กะบังลม (Diaphragm) เป็นกล้ามเนื้อชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายร่มชูชีพที่กั้นระหว่างส่วนอกและส่วนท้อง กะบังลมทำหน้าที่เป็นพื้นของช่องอกและเพดานของช่องท้อง
สารบัญ
ลักษณะทางกายภาพของกะบังลม
กะบังลมมีช่องเปิดทะลุอยู่ 3 ช่อง ได้แก่
- ช่องที่มีหลอดอาหารผ่าน (The esophagus opening)
- ช่องที่มีเส้นเลือดและน้ำเหลืองสำคัญทั้งสามผ่าน (The aortic opening) ได้แก่ หลอดเลือดเอออร์ตา (Aorta) ท่อน้ำเหลืองทอราซิก (Thoracic duct) และหลอดเลือดอะไซกอส (Azygous vein)
- ช่องที่หลอดเลือดอินฟีเรีย เวนา คาวา (Inferior vena cava) ผ่าน (The canal opening) โดยหลอดเลือดดังกล่าว เป็นหลอดเลือดขนาดใหญ่ที่รับเลือดกลับมาจากส่วนขาและส่วนของร่างกายในตำแหน่งใต้หัวใจลงไป
กะบังลมสามารถมองได้ 2 ด้านหรือเรียกได้ว่า “Hemi-diaphragms” ซึ่งมาจากคำว่า “Hemi” ที่แปลว่า “ครึ่ง”
ทั้ง 2 ด้านของกะบังลมจะมีเส้นประสาทไปเลี้ยงทั้งฝั่งซ้ายและขวา เส้นประสาทนี้มีชื่อโดยรวมว่า “เส้นประสาทเฟรนิก” (Phrenic nerve) มีต้นกำเนิดมาจากเส้นประสาทบริเวณคอที่อยู่ในระดับกระดูกสันหลังส่วนคอ (Cervical vertebra)
ดังนั้นเส้นประสาทส่วนที่เลี้ยงกะบังลมฝั่งซ้ายจะเรียกว่า “เส้นประสาทเฟรนิกซ้าย” (Left Phrenic nerve) ส่วนเส้นประสาทที่เลี้ยงกะบังลมฝั่งขวาจะเรียกว่า “เส้นประสาทเฟรนิกขวา” (Right Phrenic nerve)
หน้าที่ของกะบังลม
กะบังลมทำหน้าที่เกี่ยวกับการหายใจเป็นหลัก โดยจะหดตัวเพื่อลดความดันในช่องอกเพื่อให้อากาศไหลเข้าช่องอก เมื่อกะบังลมคลายตัว อากาศก็จะไหลออกตาม
ส่วนมากกะบังลมจะหดตัวภายนอกการควบคุมจากจิตใจทำให้เราสามารถหายใจได้แม้ในยามนอนหลับ แต่กะบังลมก็สามารถหดตัวภายใต้อำนาจของจิตใจได้เช่นกัน
นอกจากการใช้กล้ามเนื้อกะบังลมสำหรับการหายใจเข้า หรือการเค้นหายใจออกเท่านั้น แต่ยังใช้ในการไอ การจาม การอาเจียน การปัสสาวะ การถ่ายอุจจาระ (ช่วยในการขยับลำไส้) และการคลอดบุตรด้วย
วิธีสร้างความแข็งแรงให้กับกะบังลม
โดยปกติแล้วคนเราจะหายใจผ่านกล้ามเนื้อซี่โครงเป็นหลัก ดังนั้นการหายใจโดยใช้กะบังลมจึงเป็นวิธีที่เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกะบังลมได้ เพื่อที่ร่างกายจะสามารถหายใจเอาอากาศเข้า-ออก มากขึ้น
การหายใจโดยใช้กะบังลมยังไม่ทำให้กล้ามเนื้ออกเหนื่อยล้าเกินไปและทำให้ไม่รู้สึกจุกเสียดบริเวณชายโครง จึงเหมาะสำหรับกลุ่มผู้ที่เป็นนักกีฬาประเภทวิ่ง
แต่วิธีหายใจโดยใช้กะบังลมจำเป็นต้องมีการฝึกฝนไม่ได้ง่ายนัก แต่หากทำได้ก็จะส่งผลต่อดีต่อร่างกายและทำให้กะบังลมแข็งแรงขึ้น
วิธีหายใจมีดังนี้
- เวลาหายใจเข้า ให้หายใจให้หน้าท้องพอง หรือขยายตัว หมายถึง กะบังลมของเรากำลังเคลื่อนตัวลง
- เวลาหายใจออก ให้หายใจให้หน้าท้องยุบลง เพื่อให้กล้ามเนื้อกะบังลมเคลื่อนตัวขึ้น
ภาวะความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับกะบังลม
การสะอึก
การสะอึก (Hiccups) คือ ช่วงเวลาที่กะบังลมเกิดความระคายเคือง เช่น เมื่อดื่มน้ำอัดลมจะทำให้เกิดการหดตัวภายนอกการควบคุมของจิตใจจนเกิดการสะอึกขึ้น โดยเสียงสะอึกเกิดจากการที่มีอากาศไหลออกในช่วงเดียวกับกะบังลมหดตัวนั่นเอง
ภาวะไส้เลื่อนกะบังลม
ไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatal hernia) เกิดจากกะบังลมส่วนที่มีหลอดอาหารผ่านเกิดความอ่อนแอจนหย่อนยาน ทำให้หลอดอาหารส่วนล่าง หรือกระเพาะอาหารสามารถทะลุจากช่องท้องเข้ามาในช่องอกได้จนทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease) ได้
นั่นทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสบร้อนที่หน้าอก หรือลิ้นปี่ (Heartburn) และเกิดอาการอาหารไม่ย่อย (Indigestion)
ภาวะไส้เลื่อนกะบังลมแต่กำเนิด
ภาวะไส้เลื่อนกะบังลมแต่กำเนิด (Congenital diaphragmatic hernia) มีโอกาสเกิดประมาณ 1 ในเด็ก 2,000 คน
อาการของภาวะนี้คือ กะบังลมข้างใดข้างหนึ่งไม่พัฒนา ทำใหอวัยวะภายในช่องท้องสามารถทะลุไปอยู่ในช่องอกได้ ซึ่งอาจทำให้ปอดไม่เจริญเติบโต (Pulmonary hypoplasia) ไปด้วย
ในปัจจุบันมีการศึกษาเพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีอาการดังกล่าว โดยทำการผ่าตัดใส่กะบังลมเทียมเข้าไปแทน
ภาวะอัมพาตของกะบังลม (Paralysis of the Diaphragm)
กะบังลมสามารถเข้าสู่ภาวะอัมพาตได้ทั้งแค่บางส่วน หรือทั้งส่วนของกะบังลม ขึ้นอยู่กับการทำลายเส้นประสาทที่มาเลี้ยง ซึ่งเส้นประสาทดังกล่าวสามารถถูกทำลายได้หลายวิธี ดังนี้
- จากการมีเนื้องอกในช่องอก บริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ หรือก้านสมองไปกดทับที่เส้นประสาทเฟรนิก เช่น มะเร็งในปอด
- จากอุบัติเหตุที่ช่องปอด โดยเฉพาะในส่วนที่มีเส้นประสาทไปเลี้ยง
- จากโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท เช่น เบาหวาน กลุ่มอาการกูเลน-แบร์ (Guillain-Barre syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และโรคกล้ามเนื้อลีบ (Muscular dystrophy)
เมื่อมีด้านใดด้านหนึ่งของกะบังลมเป็นอัมพาต จะทำให้การเคลื่อนที่ของกะบังลมผิดปกติ เช่น กะบังลมเคลื่อนที่ขึ้นขณะหายใจเข้า และเคลื่อนที่ลงขณะหายใจออก ทำให้เกิดการหายใจไม่อิ่ม โดยเฉพาะในขณะนอนหลับ
กะบังลมหย่อนคืออะไร
ผู้หญิงหลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ “อาการกะบังลมหย่อน” มาก่อน และอาจมีหลายคนสงสัยว่า อาการนี้เกี่ยวข้องกับอวัยวะกะบังลมที่ได้อธิบายไปข้างต้นหรือไม่
ความจริงแล้ว อาการกะบังลมหย่อนคือ ชื่อของโรคเฉพาะในผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับภาวะเคลื่อนต่ำของมดลูก รวมถึงการหย่อนของผนังช่องคลอด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอวัยวะกะบังลมที่ทำงานเกี่ยวกับระบบการหายใจแต่อย่างใด
บทความนี้คงทำให้หลายคนรู้จักกะบังลมมากยิ่งขึ้นว่า กะบังลมเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่เป็นพื้นของช่องอกและเพดานของช่องท้อง และมีบทบาทสำคัญต่อการหายใจ การไอ การจาม การอาเจียน การปัสสาวะ การถ่ายอุจจาระ (ช่วยในการขยับลำไส้) และการคลอดบุตรด้วย