพทย์จะพยายามให้คงสภาพกระเพาะอาหารให้ปกติมากที่สุด
- ผ่าตัดเพื่อประคับประคอง ใช้ในกรณีเซลล์มะเร็งลุกลามจนไม่สามารถตัดออกได้อย่างสมบูรณ์ โดยเป็นการผ่าตัดเพื่อช่วยป้องกันเลือดออกจากเซลล์มะเร็ง และป้องกันไม่ให้กระเพาะอาหารอุดตันเพราะเซลล์มะเร็ง การผ่าตัดประเภทนี้สามารถป้องกันหรือบรรเทาอาการได้ แต่ไม่สามารถรักษาได้
2. การรักษาโดยการฉายรังสี (Radiation Therapy) คือ การกำจัดเซลล์มะเร็งด้วยรังสีหรือแสงพลังงานสูง โดยการฉายรังสีแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- การรักษาตามหลังการผ่าตัด (Adjuvant Radiation) คือ การฉายรังสีเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่อยู่ในบริเวณกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหารหลังการผ่าตัดก้อนมะเร็งออกไปแล้ว
- การรักษาด้วยรังสีก่อนผ่าตัด (Neoadjuvant Radiation) คือ การฉายรังสีก่อนทำการผ่าตัดเซลล์มะเร็งออก เพื่อทำให้เซลล์มะเร็งเล็กลง ทำให้ง่ายต่อการผ่าตัด
3. การรักษาด้วยยามะเร็งแบบมุ่งเป้า (Targeted-Drug Treatment Therapy) คือ การรักษาด้วยยาแบบมุ่งเป้าไปที่โปรตีนที่ผิวเซลล์มะเร็งโดยตรง เรียกว่า Human Epidermal Growth Factor Receptor 2 (HER2) และ Vascular endothelial Growth Factor Receptor 2 (VEGFR) ที่จะพบอยู่ได้ในเซลล์มะเร็งกระเพาะบางชนิด การรักษารูปแบบนี้จะทำลายเฉพาะเซลล์ที่มีโปรตีนเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่คือเซลล์มะเร็ง มีผลช่วยยับยั้งการเติบโตและการแบ่งตัวเซลล์มะเร็ง โดยไม่มีผลกับเซลล์ปกติ
4. การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการรักษามะเร็งกระเพาะโดยการใช้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยต่อสู้กับเซลล์มะเร็งในร่างกาย โดยปกติระบบภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ทำลายเซลล์มะเร็งอาจจะไม่สามารถต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้ เพราะเกิดการขัดขวางจากโปรตีนที่สร้างโดยเซลล์มะเร็ง วิธีการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดคือการขัดขวางการทำงานของโปรตีนดังกล่าวที่เซลล์มะเร็งสร้างขึ้น และกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของเรากลับมาต่อต้านเซลล์มะเร็ง
มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นโรคที่รักษาได้แต่รักษายาก ซึ่งผลการรักษาขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้
- ชนิดและขนาดของมะเร็งกระเพาะ
- ตำแหน่งที่เกิด
- ระยะของมะเร็งกระเพาะ
- สุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย
- ความชำนาญแพทย์ในการวินิจฉัยตรวจรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม
การป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหาร
ทุกคนสามารถเป็นมะเร็งกระเพาะได้ แต่ทุกคนสามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงได้โดยปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- ไม่สูบหรี่
- ไม่เสพสารเสพติด
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ควบคุมน้ำหนักตัวเองให้พอดี
- หลีกการสัมผัสสารพิษหรือสารเคมีอันตราย หากต้องทำงานที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีอันตราย เช่น ในอุตสาหกรรมยางหรือเหมืองถ่านหิน ต้องสวมชุดป้องกันให้มิดชิด
- ไม่รับประทานอาหารรสเค็มจัดและอาหารประเภทรมควัน
- พยายามกินผักและผลไม้ให้หลากหลาย
- ลดปริมาณการกินเนื้อแดงและเนื้อแปรรูป เช่น แฮม เบคอน ไส้กรอก เป็นต้น
- เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะทุกครั้งตามคำแนะนำของแพทย์
มะเร็งกระเพาะอาหารระยะสุดท้ายรักษาหายไหม ?
มะเร็งกระเพาะระยะสุดท้ายไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถบรรเทาอาการและปรับปรุงคุณภาพชีวิตได้โดยใช้เคมีบำบัด
มะเร็งกระเพาะระยะเริ่มต้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่บางกรณีไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้หากไม่สามารถผ่าตัดได้หรือไม่สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งออกได้ทั้งหมด
มะเร็งกระเพาะ จัดเป็นโรคร้ายที่โอกาสรักษาหายขาดน้อยกว่ามะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ จากบทความมีปัจจัยหลายอย่างช่วยให้การรักษาและการป้องกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญคือการได้รับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องจากทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์และความชำนาญ รวมถึงการเลือกโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือทันสมัยพร้อมจะช่วยให้การป้องกันและการรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด