ปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวานสูงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากพันธุกรรมแล้ว พฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบเสี่ยงๆ คือ สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยเป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัวจึงไม่ได้รับการรักษาและควบคุมอาการอย่างถูกต้อง บางรายกว่าจะรู้ตัวก็อาจอาการหนักแล้ว หรือมีภาวะแทรกซ้อน
ดังนั้น การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้ทุกคนสามารถดูแลตนเองได้แต่เนิ่นๆ
สารบัญ
- รู้จักโรคเบาหวาน
- ชนิดของโรคเบาหวาน
- ใครบ้างที่ควรตรวจเบาหวาน
- ตรวจเบาหวานทำได้กี่วิธี มีการเตรียมตัวอย่างไร
- การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (FPG)
- การตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1C)
- การตรวจระดับน้ำตาลที่เวลาใดเวลาหนึ่ง (RPG)
- การทดสอบด้วยน้ำตาลกลูโคส 50 กรัม (Glucose challenge test)
- การทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส (Oral glucose tolerance test; OGTT)
- ระดับน้ำตาลในเลือดเท่าไรจึงจะบอกว่า เป็นโรคเบาหวาน หรือภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
- เกณฑ์การตรวจเบาหวานสำหรับผู้ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์
- จะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นโรคเบาหวานชนิดใด
รู้จักโรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป เพราะมีความผิดปกติเกี่ยวกับอินซูลิน โดยอาจเกิดจากตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ หรือร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลินเท่าที่ควร ผู้ป่วยจะต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไปตลอดด้วยการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลต่ำ งดอาหารที่มีไขมันและแป้งสูงเกินไป หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ชนิดของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ เบาหวานชนิดที่ 1 เบาหวานชนิดที่ 2 และเบาหวานขณะตั้งครรภ์
โรคเบาหวานชนิดที่ 1
มักพบในเด็กและในผู้ใหญ่อายุน้อย สาเหตุเกิดจากเซลล์ตับอ่อนถูกทำลายซึ่งเป็นผลมาจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมจึงมักพบผู้ป่วยในครอบครัวเดียวกัน โรคเบาหวานชนิดนี้ต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลินเท่านั้น
โรคเบาหวานชนิดที่ 2
พบได้มากกว่าเบาหวานชนิดอื่นๆ ในอดีตโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักพบได้ในผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบันพบมากขึ้นในเด็กและวัยรุ่น มักเกิดร่วมกับโรคอ้วน หรือภาวะโภชนาการเกิน เบาหวานชนิดนี้รักษาได้ด้วยยารับประทาน แต่บางรายอาจต้องใช้ยาฉีดอินซูลินร่วมด้วย
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
โรคเบาหวานชนิดนี้เกิดขึ้นในหญิงบางรายที่ตั้งครรภ์และมักหายไปได้เองหลังจากคลอด แต่ก็มีบางรายที่พัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ภายหลัง นอกจากนี้ยังมีกรณีที่พบว่า ไม่ใช่เบาหวานขณะตั้งครรภ์แต่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2
ใครบ้างที่ควรตรวจเบาหวาน
การตรวจคัดกรองเบาหวานนั้นมีประโยชน์เพราะจะช่วยให้พบโรคได้เร็ว ทำให้แพทย์วางแผนการรักษาร่วมกับผู้ป่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนในอนาคตได้ดี ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้คนในกลุ่มต่อไปนี้เข้ารับการตรวจเบาหวาน
ผู้ที่มีอาการของโรคเบาหวาน
- หิวบ่อย กินจุ แต่น้ำหนักลดลง
- กระหายน้ำบ่อยๆ
- ปัสสาวะมากและบ่อย
- คันตามผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ
- อ่อนเพลีย
- ตาพร่ามัว
- ติดเชื้อบ่อยๆ
- เป็นแผลแล้วรักษายาก
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดเบาหวาน
- มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป
- อายุ 19-44 ปี มีน้ำหนักเกิน หรืออ้วน และมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานอื่นๆ อย่างน้อย 1 ปัจจัย
- เด็กอายุ 10-18 ปี ที่มีน้ำหนักเกิน หรืออ้วน และมีปัจจัยเสี่ยง เช่น น้ำหนักแรกคลอดน้อย มารดาเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือปัจจัยเสี่ยงข้ออื่นๆ
- มีพ่อแม่ หรือพี่น้องเป็นเบาหวาน
- หญิงที่กำลังตั้งครรภ์
- หญิงที่เคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน
- ผู้ที่อ้วนมากโดยเฉพาะอ้วนลงพุง
- ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
- ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ
- มีลักษณะที่บ่งบอกถึงภาวะดื้ออินซูลิน
ตรวจเบาหวานทำได้กี่วิธี มีการเตรียมตัวอย่างไร
ในการตรวจเบาหวานและภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) แพทย์จะตรวจจากค่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (Fasting plasma glucose: FPG) หรือค่าระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) ในบางกรณีอาจมีการตรวจค่าระดับน้ำตาลกลูโคสที่เวลาใดเวลาหนึ่ง (Random plasma glucose: RPG) ร่วมด้วย
การตรวจเบาหวานแต่ละวิธีมีรายละเอียดดังนี้
การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (FPG)
ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร หรือค่า FPG จะช่วยบอกระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด ณ เวลาที่ทำการเจาะเลือด ผู้ที่เข้ารับการตรวจนี้จะต้องงดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อให้ผลตรวจมีความแม่นยำ ผลจะแม่นยำที่สุดเมื่ออดอาหารตอนกลางคืนและตรวจเลือดในตอนเช้า แต่หากกระหายก็สามารถจิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย
การตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1C)
ระดับน้ำตาลสะสมในเลือด หรือค่า HbA1C จะช่วยบอกระดับน้ำตาลกลูโคสเฉลี่ยในช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ค่า HbA1C อาจเรียกอีกอย่างว่า ฮีโมโกลบินเอวันซี (Hemoglobin A1C)
ในการตรวจนี้ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร แต่หากต้องใช้ค่านี้สำหรับการวินิจฉัยโรคเบาหวาน แพทย์จะพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อายุ และดูว่า มีภาวะโลหิตจางหรือไม่ เพราะค่า HbA1C จะไม่แม่นยำในผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง
ค่า HbA1C ที่ตรวจได้จะแสดงผลเป็นร้อยละ (%) เช่น HbA1C = 7% เป็นต้น ยิ่งค่า % สูง ยิ่งหมายถึงมีค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูง
การตรวจระดับน้ำตาลที่เวลาใดเวลาหนึ่ง (RPG)
แพทย์อาจพิจารณาตรวจค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่เวลาใดเวลาหนึ่ง หรือค่า RPG หากผู้ป่วยมีอาการของโรคเบาหวานและไม่อยากรอเวลาการงดอาหาร เพราะการตรวจนี้ไม่ต้องอดอาหาร และสามารถตรวจได้ทุกเวลาที่ต้องการ
การทดสอบด้วยน้ำตาลกลูโคส 50 กรัม (Glucose challenge test)
หากคุณกำลังตั้งครรภ์ แพทย์อาจใช้การทดสอบนี้เป็นอันดับแรกในการตรวจเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยจะให้ดื่มสารละลายกลูโคสเข้มข้น 50 กรัม และเจาะเลือดหลังจากนั้น 1 ชั่วโมง การทดสอบนี้ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร หากผลการตรวจพบว่า ระดับน้ำตาลกลูโคสสูงอยู่ที่ 135-140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือสูงกว่านั้น จะต้องได้รับการตรวจอีก 1 อย่างเพื่อยืนยัน คือ การทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคสซึ่งจะต้องงดอาหารมาก่อน
การทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส (Oral glucose tolerance test; OGTT)
การทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคสจะทำในผู้ที่อดอาหารมาแล้วอย่างน้อย 8 ชั่วโมง โดยแพทย์จะทำการเจาะเลือดครั้งที่ 1 เมื่อคุณมาถึงโรงพยาบาล จากนั้นจะให้ดื่มสารละลายกลูโคสเข้มข้น 100 กรัม และทำการเจาะเลือดซ้ำในชั่วโมงที่ 1, 2 และ 3 หลังจากดื่มสารละลายนี้
หากพบระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงอย่างน้อย 2 ครั้งจากการเจาะเลือดทั้งหมด ได้แก่ หลังอดอาหาร 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมง หรือ 3 ชั่วโมงหลังดื่มสารละลาย หมายความว่า คุณเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
นอกจากนี้แพทย์ยังสามารถใช้การทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคสเพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเป็นเบาหวานในคนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ได้ด้วย การทดสอบนี้จะช่วยให้ตรวจพบโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเป็นเบาหวานได้ดีกว่าการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร อย่างไรก็ตาม การทดสอบนี้มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าและทำได้ยากกว่า
ระดับน้ำตาลในเลือดเท่าไรจึงจะบอกว่า เป็นโรคเบาหวาน หรือภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
การตรวจเบาหวานแต่ละวิธีจะมีเกณฑ์ในการตัดสินว่า เป็นโรคเบาหวาน หรือภาวะก่อนเป็นเบาหวานต่างกันไป โดยทั่วไปหากใช้การตรวจชนิดเดียวเพื่อวินิจฉัย จะต้องมีการตรวจซ้ำในวันที่ 2 เพื่อยืนยันผลการตรวจด้วย หรือแพทย์อาจพิจารณาเลือกการตรวจเบาหวานด้วย 2 วิธีควบคู่กันก็ได้
เกณฑ์การตรวจเบาหวานสำหรับผู้ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์
การวินิจฉัย |
ค่าระดับน้ำตาลสะสม (A1C) (%) |
ค่าระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร (FPG) |
การทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส (OGTT) |
ค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่เวลาใดๆ (RPG) |
ปกติ | ต่ำกว่า 5.7 | น้อยกว่า หรือเท่ากับ 99 | น้อยกว่า หรือเท่ากับ 139 | |
เป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวาน | 5.7-6.4 | 100-125 | 140-199 | |
เป็นโรคเบาหวาน | ตั้งแต่ 6.5 ขึ้นไป | ตั้งแต่ 126 ขึ้นไป | ตั้งแต่ 200 ขึ้นไป | ตั้งแต่ 200 ขึ้นไป |
*ค่า FPG, OGTT และ RPG มีหน่วยเป็นมิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
จะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นโรคเบาหวานชนิดใด
นอกจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 แล้ว ยังมีโรคเบาหวานอีกชนิดที่พบน้อยมากในเด็กคือ โรคเบาหวานชนิดโมโนเจนิก (Monogenic diabetes) ซึ่งมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ที่ได้รับถ่ายทอดมาจากพ่อ หรือแม่ หรืออาจเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนเฉพาะบุคคลก็ได้ ซึ่งอาจทำให้สับสนกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้
แม้ว่าการทดสอบต่างๆ ข้างต้นจะช่วยยืนยันว่า เป็นโรคเบาหวาน แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า คุณเป็นโรคเบาหวานชนิดใด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพราะการรักษาโรคเบาหวานจะขึ้นกับชนิดของโรคเบาหวานที่เป็น
การตรวจหาว่า เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือไม่ แพทย์จะตรวจหาสารออโต้แอนติบอดี้ (Autoantibodies) ในร่างกาย สารนี้เป็นสารภูมิคุ้มกันที่ไปทำลายเซลล์ปกติของร่างกาย (ภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง) เนื่องจากมีสารออโต้แอนติบอดี้หลายชนิดที่มีความจำเพาะกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 แต่ไม่จำเพาะกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และชนิดโมโนเจนิก
กรณีที่คุณเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณควรได้รับการตรวจเบาหวานซ้ำใน 6-12 สัปดาห์หลังจากคลอดลูกแล้ว เพื่อดูว่า เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือไม่