สะตอ สรรพคุณ สารอาหาร วิธีทานและลดกลิ่นปาก

สะตอ ผักพื้นบ้านภาคใต้ที่ทุกคนรู้จักกันดี มีกลิ่นแรงเป็นเอกลักษณ์ สะตอจัดอยู่ในพืชตะกูลถั่ว ให้ผลผลิตมากในช่วงเดือนกรกฏาคม-สิงหาคม นอกจากจะรับประทานกันมากในภาคใต้แล้ว แถบเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาว พม่า อินโดนีเซีย สิงค์โปร์ ก็นิยมรับประทานเมล็ดสะตอเช่นเดียวกัน

ประเภทของสะตอ

  1. สะตอข้าว ลักษณะฝักบิดเกลียว เนื้อกรอบหวาน กลิ่นไม่ฉุนมาก เนื้อเมล็ดไม่แน่น
  2. สะตอดาน ลักษณะฝักเหยียดตรง เปลือกหนา มีกลิ่นฉุนกว่าสะตอข้าว และเนื้อเมล็ดแน่น
  3. สะตอป่า ฝักแข็ง รสชาติไม่อร่อย จึงไม่เป็นที่นิยม

การเลือกสะตอให้อร่อยนั้น ควรเลือกฝักที่โคนไม่แห้ง เม็ดนูน ไม่ใหญ่มาก เมื่อแกะเปลือกออกมาแล้วต้องเห็นผิวเมล็ดข้างในตึง ใส เงา เมล็ดไม่ด้านและไม่เหี่ยว

สรรพคุณของสะตอ

สะตอมีโปรตีนปริมาณมาก และมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย

ข้อมูลจากกองโภชนาการ กรมอนามัย ระบุว่า สะตอ 100 กรัม มีโปรตีนสูงถึง 8 กรัม ซึ่งช่วยเรื่องการทำงานต่างๆ ในร่างกาย และระบบประสาทส่วนกลาง

หากเปรียบเทียบการกินสะตอ 1 กำมือจะเท่ากับการรับประทานข้าวสวย 1 จาน แต่สิ่งที่มีมากกว่าแคลลอรี่นั้น คือ สะตออุดมไปด้วยแร่ธาตุอย่างแคลเซียมและฟอสฟอรัส ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน นอกจากนี้ยังมีธาตุเหล็ก ช่วยบำรุงเลือดและเป็นแร่ธาตุที่สำคัญในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ป้องกันการเกิดโรคโลหิตจางได้

รวมถึงมีวิตามินซี วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินบี 3 ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ช่วยบำรุงสายตา

สารสำคัญอื่นๆ ในสะตอ ได้แก่

  • ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเกิดโรคหัวใจ ช่วยชะลอวัยไม่ให้เซลล์เสื่อมสภาพ รวมไปถึงการเกิดมะเร็งชนิดต่างๆ ในร่างกาย
  • ไทโอโพลีน (Thioproline) ช่วยชะลอความแก่ และมีหน้าที่ในการดักจับไนไตรด์ ซึ่งถือเป็นสารก่อมะเร็งในร่างกาย ป้องกันการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้ หากนำเมล็ดไปปรุงสุกพบว่าจะช่วยเพิ่มระดับของสารดังกล่าวได้
  • โพลีฟีโนอิก (Polyphenolic) มีประโยชน์ต่อสุขภาพ คือ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ โดยช่วยลดระดับคอลเรสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเส้นเลือด ป้องกันหลอดเลือดอุดตัน สามารถลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือด จึงช่วยป้องกันและบรรเทาโรคเบาหวานได้ โดยสารโพลีฟีโนอิกนี้มีคุณสมบัติในการยับยั้งเอนไซม์ย่อยแป้งหรืออะไมเลส (Amylase) ทำให้แป้งถูกย่อยช้าลง ร่างกายจึงดูดซึมน้ำตาลได้ช้าลง ทั้งยังช่วยควบคุมความดันโลหิตได้
  • โพลีซัลไฟด์ (Polysulfides) ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลทรีย์ ทั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก แกรมลบ และเชื้อรา

นอกจากนี้ เมล็ดสะตอยังมีกากใยสูง ช่วยเพิ่มมวลอุจจาระขับถ่ายง่ายขึ้น ไม่ต้องออกแรงเบ่งลดอาการท้องผูกริดสีดวงทวารได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยขับลม กระตุ้นการบีบตัวในลำไส้ และขับปัสสาวะกะปริบกะปรอยได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสะตอจะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ ได้ แต่ก็ควรรับประทานสะตอในปริมาณที่พอเหมาะ รวมถึงควรรับประทานผักผลไม้ชนิดอื่นร่วมด้วย เพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วนและความหลากหลายทางโภชนาการ

กินสะตอแบบสดหรือนำมาปรุงอาหารดีกว่ากัน?

การรับประทานสะตอสามารถรับประทานได้ทั้งแบบสด กินคู่กับน้ำพริก ผักแกล้มขนมจีน หรือนำไปประกอบอาหารโดยผ่านความร้อน อย่างเมนูผัดก็ได้เช่นกัน

แต่แนะนำให้รับประทานแบบสดจะดีกว่า เนื่องจากสารออกฤทธิ์หรือสารสำคัญในสะตอนั้น เมื่อสัมผัสอุณหภูมิสูงจะทำให้สูญเสียคุณค่าทางโภชนาการไป

หากรู้สึกว่าสะตอสดมีกลิ่นแรงเกิน แนะนำให้นำเมล็ดไปลวกและล้างผ่านน้ำอีกครั้ง หรือนำฝักสะตอไปหมกไฟประมาณ 1-2 นาที จะช่วยบยั้งกลิ่นเหม็นสะตอได้

ลดกลิ่นปากหลังรับประทานสะตออย่างไรดี?

การกำจัดกลิ่นสะตอในช่องปาก นอกจากจะแปรงฟัน บ้วนปากแล้ว แนะนำให้รับประทานใบสะระแหน่ 1-2 ใบ แตงกวาหรือมะเขือเปราะ ประมาณ 2-3 ลูก หรือรับประทานผลไม้ เช่น ส้ม แคนตาลูป หรือแอปเปิล หรือดื่มชาอุ่นๆ เพียงเท่านี้จะช่วยลดกลิ่นสะตอได้

กินสะตออย่างไรให้ปลอดภัย?

ผู้เป็นโรคเกาต์และโรคไตควรหลีกเลี่ยงการรับประทานสะตอ

เนื่องจากในเมล็ดสะตอ มีกรดยูริกสูง อาจทำให้อาการของโรคเกาต์รุนแรงขึ้น นอกจากนี้หากรับประทานสะตอเป็นประจำหรือรับประทานในปริมาณมากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดโรคนิ่ว และโรคไตอักเสบจากกรดยูริกได้

และเนื่องจากสารอาหารในเมล็ดสะตอซึ่งมีทั้งโปรตีนและแร่ธาตุต่างๆ ในปริมาณสูง อาจส่งผลแก่ผู้ป่วยโรคไต ทำให้ไตทำงานหนัก จนอาจเกิดภาวะไตวายได้


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง

Scroll to Top