ฉีดสิว อีกทางเลือกเพื่อให้สิวยุบได้รวดเร็วขึ้น


ฉีดสิว

ผู้ที่มีปัญหาสิวอักเสบขึ้นบนผิวหน้าหรือผิวกาย หลายคนอาจลองรักษาด้วยวิธีต่างๆ ด้วยตัวเองมาแล้วก็ยังไม่หาย จนเกิดความกังวลและเริ่มมองหาวิธีรักษาทางการแพทย์กับสถานเสริมความงามต่างๆ

หนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมสูงก็คือการฉีดสิว ที่สามารถรับบริการได้จากสถานเสริมความงามทั่วๆ ไป รวมถึงราคาไม่แพงอีกด้วย

แล้วจริงๆ แล้วการฉีดสิวเหมาะกับใคร ไม่เหมาะกับใคร มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง ติดตามกันได้ผ่านบทความนี้จากทาง HDmall.co.th


เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่

  • ฉีดสิวคืออะไร?
  • ฉีดสิวฉีดทุกเม็ดไหม?
  • ข้อดีของการฉีดสิว
  • ข้อเสียของการฉีดสิว
  • ฉีดสิวเหมาะกับใคร
  • ฉีดสิวไม่เหมาะกับใคร
  • ฉีดสิวกี่วันยุบ?
  • ฉีดสิวอันตรายไหม?
  • การเตรียมตัวก่อนฉีดสิว
  • ขั้นตอนการฉีดสิว
  • การดูแลตัวเองหลังฉีดสิว
  • ผลข้างเคียงของการฉีดสิว

  • ฉีดสิวคืออะไร?

    การฉีดสิว (Acne Injection) คือ การใช้สารยาหรือสารลดการอักเสบฉีดลงไปที่ตุ่มสิว เพื่อยับยั้งการอักเสบและปัญหาบวมเป็นตุ่มแดงของสิวให้ยุบตัวลง โดยส่วนมากแพทย์มักเลือกใช้เป็นสารกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)

    ฉีดสิว ราคา

    ฉีดสิวฉีดทุกเม็ดไหม?

    การฉีดสิวไม่ได้นิยมใช้ฉีดลดการอักเสบของสิวทุกรูปแบบเสมอไป โดยส่วนมากจะนิยมฉีดในสิวที่ไม่มีหัวแต่มีการอักเสบจนบวมใหญ่ขึ้น มีรอยแดง หรือทำให้รู้สึกเจ็บแม้ใช้นิ้วสัมผัสเบาๆ รวมถึงสิวหัวช้าง สิวหัวหนองซึ่งมักใช้ระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนาน และมีโอกาสเกิดเป็นรอยแผลเป็นบนผิวหลังจากสิวแห้งแล้วได้

    ข้อดีของการฉีดสิว

    การฉีดสิวเป็นวิธีรักษาสิวอักเสบแบบเร่งรัดและรวดเร็วกว่าวิธีรักษาอื่น โดยจะเห็นผลลัพธ์ของสิวที่ยุบตัวลงและไม่มีอาการเจ็บสิวเกิดขึ้นอีกภายใน 2-3 วันหลังฉีดสิวเสร็จ เทียบกับวิธีการรักษาสิวผ่านการทายาหรือการปล่อยให้สิวยุบเองซึ่งมักกินเวลาไม่ต่ำกว่า 1-2 สัปดาห์ หรืออาจเป็นเดือน

    ข้อเสียของการฉีดสิว

    • การฉีดสิวเป็นวิธีรักษาสิวที่ปลายเหตุ และไม่ใช่วิธีป้องกันไม่ให้สิวเกิดขึ้นอีก เพียงแต่เป็นวิธีที่ทำให้สิวซึ่งอักเสบไปแล้วหยุดการอักเสบลงเท่านั้น หลังจากฉีดสิวแล้ว ผู้เข้ารับบริการยังต้องปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับแนวทางการยับยั้งไม่ให้เกิดสิวเม็ดใหม่อีก และต้องดูแลความสะอาดทั้งผิวหน้าและผิวกายอย่างถูกสุขลักษณะอยู่เช่นเดิม
    • เกิดความไม่เรียบเนียนบนเนื้อผิวได้ ถึงแม้สิวจะยุบไปแล้ว แต่ผิวบริเวณที่ฉีดสิวมีโอกาสจะเกิดเป็นรอยด่างขาว (Hypopigmentation) ที่ทำให้ผิวตรงตำแหน่งนั้นดูสว่างกว่าผิวส่วนอื่นได้ หรืออาจเกิดเป็นก้อนไตแข็งๆ ขนาดเล็ก หรือรอยหลุมสิวเล็กๆ หลังจากสิวยุบตัวและแห้งไปแล้ว
    • รู้สึกเจ็บ แม้หลายสถานพยาบาลจะมีการทายาชาหรือประคบเย็นให้ก่อนฉีดสิว แต่เพราะเป็นการทำหัตถการที่ใช้เข็มฉีดยา ผู้เข้ารับบริการจึงอาจเผชิญกับความรู้สึกเจ็บระหว่างฉีดสิวได้บ้าง และทำให้ใครหลายคนไม่ชื่นชอบวิธีการรักษาสิวอักเสบแบบนี้นัก
    • ค่าใช้จ่ายที่อาจบานปลาย หากเป็นการฉีดสิวเพียงอย่างเดียว ค่าใช้จ่ายก็อาจไม่แพงนัก แต่ในหลายสถานพยาบาลมักแฝงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการฉีดสิวเพิ่มเข้ามาด้วย เช่น ค่ายาแก้อักเสบ ค่ายาฆ่าเชื้อ ค่าบริการทางการแพทย์ ซึ่งทำให้การฉีดสิวมีค่าใช้จ่ายแพงกว่าที่ผู้เข้ารับบริการคาดคิด เพื่อป้องกันการเกิดปัญหานี้ ผู้เข้ารับบริการควรสอบถามราคาค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการฉีดสิวกับทางสถานพยาบาลก่อน
    • สิวสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นการตอบสนองของผิวที่มีต่อสารสเตียรอยด์ที่ใช้ในการฉีดสิว ทำให้เกิดเป็นสิวเม็ดใหม่ขึ้นมา

    ฉีดสิวเหมาะกับใคร

    อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การฉีดสิวอาจไม่ได้เหมาะกับสิวทุกรูปแบบเสมอไป เพราะการรักษาสิวเองก็มีวิธีที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป แต่โดยหลักๆ แล้วการฉีดสิวอาจเหมาะกับคนที่มีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

    • ผู้ที่มีอาการเจ็บสิวจนทนไม่ไหว และอยากบรรเทาอาการเจ็บให้หายไปโดยเร็ว
    • ผู้ที่รู้สึกรำคาญหรืออยากให้สิวยุบตัวโดยเร็วที่สุด
    • ผู้ที่ต้องไปออกงานสังคมหรือมีกิจกรรมที่ต้องใช้รูปลักษณ์ ใส่เสื้อผ้าที่โชว์ผิว และอยากจะให้สิวยุบตัวก่อนถึงกำหนดการดังกล่าว
    ฉีดสิว ราคา

    ฉีดสิวไม่เหมาะกับใคร

    สำหรับผู้ที่กำลังสนใจการฉีดสิวและกำลังอยู่ระหว่างตัดสินใจ อาจต้องพิจารณาข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้ด้วย

    • ผู้ที่กลัวเข็มฉีดยาหรืออาการเจ็บจากการใช้เข็มฉีดยาฉีดสิว
    • ผู้ที่มีอาการแพ้สารสเตียรอยด์
    • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือด ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับผิวหนังทุกชนิด ควรปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าก่อนรับบริการ

    หากมีโรคประจำตัวหรือสงสัยว่าแพ้สารสเตียรอยด์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับบริการทุกครั้ง

    ฉีดสิวกี่วันยุบ?

    โดยทั่วไปหลังจากฉีดสิวเสร็จแล้ว สิวเม็ดนั้นก็จะยุบตัวลงภายใน 24-72 ชั่วโมงหลังฉีด หรือประมาณ 2-3 วัน โดยผู้เข้ารับบริการจะรู้สึกได้ว่าสิวมีเนื้อนุ่มขึ้น ไม่เป็นตุ่มแข็ง และยุบตัวลงไปเทียบใกล้กับเนื้อผิวปกติ

    ฉีดสิวอันตรายไหม?

    การฉีดสิวเป็นการรักษาปัญหาสิวที่ปลอดภัยและเป็นที่แพร่หลายในแทบทุกสถานพยาบาล

    อย่างไรก็ตาม ผู้เข้ารับบริการก็ควรฉีดสิวกับทางสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานและมีแพทย์ผิวหนังประจำอยู่เท่านั้น เพื่อให้กระบวนการฉีดสิวทุกเม็ดเห็นผลลัพธ์ชัดเจน และมีการใช้สารยาที่ใช้สำหรับฉีดสิวที่เป็นมาตรฐานทางการแพทย์ ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

    รวมถึงผู้ที่สงสัยหรือมีประวัติการแพ้ยา สารสเตียรอยด์ ก็ควรปรึกษากับแพทย์ด้วยเช่นกัน เพราะแพทย์อาจมีวิธีรักษาสิวทางเลือกอื่นๆ ที่เหมาะสมกว่า

    การเตรียมตัวก่อนฉีดสิว

    ปกติผู้ให้บริการจะแจ้งการเตรียมตัวก่อนวันนัดฉีดสิวให้ทราบอยู่แล้ว โดยการเตรียมตัวหลักๆ ที่อาจพบได้ มีดังนี้

    • แจ้งประวัติสุขภาพ ประวัติการใช้ยาประจำตัว วิตามินเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพทุกชนิดกับแพทย์ล่วงหน้าก่อนรับบริการ
    • ควรงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่ 1 สัปดาห์ก่อนรับบริการ
    • งดการทำหัตถการที่ผิว ประมาณ 3-5 วันก่อนรับบริการ โดยเฉพาะผิวบริเวณที่ต้องการฉีดสิว เช่น เลเซอร์ผิว เลเซอร์กำจัดขน การถอนขน แวกซ์ขน โกนขน เพราะอาจจะยิ่งทำให้ผิวหนังระคายเคืองหรืออักเสบได้
    • หากกลัวเจ็บ ควรสอบถามทางสถานพยาบาลเกี่ยวกับการประคบเย็นหรือบรรเทาอาการเจ็บก่อนรับบริการ
    • หากเกิดปัญหาผิวหนังอักเสบ ผิวหนังติดเชื้อ มีแผลเปิด หรือแผลสดที่ผิวส่วนที่เป็นสิว ควรเลื่อนนัดออกไปก่อน แล้วรักษาอาการให้หายเสียก่อนมารับบริการ
    • สอบถามแพทย์เกี่ยวกับการทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือสกินแคร์กลุ่มต่างๆ ก่อนเดินทางมารับบริการ เพราะอาจต้องมีการงดผลิตภัณฑ์ในบางกลุ่ม เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีสารประกอบ Tretinoin (retin-a) หรือสารกรดไกลโคลิก (Glycolic Acid)

    ขั้นตอนการฉีดสิว

    ขั้นตอนการฉีดสิวทั่วไปมักไม่ซับซ้อน ใช้เวลาไม่นาน หลักๆ มีเพียงไม่กี่ขั้นตอน ดังนี้

    1. เริ่มต้นจากการทำความสะอาดผิวให้สะอาด
    2. จากนั้นแพทย์จะค่อยๆ ฉีดยาผสมสเตียรอยด์ลงใต้ผิวส่วนที่เป็นสิวอักเสบ ในบางกรณีอาจมีการกดสิวร่วมด้วยก่อนฉีดสิว เพื่อให้สิวลดการอักเสบได้อย่างหมดจดที่สุด และมีโอกาสกลับมาเป็นสิวที่ตำแหน่งเดิมซ้ำได้น้อยลง
    3. จากนั้นเจ้าหน้าที่แปะผ้าก๊อซชิ้นเล็กๆ ตรงตำแหน่งส่วนที่ฉีดสิวให้ แล้วผู้เข้ารับบริการสามารถเดินทางกลับบ้านได้

    ทั้งนี้ ในแต่ละสถานที่ให้บริการอาจมีวิธีฉีดสิวที่แตกต่างออกไปจากนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพสิวของแต่ละคน และเทคนิคของแต่ละสถานที่

    การดูแลตัวเองหลังฉีดสิว

    หลังรับการฉีดสิวแล้ว แพทย์จะให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด โดยคำแนะนำหลักๆ อาจมีดังนี้

    • ในกรณีที่แพทย์จ่ายยาแก้อักเสบและยาฆ่าเชื้อเพิ่มเติมให้ ให้กินให้หมดถึงแม้สิวจะยุบไปแล้วก็ตาม
    • เดินทางมาพบแพทย์ตามนัดหมาย ในกรณีที่แพทย์อาจนัดหมายให้กลับมาฉีดสิวหรือกดสิวซ้ำ
    • ประคบเย็นเพื่อลดอาการผิวบวมหรือเจ็บผิวบริเวณที่ฉีดสิว
    • หลีกเลี่ยงการออกไปสัมผัสแสงแดดจัดๆ เพราะจะยิ่งทำให้ผิวอ่อนแอจนเป็นสิวได้ง่าย และยังทำให้แผลเล็กๆ จากการฉีดสิวหายได้ช้าลงด้วย หากจำเป็นต้องออกไปในที่โล่งแจ้ง ให้ทาครีมกันแดด SPF 50+ ทุกครั้ง
    • หมั่นทำความสะอาดผิวหน้าและผิวกายอยู่เสมอ รวมถึงหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดสิว เช่น ความเครียด การนอนพักผ่อนน้อย การใช้มือสัมผัสใบหน้า การกินอาหารแปรรูป และควรหมั่นเปลี่ยนผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า หรือข้าวของเครื่องใช้ที่สัมผัสใบหน้าและผิวกายบ่อยๆ
    • ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสูตรอ่อนโยน หรือที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบน้อย เพื่อลดโอกาสระคายเคืองหรืออุดตันจนกลายเป็นสิวเม็ดใหม่
    ฉีดสิว ราคา

    ผลข้างเคียงของการฉีดสิว

    โดยปกติการฉีดสิวจะแทบไม่ทิ้งผลข้างเคียงที่เป็นรุนแรงใดๆ ต่อสุขภาพเลย โดยกรณีที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่

    • อาการผิวบวมหรือมีรอยแดง แต่โดยทั่วไปอาการจะเกิดขึ้นแค่ 2-3 วัน แล้วก็จะบรรเทาหายไป
    • รอยด่างในตำแหน่งที่ฉีดสิว หรือผิวบริเวณที่ฉีดสิวเกิดการยุบตัวเป็นหลุมบ่อได้บ่อย แต่เมื่อผ่านไปไม่กี่เดือน ผิวก็จะกลับมามีสีผิวปกติเหมือนกับบริเวณโดยรอบอีกครั้ง

    เช็กราคาฉีดสิวที่คลินิกหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านคุณ เพื่อเป็นทางลัดให้กับการจัดการปัญหาสิวอักเสบที่มักทำให้เกิดรอยบนผิวหน้าอย่างชัดเจน ซ้ำยังทำให้รู้สึกเจ็บ จะแต่งหน้าก็อาจไม่สามารถอำพรางได้อย่างแนบเนียนจากปัญหาสิวที่เป็นเม็ดโต

    หรือสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับแพ็กเกจฉีดสิวที่คุณสนใจผ่านทางไลน์ @hdcoth


    บทความที่เกี่ยวข้อง


    ที่มาของข้อมูล

    ขยาย

    ปิด

    • Angela Palmer, Using Cortisone Injections to Treat Acne (https://www.verywellhealth.com/acne-cortisone-injections-how-it-works-15900#toc-side-effects), 30 July 2022.
    • Mayo Clinic, Acne treatments: Medical procedures may help clear skin (https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/in-depth/acne-treatments/art-20045892), 30 July 2022.
    • Schwarz Dermatology PLLC, Cortisone Injections (https://www.schwarzderm.com/cortisone-injections.php), 30 July 2022.
    • Scott Frothingham, Do Cortisone Shots Work for Acne? (https://www.healthline.com/health/do-cortisone-shots-work-for-acne), 30 July 2022.
    @‌hdcoth line chat