เคลือบหลุมร่องฟัน ใครว่าเป็นงานทันตกรรมของเด็ก… เพราะการเคลือบหลุมร่องฟันเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยให้คุณดูแลสุขภาพในช่องปากได้เป็นอย่างดี
ในบทความนี้ HDmall จะพามารู้จักกับการเคลือบหลุมร่องฟันในแบบเข้าใจง่ายสไตล์ถาม-ตอบ
สารบัญ
เคลือบหลุมร่องฟันคืออะไร?
การเคลือบหลุมร่องฟัน (Dental sealant) คือการใช้วัสดุสีคล้ายฟันหรือสีใส มาเคลือบปิดซี่ฟันที่มีร่องลึกซึ่งมักเป็นฟันกราม เพื่อป้องกันไม่ให้เศษอาหารเข้าไปติดในซอกลึกดังกล่าวนั่นเอง
เนื่องจากหากมีเศษอาหารเข้าไปติดในร่องลึกซี่ฟันเหล่านี้ จะทำความสะอาดได้ยาก แม้จะแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟันก็อาจนำเศษอาหารออกได้แค่บริเวณพื้นผิวเท่านั้น เศษอาหารในร่องลึกนี้จึงอาจนำไปสู่ปัญหาฟันผุในที่สุด
วัสดุเคลือบหลุ่มร่องฟัน
วัสดุเคลือบหลุมร่องฟันที่นิยมใช้ในปัจจุบัน คือวัสดุเรซิ่น (Resin sealant) มีลักษณะเป็นสารเหลว แต่เมื่อหยดลงบริเวณหลุมร่องฟันจะค่อยๆ แข็งตัวจนอุดร่องฟันได้ วัสดุบางชนิดอาจเร่งการแข็งตัวได้โดยใช้แสง
นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีวัสดุเรซิ่นบางชนิดที่สามารถปล่อยฟลูออไรด์เพื่ิอให้ฟันแข็งแรงด้วย
เคลือบหลุมร่องฟันควรทำตอนอายุเท่าไร?
ควรทำช่วงอายุ 6-14 ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ฟันกรามแท้ขึ้น และฟันกรามแท้มักมีร่องฟันลึกกว่าฟันซี่อื่น นอกจากนี้เด็กวัยดังกล่าวยังมีโอกาสที่จะรักษาความสะอาดของช่องปากได้ไม่เต็มที่อีกด้วย
แต่บางครั้งทันตแพทย์อาจแนะนำให้ทารกที่มีร่องฟันน้ำนมลึกทำด้วย เนื่องจากฟันน้ำนมของทารกมีบทบาทสำคัญในการเตรียมพร้อมพื้นที่ช่องปากสำหรับฟันแท้ที่กำลังจะขึ้น
รวมถึงวัยผู้ใหญ่เองที่มีปัญหาฟันลึก หากไม่มีฟันผุหรือไม่ได้อุดฟันมาก่อน การเคลือบหลุมร่องฟันก็ยังสามารถให้ประโยชน์ที่ดีได้เช่นกัน
ขั้นตอนการเคลือบหลุมร่องฟัน
การเคลือบหลุมร่องฟันมีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนและใช้เวลาไม่กี่นาที ขั้นตอนหลักๆ อาจมีดังนี้
- ทันตแพทย์จะทำความสะอาดฟันซี่ที่ต้องการอุดหลุมร่องฟัน เช่น คราบเศษอาหาร หินปูน และจุลินทรีย์
- ฟันแต่ละซี่จะถูกทำให้แห้ง โดยใช้สำลีซับโดยรอบ บางสถานที่ให้บริการอาจใช้แผ่นยางกันน้ำลาย
- ทันตแพทย์จะใช้กรดทาบริเวณพื้นผิวฟันเพื่อให้เกิดรูพรุน เพื่อให้วัสดุเคลือบผิวฟันซึมเข้าตามรูพรุนและยึดติดกับฟันได้ดีขึ้น
- ทันตแพทย์จะทำความสะอาดฟันเพื่อล้างกรดออก และซับให้แห้งอีกครั้ง
- จากนั้นจึงทาวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันช้าๆ ก่อนจะทำการฉายแสงบริเวณวัสดุเพื่อให้วัสดุแข็งตัว
- เมื่อวัสดุแข็งตัวแล้ว ทันตแพทย์จะตรวจสอบความเรียบร้อยว่ามีฟองอากาศหรือไม่ มีส่วนไหนหลุดไหม จากนั้นให้ลองสบฟันดู หากพบความผิดพลาดส่วนไหนจะทำการแก้ไข
แม้จะทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังควรกลับมาให้ทันตแพทย์ตรวจความเรียบร้อยของวัสดุทุก 6 เดือน หากวัสดุมีส่วนที่เสียหาย ทันตแพทย์จะได้เคลือบซ้ำให้
เคลือบหลุมร่องฟันเจ็บไหม?
ไม่เจ็บ เพราะพื้นที่ที่ทำนั้นค่อนข้างเล็ก ใช้เวลาไม่กี่นาทีต่อฟัน 1 ซี่ และไม่มีการผ่า เจาะ หรือกรอฟันแต่อย่างใด ที่อาจทำให้เกิดความเจ็บปวด
เคลือบหลุมร่องฟันอยู่ได้กี่ปี?
วัสดุเคลือบหลุมร่องฟัน สามารถปกป้องกันได้สูงสุดถึง 10 ปี แต่อาจต้องมาให้ทันตแพทย์ตรวจเช็กรอยบิ่น รอยแตก เป็นระยะ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไข ทันตแพทย์จะทำการสารเคลือบให้