ตรวจสุขภาพแมว ตรวจยังไง ตรวจบ่อยแค่ไหน อ่านที่นี่เลย


การตรวจสุขภาพแมว

จะเป็นทาสแมวทั้งทีก็ต้องแน่ใจว่า เจ้านายของเราจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและมีสุขภาพดี เพราะแม้แมวจะใกล้ชิดกับเรามากจน (เหมือนจะ) สนิทชิดเชื้อ แต่แมวก็ยังไม่สามารถบอกเราเป็นภาษาได้ว่ากำลังไม่สบาย หรือมีอาการผิดปกติใดๆ หรือไม่

ด้วยเหตุนี้ทุกคนที่เลี้ยงแมวจึงควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติทั้งทางกายภาพ และพฤติกรรม ว่ามีอะไรที่ผิดปกติไปหรือไม่ ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่จะช่วยให้เราดูแลแมวได้ดีขึ้น ก็คือการพาเจ้าเหมียวไปตรวจสุขภาพกันอย่างสม่ำเสมอ

แล้วการตรวจสุขภาพแมวนั้นควรมีรายการอะไรบ้าง ควรตรวจบ่อยแค่ไหน ก่อนพาเจ้านายของเราไปพบสัตวแพทย์ควรเตรียมตัวอย่างไร ติดตามได้ผ่านบทความนี้จากทาง HDmall.co.th

ตรวจสุขภาพแมวคืออะไร?

การตรวจสุขภาพแมว คือ การตรวจดูประสิทธิภาพและความแข็งแรงของสุขภาพในสัตว์เลี้ยงประเภทแมว เป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่สำคัญในการเลี้ยงแมว เพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีอายุยืนและลดความเสี่ยงการเกิดโรคภัยต่างๆ

ตรวจสุขภาพแมว ราคา

ตรวจสุขภาพแมวตรวจอะไรบ้าง?

การตรวจสุขภาพแมวจะคล้ายคลึงกับการตรวจสุขภาพของมนุษย์ โดยจะแบ่งรายการตรวจออกเป็น 4 รายการหลัก ได้แก่

1. ตรวจร่างกายแมว

การตรวจร่างกายแมว เป็นกระบวนการตรวจเพื่อดูความสมบูรณ์แข็งแรงของอวัยวะภายนอก และดูอาการของโรคต่างๆ ที่มีอาการแสดงซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น ตรวจตา ตรวจสุขภาพช่องปาก ตรวจหู ตรวจจมูก ตรวจอุ้งเท้า ตรวจบริเวณหน้าท้อง ตรวจดูเส้นขน

2. ตรวจเลือดแมว

สัตวแพทย์จะเจาะเก็บตัวอย่างเลือดของแมวส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ คล้ายกับการเจาะเก็บตัวอย่างเลือดเวลาที่เราเดินทางไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล โดยการเจาะเก็บตัวอย่างเลือดแมวจะทำให้สัตวแพทย์ได้เห็นข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพภายในร่างกายของสัตว์เลี้ยงได้หลายอย่าง เช่น

  • ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) ซึ่งสามารถบอกถึงข้อมูลปริมาณความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว เพื่อดูประสิทธิภาพในการต่อสู้กับเชื้อโรคและภาวะอักเสบของร่างกาย
  • ค่าการทำงานของอวัยวะสำคัญ (Organs function) เช่น ตับ ไต ต่อมไทรอยด์
  • ดูระดับฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ฮอร์โมนไทรอยด์อย่างไทรอกซีน (Thyroxine: T4)
  • ดูระดับน้ำตาลในเลือด (Blood Sugar) หรือน้ำตาลกลูโคส (Glucose)
  • ดูระดับคอเคสเตอรอล (Cholesterol)
  • ดูค่าสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย (Electrolyte Status) เช่น คลอไรด์ (Choloride) โพแทสเซียม (Potassium)
  • ดูสารโปรตีนในเลือด (Total Protein)

เมื่อทราบค่าต่างๆ จากเลือดแล้ว สัตวแพทย์ก็จะสามารถให้คำแนะนำในการดูแลแมวได้เหมาะสมขึ้น หรือหากเจอค่าใดๆ ที่ผิดปกติ ก็อาจแนะนำให้ตรวจเชิงลึกเพิ่มเติมได้เร็วขึ้น

3. ตรวจปัสสาวะแมว

การเก็บตัวอย่างปัสสาวะแมวเพื่อส่งตรวจสามารถบอกระดับการทำงานขอไต รวมถึงบอกความเสี่ยงการเกิดภาวะอักเสบหรือติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ นอกจากนี้ยังช่วยในการวินิจฉัยโอกาสเกิดโรคเบาหวานหรือโรคมะเร็งในระดับทางเดินปัสสาวะได้อีกด้วย

4. ตรวจอุจจาระแมว

การตรวจอุจจาระในแมวจะช่วยให้สามารถคัดกรองพยาธิหรือปรสิตที่มักแอบแฝงอยู่ในระบบขับถ่ายได้ และเป็นต้นเหตุที่ทำให้เจ้าเหมียวเกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ขึ้นในภายหลังได้ เช่น ท้องเสีย ถ่ายมีมูกเลือด อาเจียน มีขี้ตาเยอะ เซื่องซึม

นอกจาก 4 ข้อหลักๆ ที่กล่าวมานี้ บางโรงพยาบาลสัตว์อาจมีการตรวจอื่นๆ ด้วย เช่น เอกซเรย์ช่องอกและช่องท้อง ขึ้นอยู่โปรแกรมการตรวจของแต่ละสถานพยาบาล

ตรวจสุขภาพแมวตอนอายุเท่าไร?

แม้จะไม่มีระยะเวลาที่ตายตัวบอกว่าต้องนำแมวมาตรวจสุขภาพตอนอายุเท่าไร แต่หากเป็นไปได้ก็ควรพาลูกแมวไปพบสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อตรวจดูให้แน่ใจว่าลูกแมวไม่มีอาการป่วยใดๆ ก่อนจะนำมาเลี้ยงในบ้าน

ตรวจสุขภาพแมว ราคา

ตรวจสุขภาพแมวบ่อยแค่ไหน?

ความถี่ในการตรวจสุขภาพแมวจะแตกต่างกันไปตามช่วงอายุของแมว ได้แก่

  • อายุน้อยกว่า 6 เดือน ควรตรวจสุขภาพทุกๆ 1-2 เดือน
  • อายุ 7 เดือนถึง 2 ปี ควรตรวจสุขภาพทุกๆ 6 เดือน
  • อายุ 3-10 ปี ควรตรวจสุขภาพทุกๆ 1 ปี
  • อายุ 11 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพทุกๆ 6 เดือน หรือปีละ 2 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาดังกล่าวเป็นเพียงระยะเวลาคร่าวๆ เท่านั้น สัตวแพทย์อาจแนะนำความถี่ในการตรวจให้เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงของคุณอีกครั้ง

การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพแมว

แมวบางตัวอาจตื่นกลัวหรือไม่คุ้นเคยการไปยังสถานที่แปลกๆ ผู้เลี้ยงจึงควรมีการเตรียมตัวเพื่อลดความกังวลของแมวลง ดังนี้

  • หาตะกร้าใส่แมวที่พกพาสะดวกหรืออาจเป็นตะกร้าที่สัตว์เลี้ยงของคุณคุ้นเคย
  • สอบถามทางสถานพยาบาลเกี่ยวกับการงดอาหารแมวล่วงหน้า เพราะในบางรายการตรวจจำเป็นจะต้องมีการงดอาหารสัตว์ก่อนเป็นเวลาประมาณ 8 ชั่วโมง
  • สอบถามเกี่ยวกับการเก็บตัวอย่างปัสสาวะและอุจจาระล่วงหน้า เพราะในบางสถานพยาบาล เจ้าของจำเป็นต้องเก็บตัวอย่างปัสสาวะและอุจจาระของแมวมาให้ทางสัตวแพทย์เอง
  • หากมีประวัติสุขภาพ ประวัติการฉีดวัคซีนแมว ให้พกติดมาให้สัตวแพทย์ตรวจดูด้วย
  • หากกลัวแมวจะมีอาการกลัวหรือวิตกกังวลเมื่อไปที่สถานพยาบาล ให้หาผ้าผืนใหญ่ติดไปด้วย เพื่อคลุมตะกร้าแมวไว้ในระหว่างรอเข้ารับบริการ
  • เตรียมที่นอนหรือสถานที่ให้เจ้าเหมียวกลับมาพักผ่อนหลังตรวจสุขภาพ
  • หากแมวที่พาไปตรวจสุขภาพมีนิสัยดุหรือขี้ตกใจเมื่ออยู่ต่างที่ ให้แจ้งทางสถานพยาบาลล่วงหน้า

ขั้นตอนการตรวจสุขภาพแมว

กระบวนการตรวจสุขภาพแมวจะแตกต่างกันไปตามรายละเอียดแพ็กเกจการตรวจของแต่ละสถานพยาบาล แต่ขั้นตอนหลักๆ ที่อาจพบได้ มีดังนี้

  1. โดยส่วนมากสัตวแพทย์จะมีการชั่งน้ำหนักเพื่อบันทึกน้ำหนักตัวของสัตว์เลี้ยงไว้ก่อน
  2. จากนั้นจะเริ่มตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ปาก หู ตา ของแมว
  3. เจาะเก็บตัวอย่างเลือด ตัวอย่างปัสสาวะ และอุจจาระไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

ระยะเวลารอผลตรวจเลือดของสัตว์จะใช้เวลาไม่นาน ส่วนมากไม่เกิน 1-2 วันก็สามารถทราบผลตรวจได้ โดยสัตวแพทย์เป็นผู้อ่านผลตรวจให้เจ้าของฟังเอง

การดูแลแมวหลังจากตรวจสุขภาพแล้ว

  • หากสัตว์เลี้ยงมีอาการตกใจหรือกังวลมากหลังจากตรวจสุขภาพ ให้พยายามปลอบโยน ลูบขนเขาเบาๆ หรือพาเขาไปนอนยังที่นอนที่คุ้นเคย
  • ควรพาสัตว์เลี้ยงกลับมาตรวจสุขภาพตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ให้สัตว์เลี้ยงฉีดวัคซีนที่จำเป็นให้ครบ
  • สอบถามทางสัตวแพทย์เกี่ยวกับแนวทางการดูแลแมวของคุณเพิ่มเติม โดยเฉพาะในกรณีที่เขามีภาวะหรือความผิดปกติที่ตรวจพบจากการตรวจสุขภาพ
  • หมั่นเปลี่ยนน้ำดื่มสำหรับแมวภายในบ้านอยู่เสมอ เพื่อให้เขาได้ดื่มน้ำสะอาดและเพียงพอต่อร่างกายอยู่เสมอ
  • หมั่นทำให้ที่อยู่อาศัยและบริเวณที่แมวอยู่สะอาดอยู่เสมอ
  • อาบน้ำแมวบ้างเป็นครั้งคราว อาจประมาณ 2-4 สัปดาห์ต่อครั้ง หรือสอบถามทางสัตว์แพทย์เกี่ยวกับจำนวนครั้งที่เหมาะสม

เพื่อให้เจ้านายของคุณอยู่คู่เป็นตัวป่วนที่สร้างสีสันในบ้านคุณไปอย่างยาวนาน อย่าละเลยที่จะพาแมวของคุณไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่หากเขามีความเสี่ยงจะเกิดอาการเจ็บป่วยใดๆ ขึ้น ก็จะได้ร่วมมือกับสัตวแพทย์ในการวางแผนการรักษาได้ทันเวลา

ตรวจสุขภาพแมว ราคา

เช็กราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพแมว แพ็กเกจฉีดวัคซีนแมว ผ่านแพ็กเกจสำหรับสัตว์เลี้ยงบนหน้าเว็บไซต์ HDmall.co.th หรือสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับแพ็กเกจเพื่อสุขภาพของเจ้าเหมียวได้ผ่านทางไลน์ @hdcoth


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Animal Doctors, Basic Health Check (https://www.animaldocs.com.au/basic-health-check-kitten/), 9 August 2022.
  • Cat Care Center Of Baton Rouge, What Blood Tests Can Tell You About Your Cat's Health (https://www.catcarecenter.com/services/cats/blood-tests-for-cats), 9 August 2022.
  • Franny Syufy, How to Prepare Your Cat for an Annual Veterinary Exam (https://www.thesprucepets.com/adult-cats-annual-veterinary-exam-553794), 9 August 2022.
  • Harmony Animal Hospital, The Scoop on Poop: Why Fecal Samples are Important (https://www.harmonyanimalhospital.net/the-scoop-on-poop-why-fecal-samples-are-important/), 9 August 2022.
  • International Cat Care, Frequency of veterinary check ups (https://www.catcare4life.org/advice/frequency-of-veterinary-check-ups/), 9 August 2022.
  • VCA Animal hospital, Wellness Testing for Cats (https://vcahospitals.com/know-your-pet/wellness-testing-for-cats), 9 August 2022.
  • Viera East Veterinary Center, What Blood Tests Can Tell You About Your Cat's Health (https://www.vieravet.com/services/cats/blood-tests-for-cats), 9 August 2022.
  • JENNA STREGOWSKI, How to Prepare Your Kitten for Its First Vet Visit, (https://www.thesprucepets.com/age-to-take-kitten-to-vet-3384892), 12 April 2021.
@‌hdcoth line chat