การตรวจ DNA พิสูจน์ความเป็นบิดามีวัตถุประสงค์เพื่อระบุความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลว่าใครเป็นผู้กำเนิดเด็ก และยังสามารถตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือดในเครือญาติ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อาได้อีกด้วย
นอกจากนี้ การตรวจ DNA ยังทำเพื่อการสร้างความสบายใจแก่บุคคลนั้นๆ หรือนำผลการตรวจ DNA ไปใช้ในทางกฎหมายได้เช่นกัน ซึ่งจะมีวิธีการอย่างไร หรือมีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน บทความนี้อธิบายอย่างละเอียด
สารบัญ
ตรวจ DNA พ่อลูกคืออะไร?
DNA หรือรหัสพันธุกรรมที่มีการสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น สามารถใช้พิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลได้ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างบิดาและบุตร ซึ่งจะมีการเก็บตัวอย่างจากเยื่อบุกระพุ้งแก้ม หรือสารคัดหลั่งจากร่างกายมาใช้ตรวจหา DNA
คนส่วนใหญ่นิยมตรวจ DNA ความเป็นพ่อลูกด้วยวัตถุประสงค์ ดังนี้
- ตรวจ DNA ความเป็นพ่อลูกเพื่อความแน่ใจ หาคำตอบว่าแท้จริงแล้วบิดากับบุตรมีสายเลือดเดียวกันหรือไม่
- ตรวจ DNA ตามวัตถุประสงค์ทางกฎหมาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาล ซึ่งจะเป็นที่ตรวจ DNA ที่มีขั้นตอนที่รัดกุมและได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด
- ตรวจ DNA สำหรับใช้ในทางการแพทย์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลประวัติสุขภาพของบิดาที่อาจเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพของเด็กในระยะยาว
ตรวจ DNA พ่อลูก มีวิธีอย่างไร?
เชื่อว่าหลายคนที่เคยดูภาพยนตร์ ดูละครทีวีก็อาจเคยเห็นวิธีการเก็บตัวอย่างพวกเส้นผม ลายนิ้วมือ หรือน้ำลายเพื่อนำไปตรวจหา DNA กันมาบ้างแล้ว
แต่จริงๆ แล้ว การตรวจ DNA ความเป็นพ่อลูกสามารถทำได้หลายวิธี โดยแบ่งเป็นการตรวจ DNA ตั้งแต่เด็กยังอยู่ในครรภ์ และการตรวจ DNA หลังคลอดออกมาแล้ว ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
การตรวจ DNA ระหว่างตั้งครรภ์
การตรวจ DNA เพื่อพิสูจน์ความเป็นพ่อลูกสามารถทำได้โดยไม่ต้องรอเด็กคลอดออกมา ซึ่งผลลัพธ์การทดสอบก็ค่อนข้างมีความแม่นยำสูงพอๆ กับการตรวจ DNA ความเป็นพ่อลูกหลังคลอด โดยสามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่
- Non-invasive Prenatal Paternity (NIPP) วิธีการตรวจ DNA ความเป็นพ่อลูกโดยใช้ตัวอย่างเป็น DNA ของเด็กที่ปะปนอยู่ในเลือดของผู้เป็นแม่ ถือเป็นวิธีการตรวจ DNA ที่ได้มาตรฐานสากล และได้รับความนิยมสูงเมื่อต้องการพิสูจน์ DNA ในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ สามารถทำได้ตั้งแต่ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
- Chorionic Villus Sampling (CVS) หรือการใช้เนื้อเยื่อจากรกในครรภ์ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่เพียงใช้สำหรับการตรวจหาโรคทางพันธุกรรมแล้ว ยังสามารถใช้ตรวจพิสูจน์ความเป็นบิดาได้อีกด้วย โดยจะเก็บเนื้อเยื่อรกจากบริเวณปากมดลูก สามารถทำได้ในช่วงอายุครรภ์ 10-13 สัปดาห์ แต่เป็นวิธีที่ไม่นิยม เพราะอาจเสี่ยงต่อการแท้งได้
- เจาะน้ำคร่ำ โดยแพทย์จะดึงน้ำคร่ำจากครรภ์ออกมาเล็กน้อย และนำไปใช้ในขั้นตอนการตรวจ DNA เพื่อพิสูจน์ความเป็นบิดา นิยมตรวจในช่วงสัปดาห์ที่ 15-20 ของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามวิธีการตรวจ DNA ด้วยการเจาะน้ำคร่ำก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงการแท้งบุตรได้เช่นกัน
การตรวจ DNA หลังคลอด
สำหรับการตรวจ DNA ความเป็นพ่อลูกหลังเด็กคลอดออกมาแล้วถือเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน เพราะมีความปลอดภัยสูง และผลลัพธ์มีความแม่นยำมากถึง 99.99% สามารถทำได้ 2 วิธีด้วยกัน
- เจาะเลือด โดยแพทย์หรือพยาบาล อาจใช้เลือดจากเส้นเลือดดำบริเวณข้อพับแขนในผู้ใหญ่ หรือถ้าในเด็กอาจใช้เจาะเลือดบริเวณส้นเท้า ซึ่งจะใช้เลือดประมาณ 3-5 มิลลิลิตรเท่านั้น โดยจะเก็บทั้งตัวอย่างเลือดของผู้ที่สงสัยว่าเป็นบิดา และเด็ก
- เนื้อเยื่อกระพุ้งแก้ม โดยจะใช้สำลีก้าน หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ป้ายลงบริเวณกระพุ้งแก้มประมาณ 4-5 ครั้ง เพื่อเก็บเป็นตัวอย่างในการตรวจ DNA พิสูจน์ความเป็นบิดา
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการตรวจ DNA พิสูจน์ความเป็นพ่อลูก คือตัวอย่างจากผู้ที่เป็นพ่อและลูก อาจรวมถึงตัวอย่างของแม่ด้วยเพื่อให้ผลตรวจสมบูรณ์มากที่สุด
โดยส่วนใหญ่ตัวอย่างที่ใช้จะเป็นเยื่อบุกระพุ้งแก้ม มีข้อดีคือผู้เข้ารับบริการจะไม่เจ็บตัว และผลตรวจมีความแม่นยำกว่าการใช้ผลเลือด
ในกรณีที่ต้องการตรวจ DNA พิสูจน์ความเป็นพ่อลูกเพื่อนำไปใช้ในทางกฎหมาย ต้องเตรียมเอกสารสำคัญต่างๆ ร่วมด้วย เช่น บัตรประจำตัวประชาชน สูติบัตร หนังสือเดินทาง เอกสารเปลี่ยนชื่อ
ผลตรวจ DNA พ่อลูก แม่นยำแค่ไหน?
ผลการตรวจ DNA เพื่อพิสูจน์ความเป็นพ่อลูกนั้นจะมีความน่าจะเป็นอยู่ 2 ค่าด้วยกัน คือ 0% และ 99.99% ซึ่ง 0% หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและบิดาไม่ตรงกัน ไม่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดกันอย่างแน่นอน
ในทางกลับกัน ถ้าผลตรวจชัดเจนว่ามีความน่าจะเป็น 99.99% นั่นหมายถึงมีโอกาสที่บิดานั้นอาจเป็นพ่อของเด็กโดยกำเนิด
ตรวจ DNA พ่อลูก ใช้เวลากี่วัน?
การตรวจ DNA เพื่อพิสูจน์ความเป็นบิดา ไม่ว่าจะโดยวิธีตรวจ DNA ระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอดจะใช้ระยะเวลาประมาณ 7-10 วัน หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับการเก็บตัวอย่างว่าครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่
ถ้าไม่มีตัวอย่างจากฝั่งแม่ หรือตัวอย่างเกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคก็อาจใช้เวลานานมากขึ้น และจำเป็นต้องคำนวณระยะเวลาในการส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการที่อาจอยู่ต่างประเทศด้วย
ตรวจ DNA พ่อลูก เหมาะกับใคร?
- ผู้ที่ต้องการความสบายใจ และเพื่อเป็นการยืนยันในความเป็นบิดาและบุตร
- ผู้ที่ต้องการผลตรวจ DNA พิสูจน์ความเป็นบิดาไปใช้ในทางกฎหมาย เช่น การอ้างสิทธิเลี้ยงดูบุตร การอ้างสิทธิในกองมรดก หรือพินัยกรรม
- ผู้ที่ต้องการตรวจหาความเสี่ยงของโรคภัยไข้เจ็บ หรือโรคทางพันธุกรรมของพ่อที่อาจถ่ายทอดมาสู่ลูก
- ผู้ที่ต้องการตามหาบุคคลสาบสูญ
- ผู้ที่ต้องการสิทธิการได้สัญชาติ หรือการเข้าเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตรวจ DNA พ่อลูก
การตรวจ DNA พ่อลูกมีข้อจำกัดอะไรไหม?
การตรวจ DNA พ่อลูกมีข้อจำกัด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นในกรณีที่ตรวจ DNA เพื่อพิสูจน์ความเป็นพ่อลูกเพื่อใช้ในทางกฎหมาย จำเป็นต้องขออนุญาตผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นบิดา หรือได้รับการยินยอมจากเด็ก มารดา บิดา หรือผู้ปกครองก่อน รวมไปถึงอาจจำเป็นต้องใช้หนังสือจากหน่วยงานราชการร่วมด้วย
เด็กอายุเท่าไหร่ถึงจะตรวจ DNA พ่อลูกได้?
สามารถตรวจ DNA พ่อลูกได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือแม้แต่กระทั่งระหว่างตั้งครรภ์ก็สามารถตรวจได้ ถ้าเป็นเด็กทารกหรือเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี อาจจะต้องได้รับการอนุญาตจากผู้เป็นพ่อ แม่ ผู้ปกครองก่อนเข้ารับบริการตรวจ DNA เพื่อพิสูจน์ความเป็นพ่อลูก
ตรวจ DNA พ่อลูกต้องใช้ตัวอย่างจากแม่ไหม?
ไม่จำเป็น แต่ถ้าต้องการให้ผลตรวจ DNA พ่อลูกมีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด สามารถเก็บตัวอย่างของมารดามาใช้ในการตรวจ DNA พิสูจน์ความเป็นพ่อลูกร่วมด้วยได้
ต้องงดอาหารก่อนตรวจ DNA หรือไม่?
ไม่จำเป็นต้องงดน้ำ หรืออดอาหาร แต่แนะนำบ้วนปาก หรือแปรงฟันเพื่อทำความสะอาดช่องปากให้เรียบร้อยก่อนตรวจ DNA ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อปฏิบัติของสถานพยาบาลนั้นๆ ซึ่งบางที่ก็อาจให้งดอาหาร งดน้ำ หรือแม้แต่เลี่ยงการสูบบุหรี่ก่อนเข้ารับบริการ
ตรวจ DNA พ่อลูก เจ็บหรือไม่?
ไม่เจ็บ เพราะส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการเก็บตัวอย่างตรวจ DNA พ่อลูกจากเนื้อเยื่อกระพุ้งแก้ม กลับกันหากเป็นการใช้เลือดที่ต้องอาศัยการเจาะเลือด อาจรู้สึกเจ็บบริเวณที่เจาะเลือดได้