หากสมองคนเราขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเกินกว่า 4 นาที จะทำให้สูญเสียเซลล์สมองบางส่วนไปถาวร การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน หรือการทำซีพีอาร์ (Cardiopulmonary Resuscitation: CPR) เป็นหนึ่งในวิธีการที่จะยื้อชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหันเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
ภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน มักพบในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจมาก่อน ผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจแบบเฉียบพลัน และผู้ที่ขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน
การเรียนรู้วิธีการทำซีพีอาร์อย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน เพราะหากเจอผู้หมดสติจะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงที
เครื่อง AED คืออะไร สำคัญอย่างไร?
เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ หรือเครื่องเออีดี (Automated External Defibrillator: AED) เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่สำคัญมาก ตัวเครื่องประกอบไปด้วยแผ่นนำไฟฟ้า หรือเรียกว่า "แผ่นอิเล็กโทรด" และปุ่มสำหรับกดช็อกไฟฟ้าหัวใจ
เครื่องเออีดีนั้นสามารถตรวจวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยและช็อกไฟฟ้าหัวใจได้ โดยหลังจากเปิดเครื่องจะมีคำสั่งเสียงให้ผู้ช่วยเหลือสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง
การใช้เครื่องเออีดีร่วมกับการทำซีพีอาร์จะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยได้มากถึง 50%
14 ขั้นตอนการทำซีพีอาร์ร่วมกับการใช้เครื่องเออีดี
- เมื่อพบคนหมดสติ ให้ตรวจดูความปลอดภัยก่อนเข้าไปช่วยเหลือ
- ประเมินสถานการณ์ของผู้ป่วย โดยการเรียกเสียงดัง และตบไหล่ทั้งสองข้าง
- หากผู้ป่วยไม่ตอบสนอง โทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669
- ตรวจสอบว่า ผู้ป่วยหายใจหรือไม่ หากไม่หายใจ ให้เริ่มทำซีพีอาร์ทันที
- ให้ผู้ช่วยเหลือไปนำเครื่องเออีดีมา ระหว่างนั้นเคลียร์พื้นที่ให้อากาศถ่ายเทสะดวก ปรับตำแหน่งคอของผู้ป่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น และเริ่มทำซีพีอาร์
- ขั้นตอนการทำซีพีอาร์ เริ่มจากหาตำแหน่งกึ่งกลางของหน้าอกและราวนม วางส้นมือลงไปที่ตำแหน่งกึ่งกลางนั้น นำมืออีกข้างมาประกบ แขนตึง หลังตรง ตั้งฉากกับทรวงอก 90 องศา และโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย
- กดหน้าอกลึกประมาณ 5 เซนติเมตรด้วยแรงจากน้ำหนักตัว ในอัตราความเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที
- ใช้นิ้วปิดจมูกและเป่าลมหายใจเข้าไป 2 ลมหายใจ หลังจากนั้นให้กดหน้าอกต่อ
- เมื่อเครื่องเออีดีมาถึง ให้เปิดเครื่อง และปฏิบัติตามคำสั่งเสียง
- ถอดเสื้อผู้ป่วยออก เช็ดผิวหนังบริเวณหน้าอกให้แห้ง และติดแผ่นอิเล็กโทรด (เครื่องสั่งว่า ห้ามแตะต้องผู้ป่วยขณะทำการวิเคราะห์)
- หากเครื่องแนะนำให้รักษาด้วยการช็อกไฟฟ้าหัวใจ ให้ทุกคนถอยห่างจากผู้ป่วย และกดปุ่มช็อกไฟฟ้า หากไม่สั่งให้ช็อกไฟฟ้าหัวใจ ให้ทำซีพีอาร์ต่อไป
- หลังจากกดปุ่มช็อกไฟฟ้า เครื่องจะสั่งว่า “ผู้ป่วยได้รับการช็อก ให้เริ่มซีพีอาร์” ให้กดหน้าอกตามเสียงจังหวะเครื่อง
- ทำซีพีอาร์สลับกับช็อกไฟฟ้าหัวใจจนกว่าทีมช่วยเหลือจะมาถึง
- ส่งต่อผู้ป่วยให้กับทีมกู้ชีพ เพื่อนำส่งโรงพยาบาล
การเรียนรู้วิธีการทำซีพีอาร์ร่วมกับการใช้เครื่องเออีดีเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเมื่อพบผู้ป่วยหมดสติ ยิ่งเราช่วยเหลือได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพียงใด โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น
เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ
บทความแนะนำ
- กรีกโยเกิร์ต อาหารสุขภาพที่ดีกว่าโยเกิร์ตทั่วไป
- ต้นหอม: สรรพคุณ ประโยชน์ วิธีกินเพื่อสุขภาพ
- ฝี: สาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน ดูแลตัวเอง
- ข้าวไรซเบอรี่: ประโยชน์ สรรพคุณ วิธีรับประทาน
- ประโยชน์จากเกลือแร่ สุดยอดสารอาหารดีที่จำเป็นต่อร่างกาย
ที่มาของข้อมูล
ปิด
ปิด
- Redcross.org, CPR Steps (https://www.redcross.org/take-a-class/cpr/performing-cpr/cpr-steps), 3 April 2020.
- Berg RA, Hemphill R, Abella BS; และคณะ (2010), "Part 5: adult basic life support: 2010 American Heart Association Guidelines for Cardiopulmonary Resuscitation and Emergency Cardiovascular Care". Circulation. 122 (18 Suppl 3): S685–705.
- Hazinski MF, Nolan JP, Billi JE; และคณะ (2010), "Part 1: executive summary: 2010 International Consensus on Cardiopulmonary Resuscitation and Emergency Cardiovascular Care Science With Treatment Recommendations". Circulation. 122 (16 Suppl 2): S250–75.