วัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีกี่ชนิด? ไขทุกข้อสงสัยของวัคซีน


วัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีกี่ชนิด? ไขทุกข้อสงสัยของวัคซีน

แม้ว่า ไข้หวัดใหญ่ จะสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพียงครั้งเดียวก็จะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิตเหมือนกับวัคซีนชนิดอื่นๆ แต่จริงๆ แล้ว วัคซีนไข้หวัดใหญ่จำเป็นต้องฉีดทุกปี เนื่องจากสายพันธุ์ของไวรัสจะมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอด

ทำความรู้จัก วัคซีนไข้หวัดใหญ่

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกชนิดจะทำขึ้นเพื่อป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ 3-4 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่หน่วยงานด้านการเฝ้าระวังการระบาดของไข้หวัดใหญ่ระดับโลกแนะนำว่า เป็นสายพันธุ์ที่จะมีการระบาดมากที่สุดในปีนั้นๆ 

วัคซีนไข้หวัดใหญ่จะผลิตจากเชื้อไวรัสที่ตายแล้ว ส่วนใหญ่จะฉีดที่กล้ามเนื้อต้นแขน แต่ในทารกและเด็กเล็กจะฉีดที่กล้ามเนื้อต้นขา ส่วนการฉีดเข้าใต้ชั้นผิวหนังสามารถทำได้ในผู้ที่มีอายุ 18-64 ปี

นอกจากนี้ยังมีวิธีการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ด้วยการพ่นทางจมูก โดยวัคซีนรูปแบบนี้จะผลิตจากไวรัสที่มีชีวิตแต่ถูกทำให้อ่อนแอลง วัคซีนชนิดนี้จึงต้องใช้ในคนที่แข็งแรงเท่านั้น โดยมีอายุระหว่าง 2-49 ปี และไม่ได้อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ 

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแนะนำว่า เด็กอายุ 2-8 ปี ควรใช้วิธีพ่นวัคซีนทางจมูก เนื่องจากมีประสิทธิภาพดีกว่าแบบฉีด แต่ถ้าไม่มีก็สามารถใช้แบบฉีดตามปกติได้

ทั้งนี้แนะนำว่า ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไปควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในปริมาณสูงกว่าปกติ เนื่องจากมีการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (The New England Journal of Medicine)  ค.ศ. 2014 ว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในปริมาณสูงสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุได้ดีกว่าโดยไม่เพิ่มผลข้างเคียง

อย่างไรก็ตาม วัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ได้มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อไวรัสได้ 100% ผู้ที่ได้วัคซีนยังมีโอกาสเป็นไข้หวัดใหญ่ได้เพียงแต่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่น้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน

ควรไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือไม่?

ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง ตามคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ รวมถึงผู้ที่ทำงานกับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่

  • ครอบครัวที่มีเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน (เพราะเด็กไม่สามารถฉีดวัคซีนได้จึงเสี่ยงติดเชื้อ)
  • ผู้ที่มีโรคหัวใจ หรือโรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคไต โรคเลือด หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ
  • หญิงตั้งครรภ์
  • ผู้ที่อาศัยในบ้านพักผู้ป่วย หรือบ้านพักคนชรา
  • บุคลากรทางการแพทย์
  • ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

ผลข้างเคียงของวัคซีนไข้หวัดใหญ่

ผลข้างเคียงของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่พบมากที่สุดคือ อาการปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน บางคนอาจมีไข้ต่ำๆ และปวดเมื่อยเนื้อตัว แต่มีบางกรณีซึ่งเกิดได้น้อยมากคือ ผู้ได้รับวัคซีนจะมีอาการแพ้อย่างรุนแรง อาการเหล่านี้จะปรากฏภายใน 2-3 นาที ถึง 2-3 ชั่วโมงหลังฉีด 

นอกจากนี้บางรายอาจมีอาการหายใจไม่สะดวก เสียงแหบ หรือหายใจมีเสียงดัง ลมพิษ ซีดขาว อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หรือเวียนศีรษะ หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

ผลข้างเคียงของวัคซีนไข้หวัดใหญ่พ่นจมูกที่พบในผู้ใหญ่คือ

  • ไอ
  • ปวดศีรษะ
  • น้ำมูกไหล
  • เจ็บคอ

ผลข้างเคียงของวัคซีนไข้หวัดใหญ่พ่นจมูกที่พบในเด็ก คือ

  • ไข้
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • น้ำมูกไหล
  • อาเจียน
  • หายใจหอบมีเสียงวี๊ดๆ

ใครที่ไม่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

กลุ่มคนต่อไปนี้ได้รับคำแนะนำว่า ไม่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

  • ผู้ที่เคยมีอาการแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่รุนแรงมาก่อน
  • ผู้ที่เป็นโรคหรือกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร่
  • ผู้ที่ยังมีภาวะที่ทำให้มีไข้อยู่ (นอกจากไข้หวัดทั่วไป)

หลายปีก่อนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทั่วไปจะมีส่วนผสมของโปรตีนจากไข่ปริมาณเล็กน้อย (และอาจยังมีอยู่ในปัจจุบัน) ดังนั้นผู้ที่แพ้ไข่ควรฉีดวัคซีนด้วยความระมัดระวัง 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบรีคอมบิแนนท์ (Recombinant influenza vaccine) ซึ่งใช้ชื่อการค้าว่า ฟลูบล๊อก (Flublok) เป็นวัคซีนที่ไม่มีส่วนผสมของโปรตีนไข่และได้รับอนุญาตให้ใช้ในผู้ที่มีอายุ 18-49 ปี 

สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ไข่เล็กน้อย ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคมีแนวทางการปฏิบัติแนะนำ ดังนี้

  • ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบรีคอมบิแนนท์ หรืออาร์ไอวี (RIV)
  • ฉีดวัคซีนแบบธรรมดากับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้เกี่ยวกับการแพ้โปรตีนไข่และสามารถดูแลได้ถ้ามีอาการแพ้
  • เฝ้าสังเกตอาการ 30 นาที หลังฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่กับบุคลากรทางการแพทย์

เปรียบเทียบราคาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (อายุ 6 เดือน - 14 ปี)

คลินิก/โรงพยาบาล ราคา
โรงพยาบาลพญาไท 1 (เขตพญาไท) 550
โรงพยาบาลพญาไท 2 (เขตพญาไท) 750


เปรียบเทียบราคาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (อายุ 15 ปีขึ้นไป)

คลินิก/โรงพยาบาล ราคา
โรงพยาบาลนครธน (บางขุนเทียน) 675
โรงพยาบาลธนบุรี 1 (เขตบางกอกน้อย) 790
โรงพยาบาลพญาไท 1 (เขตพญาไท) 900
โรงพยาบาลยันฮี (เขตบางพลัด) 940
โรงพยาบาลเพชรเวช (เขตห้วยขวาง) 950
โรงพยาบาลพญาไท 2 (เขตพญาไท) 990

เปรียบเทียบราคาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ + วัคซีนปอดบวม

คลินิก/โรงพยาบาล ราคา หมายเหตุ
โรงพยาบาลพญาไท 1 (เขตพญาไท) 2,600 วัคซีนโรคปอดบวม (PNEUMOVAX 23 สายพันธุ์) สำหรับผู้ที่เคยรับวัคซีนปอดบวมมาแล้ว
โรงพยาบาลพญาไท 1 (เขตพญาไท) 3,700 วัคซีนโรคปอดบวม (Prevnar 13 สายพันธุ์) สำหรับผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนปอดบวมมาก่อน

ไข้หวัดใหญ่อันตรายกว่าที่คิด เป็นโรคระบาดที่ไม่ควรมองข้าม ยิ่งหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ย่อมมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอันนำไปสู่การเสียชีวิตได้ง่าย ดังจะเห็นได้จากสถิติผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ของประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้นๆ ทุกปี ในปีนี้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 - 15 สิงหาคม 2562 พบผู้ป่วยทั่วประเทศกว่า 2.2 แสนราย เสียชีวิต 16 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุ 5-9 ปี 0-4 ปี และ 10-14 ปี ตามลำดับ 

คำถามที่พบบ่อย

คำถาม: หากเคยเป็นปอดติดเชื้อแบคทีเรีย จำเป็นต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 23 สายพันธุ์ ไหม และสามารถฉีดได้หรือไม่

คำตอบ: สำหรับข้อมูลส่วนนี้ขอแยกออกเป็น 2 ส่วน

  • ส่วนที่ 1 คือ เคยติดเชื้อปอดอักเสบมาแล้ว สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบได้หรือไม่ คำตอบคือ สามารถฉีดได้ เนื่องจากโรคปอดอักเสบ สามารถเกิดได้จากทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย วัคซีนที่มีป้องกันจะเป็นวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบจากเชื้อกลุ่มนิวโมคอคคัส

    ซึ่งมีกว่า 90 สายพันธุ์ วัคซีนกลุ่มนี้จะมีแพร่หลายคือ แบบ 23 และ 13 สายพันธุ์ สามารถพิจารณาฉีดได้ และนิยมฉีดในกลุ่มที่มีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้สูงอายุค่ะ

  • ส่วนที่ 2 คือ หากเคยติดเชื้อปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียมาแล้ว สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ และแนะนำให้ฉีดเป็นประจำทุกปี เนื่องจากไข้หวัดใหญ่เป็นเชื้อไวรัสและมีหลายสายพันธุ์ แต่ละปีจะมีการคาดการณ์การระบาดต่างๆกันไป ควรติดตามข่าวจากองค์การอนามัยโลกและฉีดทุกปี

แม้วัคซีนไข้หวัดใหญ่จะป้องกันโรคได้ไม่ถึง 100% แต่ก็ช่วยชะลอความรุนแรงของโรคและประหยัดค่ารักษาพยาบาลได้ ดังนั้นป้องกันไว้ก่อนปลอดภัยกว่า 

ดูแพ็กเกจฉีดโบท็อกซ์ เปรียบเทียบราคา โปรโมชันล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat