การเอกซเรย์ฟัน กระบวนการสำคัญเพื่อให้คุณหมอมองเห็นโครงสร้างฟันทั้งหมด


การเอกซเรย์ฟัน

การตรวจฟันผ่านการดูด้วยตาเปล่าอาจไม่เพียงพอที่จะเห็นความผิดปกติของฟันทุกซี่ได้ หลายครั้งที่ลองส่องกระจกดูแล้วไม่พบว่ามีสิ่งผิดปกติใดๆ แต่แท้จริงแล้วเมื่อทันตแพทย์เอกซเรย์ฟันออกมา กลับเห็นตำแหน่งที่ฟันผุซ่อนอยู่

ในหลายๆ ครั้งที่ไปทำทันตกรรม ทันตแพทย์จะขอให้ผู้เข้ารับบริการเข้าเอกซเรย์เพื่อให้เห็นภาพโครงสร้างฟันทั้งหมดทั้งที่เห็นจากภายนอกและที่อยู่ภายใต้เหงือกอย่างชัดเจน

ในบทความนี้เราจะมาเจาะลึกกันว่า กระบวนการเอกซเรย์สำหรับทำทันตกรรมหรือ “การเอกซเรย์ฟัน” มันสำคัญอย่างไร แล้วมีขั้นตอนในการเอกซเรย์อย่างไรบ้าง


เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่

  • เอกซเรย์ฟันคืออะไร?
  • เอกซเรย์ฟันช่วยอะไรได้
  • เอกซเรย์ฟันมีกี่ประเภท?
  • เอกซเรย์ฟันนานไหม?
  • เอกซเรย์ฟันเจ็บไหม?
  • ควรเอกซเรย์ฟันบ่อยแค่ไหน?
  • รังสีที่เอกซเรย์ฟันอันตรายไหม?
  • การเตรียมตัวก่อนเอกซเรย์ฟัน
  • ขั้นตอนการเอกซเรย์ฟัน

  • เอกซเรย์ฟันคืออะไร?

    การเอกซเรย์ฟัน (Dental X-ray) คือ อีกหนึ่งกระบวนการตรวจดูสุขภาพฟันและหาความผิดปกติของฟันทุกซี่อย่างละเอียด ผ่านการถ่ายภาพรังสีเพื่อให้แพทย์ได้เห็นภาพโครงสร้างของฟันตั้งแต่ส่วนที่พ้นจากเหงือกและอยู่ใต้เหงือก รวมถึงไว้สำหรับเก็บเป็นข้อมูลประวัติสุขภาพฟันของผู้เข้ารับบริการ

    เอกซเรย์ฟัน ราคา

    เอกซเรย์ฟันช่วยอะไรได้

    การเอกซเรย์ฟันจะช่วยให้ทันตแพทย์ได้มีข้อมูลในการตรวจวินิจฉัยหรือวิเคราะห์แนวทางการรักษาความผิดปกติของฟันได้อย่างละเอียด เพราะการตรวจดูฟันด้วยตาเปล่านั้นยังไม่เพียงพอต่อการออกแบบแผนการรักษาโรคหรือภาวะเกี่ยวกับฟันได้

    โดยตัวอย่างการทำทันตกรรมที่สามารถใช้ฟิล์มเอกซเรย์ฟันเข้ามาเป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาฟันได้ ได้แก่

    • การผ่าหรือถอนฟันคุด
    • การรักษาฟันผุแบบด้านประชิด
    • การทำรากฟันเทียม
    • การรักษาคลองรากฟัน
    • การรักษาโรคปริทันต์อักเสบ
    • บริการจัดฟันทุกรูปแบบ

    เอกซเรย์ฟันมีกี่ประเภท?

    บริการเอกซเรย์ฟันในแต่ละคลินิกหรือศูนย์ทันตกรรมจะแตกต่างกันไปตามเครื่องมือที่มีหรือการพิจารณาประเภทของการเอกซเรย์ที่ต้องการใช้จากทันตแพทย์ แต่โดยทั่วไปการเอกซเรย์ฟันจะแบ่งออกได้ 5 ประเภท ได้แก่

    1. X-ray Panoramic

    X-ray Panoramic เป็นการเอกซเรย์ที่จะให้ภาพถ่ายเหมือนกับการคลี่แนวฟันในช่องปากที่โค้งเป็นตัว U ให้กลายเป็นภาพแถวฟันแบบแนวนอน ทันตแพทย์จะสามารถเห็นฟันได้ทุกซี่ตั้งแต่ส่วนที่พ้นเหงือก ที่อยู่ใต้เหงือก ไปจนถึงกระดูกขากรรไกรทั้งบนและล่าง รากฟัน ความยาวของฟันทั้งหมด วัสดุที่ใช้อุดหรือรักษาฟันในอดีต ส่วนมากหลายคนมักคุ้นเคยในฐานะฟิล์มที่ใช้พิจารณาการถอนหรือผ่าฟันคุด

    2. X-ray Cephalometric

    X-ray Cephalometric เป็นการเอกซเรย์แบบ 2 มิติที่จะให้ภาพกระโหลกศีรษะด้านหน้าและด้านข้าง เพื่อให้ทันตแพทย์เห็นลักษณะการสบของฟันบนและล่าง ลักษณะกระดูกขากรรไกรที่เห็นได้จากด้านข้าง มักใช้เพื่อพิจารณาแผนการจัดฟัน

    3. X-ray Bitewing

    X-ray Bitewing เป็นการเอกซเรย์ที่เห็นภาพฟันตั้งแต่ส่วนที่โผล่พ้นเหงือกไปจนถึงรากเช่นกัน แต่จะอยู่ในระยะใกล้ขึ้น ทำให้สามารถเห็นมิติของโครงสร้างภายในของฟันได้ชัดเจนกว่าเดิม มักใช้เป็นข้อมูลในการรักษาโรคฟันผุ หรือเพื่อตรวจดูวัสดุอุดฟัน วัสดุบูรณะฟัน หรือวัสดุปิดโพรงฟันชิ้นเดิม

    4. X-ray Occlusal

    X-ray Occlusal เป็นการเอกซเรย์ที่จะให้ภาพแถวฟันพร้อมเพดานปากแบบตัว U เหมือนกับการถ่ายภาพฟันจากด้านบนหรือด้านล่าง ไม่ใช่ด้านหน้าเหมือนฟิล์มเอกซเรย์ฟันแบบอื่น มักใช้เพื่อวินิจฉัยและรักษาปัญหาฟันคุด ฟันฝัง หรือตรวจหาความผิดปกติตรงฟันหน้า กระดูกขากรรไกรหน้าของขากรรไกรบน

    5. X-ray Periapical

    X-ray Periapical เป็นการเอกซเรย์ที่ให้ภาพเน้นหนักไปที่ตัวฟันจนถึงปลายรากฟัน จึงมักใช้เพื่อตรวจวินิจฉัยความผิดปกติที่รากฟันและโครงสร้างของกระดูกโดยรอบทั้งหมด

    เอกซเรย์ฟันนานไหม?

    โดยทั่วไปการเอกซเรย์ฟันจะใช้เวลาไม่เกิน 5-10 นาทีก็เสร็จ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนฟิล์มเอกซเรย์ และแนวทางการเอกซเรย์ที่แพทย์พิจารณาให้ถ่ายด้วย

    เอกซเรย์ฟันเจ็บไหม?

    การเอกซเรย์ฟันไม่ได้ได้สร้างความรู้สึกเจ็บแต่อย่างใด แต่อาจมีความรู้สึกตื่นเต้นหรือไม่คุ้นชินกับอุปกรณ์ที่ต้องกัดหรือใส่ไว้ในช่องปากระหว่างการเอกซเรย์บ้าง

    ควรเอกซเรย์ฟันบ่อยแค่ไหน?

    หากผู้เข้ารับบริการไม่ได้มีความผิดปกติใดๆ เกี่ยวกับฟัน การเอกซเรย์ฟันทุกๆ 6-18 เดือน ก็เพียงพอต่อการตรวจดูความคืบหน้าของสุขภาพฟันแล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการให้คำแนะนำของทันตแพทย์

    แต่หากผู้เข้ารับบริการอยู่ในช่วงเวลาของการรักษาหรือการวินิจฉัยความผิดปกติเกี่ยวกับฟัน ทันตแพทย์ก็อาจพิจารณาให้เอกซเรย์ฟันตามโอกาสที่เห็นสมควร ซึ่งก็อาจถี่กว่าการตรวจเอกซเรย์ฟันทั่วไปได้

    รังสีที่เอกซเรย์ฟันอันตรายไหม?

    การเอกซเรย์ฟันย่อมทำให้เกิดรังสีที่ปนเปื้อนร่างกายได้ แต่โดยทั่วไปปริมาณรังสีที่ใช้ในการเอกซเรย์ฟันจะอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และปลอดภัยต่อสุขภาพของทั้งเด็กและผู้ใหญ่

    นอกจากนี้ในทุกครั้งที่เอกซเรย์ฟัน ทางสถานพยาบาลจะมีการจัดเตรียมชุดป้องกันรังสีให้ผู้เข้ารับบริการใส่ทุกครั้งก่อนเอกซเรย์อยู่แล้ว ดังนั้นการเอกซเรย์ฟันจึงมีความปลอดภัยและไม่ได้ทำอันตรายใดๆ ต่อร่างกายผู้เข้ารับบริการ

    อย่างไรก็ตาม หากผู้เข้ารับบริการมีโรคประจำตัวหรือกำลังตั้งครรภ์ จะต้องแจ้งประวัติสุขภาพกับทางคลินิกหรือศูนย์ทันตกรรมก่อนรับบริการเอกซเรย์ เพื่อให้ทันตแพทย์ช่วยพิจารณาความเหมาะสมและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้จากการเอกซเรย์ฟัน

    เอกซเรย์ฟัน ราคา

    การเตรียมตัวก่อนเอกซเรย์ฟัน

    โดยทั่วไปก่อนเริ่มเอกซเรย์ฟัน ผู้เข้ารับบริการไม่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ เพียงแปรงฟันก่อนเดินทางมารับบริการ แจ้งประวัติด้านสุขภาพกับทางเจ้าหน้าที่หรือทันตแพทย์เสียก่อน และจะต้องถอดเครื่องประดับทุกชิ้นที่เป็นโลหะ รวมถึงอุปกรณ์คงสภาพฟันในช่องปากที่ถอดได้ออกก่อนเอกซเรย์

    ขั้นตอนการเอกซเรย์ฟัน

    ขั้นตอนการเอกซเรย์ฟันจะแตกต่างกันไปตามลักษณะตัวเครื่องที่ใช้ในการเอกซเรย์ แต่โดยหลักๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในห้องเอกซเรย์ อาจมีดังนี้

    1. เริ่มต้นจากทางเจ้าหน้าที่ใส่ชุดป้องกันรังสีให้กับผู้เข้ารับบริการ จากนั้นพาผู้เข้ารับบริการไปยืนหรือนั่งที่ตำแหน่งของเครื่องเอกซเรย์อย่างเหมาะสม
    2. ผู้เข้ารับบริการอาจต้องกัดหรืออมอุปกรณ์ประกอบการถ่ายภาพฟิล์มเอกซเรย์เอาไว้ในช่องปากด้วย ส่วนมากจะเป็นแผ่นคล้ายกับพลาสติกบางๆ หรือเป็นแท่นขนาดเล็กที่จะเชื่อมติดอยู่กับเครื่องเอกซเรย์
    3. จากนั้นให้ยืนหรือนั่งนิ่งๆ ให้เครื่องเอกซเรย์ถ่ายภาพฟัน เจ้าหน้าที่จะยืนควบคุมเครื่องอยู่จากด้านนอกห้องเอกซเรย์
    4. เมื่อเอกซเรย์เสร็จ เจ้าหน้าที่ก็จะกลับเข้ามาถอดเสื้อกันรังสีให้ เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการเอกซเรย์ฟัน

    การเอกซเรย์ฟันเป็นกระบวนการง่ายๆ ที่สามารถช่วยให้ทันตแพทย์ได้ตรวจดูสุขภาพช่องปากของเราได้อย่างละเอียด และยังช่วยวางแผนการดูแลรักษาฟันของเราได้อย่างรอบคอบรัดกุมมากขึ้น

    เช็กราคาแพ็กเกจตรวจเอกซเรย์ฟันกับทันตแพทย์ ผ่านแพ็กเกจทำฟันของ HDmall.co.th หรือสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับราคาและรายละเอียดบริการเอกซเรย์ฟันได้ที่ไลน์ @hdcoth


    บทความที่เกี่ยวข้อง


    ที่มาของข้อมูล

    ขยาย

    ปิด

    • Brian Krans, Dental X-Rays (https://www.healthline.com/health/dental-x-rays#risks), 3 July 2022.
    • Truth Dental Clinic, ถ่ายเอกซ์เรย์ฟัน (https://www.truthdental.com/th/treatments-and-consultation/11), 3 July 2022.
    • West Olds Dental, The Truth about Dental X-Rays: How Often is Enough? (https://westoldsdental.ca/dental-x-rays-how-often-is-enough/), 3 July 2022.
    • คณะผู้ทรงคุณวุฒิราชวิทยาลัยทันตแพทย์แหง่ ประเทศไทย, ข้อบ่งชี้ของผู้ป่วยท่ีมีความผิดปกติต่างๆ ท่ีควรได้รับการถ่ายภาพรังสีเพิ่มเติม (https://www.royalthaident.org/files/survey/dental-radiation-protection-guide.pdf), 3 กรกฎาคม 2565.
    • มหาวิทยาลัยมหิดล คณะทันตแพทย์ศาสตร์, คลินิกรังสีวิทยาช่องปากและใบหน้าขากรรไกร (https://dt.mahidol.ac.th/th/โรงพยาบาลทันตกรรม-คณะทันตแพทยศาสตร์-มหาวิทยาลัยมหิดล/คลินิกรังสีวิทยาช่องปากและใบหน้าขากรรไกร/การให้บริการ-2/), 3 กรกฎาคม 2565.
    • อ.ทพญ.สุภัค งามสม, เอ็กซเรย์ฟัน สำคัญหรือไม่ (https://dt.mahidol.ac.th/th/เอ็กซเรย์ฟัน-สำคัญหรือไม่/), 3 กรกฎาคม 2565.
    @‌hdcoth line chat