ผ่าฟันฝัง แก้ปัญหาฟันซ่อนตัวอยู่ใต้เหงือก

เมื่อพูดถึงปัญหาฟันที่ขึ้นอย่างไม่เหมาะสมจนต้องผ่าออก อย่างแรกที่หลายคนนึกออกก็คงหนีไม่พ้น “ฟันคุด” อย่างแน่นอน

แต่จริงๆ แล้วนอกจากฟันคุดแล้ว ยังมีฟันที่ขึ้นผิดตำแหน่งอีกประเภทหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้จัก นั่นก็คือ “ฟันฝัง” นั่นเอง ซึ่งหากตรวจพบเมื่อไร ทันตแพทย์ก็มักจะแนะนำให้ผ่าตัดนำฟันฝังออก เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ฟันประเภทนี้สร้างปัญหาให้กับฟันซี่อื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง หรือที่เราเรียกการทำหัตถการประเภทนี้ว่า “ผ่าฟันฝัง”

ฟันฝังคืออะไร?

ฟันฝัง (Embedded Tooth) คือ ฟันที่ฝังตัวอยู่ใต้กระดูกขากรรไกรและไม่สามารถขึ้นพ้นจากเหงือกได้ จัดเป็นอีกประเภทฟันที่ผิดปกติคล้ายคลึงกับฟันคุด (Impacted Tooth) แต่จะแตกต่างกันตรงที่ฟันคุดจะโผล่พ้นขึ้นมาจากเหงือกทั้งหมดหรือเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง และมักอยู่ในตำแหน่งฟันกรามเท่านั้น

ในขณะที่ฟันฝังจะไม่โผล่ขึ้นมาพ้นเหงือกเลย และจะตรวจพบได้อย่างชัดเจนผ่านการเอกซเรย์ช่องปากเท่านั้น นอกจากนี้ฟันฝังยังสามารถพบได้ที่ตำแหน่งใดก็ได้ของแถวฟัน ไม่ว่าจะเป็นฟันกราม ฟันหน้า หรือฟันซี่ด้านข้าง

ผ่าฟันฝังคืออะไร?

ผ่าฟันฝัง (Embedded Tooth Surgery) คือ การผ่าตัดเพื่อนำฟันฝังออกจากใต้เหงือกหรือกระดูกขากรรไกร เพื่อลดโอกาสเกิดความเสียหายภายในช่องปากที่มีสาเหตุมาจากฝังตัวอยู่ใต้เหงือกของฟันฝัง

การผ่าฟันฝังสามารถแบ่งวัตถุประสงค์หลักๆ ออกได้ 2 ข้อ ได้แก่

  1. การผ่าฟันฝังเพื่อนำฟันฝังออกจากช่องปาก เหมือนกับการผ่านำฟันคุดหรือฟันที่ซี่ที่เสียหายออกไป
  2. การผ่าฟันฝังเพื่อดึงฟันฝังให้กลับมาตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม นิยมใช้ในกรณีที่ฟันฝังอยู่ในตำแหน่งสำคัญมากๆ และไม่ควรถอนออก แต่ควรปรับตำแหน่งให้กลับมาตั้งอยู่กับแถวฟันตามปกติแทน

จากวัตถุประสงค์ทั้ง 2 ข้อนี้จึงทำให้กระบวนการผ่าตัดฟันฝังแตกต่างกันไปด้วย โดยแบ่งออกได้ 2 วิธี ได้แก่

  • การผ่าตัดฟันฝังทั่วไป (Impacted Tooth) เป็นการผ่าตัดเปิดเหงือกเพื่อถอนนำฟันฝังออก
  • การผ่าตัดเพื่อดึงฟันฝัง (Artificial Eruption) เป็นการผ่าตัดเปิดเหงือกเช่นกัน แต่เปลี่ยนจากการถอนฟันฝังออก เป็นการใส่อุปกรณ์จัดฟันที่ตัวฟันฝังแทน จากนั้นรอเวลาให้ตัวฟันค่อยๆ ขยับเปลี่ยนตำแหน่งและงอกพ้นจากเหงือก

ใครควรผ่าฟันฝัง?

ผู้ที่ตรวจพบฟันฝังเกือบทุกคนมักได้รับคำแนะนำให้นำฟันฝังออก แต่จะด้วยวิธีการแบบไหน ทันตแพทย์จะเป็นผู้ประเมินผ่านการตรวจดูตำแหน่ง ลักษณะ และจำนวนฟันฝังที่ตรวจพบ

ใครไม่ควรผ่าฟันฝัง?

แม้ผู้ที่มีฟันฝังส่วนใหญ่จะได้รับคำแนะนำให้เอาออก แต่ทันตแพทย์อาจยกเว้นในบางกรณี ดังนี้

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด ควรปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดก่อนการผ่าฟันฝัง เช่น หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิต โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาสเตียรอยด์ในการรักษา
  • ผู้ที่มีฟันซี่อื่นๆ ผิดปกติหรือมีโรคภายในช่องปากอื่นๆ เช่น ฟันผุ โรคปริทันต์อักเสบ ทันตแพทย์อาจพิจารณาให้รับการรักษาฟันส่วนนั้นๆ ก่อนผ่าฟันฝัง หรืออาจมีการลำดับแนวทางการรักษาฟันใหม่ ขึ้นอยู่กับความผิดปกติที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะมีเงื่อนไขตรงกับข้อใด ก็ไม่ควรตัดสินใจเอาเองว่าต้องผ่าฟันฝังออกหรือไม่ แต่ควรเข้าปรึกษาทันตแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้ถูกต้องต่อไป

ผ่าฟันฝังเจ็บไหม?

ผู้เข้ารับบริการมีโอกาสเกิดความรู้สึกเจ็บได้บ้างในขั้นตอนการฉีดยาชาที่เหงือก และในช่วงหลังยาชาหมดฤทธิ์ที่อาจเกิดความรู้สึกเจ็บระบมได้ แต่โดยทั่วไปแพทย์จะมีการจ่ายยาแก้ปวดให้ ร่วมกับให้คำแนะนำในการดูแลแผลเพื่อบรรเทาอาการ

ผ่าฟันฝังบวมกี่วัน?

อาการบวมหลังผ่าฟันฝังจะขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายผู้เข้ารับบริการแต่ละท่าน รวมถึงความรุนแรงของอาการบวมที่ไม่เท่ากันด้วย ผู้เข้ารับบริการบางท่านอาจมีอาการบวมเพียง 1-2 วันเท่านั้น หรือบางท่านก็อาจมีอาการบวมนานถึง 3-5 วัน

การเตรียมตัวก่อนผ่าฟันฝัง

การผ่าฟันฝังถือเป็นการผ่าตัดชนิดหนึ่งเช่นกัน จึงต้องอาศัยการเตรียมตัว เพื่อให้ร่างกายพร้อมสำหรับการผ่าตัด และลดโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ดังนี้

  • ผู้เข้ารับบริการต้องตรวจสุขภาพฟันอย่างละเอียดกับทันตแพทย์เสียก่อน
  • แจ้งประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว ยาประจำตัวทุกชนิด รวมถึงวิตามินเสริม อาหารเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพทุกชนิดก่อนการผ่าตัด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ผู้เข้ารับบริการอาจต้องงดยาประจำตัวบางชนิดล่วงหน้าก่อนผ่าตัด เช่น ยากลุ่มที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด
  • งดสูบบุหรี่และงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด
  • ไม่ควรกินอาหารมื้อใหญ่ก่อนผ่าตัด หรือกินเผื่อเวลาย่อยอาหารสัก 1-2 ชั่วโมง เพื่อลดโอกาสคลื่นไส้อาเจียนหรือจุกแน่นระหว่างผ่าตัด

ขั้นตอนการผ่าฟันฝัง

ขั้นตอนการผ่าฟันฝังอาจมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน และคลินิกทันตกรรมที่ให้บริการ แต่โดยหลักๆ มักมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. ทันตแพทย์ฉีดยาชาเฉพาะจุดบริเวณเหงือกที่ต้องผ่าเปิดแผล ในบางสถานพยาบาลยังมีการทายาชาให้ก่อนด้วย เพื่อลดอาการเจ็บเหงือกเมื่อฉีดยาชา
  2. ทันตแพทย์ผ่าเปิดเหงือกและนำฟันฝังออกจากใต้เหงือก หรือหากเป็นการผ่าตัดเพื่อดึงฟันฝัง ทันตแพทย์จะติดอุปกรณ์จัดฟันที่ตัวฟันฝัง ส่วนมากมักเป็นอุปกรณ์จัดฟันแบบกระดุมหรือตะขอแบรคเก็ต
  3. ในผู้เข้ารับบริการบางรายอาจมีการกรอตกแต่งกระดูกหลังผ่าฟันฝังด้วย
  4. ทันตแพทย์ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ
  5. เย็บปิดแผล

การดูแลตัวเองหลังผ่าฟันฝัง

การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดก็ถือเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่จะทำให้การรักษาประสบความสำเร็จ ลดโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนไม่พึงประสงค์ โดยการดูแลตัวเองที่ทันตแพทย์มักแนะนำ อาจมีดังนี้

  • 2 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด ทันตแพทย์จะให้กัดผ้าก๊อซเอาไว้ให้แน่นเพื่อห้ามเลือดที่ยังไหลจากแผล หลังผ่านไป 1 ชั่วโมงหากเลือดยังไม่หยุดไหล สามารถเปลี่ยนผ้าก๊อซเป็นชิ้นใหม่ได้ และให้กัดไว้จนกว่าเลือดจะหยุดไหล
  • สามารถแปรงฟันได้ตามปกติ แต่ให้แปรงเบาๆ ตรงส่วนแผลผ่าตัด
  • ช่วง 3 วันแรกหลังผ่าตัด หากมีน้ำลายปนเลือด ให้กลืนได้เลย งดการบ้วนน้ำลายหรือบ้วนปาก เพราะจะทำให้เลือดไหลมากกว่าเดิมได้
  • ประคบเย็นในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด เพื่อลดอาการบวมและการอักเสบ
  • หลังจากครบ 48 ชั่วโมง ให้เปลี่ยนเป็นประคบอุ่นแทนเพื่อลดการคั่งเลือด และให้หลอดเลือดขยายตัว
  • งดการใช้ลิ้นหรือปลายนิ้วไปสัมผัส แคะ แกะ หรือดุนแผลผ่าตัด เนื่องจากอาจทำให้แผลฉีกขาดหรือเกิดอาการเจ็บได้
  • งดสูบบุหรี่และงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด
  • งดการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง การเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายหนักๆ ประมาณ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด เพื่อลดการกระทบกระเทือนของแผลผ่าตัด
  • กินอาหารที่มีเนื้อนุ่ม หรือเป็นน้ำ แต่ทั้งนี้ให้ปรึกษากับทันตแพทย์อีกครั้ง เนื่องจากในปัจจุบันการผ่าตัดเกี่ยวกับฟันคุดหรือฟันฝังมักมีแผลขนาดเล็ก ผู้เข้ารับบริการอาจกินอาหารได้ตามปกติเหมือนกับก่อนผ่าตัด และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนกิจวัตรการกินแต่อย่างใด
  • กินยาฆ่าเชื้อที่แพทย์สั่งจ่ายให้หมดทั้งแผง ถึงแม้แผลจะหายบวมหรือไม่มีอาการเจ็บแล้วก็ตาม
  • สามารถกินยาแก้ปวดเพื่อลดอาการปวดได้ โดยทั่วไปทันตแพทย์จะมีการจ่ายยาให้ควบคู่ไปกับยาฆ่าเชื้อ หากอาการปวดบรรเทาลงแล้วก็สามารถหยุดกินได้
  • มาตรวจแผลหรือตรวจการเคลื่อนที่ของฟันฝังตามนัดหมายของทันตแพทย์

ผลข้างเคียงของการผ่าฟันฝัง

ผลข้างเคียงจากการผ่าฟันฝังที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่

  • อาการบวม แต่ส่วนมากจะกินเวลาเพียง 1-3 วันก็จะบรรเทาลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายผู้เข้ารับบริการแต่ละคน
  • อาการปวดระบมแผล ในผู้เข้ารับบริการบางท่านอาจปวดหรือระบมจนขยับใบหน้าหรือพูดไม่สะดวก แต่อาการนี้มักกินเวลา 1-2 วัน จากนั้นก็จะบรรเทาลง และสามารถลดอาการได้ด้วยการกินยาแก้ปวดกับประคบเย็น
  • เลือดไหลจากแผล มักพบได้ในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด หลังจากนั้นเลือดจะค่อยๆ หยุดไหลไปเอง

ไม่ผ่าฟันฝังได้ไหม?

โดยส่วนมากเมื่อตรวจพบฟันฝัง ผู้เข้ารับบริการจะได้รับคำแนะนำให้ผ่าออก ไม่แนะนำให้เก็บเอาไว้ เนื่องจากมีโอกาสที่ฟันฝังจะไปเบียดหรือกดให้ฟันซี่อื่นล้มหรือตั้งผิดตำแหน่งได้ในภายหลัง

ทันตแพทย์จะเป็นผู้ให้คำตอบเกี่ยวกับช่วงเวลาในการผ่าฟันฝังอย่างเหมาะสม ในผู้เข้ารับบริการบางท่านอาจควรผ่าฟันฝังโดยทันที บางท่านอาจยังพอประวิงเวลาต่อไปได้อีกสักพัก ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและจำนวนฟันฝังที่ตรวจพบ

นอกจากจะเป็นฟันที่สามารถสร้างผลกระทบรุนแรงต่อช่องปากได้แล้ว อีกสิ่งที่น่ากลัวของฟันฝังก็คือ เป็นฟันที่ไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยตาเปล่า แต่ก็มองเห็นได้ผ่านการถ่ายภาพเอกซเรย์เท่านั้น จึงจะเห็นปัญหาของฟันประเภทนี้ได้อย่างหมดจดที่สุด

การตรวจสุขภาพฟันซึ่งจะมีการถ่ายภาพเอกซเรย์ดูโครงสร้างฟันอย่างละเอียดร่วมด้วย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราสามารถมองเห็นฟันฝังที่ซ่อนอยู่ใต้เหงือกได้ ด้วยเหตุนี้ทันตแพทย์ทุกท่านจึงมักย้ำเตือนให้ทุกคนเดินทางมาตรวจสุขภาพฟันอย่างสม่ำเสมอไม่ให้ขาด

เพราะหากตรวจพบฟันฝังช้าไป มีแนวโน้มที่คุณอาจจะต้องถอนฟันซี่อื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากฟันฝังไปด้วยได้ ซึ่งทั้งทำให้เสียความมั่นใจ เสียคุณภาพชีวิต และเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนไม่น้อย เนื่องจากหลายคนอาจต้องใช้วิธีทำฟันปลอมหรือทำรากฟันเทียม เพื่อทดแทนฟันที่เสียไปจากฟันฝัง

เช็กราคาแพ็กเกจผ่าฟันฝัง ผ่านแพ็กเกจทำทันตกรรมเพื่อสุขภาพช่องปากที่แข็งแรงสมบูรณ์บนหน้าเว็บไซต์ HDmall.co.th

Scroll to Top