หนังตาตก คืออะไร? ข้อมูลโรค อาการ รักษา ข้อควรระวัง

ภาวะหนังตาตก เป็นภาวะที่มักเกิดจากภาวะทางการแพทย์อื่นๆ ตามปกติแล้วไม่ได้นับเป็นโรค แต่หากมีความรุนแรงมาก ก็อาจส่งผลต่อความสามารถในการมองเห็นได้

อาการหลักของภาวะหนังตาตก คือ เปลือกตาบนหย่อนลงอย่างเห็นได้ชัด ภาวะนี้สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยอาจมีอาการเช่นนี้กับเปลือกตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างพร้อมกันก็ได้

ผู้ที่เกิดมาพร้อมกับภาวะเปลือกตาหย่อน จะถูกจัดว่าเป็นกลุ่มที่มีภาวะหนังตาตกตั้งแต่กำเนิด (Congenital Ptosis) ซึ่งบางคนอาจมีสัญญาณเตือนคือเปลือกตาไม่เสมอกัน หรือมีรอยย่นของเปลือกตาไม่เท่ากัน ก่อนที่จะมีภาวะหนังตาตก

สาเหตุของภาวะหนังตาตก

มีปัจจัยมากมายที่ทำให้เกิดภาวะหนังตาตก ตัวอย่างเช่น

  • ปัจจัยทางกล้ามเนื้อที่เกิดกับกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนที่ขึ้นลงของเปลือกตา (Levator Muscles)
  • ความเสียหายที่เกิดจากเส้นประสาท มักมาจากโรคฮอร์เนอร์ (Horner’s Syndrome) ที่ใบหน้าและดวงตา
  • เป็นผลมาจากโรคอื่นๆ ได้แก่ ภาวะหลอดเลือดสมอง (Stroke) การบาดเจ็บที่สมอง การบาดเจ็บที่ไขสันหลัง และโรคมะเร็งปอด
  • ภาวะทางการแพทย์ที่เป็นภาวะเรื้อรัง เช่น เบาหวาน (Diabetes) และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis) ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหนังตาตกได้

การวินิจฉัยภาวะหนังตาตก

เด็กและผู้ใหญ่ที่มีภาวะหนังตาตก ควรเข้ารับการตรวจดวงตาด้วยการทดสอบการมองเห็นที่ใช้แผนผังดวงตา (Eye Chart) เพื่อวินิจฉัยว่าภาวะหนังตาตก ส่งผลต่อการมองเห็นหรือไม่ รวมถึงการเอกซเรย์เพื่อตรวจความผิดปรกติของโครงสร้างรอบดวงตา ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุของภาวะหนังตาตก

นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาให้มีการตรวจเลือด เพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวานและโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของภาวะดังกล่าว

การรักษาภาวะหนังตาตก

การรักษาภาวะหนังตาตกจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เกิดขึ้น หากเกิดจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง แพทย์อาจจ่ายยานีโอสติกมีน (Neostigmine) และไพริโดสติกมีน (Pyridostigmine) ที่ช่วยให้กล้ามเนื้อและเส้นประสาททำงานประสานกันได้มากขึ้น เพื่อบรรเทาภาวะหนังตาตกกับอาการอื่นๆ จากโรคนี้ก่อน

แต่หากภาวะหนังตาตกเกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิด ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดรัดกล้ามเนื้อให้แน่นเพื่อยกเปลือกตาขึ้น แม้หลังการผ่าตัดอาจทำให้ดวงตาปิดเปิดลำบากบ้าง แต่หลังจากที่ฟื้นตัวดีแล้วก็จะทำให้เปลือกตากลับเป็นปกติ

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดนี้อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็น การมีเปลือกตาไม่สมมาตร การมีรอยย่นของเปลือกตาที่ไม่เป็นธรรมชาติ และการผ่าตัดที่ล้มเหลวจนทำให้เปลือกตาปิดลงโดยสมบูรณ์

ดังนั้น การผ่าตัดจึงมีไว้เพื่อรักษาภาวะหนังตาตกที่ส่งผลต่อการมองเห็นเท่านั้น

Scroll to Top