โรคเอดส์ รู้เท่าทัน ป้องกันได้

โรคเอดส์ (Acquired Immune Deficiency Syndrome: AIDS) เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ไม่ได้เป็นมาตั้งแต่กำเนิด โดยเกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนอิมมิวโนเดฟีเชียนซีไวรัส (Human Immunodeficiency Virus: HIV) หรือเรียกกันทั่วไปว่าเชื้อ HIV

การจะเข้าสู่ระยะนี้ได้ จะเป็นช่วงหลังจากที่ร่างกายได้รับเชื้อมาแล้วประมาณ 8-10 ปี โดยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเม็ดเลือดขาวทำงานบกพร่องและลดความสามารถในการทำหน้าที่ลงไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกายได้

เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ปกป้องร่างกาย โดยการควบคุม ดักจับ ต่อสู้ และทำลายเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม แต่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อสูงหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย และจะส่งผลทำให้เกิดโรคจากการติดเชื้อและอาการเจ็บป่วยด้วยโรคแทรกซ้อน อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

โรคเอดส์ต่างกับ HIV อย่างไร?

ถึงแม้ว่าโรคเอดส์จะเกิดจากเชื้อ HIV ก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่โรคเดียวกัน สิ่งที่ทำให้แตกต่างกับเชื้อ HIV ก็คือระดับเม็ดเลือดขาวในร่างกายและอาการของโรค ดังนี้

  • เชื้อ HIV ที่เข้าสู่ร่างกายและไม่ได้รับการรักษา จะทำให้ระดับเม็ดเลือดขาวลดน้อยลง โดยมีระดับเม็ดเลือดขาวจำนวนมากกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร แต่น้อยกว่า 4,500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ส่วนใหญ่จะมีอาการแรกเริ่มคล้ายเป็นไข้หวัดและอาจมีผื่นแดงและนูนเกือบทั้งตัว ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต จากนั้นก็จะไม่มีอาการใดๆ อีก
  • โรคเอดส์ เป็นภาวะอาการระยะสุดท้ายที่ต่อเนื่องมาจากที่เชื้อ HIV ที่ได้ถูกทำลายไปเรื่อยๆ จะมีระดับเม็ดเลือดขาวจำนวนต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง จนไม่สามารถต้านทานหรือป้องกันเชื้อโรคได้

โรคเอดส์อาการเป็นอย่างไร?

อาการของโรคเอดส์ที่เกิดขึ้นมีดังต่อไปนี้

  • ไข้สูงเรื้อรัง และหนาวสั่น
  • ไอเรื้อรัง
  • ปวดหัวเรื้อรัง
  • เหนื่อยและอ่อนเพลียผิดปกติ
  • เหงื่อออกมากในช่วงกลางคืน
  • ปวดท้อง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • หายใจหอบเหนื่อย
  • ปอดบวม
  • หลอดอาหารอักเสบ
  • สายตาพร่ามัว มองไม่ชัด
  • ฝ้าขาวภายในช่องปาก
  • ผื่นคันตามผิวหนัง สีผิวซีด มีจุดแดงจ้ำเขียวหรือเลือดออก
  • แผลอักเสบที่บริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก
  • ตกขาว
  • ท้องร่วงเรื้อรัง
  • น้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ
  • ปอดบวม
  • มีความผิดปกติของสมอง เช่น สับสน ความจำเสื่อม หลงลืมง่าย ไม่มีสมาธิ ซึม ชัก
  • ต่อมน้ำเหลืองบวมที่บริเวณคอ รักแร้ เหนือข้อศอก และขาหนีบ
  • เกิดโรคมะเร็งแทรกซ้อน เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง มะเร็งของผนังหลอดเลือด มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก

อาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าเกิดจากโรคเอดส์ ซึ่งอาจจะเกิดจากโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกันก็ได้ ดังนั้น ควรตรวจโรคเอดส์โดยการตรวจเลือดหาการติดเชื้อ HIV เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและรักษาได้อย่างถูกต้อง

โรคเอดส์เกิดจากอะไร?

สาเหตุของโรคเอดส์เกิดจากการได้สัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อในลักษณะดังต่อไปนี้

  • มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน
  • ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้เสพยาเสพติด
  • การให้เลือด
  • ติดเชื้อ HIV ผ่านทางบาดแผล
  • ใช้เข็มสักหรือเข็มเจาะตามผิวหนังร่วมกัน
  • การปลูกถ่ายอวัยวะที่ได้รับจากผู้ที่ติดเชื้อ
  • การติดเชื้อจากแม่สู่ลูกในขณะตั้งครรภ์ หรือระหว่างคลอดจากการสัมผัสเลือดของแม่ เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนด การฉีกขาดของช่องทางคลอด และการตัดฝีเย็บหรือการตัดเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบางส่วนของช่องคลอดออก เพื่อขยายทางคลอดให้กว้างขึ้น หรือหลังคลอดจากการดื่มนมแม่

โรคเอดส์ติดต่อได้อย่างไร?

โรคเอดส์สามารถติดต่อกันได้จากการเชื้อ HIV ซึ่งมีอยู่ในสารคัดหลั่งที่ออกมาจากร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อดังต่อไปนี้

  • เลือด
  • น้ำเหลือง
  • น้ำอสุจิ
  • ตกขาว
  • ประจำเดือน
  • น้ำนมของผู้ที่ติดเชื้อ
  • น้ำตาที่มีเลือดปนอยู่
  • น้ำลายที่มีเลือดปนอยู่
  • น้ำมูกที่มีเลือดปนอยู่
  • เสมหะที่มีเลือดปนอยู่

หากไม่ใช่สารคัดหลั่งดังกล่าวแล้ว ก็จะไม่สามารถทำให้เกิดการติดต่อกันได้ ไม่ว่าจะเป็นทางเหงื่อ ปัสสาวะ อุจจาระ การถูกยุงกัด การหายใจ และการสัมผัสผิวหนังภายนอก เช่น การจับมือ การกอด การหอมแก้ม การจูบแบบปิดปาก การรับประทานอาหารร่วมกัน การใช้โถสุขภัณฑ์ จับประตู หยิบแก้ว จับช้อนกลาง เป็นต้น

โรคเอดส์มีกี่ระยะ?

โรคเอดส์เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ HIV ที่ต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน โดยที่การติดเชื้อจะมี 4 ระยะดังต่อไปนี้

1. ระยะติดเชื้อ HIV เฉียบพลัน

เป็นระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อ HIV โดยที่ติดเชื้อมาแล้วประมาณ 2-4 สัปดาห์ อาจไม่มีอาการผิดปกติ หรือหากมีก็จะคล้ายกับอาการของไข้หวัด และจะหายไปเองภายในประมาณ 2-3 สัปดาห์ ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนจะเข้าสู่ระยะฟักตัวของโรค ถึงจะสามารถตรวจพบว่าเลือดเป็นผลบวก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่รู้ตัวว่าได้ติดเชื้อ HIV มาแล้ว และอาจทำให้ไม่ได้ไปพบแพทย์และรักษาตั้งแต่ช่วงแรกของการติดเชื้อ

2. ระยะติดเชื้อ HIV โดยไม่มีอากา

เป็นระยะที่ไม่มีอาการผิดปกติ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นพาหะที่สามารถแพร่เชื้อ HIV  ให้กับบุคคลอื่นได้ เนื่องจากผู้ติดเชื้อยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยไม่รู้ตัวว่าเชื้อ HIV แล้ว หากไม่ได้รักษาก็จะทำให้ เชื้อ HIV เจริญเติบโต แพร่กระจายไปทั่วร่างกาย  และทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวให้มีจำนวนลดลงไปเรื่อยๆ จนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง ส่งผลทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมา

ซึ่งการที่จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลงอย่างรวดเร็วหรือค่อยๆ ลดลงไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อ HIV และความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันในการต้านทานโรคของร่างกาย

โดยส่วนใหญ่กว่าจะแสดงอาการออกมาจะใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี แต่ในบางกรณีผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการโรคอย่างรวดเร็ว (Rapid Progressors) จะแสดงอาการออกมาใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ในบางกรณีผู้ติดเชื้อในกลุ่มที่ควบคุมเชื้อได้ดีเป็นพิเศษ (Elite Controller) กว่าที่จะแสดงอาการออกมาก็ต้องใช้เวลานานถึง 10-15 ปี

3. ระยะติดเชื้อ HIV มีอาการ

เป็นระยะของการติดเชื้อ HIV ที่มีอาการก่อนเข้าสู่ระยะเอดส์ ซึ่งจะมีอาการเจ็บป่วยมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันโรค และเป็นระยะที่ทำให้ผู้ติดเชื้อไปพบแพทย์และรักษา โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะดังต่อไปนี้

  • ระยะที่มีอาการเล็กน้อย จะมีระดับเม็ดเลือดขาวจำนวนมากกว่า 500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร โดยจะทำให้มีอาการเจ็บป่วย เช่น แผลร้อนในในช่องปาก ต่อมน้ำเหลืองที่คอโตเล็กน้อย โรคเชื้อราที่เล็บ ฝ้าขาวข้างลิ้น โรคสะเก็ดเงิน (หากเคยเป็นก็จะเป็นซ้ำอีก) ผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแคที่บริเวณไรผม ข้างจมูกและริมฝีปาก
  • ระยะที่มีอาการปานกลาง จะมีระดับเม็ดเลือดขาวจำนวนระหว่าง 200-500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร โดยจะทำให้มีอาการเจ็บป่วย เช่น เริมที่ริมฝีปากหรืออวัยวะเพศ งูสวัด โรคเชื้อราในช่องปากหรือช่องคลอด ปวดกล้ามเนื้อและข้อ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

4. ระยะเอดส์

เป็นระยะที่เซลล์เม็ดเลือดขาวถูกลำลายและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง โดยที่ระดับเม็ดเลือดขาวจำนวนต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ซึ่งจะส่งผลเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic Infections) ทำให้ติดเชื้อที่เกิดจาก เชื้อรา แบคทีเรีย ปรสิต หรือไวรัส และเป็นการติดเชื้อที่รักษาได้ยาก เนื่องจากอาจจะเชื้อชนิดเดิมซ้ำ หรือชนิดใหม่ หรือร่วมกันหลายชนิด ซึ่งจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นมาจนทำให้เสียชีวิตได้

โรคเอดส์รักษาได้ไหม?

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาและกำจัดเชื้อ HIV ให้หมดไปได้ ใช้เพียงแค่ยาต้านเชื้อ HIV เพื่อที่จะการยับยังการแบ่งตัวของเชื้อ HIV ชะลอการแพร่เชื้อ และควบคุมอาการของโรคให้คงที่ ซึ่งจะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยจะต้องรับประทานยาให้ตรงเวลาทุกวันและต่อเนื่องไปตลอดชีวิต รวมถึงการรักษาอาการของโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้เท่านั้น

โรคเอดส์ป้องกันอย่างไร?

โรคเอดส์สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • ทำความสะอาดฆ่าเชื้อก่อนใช้เข็มสักหรือเข็มเจาะร่างกาย
  • ตรวจสุขภาพโดยการตรวจเลือดปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • ตรวจเลือดก่อนการแต่งงาน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยาเสพติด
  • หลีกเลี่ยงสิ่งเสพติดและการไม่ใช้เข็มฉีดยาหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยงการมีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น หวี แปรงสีฟัน ที่ตัดเล็บ มีดโกน ไม้แคะหู
  • รับประทานยาต้านไวรัสฉุกเฉิน (PEP- Post-Exposure Prophylaxis) สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่ไปสัมผัสเชื้อมาไม่เกิน 72 ชั่วโมง และต้องรับประทานต่อเนื่องติดต่อกันนาน 28 วัน โดยการดูแลของแพทย์

การดูแลและคอยใส่ใจสุขภาพร่างกายอยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญ ควรตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงใดๆ ที่จะก่อให้เกิดการติดเชื้อ HIV ได้ เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันและห่างไกลจากโรคเอดส์ได้แล้ว

Scroll to Top