การตรวจภูมิแพ้ด้วยวิธีเจาะเลือด (Allergy blood test)


เจาะเลือดตรวจภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้ (Allergy) หมายถึงโรคที่เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้ (Allergan) จนทำให้ระบบการทำงานภายในเกิดความผิดปกติขึ้น โดยสารก่อภูมิแพ้สามารถพบได้รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อากาศ อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป สารเคมี ฝุ่น ควัน ขนสัตว์ แมลง ละอองเกสรดอกไม้ หรือพืชบางชนิด

การตรวจภูมิแพ้ เป็นการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้สำหรับแต่ละคน รวมถึงวัดระดับความรุนแรงของการแพ้ เพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยงสารตัวนั้นได้

การตรวจภูมิแพ้สามารถตรวจได้ด้วยการทดสอบทางผิวหนัง (Allergy skin test) และวิธีเจาะเลือด (Allergy blood test) ซึ่งทั้งสองวิธีต่างก็มีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกัน

ตรวจภูมิแพ้โดยการเจาะเลือดเป็นอย่างไร?

การตรวจภูมิแพ้ด้วยวิธีนี้เป็นการเจาะเลือดหาภูมิต้านทานต่อสารก่อภูมิแพ้ โดยการนำตัวอย่างเลือดไปตรวจในห้องปฏิบัติการ ผู้รับการตรวจไม่จำเป็นต้องงดยาแก้แพ้ก่อนเจาะเลือด

วิธีตรวจภูมิแพ้ด้วยวิธีเจาะเลือดสามารถหาสารก่อภูมิแพ้ได้หลายชนิดภายในครั้งเดียว ให้ผลการตรวจที่มีความแม่นยำสูงมาก

ยิ่งตรวจตอนอายุน้อย ยิ่งได้ประโยชน์มาก?

สำหรับเด็กเล็กที่ตรวจภูมิแพ้ แพทย์มักแนะนำให้ใช้วิธีเจาะเลือดร่วมกับการตรวจร่างกายทั่วไป การทดสอบด้วยวิธีนี้ตั้งแต่อายุยังน้อยจะยิ่งทำให้สามารถหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ได้มากขึ้น และเพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงของอาการของโรคที่มีสาเหตุจากภูมิแพ้ เช่น โรคหอบหืด โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

ขั้นตอนการตรวจภูมิแพ้โดยการเจาะเลือด

การตรวจภูมิแพ้ด้วยวิธีการเจาะเลือดโดยทั่วไปมีขั้นตอนดังนี้

  • แพทย์จะสอบถามข้อมูลเบื้องต้นของผู้รับบริการ เช่น อาการที่เข้าข่ายภูมิแพ้ ประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว และพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อประเมินหาสาเหตุและความเกี่ยวข้องกับโรคอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงประวัติสุขภาพของคนในครอบครัว เพราะโรคภูมิแพ้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
  • แพทย์หรือเจ้าหน้าที่จะทำความสะอาดผิวหนัง และใช้สายรัดรัดบริเวณที่จะเจาะเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อให้เห็นเส้นเลือด จากนั้นจึงใช้เข็มเล็กๆ สอดเข้าไปในเส้นเลือด มักจะเป็นแขนด้านในบริเวณข้อศอก หรือหลังมือ ก่อนจะบรรจุตัวอย่างเลือดลงในหลอดเก็บเลือดที่ไม่มีสารกันเลือดแข็ง
  • ปลดสายรัดออก และดึงเข็มออกจากเส้นเลือด
  • สำหรับผู้ใหญ่จะเก็บตัวอย่างเลือดประมาณ 4-7 มิลลิลิตร โดยเก็บตัวอย่างในหลอดเก็บเลือดที่ไม่มีสารกันเลือดแข็ง สามารถตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ได้อย่างน้อย 10 ชนิด
  • สำหรับเด็กเล็ก หลังจากทำความสะอาดแล้ว จะใช้การเจาะเลือดปลายนิ้วหรือเจาะเลือดบริเวณส้นเท้าเพื่อเก็บตัวอย่างเลือดเพียงประมาณ 1 มิลลิลิตร สามารถตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ได้อย่างมาก 8 ชนิด
  • แพทย์จะนำตัวอย่างเลือดที่ได้ไปทดสอบในห้องปฏิบัติการ โดยหยดเลือดลงบนจานทดลองที่มีแอนติเจนหรือชนิดของสารก่อภูมิแพ้ที่อาจมีผล ก่อนจะหยดเอนไซม์ลงไปเพื่อดูปฏิกิริยาของสารภูมิคุ้มกันในเลือด หากสารในจานทดลองเปลี่ยนสี อาจบ่งบอกถึงอาการแพ้สารชนิดดังกล่าว

การเตรียมตัวก่อนตรวจ

  • ก่อนตรวจควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีโรคประจำตัวหรือมียาที่รับประทานอยู่
  • งดรับประทานยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์อย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการทดสอบ แต่หากจำเป็นต้องใช้ยา สามารถปรึกษาแพทย์ก่อนการทดสอบได้
  • ไม่ต้องงดน้ำ อาหารก่อนการตรวจ
  • สวมเสื้อแขนสั้นเพื่อให้สามารถเจาะเลือดได้ง่าย

ข้อจำกัด

อย่างไรก็ตาม การตรวจภูมิแพ้ด้วยการเจาะเลือดมีข้อจำกัดบางประการดังนี้

  • ราคาสูงกว่าการตรวจภูมิแพ้ด้วยวิธีทดสอบทางผิวหนัง
  • ใช้เวลารอผลนานกว่า ประมาณ 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากจะต้องทดสอบผลในห้องปฏิบัติการ

อาการแบบไหนควรเริ่มตรวจภูมิแพ้?

สารก่อภูมิแพ้ในร่างกายอาจทำให้คุณมีอาการเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ได้แก่

  • คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล
  • จาม
  • คันจนน้ำตาไหล
  • อาการลมพิษ
  • ท้องร่วง
  • อาเจียน
  • หายใจถี่ๆ
  • ไอแห้งๆ เรื้อรัง
  • หายใจมีเสียงดังวี้ดหรือเสียงผิดปกติ

สำหรับคนที่ไม่สามารถทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังได้ เช่น เคยมีอาการแพ้รุนแรงมาก่อน มีผื่นมาก หรือมีบริเวณผิวที่ไม่เป็นโรคผิวหนังมากพอจะทดสอบทางผิวหนังได้ แพทย์จะแนะนำให้ตรวจด้วยวิธีเจาะเลือด

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

แม้ว่าการตรวจภูมิแพ้ด้วยการเจาะเลือดจะแทบไม่มีความเสี่ยงใดๆ แต่ก็อาจเกิดผลข้างเคียงเล็กน้อยได้ เช่น

  • บวมและแดงบริเวณที่เข็มเจาะ
  • อาการเจ็บ
  • มีเลือดออก
  • เป็นลม หน้ามืด (สำหรับบางคนที่อาจกลัวเลือด)

บทความที่เกี่ยวข้อง

@‌hdcoth line chat