กลาก เกลื้อน ต่างกันอย่างไร ดูแลรักษาอย่างไร


กลาก เกลื้อน ต่างกันอย่างไร

ถึงคนไทยจะชินกับคำว่า "กลากและเกลื้อน" แต่สองโรคผิวหนังที่ชื่อคล้ายกันนั้น ความจริงไม่ใช่โรคเดียวกัน สามารถแยกแยะความแตกต่างได้จากลักษณะของผื่นที่พบ ซึ่งโรคกลากมักจะพบอาการคันได้มากกว่า แต่การรักษาสามารถรักษาด้วยตัวยาชนิดเดียวกัน คือ ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล (Azole) รายละเอียดของกลากกับเกลื้อน เช่น เชื้อก่อโรค ลักษณะผิวหนังบริเวณที่เป็นโรค วิธีรักษา มีดังนี้

กลาก (Dermatophytosis)

ขี้กลาก หรือ กลาก เกิดจากเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโทไฟต์ (Dermatophyte) สามารถติดต่อจากคนสู่คน หรือจากสัตว์สู่คนก็ได้ ลักษณะกลากมักพบเป็นวงกลมหรือวงแหวน เป็นหนึ่งวงหรือหลายวงซ้อนกันก็ได้ ตรงกลางมักเป็นสีอ่อนหรือสีขาว ขอบด้านนอกจะแดงและมีขุย ผู้ป่วยมักมีอาการคัน มากหรือน้อยแล้วแต่คน เมื่อไปพบแพทย์อาจ ถูกขูดผิวหนังบริเวณที่เป็นเพื่อนำไปหาเชื้อ จะพบการติดเชื้อราที่มีสายใยเป็นข้อปล้องในบริเวณที่เป็น สามารถรักษา ด้วยการรับประทานหรือทายาฆ่าเชื้อราจำพวกเอโซล (Azole) เช่น คีโทโคนาโซล (Ketoconazole)

โรคกลาก สามารถพบได้หลายบริเวณทั่วร่างกาย อาจหายเองได้ แต่ใช้เวลานาน มักพบในพื้นที่เขตร้อนชื้น เนื่องจากเชื้อรามักเจริญเติบโตได้ดีในช่วงอุณหภูมิ 25-28 องศาเซลเซียส และประเทศในเขตร้อนชื้อมักมีประชากรอยู่อาศัยรวม กันหนาแน่น สามารถสัมผัสติดโรคต่อกันได้ง่าย

เมื่อพบผิวหนังเป็นโรคกลาก จะมีชื่อเรียกตามเฉพาะที่ขึ้นนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น

  • Tinea capitis เป็นกลากบริเวณหนังศรีษะ
  • Tinea faciei เป็นกลากบริเวณใบหน้า
  • Tinea corporis เป็นกลากบริเวณลำตัว
  • Tinea pedis เป็นกลากบริเวณเท้า

ตำแหน่งที่สามารถพบขี้กลากได้

ตำแหน่งของร่างกายที่สามารถพบกลาก และลักษณะพื้นผิวที่ติดเชื้อกลาก มีดังนี้

  1. ศีรษะ มักพบในเด็กวัยเรียนมากที่สุด
  2. ตามลำตัว แขน ขา มักพบเป็นวงแหวนที่เห็นได้ชัด
  3. ขาหนีบ หรือเรียกอีกอย่างว่า สังคัง
  4. มือ เท้า มักเป็นข้างใดช้างหนึ่ง เกิดจากแช่เท้าในน้ำที่ไม่สะอาดเป็นเวลานาน หรือถุงเท้าที่สกปรก ไม่ระบายอากาศ
  5. ใบหน้าสามารถพบโรคกลากได้เช่นกัน แต่มักพบโรคเกลื้อนมากกว่า
  6. เล็บ จะพบผิวเล็บไม่เรียบ เปราะหักง่าย และเปลี่ยนสี

เกลื้อน (Pityriasis หรือ Tinea versicolor)

เกลื้อน เกิดจากเชื้อรา Malassezia furfur มักพบเป็นผื่นสีขาวหรือสีแดง สามารถลามเป็นปื้นขนาดใหญ่ได้และมีรูปร่างที่ไม่แน่นอน แต่ขอบของผื่นมักจะมองเห็นได้ชัดเจน และอาจพบขุยแบบละเอียดอยู่ด้วย

เกลื้อนมักขึ้นในบริเวณร่างกายส่วนบน ได้แก่ ใบหน้า ลำคอ หลัง หน้าอก และต้นแขน ส่วนบริเวณร่างกายส่วนล่าง เช่น ขาหรือเท้า จะพบได้น้อยกว่า ผู้ป่วยที่เป็นเกลื้อนอาจไม่พบอาการใดๆ เลย หรือคันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อนำเซลล์ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นไปตรวจจะพบเชื้อราแบบกลมและแบบท่อนผสมกัน การรักษาสามารถรับประทานหรือทาก็ได้ ใช้ยาจำพวกเอโซล (Azole) เช่นเดียวกันกับการรักษาโรคกลาก โรคเกลื้อนเป็นโรคที่มีความร้ายแรงต่ำ แต่เมื่อหายแล้วมักพบเป็นปื้นสีขาว ก่อให้เกิดความไม่สวยงามได้ และมักเป็นโรคเรื้อรังเนื่องจากหากหายแล้วสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคขี้กลากหรือโรคเกลื้อน

เมื่อเป็นโรคผิวหนังชนิดกลากหรือเกลือน ควรดูแลตนเองดังนี้

  1. ชำระล้างร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ
  2. เช็ดร่างกายโดยเฉพาะบริเวณซอกข้อพับต่างๆ ให้แห้งและไม่เปียกชื้น
  3. หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป และเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายเหงื่อได้ดี
  4. เปลี่ยนเสื้อผ้าและถุงเท้าให้สะอาดเป็นประจำ
  5. ใส่รองเท้าที่เปิดนิ้วเท้าเพื่อช่วยระบายเหงื่อ
  6. เลือกใช้สบู่หรือแชมพูที่มีส่วนผสมของซีลีเนียมซัลเฟต (Selenium sulfate)

เมื่อเป็นกลากหรือเกลื้อนซ้ำ สามารถไปซื้อยาจากร้านขายยามาทาเพื่อให้หายเองได้โดยไม่ต้องพบแพทย์ แต่หากมีอาการมาก หรือมีโรคแทรกซ้อนร่วม เช่นภูมิคุ้มกันต่ำ มีอาการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมจนเป็นหนอง จำเป็นต้องพบแพทย์ เพื่อรับยาแบบรับประทาน


เปรียบเทียบราคาแพ็คเกจตรวจโรคผิวหนัง


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat